เด็กทารกอายุ 1 เดือนโตขึ้นแค่ไหน ดูแลลูกน้อยอย่างไรดี ?

เด็กทารกเป็นวัยที่ต้องการความรักและการดูแลเป็นอย่างดี โดยเด็กที่เพิ่งลืมตาดูโลกได้แค่ 1 เดือนนั้น สามารถสื่อสารกับพ่อแม่ได้เพียงการร้องไห้ และยังไม่สามารถพูดเป็นภาษาใด ๆ ได้ ผู้ปกครองจึงควรใส่ใจลูกน้อย คอยดูแลให้กินและนอนอย่างเหมาะสม หากเกิดความผิดปกติขึ้น ก็ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์โดยเร็ว

1974 เด็กทารกในเดือนแรก rs

การเจริญเติบโตของทารกในเดือนแรกเป็นอย่างไร ?

เด็กทารกในช่วงเดือนแรกนั้น จะมีการเจริญเติบโตที่รวดเร็ว แต่ยังคงทำได้เพียงกิน นอน ร้องไห้ และขับถ่าย จึงต้องอาศัยการดูแลเอาใจใส่ของผู้ปกครอง โดยเด็กทารกวัย 1 เดือน มีการเจริญเติบโตในแต่ละด้าน ดังนี้

การเจริญเติบโตของร่างกาย

เด็กจะมีน้ำหนักตัวลดลงในช่วงสัปดาห์แรกหลังคลอด ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ โดยหลังจากนั้นน้ำหนักจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเอง ซึ่งในช่วงเดือนแรกหลังคลอด เด็กอาจตัวยาวขึ้นถึง 3.8 เซนติเมตร และอาจมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นถึง 900 กรัมจากแรกเกิด แต่การเจริญเติบโตของเด็กแต่ละคนอาจไม่เท่ากันเพราะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยด้วย

การใช้กล้ามเนื้อ

เมื่ออายุได้ 1 เดือน เด็กทารกจะสามารถยกหัวขึ้นเองได้บ้างแล้วในขณะนอนคว่ำ แต่ก็ยังคงต้องประคองหัวของเด็กไว้ตอนอุ้มเด็กขึ้นมา เพราะคอยังไม่แข็งแรงมากนัก

การกิน

ปุ่มรับรสที่อยู่บนลิ้นของเด็กวัยนี้จะยังทำงานได้ไม่ค่อยดีนัก โดยลิ้นของเด็กจะรับรสหวานได้ดีที่สุด แต่ยังไม่สามารถแยกแยะรสเปรี้ยวหรือรสขมได้ ส่วนเรื่องอาหาร เด็กควรดื่มแค่นมแม่หรือนมผงสำหรับทารกแรกเกิดก็เพียงพอแล้ว

การนอน

เด็กทารกในช่วงเดือนแรกนั้นควรนอนวันละประมาณ 15-16 ชั่วโมง แบ่งเป็นนอนกลางวันประมาณ 3 ครั้ง รวมแล้วประมาณ 7 ชั่วโมง และนอนตอนกลางคืนเป็นช่วง ๆ อีกประมาณ 8.5 ชั่วโมง แต่อาจจะแตกต่างกันไปในเด็กแต่ละคน

การมองเห็นและการจดจำ

เด็กทารกวัย 1 เดือนจะมองเห็นได้ชัดที่สุดในระยะ 20-30 เซนติเมตร และจะมองเห็นสีตัดกันอย่างสีขาวดำและสีที่ชัดเจนได้ดีกว่าสีทั่วไป โดยเด็กแรกเกิดอาจมีอาการตาเหล่ด้วย ซึ่งอาการจะหายไปเองหลังจากผ่านไป 3-4 เดือน นอกจากนี้ เด็กจะสามารถจดจำใบหน้า เสียง และกลิ่นที่คุ้นเคยได้ อย่างหน้าตาของแม่ เสียงของแม่ และกลิ่นของน้ำนมแม่ อีกทั้งเด็กอาจจำเสียงของแม่หรือคนในครอบครัวได้และอาจหันไปหาเสียงที่คุ้นเคยด้วย ดังนั้น ผู้ปกครองจึงควรเล่นกับเด็กบ่อย ๆ เพื่อให้เด็กเกิดการจดจำ

