นมผง ทางเลือกของคุณแม่ในการให้นมบุตร

นมผงเป็นตัวเลือกการให้นมสำหรับคุณแม่และลูกน้อยในบางกรณีที่จำเป็น เช่น คุณแม่มีภาวะเจ็บป่วยหรือต้องรับประทานยาที่อาจไม่ปลอดภัยต่อทารก ทารกมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์มากจนให้นมแม่โดยตรงไม่ได้ นมแม่มีไม่เพียงพอหรือไม่มีเลย เป็นต้น

นมผง

แม้จะทราบกันดีว่านมแม่เป็นสุดยอดสารอาหารที่ดีที่สุดสำหรับลูกน้อย แต่หากคุณแม่ท่านใดประสบปัญหาดังกล่าวก็อาจจำเป็นต้องพึ่งพานมผงแทน ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด สิ่งสำคัญคือเลือกนมผงอย่างไรให้เหมาะสมและปลอดภัยต่อลูกน้อย เพื่อการเจริญเติบโตที่สมบูรณ์และแข็งแรง

รูปแบบและประเภทของนมผง

คุณแม่ที่ตัดสินใจเลือกนมผงแทนนมแม่ควรทราบความแตกต่างของนมผงแต่ละประเภทอย่างชัดเจนเสียก่อน เพราะนมผงในท้องตลาดมีหลายรูปแบบและหลายสูตรให้เลือกซื้อ ซึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้แนะนำว่าการเลือกนมผงควรพิจารณาจากความต้องการพื้นฐานของคุณแม่หรือเด็ก และงบประมาณของแต่ละครอบครัวเป็นหลัก  

นมสำหรับทารกที่จำหน่ายโดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่  

  • ชนิดผง เป็นนมชนิดผงละเอียดบรรจุมาในกระป๋อง หาซื้อได้ง่ายและมีราคาไม่สูงมาก ใช้ชงกับน้ำและเขย่าให้ละลายเข้ากันดีก่อนให้ทารกดื่ม แต่หากชงไม่ถูกสุขลักษณะอาจทำให้เกิดอาการท้องเสียตามมาได้
  • ชนิดละลายน้ำเข้มข้น เป็นนมในรูปแบบของเหลวและชงง่ายกว่านมชนิดผง เพียงแค่เติมน้ำเล็กน้อยก็พร้อมให้ทารกดื่มได้เลย
  • ชนิดพร้อมดื่ม เป็นนมที่ให้ทารกดื่มได้ทันทีโดยไม่ต้องผสมน้ำเหมือนรูปแบบอื่น และมักไม่ทำให้เกิดอาการแพ้ แต่มีราคาค่อนข้างสูง

อย่างไรก็ตาม นมสำหรับทารกยังแบ่งเป็นหลายสูตรตามส่วนผสมหลักในนม ซึ่งสูตรที่พบได้ทั่วไป ได้แก่

  • สูตรนมวัว เป็นนมที่ผลิตจากนมวัวและดัดแปลงสูตรให้เหมาะสมกับทารก เนื่องจากทารกย่อยสารอาหารในนมวัวไม่ได้ จึงอาจไม่ปลอดภัยหากให้ดื่มโดยตรง โดยนมสูตรนี้ดัดแปลงให้โปรตีนในนมวัวถูกย่อยได้ง่ายขึ้น และแทนที่ไขมันในนมด้วยไขมันจากสัตว์หรือน้ำมัน รวมทั้งเติมสารอาหารต่าง ๆ ให้เหมือนกับน้ำนมแม่ เช่น แลคโตส ธาตุเหล็ก เป็นต้น
  • สูตรถั่วเหลือง เป็นนมที่ประกอบไปด้วยโปรตีนจากถั่วเหลืองและคาร์โบไฮเดรต (อาจเป็นซูโครสหรือกลูโคส) ชนิดที่ต่างจากสูตรนมวัว เหมาะสำหรับทารกที่ยังย่อยแลคโตสได้ไม่ดีหรือแพ้นมวัว โดยแพทย์จะแนะนำให้รับประทานนมสูตรนี้เป็นระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อให้ร่างกายทารกมีเอนไซม์สำหรับย่อยแลคโตสและระบบการย่อยกลับมาเป็นปกติ แต่ในกรณีที่มีอาการแพ้นมถั่วเหลือง อาจต้องเปลี่ยนเป็นนมสูตรพิเศษอื่น ๆ แทน
  • สูตรไฮโปอัลเลอเจนิก (Hypoallergenic Formula) เป็นนมที่ผ่านกระบวนการพิเศษและทำให้โปรตีนในนมย่อยได้ง่าย เหมาะสำหรับเด็กที่แพ้นมสูตรทั่วไป เช่น นมวัวหรือนมถั่วเหลือง  
  • สูตรพิเศษ เป็นนมสูตรดัดแปลงให้เหมาะกับทารกที่มีโรคหรือภาวะผิดปกติทางร่างกายบางอย่างโดยเฉพาะ เช่น ขาดสารอาหารบางชนิด คลอดก่อนกำหนด น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ เป็นต้น ซึ่งนมสูตรนี้แยกย่อยได้อีกหลายสูตรและต้องใช้ตามคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น

