เตรียมความพร้อมก่อนการบล็อคหลัง

บล็อคหลัง เป็นการฉีดยาเข้าสู่ร่างกายบริเวณหลังเพื่อระงับความเจ็บปวดในระหว่างการผ่าตัด มักใช้กับการผ่าตัดบริเวณส่วนล่างของร่างกาย เช่น ท้อง ขา เท้า อวัยวะเพศ หรือระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น แม้ว่าวิธีบล็อคหลังจะไม่นิยมใช้ในปัจจุบัน แต่แพทย์ก็ยังพิจารณาให้ใช้ในการคลอดบุตรที่ยากหรือการผ่าคลอดทั่วไป 

โดยปกติ การบล็อคหลังจะให้ผลดีกับผ่าตัดบางประเภทและไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจในระหว่างการผ่าตัด ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกตัวได้เร็ว แต่บางรายก็อาจต้องรอให้ยาชาหมดฤทธิ์ก่อนจึงจะเดินหรือเคลื่อนไหวร่างกายได้สะดวกเต็มที่ โดยแพทย์จะฉีดยาชาเข้าไปยังน้ำไขสันหลังโดยตรงของผู้ป่วย อย่างยาเฟนทานิล ยาบูพิวาเคน หรือยาลิโดเคน ซึ่งจะทำให้เกิดอาการชา กล้ามเนื้อหย่อน และไม่มีความรู้สึกเจ็บปวดในระหว่างการผ่าตัดประมาณ 2 ชั่วโมง 

บล็อคหลัง

เตรียมความพร้อมก่อนการบล็อคหลัง

แม้การบล็อคหลังจะเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถใช้วิธีการนี้เพื่อระงับความรู้สึกได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาสุขภาพบางประการ เช่น กระดูกสันหลังผิดปกติ ความดันโลหิตต่ำผิดปกติ ภาวะเลือดออกผิดปกติ ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ภาวะพร่องน้ำพร่องเลือด โรคระบบประสาทส่วนกลางและส่วนปลาย โรคจิต การติดเชื้อบริเวณผิวหนังของหลังส่วนล่างที่เป็นจุดฉีดยาชา เคยแพ้ยาชามาก่อน กำลังรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด เป็นต้น 

หากกำลังตั้งครรภ์ ใช้ยา อาหารเสริม หรือสมุนไพรบางประเภท หรือมีปัญหาสุขภาพ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการบล็อคหลัง พร้อมขอคำแนะนำในการเตรียมตัวเพิ่มเติม โดยทั่วไปแพทย์จะให้ผู้ป่วยปฏิบัติตามหลักดังนี้

  • ปฏิบัติตามคำแนะนำในการงดน้ำและอาหารอย่างเคร่งครัด
  • งดดื่มแอลกอฮอล์ตั้งแต่คืนก่อนการบล็อคหลังจนถึงวันผ่าตัด และงดสูบบุหรี่
  • รับประทานยาโดยดื่มน้ำทีละน้อยตามที่แพทย์สั่ง
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์เมื่อมาถึงโรงพยาบาลในวันผ่าตัด โดยควรมาให้ตรงเวลา และพาญาติหรือคนในครอบครัวมาเป็นเพื่อนด้วย

หลังการบล็อคหลัง ผู้ป่วยอาจต้องนอนอยู่บนเตียงจนกว่าจะขยับร่างกายได้ตามปกติ พยาบาลอาจให้ผู้ป่วยลองปัสสาวะเพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะทำงานตามเดิม เนื่องจากยาชาจะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าวคลายตัว ผู้ป่วยจึงปัสสาวะได้ลำบากและอาจนำไปสู่การติดเชื้อที่กระเพาะปัสสาวะได้

ผลข้างเคียงของบล็อคหลัง

การบล็อคหลังถือว่าปลอดภัยต่อร่างกายผู้เข้ารับการผ่าตัด แต่ก็อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น 

  • รู้สึกไม่สบายตัว เคลื่อนไหวร่างกายได้ลำบาก 
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • มีเลือดออกรอบกระดูกสันหลัง
  • ติดเชื้อที่กระดูกสันหลัง
  • คันตามใบหน้า 
  • คลื่นไส้ อาเจียน 
  • รู้สึกเหมือนมีของแหลมทิ่มแทงตามขาหรือก้นประมาณ 2-3 วัน
  • ปวดบริเวณที่ถูกฉีดยาประมาณ 2-3 วัน
  • ปวดศีรษะอย่างรุนแรง
  • ปัสสาวะออกยาก
  • มีปัญหาในการหายใจหรือชัก แต่พบได้น้อยมาก
  • เส้นประสาทถูกทำลาย

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีและความเสี่ยงก่อนการบล็อคหลัง อีกทั้งควรขอคำแนะนำถึงข้อปฏิบัติที่ควรทำและข้อห้ามก่อนเข้ารับการผ่าตัด เพื่อลดความเสี่ยงและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ ในกรณีที่พบความผิดปกติอื่น ๆ หลังการบล็อคหลัง ควรแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง