รีแพร์กระชับช่องคลอด (Anterior Vaginal Wall Repair) คือ การผ่าตัดช่องคลอดเพื่อแก้ไขรักษาปัญหาช่องคลอดหลวมหรือหย่อนคล้อยก่อนถึงวัยอันควร ซึ่งอาจเกิดจากกระเพาะปัสสาวะหรือท่อปัสสาวะเคลื่อนตัวลงมาที่ช่องคลอด และอาจเกิดความผิดปกติ หรือความเสียหายภายในผนังช่องคลอด จนทำให้เนื้อบริเวณช่องคลอดหย่อนคล้อยไม่กระชับตัว
การทำรีแพร์กระชับช่องคลอดจะทำให้กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อผนังช่องคลอดตึงกระชับ อาจมีการผ่าตัดนำอวัยวะที่เคลื่อนตัวลงมาผิดตำแหน่งกลับขึ้นไปอยู่ในจุดที่เหมาะสม หรืออาจต้องผ่าตัดแก้ไขเนื้อเยื่อบริเวณช่องคลอด ในกรณีที่ผนังช่องคลอดมีความผิดปกติ ผิดรูปผิดร่าง หรือมีความเสียหายเกิดขึ้น
ช่องคลอดหย่อนคล้อยก่อนวัย เพราะอะไร ?
สาเหตุส่วนใหญ่ที่อาจทำให้ผู้หญิงมีช่องคลอดหลวมหรือหย่อนคล้อยก่อนถึงวัยอันควร ได้แก่ การตั้งครรภ์ การคลอดบุตรตามธรรมชาติ มีน้ำหนักตัวมากเกินไป กล้ามเนื้อฉีกขาดจากการเคลื่อนตัวของลำไส้ การยกของหนักบ่อย ๆ มีอาการเจ็บป่วยที่ทำให้ไอเรื้อรัง และความผิดปกติหรือความเสียหายอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นภายในช่องคลอด
ทำไมต้องทำรีแพร์ ?
เมื่อช่องคลอดหลวม หย่อนคล้อย ไม่กระชับ ผู้หญิงบางคนอาจต้องการทำรีแพร์ เพราะอาจต้องเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้
- เจ็บปวดในขณะมีเพศสัมพันธ์
- อึดอัด ไม่สบายตัว เหมือนมีอะไรอยู่ในช่องคลอด
- ปัสสาวะบ่อย รู้สึกปวดปัสสาวะตลอดเวลา หรือไม่สามารถปัสสาวะให้หมดได้ในคราวเดียว
- กลั้นปัสสาวะไม่ได้ หรือมีปัสสาวะเล็ดในขณะไอ จาม หรือกำลังยกของ
- รู้สึกหน่วง ๆ หรือหนักบริเวณอุ้งเชิงกราน
- ปวดหลังส่วนล่าง แต่จะรู้สึกดีขึ้นเมื่อนอนลง
- สามารถมองเห็นหรือรู้สึกได้ถึงเนื้อส่วนที่นูนออกมาหรือหย่อนคล้อยลงมาที่ปากช่องคลอด
- กระเพาะปัสสาวะติดเชื้อ
ขั้นตอนการทำรีแพร์กระชับช่องคลอด
ก่อนทำรีแพร์
- ในเบื้องต้นแพทย์จะสอบถามประวัติทางการแพทย์ ตรวจดูบริเวณช่องคลอด หรือตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีการอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัดของอาการช่องคลอดหย่อนคล้อย เพื่อให้วางแผนรักษาได้อย่างถูกต้องต่อไป
- หลังจากแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าผู้ป่วยสามารถรับการทำรีแพร์ได้ แพทย์กับผู้ป่วยจะพูดคุยปรึกษากันถึงประโยชน์ทางการรักษา ความเสี่ยง ผลข้างเคียง การเตรียมตัว และวิธีการทำรีแพร์
- เมื่อตัดสินใจทำรีแพร์ แพทย์จะนัดหมายวันและเวลาในการผ่าตัด โดยแพทย์อาจให้ผู้ป่วยฝึกขมิบบริหารกล้ามเนื้อช่องคลอด ทาครีมเอสโตรเจนเพื่อป้องกันภาวะช่องคลอดแห้ง หรืออาจให้ผู้ป่วยสอดอุปกรณ์เพื่อช่วยพยุงภาวะช่องคลอดหย่อนและรักษาปัญหาปัสสาวะเล็ด
- สำหรับผู้ป่วยที่กำลังใช้ยารักษาอาการป่วยอื่น ๆ อยู่ ควรหยุดใช้ยาอย่างแอสไพริน ไอบูโพรเฟน หรือนาพรอกเซนเป็นระยะเวลาหลาย ๆ วัน ก่อนวันผ่าตัด เพื่อลดความเสี่ยงไม่ให้เลือดไหลออกมามากเกินไปในการผ่าตัด หากผู้ป่วยไม่แน่ใจเกี่ยวกับการใช้ยาที่อาจมีผลต่อการผ่าตัด ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการใช้ยาชนิดต่าง ๆ เช่น ยาวาร์ฟาริน ซึ่งเป็นยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด ช่วยป้องกันการเกิดลิ่มเลือด
- แพทย์อาจให้ผู้ป่วยงดอาหารเป็นเวลาอย่างน้อย 8 ชั่วโมงก่อนการผ่าตัด
การทำรีแพร์
- ในวันผ่าตัด แพทย์จะให้ยาสลบเพื่อไม่ใช่ผู้ป่วยรู้สึกตัวและรู้สึกเจ็บปวดในขณะผ่าตัด โดยแพทย์อาจให้ผู้ป่วยดมยาสลบ ฉีดยาสลบเข้าสู่ร่างกายทางเส้นเลือด หรืออาจฉีดยาระงับความรู้สึกเข้าทางไขสันหลัง ซึ่งผู้ป่วยจะยังคงรู้สึกตัว แต่ไม่รู้สึกถึงความเจ็บปวด
- เมื่อผู้ป่วยไม่รู้สึกตัวแล้ว แพทย์จะเริ่มทำการผ่าตัดโดยเปิดแผลบริเวณผนังช่องคลอด แล้วเย็บระหว่างผนังช่องคลอดกับกระเพาะปัสสาวะ เพื่อให้ท่อปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะเคลื่อนขึ้นไปอยู่ในตำแหน่งเดิม ซึ่งจะช่วยทำให้เนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อในบริเวณนั้นมีความกระชับตึงมากขึ้น
- ในบางกรณี แพทย์อาจต้องผ่าตัดเปิดหน้าท้อง เพื่อแก้ไขความผิดปกติหรือตำแหน่งของกระเพาะปัสสาวะหรือท่อปัสสาวะ ให้อวัยวะดังกล่าวกลับไปอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม แล้วจึงทำการเย็บเนื้อเยื่อระหว่างช่องคลอดและกระเพาะปัสสาวะ หรืออาจใช้แผ่นเนื้อวางกั้นระหว่างกระเพาะปัสสาวะกับผนังช่องคลอด ซึ่งอาจเป็นเนื้อผิวหนังบางส่วนของผู้ป่วย หรือใช้วัสดุชีวภาพอื่น ๆ เช่น ผิวหนังของหมูปิดทับแทน
หลังทำรีแพร์
- หลังการผ่าตัด ผู้ป่วยต้องนอนพักรักษาตัวภายใต้การดูแลของแพทย์ โดยในระหว่างนี้ ผู้ป่วยต้องรับประทานอาหารเหลวหรืออาหารอ่อน ๆ จนกว่าร่างกายจะฟื้นตัวจึงจะสามารถรับประทานอาหารตามปกติได้
- หากการผ่าตัดมีผลกระทบต่อกระเพาะปัสสาวะ ผู้ป่วยอาจต้องใส่สายสวนปัสสาวะมาจากกระเพาะปัสสาวะ เพื่อระบายปัสสาวะเป็นเวลา 1-2 วัน
- ผู้ป่วยต้องรับประทานยาที่แพทย์กำหนดตามปริมาณและวิธีการที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด โดยแพทย์อาจจ่ายยาเพื่อรักษาควบคุมอาการ ดังนี้
- ยาปฏิชีวนะ ใช้เพื่อรักษาหรือป้องกันภาวะติดเชื้อแบคทีเรีย ผู้ป่วยต้องรับประทานยาอย่างถูกต้องต่อเนื่อง และไม่หยุดใช้ยาอย่างกะทันหันโดยปราศจากคำสั่งแพทย์
- ยาแก้ปวด ผู้ป่วยอาจต้องใช้ยาแก้ปวดลดอาการเจ็บปวดจากแผลผ่าตัด แพทย์จะจ่ายยาที่เหมาะสมต่อสภาพร่างกาย ประวัติทางการแพทย์ และประวัติการแพ้ยาของผู้ป่วยด้วย โดยผู้ป่วยต้องศึกษาวิธีการใช้ยาอย่างถูกต้อง เช่น ปริมาณยาที่ควรรับประทานต่อครั้ง ระยะเวลาที่ควรเว้นช่วงการใช้ยา ทั้งนี้ ผู้ป่วยไม่ควรรอให้มีอาการปวดอย่างรุนแรงก่อนจึงใช้ยา และหากใช้ยาไปแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบปรึกษาแพทย์
ในระหว่างการใช้ยาที่แพทย์กำหนด หากผู้ป่วยมีอาการแพ้ยา หรือมีผลข้างเคียงที่รุนแรงจากการใช้ยา ควรรีบขอความช่วยเหลือจากแพทย์หรือผู้ดูแลทันที
ส่วนผู้ที่มีอาการป่วยหรือใช้ยารักษาโรคอื่น ๆ อยู่ ผู้ป่วยต้องปรึกษาแพทย์ว่าสามารถใช้ยารักษาอื่นควบคู่ไปในระหว่างนี้ได้หรือไม่ หรือสามารถกลับไปใช้ยาเหล่านั้นได้เมื่อใด
- ก่อนออกจากโรงพยาบาล ผู้ป่วยควรสอบถามแนวทางปฏิบัติเพื่อการพักฟื้นร่างกาย ทำนัดหมายเพื่อติดตามผลการรักษากับแพทย์ และซักถามอื่น ๆ เพิ่มเติมเมื่อมีข้อสงสัย
- เมื่อกลับไปพักรักษาตัวที่บ้าน ผู้ป่วยปฏิบัติตามคำสั่งและคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดอยู่เสมอ ฝึกบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานและฝึกขมิบช่องคลอดอยู่เป็นประจำ ขยับร่างกายและลุกเดินไปมาเพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน
- ค่อย ๆ เริ่มทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันตามปกติ โดยควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ใช้แรงอย่างหนัก หรือกิจกรรมที่อาจกระทบสร้างความเสียหายภายในช่องท้องได้ เช่น การยกของหนัก การยืนนาน ๆ การออกกำลังกายหนัก ๆ อย่างการวิ่งหรือยกน้ำหนัก เป็นต้น
- เพื่อป้องกันการอักเสบหรือการติดเชื้อบริเวณแผลผ่าตัด ผู้ป่วยควรระมัดระวังในการทำกิจกรรมที่อาจกระทบต่อแผลผ่าตัดด้วยเช่นกัน ในขณะที่อาบน้ำ ควรล้างทำความสะอาดแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาด หลังจากนั้นใช้ผ้าพันแผลปิดทับบริเวณแผลผ่าตัดไว้ เปลี่ยนผ้าพันแผลทันทีที่ผ้าเริ่มสกปรก หรือสอบถามวิธีการรักษาดูแลบาดแผลหากมีข้อสงสัย
- ในระหว่างพักฟื้น ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงหรือเรียนรู้วิธีการจัดการรับมือกับความเครียด เพราะความเครียดอาจส่งผลต่อสภาพจิตใจและร่างกาย อาจมีผลชะลอการฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติ ดังนั้น ผู้ป่วยควรหัดผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การพักผ่อน ฝึกกำหนดลมหายใจ ดูหนังฟังเพลง พูดคุยปรึกษาปัญหากับบุคคลที่ไว้ใจ
ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้จากการทำรีแพร์
ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่และความสามารถของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ การทำรีแพร์มักเกิดผลดีที่น่าพอใจต่อตัวผู้ป่วยเองมากกว่าผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย อย่างไรก็ตาม การทำรีแพร์อาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะอาการดังต่อไปนี้
ความเสี่ยงจากการใช้ยาระงับความรู้สึก
- อาการแพ้ยา มีผดผื่นขึ้น ตัวบวม หน้าบวม
- มีปัญหาการหายใจ หายใจลำบาก หายใจติดขัด แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก
- ภาวะมีเลือดออกหรือเกิดลิ่มเลือดอุดตัน
- ภาวะติดเชื้อ
ความเสี่ยงจากการผ่าตัดทำรีแพร์
- เกิดความเสียหายบริเวณที่ทำการผ่าตัด อย่างกระเพาะปัสสาวะ ท่อปัสสาวะ หรือช่องคลอด
- เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในช่องคลอด หรือช่องคลอดยังคงหย่อนคล้อยอยู่
- กระเพาะปัสสาวะได้รับการกระทบกระเทือน
- เจ็บปวดในขณะปัสสาวะ
- ปัสสาวะบ่อย หรือปวดปัสสาวะอย่างกะทันหัน
- ปัสสาวะเล็ด หรือมีปัสสาวะรั่วซึม มีภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ที่แย่ลงกว่าเดิม
- มีปัสสาวะไหลออกมาจากช่องคลอด หรือเกิดแผลทะลุที่ผนังช่องคลอด ทำให้ปัสสาวะรั่วซึมออกมา
สัญญาณสำคัญหลังการผ่าตัด
หลังการทำรีแพร์ ผู้ป่วยควรรีบปรึกษาแพทย์ ไปพบแพทย์ หรือขอความช่วยเหลือจากผู้ดูแล หากพบอาการสำคัญต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ดังต่อไปนี้
- มีเลือดไหลออกจากช่องคลอดมากจนเต็มผ้าอนามัยทุก ๆ ชั่วโมง เป็นเวลาติดต่อกัน 4 ชั่วโมง
- ผู้ป่วยมีไข้ ตัวหนาวสั่น ไอ อ่อนเพลีย เมื่อยเนื้อเมื่อยตัว
- คลื่นไส้หรืออาเจียน
- เจ็บหน้าอก โดยเฉพาะในขณะหายใจลึก ๆ หรือไอ โดยอาการไม่ดีขึ้นหรือยิ่งแย่ลงเมื่อเวลาผ่านไป
- เวียนหัวคล้ายจะเป็นลม
- มีปัญหาการหายใจ หายใจติดขัด หายใจไม่ออก
- ไม่สามารถปัสสาวะได้
- ปัสสาวะมีเลือดปน หรือมีเลือดออกในสายสวนปัสสาวะ
- เจ็บปวดขณะปัสสาวะ หรือในขณะมีเพศสัมพันธ์
- เจ็บปวด หรือมีเลือดไหลซึมออกมาบริเวณช่องที่เคยใส่สายสวนปัสสาวะ
- เจ็บปวดภายในช่องคลอด และอาการปวดไม่หายไปหรือทุเลาลงแม้รับประทานยาแก้ปวดไปแล้ว
- รู้สึกเหมือนมีอะไรหย่อนลงมาอยู่ในช่องคลอดหรือทวาร
- แผลผ่าตัดเป็นหนองหรือมีกลิ่นเหม็นเน่า
- ปวดแขน ปวดขา หรือ แขนขาบวมแดง