ข้อดีและข้อจำกัดของการใช้นมผง

คุณแม่บางรายอาจมีเหตุผลด้านการแพทย์หรือความจำเป็นบางประการที่ทำให้ไม่อาจให้นมแม่แก่ทารกได้ อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ควรพิจารณาข้อดีและข้อกำจัดของนมผง รวมถึงคุณประโยชน์ของนมแม่และนมผงต่อการเสริมสร้างพัฒนาการของทารกเพื่อการตัดสินใจที่ส่งผลดีที่สุดต่อลูกน้อย

ข้อดี

  • ความสะดวกในการให้นม พ่อแม่หรือผู้ดูแลคนอื่น ๆ ล้วนป้อนนมแทนแม่ได้เมื่อเด็กหิว และยังเป็นการแบ่งหน้าที่ในการเลี้ยงลูกร่วมกันกับคุณพ่อ ซึ่งจะช่วยสร้างสายสัมพันธ์ในครอบครัวให้แน่นแฟ้นมากขึ้น
  • มีความยืดหยุ่น คุณแม่ที่มีความจำเป็นทางหน้าที่การงานหรือไม่อาจให้นมลูกในช่วงนั้น ๆ อาจลดความกังวลลงไปได้ เพราะนมผงนั้นชงเวลาใดก็ได้ตามต้องการ ตราบใดที่ผู้ทำหน้าที่ดูแลเจ้าตัวน้อยทราบวิธีการชงนมที่ถูกต้อง
  • ความถี่และระยะเวลาให้นมน้อยลง นมผงมีส่วนประกอบและสารอาหารที่ย่อยได้ช้ากว่านมแม่ จึงทำให้มีความถี่และระยะของการให้นมน้อยกว่าเด็กที่ดื่มนมแม่
  • คุณแม่ไม่ต้องกังวลเรื่องการรับประทานอาหารของตนเอง อย่างที่ทราบกันดีว่าสารอาหารที่คุณแม่ได้รับจากการรับประทานอาหารอาจไหลผ่านน้ำนมไปสู่ทารกได้ ผู้ที่จำเป็นต้องให้นมลูกด้วยนมผงจึงอาจลดความกังวลในเรื่องนี้และมีอิสระในการรับประทานอาหารมากขึ้น

ข้อจำกัด

  • ขาดภูมิต้านทานโรค นอกจากสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตของทารก น้ำนมแม่ยังมีภูมิต้านทานที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อและการเกิดโรคต่าง ๆ ซึ่งสารนี้เพิ่มลงไปในนมผงไม่ได้
  • ความหลากหลายของสารอาหาร แม้ว่านมผงมีหลายสูตรและมีการเติมสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของทารก แต่ยังไม่มีสูตรใดที่ทดแทนได้เหมือนนมแม่ทุกประการ เพราะนมแม่อุดมไปด้วยสารอาหารหลากหลายชนิดและมีความซับซ้อน จึงตอบสนองต่อความต้องการของทารกได้ดี
  • ต้องวางแผนล่วงหน้า นมแม่มีปริมาณไม่จำกัด ให้ได้เรื่อย ๆ และมีอุณภูมิคงที่ แต่นมผงนั้นต้องวางแผนและซื้อเตรียมไว้ล่วงหน้าให้พอดีกับปริมาณที่ต้องการ ต้องซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ เพิ่มเติมสำหรับการให้นม และเรียนรู้วิธีชงนมอย่างถูกต้อง
  • ทารกเสี่ยงมีอาการท้องผูกและมีแก๊สในท้อง ทารกที่ดื่มนมผงมักมีอาการท้องผูก แน่นท้อง และมีแก๊สในท้องมากกว่าทารกที่ดื่มนมแม่

ปริมาณน้ำนมที่ลูกน้อยต้องการ

โดยทั่วไปทารกจะรู้สึกหิวและหยุดกินนมแม่เมื่ออิ่ม แต่หากเป็นนมผงจะมีเกณฑ์การให้นมคร่าว ๆ ที่คำนวณตามน้ำหนักตัวทารก โดยควรได้รับนมประมาณวันละ 75 มิลลิลิตรต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือใช้เกณฑ์ที่แบ่งตามอายุ ดังนี้

