ช่องคลอดแห้ง

ความหมาย ช่องคลอดแห้ง

ช่องคลอดแห้ง (Vaginal Dryness) เป็นอาการหรือภาวะภายในช่องคลอดที่เกิดขึ้นเมื่อช่องคลอดขาดเมือกหล่อลื่นหรือมีน้อยลงกว่าปกติ ทำให้เยื่อบุช่องคลอดขาดความชุ่มชื่นจนเกิดความแห้งกร้านและอาจก่อให้เกิดอาการเจ็บ แสบ หรือรู้สึกไม่สบายตัวตามมาได้ 

ภาวะช่องคลอดแห้งเป็นอาการทั่วไปที่สามารถเกิดขึ้นได้ในเพศหญิงวัยหมดประจำเดือน แต่ก็สามารถเกิดได้ในเพศหญิงวัยอื่น ๆ เช่นกัน โดยสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย ภาวะสุขภาพบางประการ หรืออาจเป็นผลข้างเคียงมาจากการใช้ยาเพื่อรักษาโรคบางชนิด

ช่องคลอดแห้ง

อาการของภาวะช่องคลอดแห้ง

ผู้หญิงที่มีภาวะช่องคลอดแห้งอาจเกิดอาการได้ตลอดเวลา หรือในบางรายอาจเกิดอาการเป็นระยะหรือเกิดเฉพาะในขณะมีเพศสัมพันธ์เท่านั้น อาการช่องคลอดแห้งที่พบได้บ่อยมีดังนี้

  • มีอาการคัน ระคายเคือง หรือรู้สึกแสบร้อนบริเวณช่องคลอด
  • รู้สึกไม่สบายตัวหรือเจ็บบริเวณช่องคลอดในขณะมีเพศสัมพันธ์
  • มีความต้องการทางเพศลดลง และถึงจุดสุดยอดได้ยากมากขึ้น
  • เยื่อบุช่องคลอดบางและมีสีซีดลง อาจมีเลือดออกหลังการมีเพศสัมพันธ์ 
  • ปวดปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ
  • มีอาการปัสสาวะขัด หรือรู้สึกแสบขณะปัสสาวะ
  • อาจเกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะขึ้นบ่อย ๆ ได้ในบางราย

แม้ว่าภาวะช่องคลอดแห้งจะสามารถเกิดขึ้นได้ทั่วไปในเพศหญิง และอาการสามารถดีขึ้นได้เอง แต่หากอาการที่เกิดขึ้นกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะการมีเพศสัมพันธ์จนส่งผลให้เกิดปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างคู่นอน ควรไปพบแพทย์

สาเหตุของภาวะช่องคลอดแห้ง

ภาวะช่องคลอดแห้งสามารถเกิดได้หลายสาเหตุ โดยสาเหตุที่พบได้บ่อยมีดังนี้

  • วัยทองหรือวัยหมดประจำเดือน ซึ่งเป็นวัยที่ร่างกายเพศหญิงมีการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง และส่งผลให้มีการผลิตเมือกหล่อเลื่อนในช่องคลอดลดลงตามไปด้วย
  • การให้นมลูกและการคลอดลูก เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายของเพศหญิงมีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนสูง จึงอาจทำให้เกิดภาวะช่องคลอดแห้งได้ชั่วคราว
  • การใช้ยาคุมกำเนิดบางประเภท เช่น ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน หรือยาคุมกำเนิดชนิดฉีด อาจทำให้เกิดภาวะช่องคลอดแห้งได้ชั่วคราว
  • การรักษาโรคมะเร็งบางประเภท อย่างการฉายรังสี (Radiotherapy) บริเวณกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน หรือการทำเคมีบำบัด (Chemotherapy) ด้วยการรับประทานยาต้านเอสโตรเจน อาจส่งผลให้เกิดภาวะช่องคลอดแห้งได้
  • การผ่าตัดรังไข่ออก เนื่องจากจะส่งผลให้ร่างกายไม่มีการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน และนำไปสู่การเกิดภาวะช่องคลอดแห้ง
  • ความเครียดอย่างรุนแรง หรือการเกิดภาวะซึมเศร้า
  • การออกกำลังกายอย่างหนัก

นอกจากนี้ ภาวะช่องคลอดแห้งอาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น อาการขาดนิโคตินในผู้ที่สูบบุหรี่ โรคเบาหวาน การสวนล้างช่องคลอด หรือการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้น รวมถึงในบางกรณีอาจเกิดจากปัญหาสุขภาพบางประการที่พบได้น้อยมากอย่างภาวะระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง (Primary Immunodeficiency) หรือโรคโจเกรน (Sjögren's Syndrome) 

การวินิจฉัยภาวะช่องคลอดแห้ง

ในเบื้องต้นแพทย์จะสอบถามประวัติทางการแพทย์ อาการผิดปกติที่เกิดขึ้น ระยะเวลาที่เกิดอาการ หรือสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองบริเวณช่องคลอด เช่น การสวนล้างช่องคลอด การใช้ยาบางชนิด แต่โดยทั่วไปหากแพทย์พบว่าผู้ป่วยมีอาการคัน แสบร้อน หรือรู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ ก็อาจสามารถวินิจฉัยได้ว่าผู้ป่วยมีภาวะช่องคลอดแห้ง

จากนั้นแพทย์จะทำการตรวจภายใน เพื่อดูผนังช่องคลอดว่ามีการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ หรือเกิดความผิดปกติอื่น ๆ ที่สามารถส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดความรู้สึกไม่สบายตัวหรือไม่ รวมถึงแพทย์อาจมีการเก็บตัวอย่างสารคัดหลัง หรือเซล์จากผนังมดลูกและช่องคลอดเพื่อนำไปตรวจในห้องปฏิบัติการด้วย 

