ปัสสาวะเล็ด

ความหมาย ปัสสาวะเล็ด

ปัสสาวะเล็ด เป็นอาการที่ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมกระเพาะปัสสาวะได้ ทำให้ปัสสาวะออกมาโดยไม่ตั้งใจ ผู้ป่วยอาจรู้สึกปวปัสสาวะมากจนกลั้นไว้ไม่อยู่ หรืออาจเกิดขึ้นขณะไอและจาม มักพบอาการนี้ในผู้หญิงบ่อยกว่าผู้ชาย ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเพียงชั่วคราว ในขณะที่บางรายก็อาจส่งผลในระยะยาว โดยลักษณะอาการจะขึ้นอยู่กับโรคหรือปัญหาสุขภาพที่เป็นสาเหตุด้วย ซึ่งแพทย์จะให้การรักษาตามสาเหตุนั้น ๆ

อาการปัสสาวะเล็ด

อาการของภาวะปัสสาวะเล็ด แบ่งออกได้หลายประเภท ดังนี้

ปัสสาวะเล็ดเมื่อมีแรงดัน เกิดแรงดันบริเวณกระเพาะปัสสาวะจนทำให้ปัสสาวะเล็ด ซึ่งอาจเกิดจากการไอ จาม หัวเราะ ออกกำลังกาย ยกของหนัก เคลื่อนไหวร่างกายในลักษณะอื่น ๆ หรือมีภาวะที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายอย่างการตั้งครรภ์ การคลอดบุตร และการอยู่ในวัยหมดประจำเดือน โดยผู้ป่วยมักมีปัสสาวะเล็ดออกมาเพียงเล็กน้อย แต่หากในขณะนั้นกระเพาะปัสสาวะเต็มก็อาจทำให้มีปัสสาวะเล็ดออกมาในปริมาณมากได้

ปัสสาวะเล็ดเนื่องจากปัสสาวะล้น หรืออาการปัสสาวะไม่ออกเรื้อรัง เกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยไม่สามารถปัสสาวะออกมาได้หมด เพราะกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะอ่อนแรงหรืออาจเกิดการอุดตันของท่อปัสสาวะ ซึ่งอาจเกิดจากภาวะต่อมลูกหมากโต มีนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ หรือท้องผูก จึงทำให้มีปัสสาวะเหลือค้างมากกว่าปกติ โดยผู้ป่วยอาจขับปัสสาวะได้เพียงหยดเล็ก ๆ และรู้สึกว่าไม่สามารถปัสสาวะออกมาให้หมดได้

ปัสสาวะราด เป็นอาการปวดปัสสาวะที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันและปวดมากจนไม่สามารถกลั้นเอาไว้ได้ บางรายอาจปวดปัสสาวะบ่อยครั้งโดยไม่เว้นแม้แต่ในตอนกลางคืน ซึ่งปัจจัยบางอย่างก็อาจกระตุ้นให้รู้สึกปวดปัสสาวะได้ เช่น การได้ยินเสียงน้ำไหล หรือการเปลี่ยนท่าทางอย่างกะทันหัน เป็นต้น รวมทั้งอาจปัสสาวะราดในระหว่างที่มีเพศสัมพันธ์หรือเมื่อถึงจุดสุดยอดด้วย ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน หรืออาจเกิดจากการติดเชื้อ ความผิดปกติทางระบบประสาท และโรคเบาหวานได้เช่นกัน  

กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เกิดจากความผิดปกติทางด้านจิตใจหรือร่างกายที่ส่งผลให้ผู้ป่วยไปเข้าห้องน้ำไม่ทัน เช่น ผู้ป่วยมีอาการข้ออักเสบอย่างรุนแรงจนอาจปัสสาวะเล็ดเพราะอาการป่วยทำให้ถอดกางเกงได้ช้า เป็นต้น

ปัสสาวะเล็ดจากหลายสาเหตุรวมกัน ผู้ป่วยอาจมีอาการปัสสาวะเล็ดในลักษณะต่าง ๆ ดังข้างต้นร่วมกันมากกว่า 1 ประเภท เช่น มีปัสสาวะเล็ดออกมาเมื่อไอหรือจามร่วมกับปัสสาวะไม่ออกอย่างเรื้อรัง หรือปวดปัสสาวะแบบกะทันหันและไม่สามารถกลั้นเอาไว้ได้ เป็นต้น

1787 ปัสสาวะเล็ด rs

สาเหตุของอาการปัสสาวะเล็ด

อาการปัสสาวะเล็ดอาจเกิดขึ้นได้จากพฤติกรรมการใช้ชีวิต อาการเจ็บป่วย หรือความเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่เกิดขึ้นในร่างกาย ดังนี้

การรับประทานอาหารและการใช้ยา

  • รับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มบางชนิด เช่น แอลกอฮอล์ น้ำอัดลม น้ำตาลเทียม ช็อกโกแลต พริกไทย ผลไม้จำพวกส้ม อาหารที่มีเครื่องเทศ น้ำตาล หรือมีกรดในปริมาณมาก เป็นต้น
  • ใช้ยารักษาบางชนิด เช่น ยากล่อมประสาท ยารักษาความดันโลหิตสูง ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาขับปัสสาวะ ฮอร์โมนทดแทน เป็นต้น

การเปลี่ยนแปลงของร่างกาย

  • ตั้งครรภ์ เนื่องจากฮอร์โมนในร่างกายของคุณแม่จะเกิดการเปลี่ยนแปลง รวมถึงน้ำหนักของทารกในครรภ์ที่เพิ่มขึ้นก็อาจทำให้มีอาการปัสสาวะเล็ดในช่วงนี้ได้
  • คลอดลูก เพราะกล้ามเนื้อที่ควบคุมกระเพาะปัสสาวะอาจอ่อนแอลงจนทำให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานหย่อน ทั้งยังทำให้กระเพาะปัสสาวะ มดลูก ลำไส้ใหญ่ และลำไส้เล็กเกิดการเคลื่อนที่จนยื่นเข้าไปในช่องคลอด ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการปัสสาวะเล็ดตามมาได้
  • ผ่านการผ่าตัดมดลูก กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอาจเกิดความเสียหายจนส่งผลกระทบต่อกระเพาะปัสสาวะไปด้วย
  • เป็นผู้สูงวัยหรืออยู่ในวัยหมดประจำเดือน อายุที่เพิ่มมากขึ้นอาจทำให้กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะเกิดความเปลี่ยนแปลงและบรรจุน้ำปัสสาวะได้น้อยลง ส่วนผู้หญิงที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนได้น้อยลง ซึ่งฮอร์โมนนี้จะช่วยให้เยื่อบุในกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะมีความแข็งแรง ดังนั้น เมื่อมีการผลิตฮอร์โมนนี้น้อยลงจึงทำให้เนื้อเยื่อดังกล่าวเสื่อมสภาพและส่งผลให้เกิดอาการปัสสาวะเล็ดได้

ภาวะเจ็บป่วยต่าง ๆ

  • ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งอาจทำให้กระเพาะปัสสาวะเกิดการระคายเคืองและมีอาการปวดปัสสาวะมากผิดปกติหรือกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
  • มีปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะไม่ออกเรื้อรังเนื่องจากมีเนื้องอก กระเพาะปัสสาวะทะลุ มีนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น
  • ท้องผูก เพราะทวารหนักนั้นอยู่ใกล้กับกระเพาะปัสสาวะและมีเส้นประสาทหลายเส้นร่วมกัน เมื่อเกิดการสะสมของอุจจาระจึงอาจไปกระตุ้นการทำงานของเส้นประสาทในบริเวณดังกล่าว ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกระเพาะปัสสาวะได้เช่นกัน
  • มีปัญหาที่ต่อมลูกหมาก เช่น ต่อมลูกหมากโต มะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นต้น หรืออาจเป็นผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้ด้วย
  • เป็นโรคเกี่ยวกับระบบประสาท เช่น โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง โรคพาร์กินสัน โรคหลอดเลือดสมอง เนื้องอกในสมอง หรือการบาดเจ็บที่ไขสันหลัง เป็นต้น เนื่องจากโรคเหล่านี้อาจส่งผลต่อการส่งสัญญาณประสาทที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมกระเพาะปัสสาวะ

การวินิจฉัยอาการปัสสาวะเล็ด

แพทย์จะสอบถามอาการของผู้ป่วย ซักประวัติสุขภาพ และตรวจร่างกายเพื่อประเมินในเบื้องต้นว่าเป็นอาการปัสสาวะเล็ดชนิดใด จากนั้นอาจมีการวินิจฉัยเพิ่มเติม ดังนี้

จดบันทึกการปัสสาวะ โดยให้ผู้ป่วยบันทึกอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายวัน เพื่อให้ทราบถึงปริมาณน้ำที่ดื่มในแต่ละวันและปริมาณปัสสาวะที่ขับออกมา รวมทั้งดูว่ามีอาการปวดปัสสาวะผิดปกติหรือมีภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่หรือไม่