  • ทารกแรกเกิด-อายุ 1 เดือน ควรได้รับนมประมาณ 45-90 มิลลิลิตรต่อครั้ง ทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง ปริมาณจะเพิ่มขึ้นตามอายุ ทั้งนี้ ทารกมักนอนหลับนาน 4-5 ชั่วโมงในช่วงเดือนแรก และอาจทำให้ดื่มนมได้ไม่ครบตามต้องการ คุณพ่อคุณแม่ควรพยายามปลุกให้ลูกตื่นขึ้นมาดื่มนมตามปริมาณปกติอย่างสม่ำเสมอ
  • อายุ 2-3 เดือน ควรได้รับนมประมาณ 120-150 มิลลิลิตรต่อครั้ง ทุก ๆ 3-4 ชั่วโมง
  • อายุ 4-5 เดือน ควรได้รับนมประมาณ 120-180 มิลลิลิตรต่อครั้ง โดยระยะเวลาในการให้นมแต่ละครั้งจะขึ้นอยู่กับขนาดตัวของเด็ก
  • อายุ 6 เดือน ควรได้รับนมประมาณ 180-230 มิลลิลิตรต่อครั้ง ทุก ๆ 4-5 ชั่วโมง โดยช่วงนี้อาจเริ่มให้ทารกรับประทานอาหารควบคู่ไปกับนมบ้างเล็กน้อย ดังนั้น ความถี่และปริมาณในการให้นมจะปรับไปตามการรับประทานอาหารของเด็กแต่ละคน

เกณฑ์ข้างต้นเป็นเพียงปริมาณแนะนำ คุณแม่หรือผู้ปกครองไม่ควรยึดปริมาณดังกล่าวมากเกินไป เพราะเด็กแต่ละคนมีการเจริญเติบโตที่แตกต่างกัน ควรสังเกตภาษากายที่เด็กพยายามส่งสัญญาณบอกด้วย เช่น หากมีอาการแหวะนมแสดงว่าอาจเริ่มอิ่ม หรือหากปากเด็กยังอยู่ในลักษณะดูดขวดนมแม้นมหมดขวดแล้วก็แสดงว่ายังไม่อิ่ม

นอกจากนี้ ยังควรหมั่นสังเกตความถี่ในการขับถ่าย รวมถึงสีของปัสสาวะและลักษณะของอุจจาระของเด็ก เพราะเป็นตัวชี้วัดในเบื้องต้นว่าได้รับสารอาหารครบถ้วนหรือไม่ โดยเด็กทารกควรปัสสาวะประมาณ 6 ครั้งต่อวัน น้ำปัสสาวะควรมีสีเหลืองอ่อนและใส แต่หากมีสีค่อนข้างส้มหรือเข้มมากกว่าปกติแสดงว่าเด็กอาจดื่มน้ำไม่เพียงพอ มีภาวะขาดน้ำ น้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ หรือเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ และควรอุจจาระประมาณ 4 ครั้งต่อวัน ลักษณะอุจจาระปกติจะข้นและค่อนข้างจับตัวเป็นก้อน แต่อาจเปลี่ยนเป็นสีเขียวหรือสีเหลืองเมื่อเด็กโตขึ้น เพราะเปลี่ยนแปลงไปตามอาหารที่รับประทานเข้าไป

อย่างไรก็ตาม ควรระวังไม่ให้ทารกดื่มนมมากเกินไป เพราะอาจส่งผลเสียแทนที่จะได้รับประโยชน์ โดยมักส่งผลให้ร้องไห้งอแงบ่อย มีเสียงครืดคราดในลำคอคล้ายมีเสมหะ พุงพลุ้ย ท้องไม่ยอมแฟบ มีอาการแหวะนมออกมาทางปากหรือจมูก เวลาพลิกตัวหรือเหยียดแขนขามีเสียงดังเอี๊ยดอ๊าด รวมทั้งมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นไวผิดปกติ คือประมาณ 35 กรัมต่อวัน หรือมากกว่า 1 กิโลกรัมต่อเดือน สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องเล็กน้อยที่ควรใส่ใจ เพราะอาจนำไปสู่โรคอ้วนเมื่อเด็กโตขึ้น หากคุณแม่เป็นกังวลในเรื่องนี้หรือพบความผิดปกติอื่น ๆ อาจขอคำปรึกษาจากแพทย์ผู้ดูแลได้

สำหรับคุณแม่ที่มีข้อจำกัดจนทำให้การให้นมแม่แก่ทารกเป็นเรื่องยากนั้น การให้นมผงแก่เด็กก็ไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด แต่ควรเตรียมความพร้อมและทำความเข้าใจ เพื่อให้ลูกน้อยมีสุขภาพที่แข็งแรงและเติบโตตามวัยได้อย่างสมบูรณ์