การสื่อสาร

เด็กทารกในวัยนี้ทำได้แต่ร้องไห้เพียงอย่างเดียว ยังไม่สามารถพูดเป็นภาษาเพื่อสื่อสารกับคนอื่นได้ จึงต้องอาศัยความเอาใจใส่ของผู้ปกครองในการสังเกตลักษณะและอาการต่าง ๆ เพราะอาจพอทราบได้ว่าการร้องไห้แบบไหนสื่อถึงอะไรบ้าง เมื่อรู้ความต้องการแล้วอาจช่วยให้หาทางรับมือได้อย่างถูกวิธี เช่น ให้เด็กกินนม หรืออุ้มเด็กเดินไปมาพร้อมร้องเพลงกล่อม เป็นต้น แต่หากเด็กร้องไห้นานหรือบ่อยผิดปกติ อาจเป็นสัญญาณของอาการโคลิคหรือโรคอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นกับเด็กได้ ซึ่งพ่อแม่ควรไปปรึกษาแพทย์หรือพาเด็กไปรับการตรวจอย่างเหมาะสม

เทคนิคต่าง ๆ ในการดูแลเด็กทารก

สำหรับเด็กทารกในวัยนี้มีกิจกรรมที่ทำอยู่ไม่กี่อย่างเท่านั้น หากเด็กทำกิจกรรมใดน้อยกว่าหรือมากกว่าปกติ นั่นอาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติที่เกิดขึ้น

โดยเรื่องที่พ่อแม่ควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษในการดูแลเด็กวัยนี้ ได้แก่

  • ดูแลเรื่องการกินนม หากเป็นนมมารดา เด็กจะดูดนมประมาณ 8 ครั้งต่อวัน แต่ละครั้งเป็นเวลาอย่างน้อยประมาณ 10-15 นาที หรือเมื่อสังเกตได้ว่าเด็กอิ่ม แต่หากเป็นนมผง เด็กอาจดื่มถึงครั้งละประมาณ 120 มิลลิลิตร หรือ 4 ออนซ์ ในทุก ๆ 3-4 ชั่วโมง
  • สังเกตการขับถ่าย เด็กทารกวัยนี้ควรต้องขับถ่ายและใช้ผ้าอ้อม 4-6 ผืนต่อวัน แต่เด็กอาจอุจจาระวันละครั้ง หรือไม่อุจจาระเลยเป็นเวลา 1-2 วันก็ได้หากลักษณะอุจจาระปกติดี ซึ่งอุจจาระของเด็กที่กินนมมารดาจะค่อนข้างเหลว แต่หากเด็กกินนมผง อุจจาระจะยังเหลวอยู่แต่ดูเป็นก้อนกว่าอุจจาระของเด็กที่ดื่มนมมารดา แต่ก็ไม่ควรมีลักษณะแข็งจนเกินไป

ปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กทารก

นอกจากเรื่องของการเจริญเติบโตที่รวดเร็วแล้ว พ่อแม่ต้องไม่ลืมนึกถึงปัญหาด้านอื่นที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กอายุ 1 เดือนด้วย เพราะการที่เด็กทารกยังพูดไม่ได้นั้นหมายความว่าหากเกิดความผิดปกติขึ้้นเด็กก็จะไม่สามารถบอกผู้ปกครองเป็นคำพูดได้เช่นกัน ซึ่งอาจทำให้ความผิดปกติที่เกิดขึ้นไม่ได้รับการรักษาและทวีความรุนแรงขึ้นได้

ดังนั้น หากลูกน้อยมีอาการดังต่อไปนี้ ผู้ปกครองควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์

  • กินนมช้ากว่าปกติ หรือมีอาการกลืนลำบาก
  • ไม่กระพริบตาเมื่อเห็นแสงสว่าง
  • ไม่มองตามวัตถุที่เคลื่อนผ่านสายตา
  • ไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองเมื่อได้ยินเสียงดัง
  • ไม่ค่อยขยับแขนขาเท่าที่ควร หรือเมื่อขยับแล้วแลดูติดขัด
  • มีอาการคางสั่นหรือปากสั่นอย่างต่อเนื่องตอนไม่ได้ร้องไห้หรือตื่นเต้น
  • ร้องไห้นานผิดปกติ หรือร้องไห้บ่อยผิดปกติ
  • มีปัญหาเกี่ยวกับการนอน เช่น ไม่นอนเลย หรือนอนมากเกินไป เป็นต้น
  • มีปัญหาสุขภาพ เช่น ไอ ท้องผูก เป็นต้น