ตรวจปัสสาวะ แพทย์จะเก็บตัวอย่างปัสสาวะของผู้ป่วยและทำการเพาะเชื้อเพื่อตรวจหาการติดเชื้อแบคทีเรีย การเกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะ หรือความผิดปกติใด ๆ โดยอาจใช้แถบตรวจปัสสาวะเพื่อตรวจระดับเลือดและโปรตีนที่อยู่ในปัสสาวะด้วย

ตรวจปริมาณปัสสาวะที่ค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ หากคาดว่าผู้ป่วยกลั้นปัสสาวะไม่ได้เนื่องจากมีปัสสาวะล้น แพทย์อาจตรวจดูปริมาณปัสสาวะที่ค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะหลังจากปัสสาวะไปเรียบร้อยแล้ว โดยจะใช้การอัลตราซาวด์เพื่อแสดงภาพกระเพาะปัสสาวะ หรืออาจใช้ท่อสวนเข้าไปในท่อปัสสาวะเพื่อวัดปริมาณปัสสาวะ

ตรวจการทำงานของระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นการสอดท่อวัดแรงดันเข้าไปในท่อปัสสาวะ เพื่อวัดความดันในกระเพาะปัสสาวะหรือช่องท้อง จากนั้นแพทย์จะให้ผู้ป่วยปัสสาวะลงในอุปกรณ์ที่มีไว้สำหรับวัดปริมาณและการไหลของปัสสาวะ

ตรวจด้วยการกระตุ้นให้เกิดแรงเบ่ง แพทย์จะให้ผู้ป่วยไออย่างแรง โดยในระหว่างนี้แพทย์จะตรวจดูท่อทางเดินปัสสาวะและปริมาณปัสสาวะที่ไหลออกมาไปพร้อมกัน

ตรวจด้วยการส่องกล้องทางเดินปัสสาวะ เป็นการนำท่อที่ติดกล้องขนาดเล็กสอดเข้าไปทางท่อปัสสาวะ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์มองเห็นกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะ เพื่อที่จะระบุความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยได้

การรักษาอาการปัสสาวะเล็ด

แพทย์จะพิจารณาการรักษาจากลักษณะอาการ ความรุนแรงของการป่วย รวมถึงโรคที่เป็นสาเหตุด้วย ซึ่งอาจต้องรักษาหลายวิธีรวมกัน โดยวิธีการที่แพทย์อาจนำมาใช้ มีดังนี้

การแนะนำให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

  • ให้ออกกำลังกายเพื่อฝึกกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน โดยผู้ป่วยอาจปรึกษานักกายภาพบำบัดเกี่ยวกับการวางแผนออกกำลังกาย หรืออาจฝึกขมิบกล้ามเนื้อเป็นเวลา 5 วินาที แล้วผ่อน 5 วินาที ทำอย่างต่อเนื่อง 10 ครั้ง นับเป็นหนึ่งชุด และควรปฏิบัติให้ได้ 3 ชุดต่อวัน ซึ่งการออกกำลังกายด้วยวิธีนี้เป็นประจำจะทำให้กล้ามเนื้อเกิดความแข็งแรงและสามารถควบคุมปัสสาวะได้
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน รวมทั้งควรปรับเปลี่ยนปริมาณเครื่องดื่มที่ผู้ป่วยดื่มในแต่ละวันตามคำแนะนำของแพทย์ด้วย เพราะหากดื่มมากหรือน้อยเกินไปอาจทำให้อาการแย่ลงได้
  • ฝึกปัสสาวะ เช่น ฝึกชะลอการปัสสาวะ โดยควรกลั้นปัสสาวะไว้ประมาณ 10 นาทีเมื่อรู้สึกปวดแล้วจึงค่อยไปปัสสาวะ พยายามถ่ายปัสสาวะซ้ำเพื่อช่วยให้กระเพาะปัสสาวะว่างและลดการเกิดปัสสาวะล้น หรือรีบไปห้องน้ำก่อนจะปวดปัสสาวะมากจนกลั้นไม่อยู่ เป็นต้น
  • ดูแลสุขภาพโดยควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมเสมอ

การใช้ยา

แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานยาบางชนิด เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อในกระเพาะปัสสาวะผ่อนคลาย บีบตัวน้อยลง จนทำให้ปัสสาวะได้ง่ายขึ้น หรือช่วยให้กลั้นปัสสาวะได้นานขึ้น เช่น