นอกจากนี้ ในบางกรณีที่แพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยอาจมีภาวะวัยทองเกิดขึ้น แพทย์จะทำการตรวจเลือดเพื่อวัดระดับฮอร์โมนในร่างกายของผู้ป่วย และวางแผนรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป

การรักษาภาวะช่องคลอดแห้ง

ภาวะช่องคลอดแห้งสามารถรักษาได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเป็นหลัก ผู้ที่มีภาวะนี้จึงอาจจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยสาเหตุของการเกิดที่แน่ชัด และเลือกวิธีการรักษาอย่างเหมาะสม โดยวิธีการรักษาหลักที่นิยมใช้และสามารถช่วยบรรเทาอาการช่องคลอดแห้งให้ดีขึ้นได้ มีดังนี้

1. การใช้สารหล่อลื่น

สารหล่อลื่นเป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในรูปแบบเจลหรือของเหลว ใช้เพื่อทดแทนเมือกในช่องคลอดตามธรรมชาติของเพศหญิง ทำให้สามารถช่วยบรรเทาอาการเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ได้ โดยทาสารหล่อลื่นบริเวณอวัยวะเพศหรือช่องคลอดของเพศหญิง หรือทาที่อวัยวะเพศชายก่อนการมีเพศสัมพันธ์

2. การใช้สารเพิ่มความชุ่มชื้นเฉพาะที่

สารเพิ่มความชุ่มชื้นเฉพาะที่มักอยู่ในรูปแบบของครีมสำหรับทาภายในช่องคลอด โดยควรทายา 2–3 วันต่อครั้ง ตัวยาจะออกฤทธิ์ได้นานจึงสามารถช่วยบรรเทาอาการช่องคลอดแห้งได้ดีกว่าการใช้สารหล่อลื่น แต่ควรระมัดระวังการใช้ยาในรูปแบบของปิโตรเลียมเจลหรือน้ำมัน เพราะอาจจะทำปฏิกิริยากับถุงยางอนามัย และทำให้เกิดอาการระคายเคืองในช่องคลอดได้

3. การใช้ยาฮอร์โมนเฉพาะที่

ยาฮอร์โมนเฉพาะที่มีทั้งยาในรูปแบบยาทาบริเวณช่องคลอดโดยตรง หรือยาในรูปแบบยาเม็ดสำหรับสอดในช่องคลอด โดยกลไกการออกฤทธิ์ของยาจะปล่อยเอสโตรเจนออกมาบริเวณช่องคลอด ทำให้เยื่อบุช่องคลอดเกิดความชุ่มชื้นขึ้น และสามารถช่วยลดการเกิดภาวะช่องคลอดแห้งได้

4. การใช้ยาฮอร์โมนทดแทน (Hormone Replacement Therapy: HRT) 

ยาฮอร์โมนทดแทนมักใช้สำหรับรักษาภาวะช่องคลอดแห้งที่มีสาเหตุมาจากการหมดประจำเดือนหรือภาวะวัยทอง โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย และสามารถช่วยรักษาอาการอื่นของภาวะวัยทอง เช่น อาการร้อนวูบวาบ อารมณ์แปรปรวนได้ด้วย อย่างไรก็ตาม ตัวยาอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกายได้ จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะช่องคลอดแห้ง

ภาวะช่องคลอดแห้งมักไม่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงต่อสุขภาพ แต่อาจทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงในการติดเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรียบริเวณช่องคลอดได้ง่ายขึ้น เนื่องจากแผลหรือรอยถลอกที่ผนังช่องคลอดจะบางลง ขาดความยืดหยุ่น และเกิดอาการระคายเคืองได้ง่าย นอกจากนี้มักทำให้รู้สึกเจ็บแสบในขณะมีเพศสัมพันธ์ จนอาจกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างคู่นอนได้

การป้องกันภาวะช่องคลอดแห้ง

ภาวะช่องคลอดแห้งสามารถเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติในเพศหญิงวัยหมดประจำเดือน และบางครั้งอาจเกิดจากสาเหตุอื่นที่ทำให้สภาวะภายในช่องคลอดเสียสมดุล แนวทางการป้องกันภาวะนี้จึงเป็นการรับมือกับภาวะหมดประจำเดือนก่อนเวลา และการดูแลช่องคลอดให้มีสุขภาพดี ดังนี้

  • รับประทานอาหารหลัก 5 หมู่อย่างครบถ้วน และอาจเน้นรับประทานอาหารบางประเภทที่อาจส่งผลดีต่อสุขภาพของช่องคลอด เช่น โยเกิร์ต หรือผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองที่มีส่วนประกอบเป็นฮอร์โมนเอสโตรเจนเล็กน้อย
  • ดื่มน้ำเปล่าในปริมาณที่เพียงพอกับที่ร่างกายต้องการต่อวัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ถุงยางอนามัยที่มีส่วนผสมของสารโนน๊อกซินอล 9 (Nonoyxnol-9: N-9) เพราะอาจเพิ่งความเสี่ยงในการเกิดภาวะช่องคลอดแห้งได้
  • หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำหอมหรือสารเคมีบริเวณอวัยวะเพศ รวมถึงการสวนล้างช่องคลอดบ่อย ๆ เพราะอาจทำให้สภาพความเป็นกรดด่างภายในช่องคลอดเสียสมดุล และนำไปสู่การเกิดภาวะช่องคลอดแห้งตามมา
  • จัดการความเครียดหรือความกังวลอย่างเหมาะสม เพื่อรักษาสมดุลของระดับฮอร์โมนต่าง ๆ ในร่างกายให้เป็นปกติ