  • ยากลุ่มแอนตี้โคลิเนอร์จิก
  • ยามิราเบกรอน
  • ยาแอลฟาบล็อกเกอร์
  • ยาดูล็อกซีทีน
  • ยาแอนตี้มัสคารินิก
  • ยาเดสโมเพรสซิน
  • ยาฮอร์โมนทดแทน

การผ่าตัด

  • ผ่าตัดใส่เชือกสลิงใต้ท่อปัสสาวะ เพื่อช่วยปิดท่อปัสสาวะเอาไว้ไม่ให้เกิดอาการปัสสาวะเล็ดหากผู้ป่วยไอหรือจาม
  • ผ่าตัดรักษาภาวะอุ้งเชิงกรานหย่อน มักใช้ในผู้ป่วยหญิงที่ปัสสาวะเล็ดร่วมกับมีภาวะอุ้งเชิงกรานหย่อนยาน โดยแพทย์อาจใช้วิธีนี้ร่วมกับการผ่าตัดใส่เชือกสลิงใต้ท่อปัสสาวะด้วย
  • ผ่าตัดใส่หูรูดเทียม เป็นการผ่าตัดสำหรับผู้ป่วยชาย โดยแพทย์จะฝังห่วงของเหลวบริเวณรอบคอกระเพาะปัสสาวะ เพื่อให้หูรูดของท่อปัสสาวะปิดอยู่ตลอดเวลา เมื่อต้องการปัสสาวะ ผู้ป่วยจะกดปุ่มที่ฝังใต้ผิวหนังเพื่อทำให้ห่วงนั้นแฟบลงจนปัสสาวะไหลผ่านออกมาได้
  • ผ่าตัดทำรูสวนปัสสาวะผ่านทางหน้าท้อง โดยสอดท่อผ่านรูผ่าตัดที่หน้าท้องเพื่อระบายปัสสาวะออกมาทางท่อ

การรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ

  • กระตุ้นด้วยไฟฟ้า โดยแพทย์จะใส่ขั้วไฟฟ้าเข้าไปบริเวณช่องคลอดหรือลำไส้ใหญ่ เพื่อกระตุ้นกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน และทำให้กล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าวมีความแข็งแรงมากขึ้น
  • ใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ อย่างการใช้ Urethral Insert ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับผ้าอนามัยแบบสอด โดยใช้สอดเข้าไปในช่องปัสสาวะ เพื่อป้องกันการไหลของปัสสาวะ ซึ่งก่อนผู้ป่วยจะปัสสาวะต้องนำอุปกรณ์นี้ออกก่อนเสมอ
  • ฉีดโบท็อกซ์เข้าไปบริเวณกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ เพื่อช่วยลดอาการกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินไป โดยจะใช้วิธีนี้กับผู้ป่วยที่รักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล  

ภาวะแทรกซ้อนของอาการปัสสาวะเล็ด

ภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ อาจเกิดขึ้นได้กับผู้ที่มีภาวะปัสสาวะเล็ดหรือกลั้นปัสสาวะไม่อยู่อย่างเรื้อรัง โดยอาจเกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ หรือเกิดปัญหาเกี่ยวกับผิวหนัง เช่น มีผื่น ผิวหนังติดเชื้อ เกิดแผลจากความเปียกชื้นบริเวณจุดช่อนเร้น เป็นต้น นอกจากนี้ อาจเกิดผลกระทบต่อการใช้ชีวิต อาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอายเมื่อปัสสาวะเล็ด และอาจกระทบต่อการทำงาน ความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ๆ รวมถึงการใช้ชีวิตในสังคมด้วย

การป้องกันอาการปัสสาวะเล็ด

แม้ไม่สามารถป้องกันอาการปัสสาวะเล็ดได้ทั้งหมด แต่อาจลดความเสี่ยงได้ ดังนี้

  • ออกกำลังกาย และบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานโดยเฉพาะในผู้ที่ตั้งครรภ์หรือเพิ่งคลอดลูก
  • ควบคุมน้ำหนัก เนื่องจากผู้ป่วยที่มีโรคอ้วนหรือมีน้ำหนักเกินมาตรฐานอาจเสี่ยงเกิดอาการปัสสาวะเล็ดได้ จึงควรออกกำลังกายและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนอย่างชา กาแฟ หรือน้ำอัดลม รวมถึงงดสูบบุหรี่ เพราะปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้ไตผลิตน้ำปัสสาวะมากกว่าเดิม และอาจเกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะปัสสาวะได้