ผึ้งต่อย

ความหมาย ผึ้งต่อย

ผึ้งต่อย (Bee Sting) คือ อาการที่ผู้ป่วยถูกผึ้งซึ่งเป็นแมลงที่มีเหล็กในต่อย หรืออาจฝังเหล็กในลงบนผิวหนังด้วย จนทำให้เกิดความรู้สึกคล้ายถูกเข็มแทง รู้สึกปวด ร้อน หรือคันบริเวณที่เกิดเป็นตุ่มบวมขึ้นมา ซึ่งมีจุดสีแดงอยู่ตรงกลางและมีผิวหนังสีขาวอยู่โดยรอบ

ผึ้งต่อย

โดยทั่วไป ความเจ็บปวดและตุ่มบวมจากการโดนผึ้งต่อยจะค่อย ๆ ดีขึ้น และค่อย ๆ หายไปภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง โดยไม่ต้องไปพบแพทย์ แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการรุนแรงกว่านั้น เนื่องจากแพ้พิษของเหล็กใน หรืออาจถูกผึ้งต่อยหลายจุด ทำให้มีอาการยาวนานเป็นสัปดาห์ หรือมีปฏิกิริยาของอาการแพ้ต่าง ๆ ที่รุนแรงและลุกลามออกไปเป็นบริเวณกว้าง

แม้มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก แต่ผู้ป่วยบางรายอาจเผชิญกับอาการแพ้ที่รุนแรงจนเสี่ยงต่อการเสียชีวิต (Anaphylaxis) ดังนั้น เมื่อถูกผึ้งต่อย ผู้ป่วยควรปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยวิธีที่เหมาะสม พร้อมทั้งสังเกตอาการที่เป็นสัญญาณสำคัญของอาการแพ้ เพื่อหาทางรักษาและไปพบแพทย์ได้ทันท่วงที

อาการของผึ้งต่อย

หลังโดนผึ้งต่อย อาการที่พบได้ทั่วไป คือ

  • รู้สึกคล้ายถูกเข็มแทง รู้สึกปวด ร้อน หรือคันบริเวณที่โดนต่อย
  • เกิดเป็นตุ่มบวมขึ้นมา ซึ่งมีจุดสีแดงอยู่ตรงกลางและมีผิวหนังสีขาวอยู่โดยรอบ
  • ความเจ็บปวดและตุ่มบวมจากการโดนผึ้งต่อยจะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายไปในเวลาไม่กี่ชั่วโมง

แต่ในบางรายอาจมีอาการรุนแรงขึ้น ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์หากอาการรุนแรงขึ้น หรือมีอาการเรื้อรังยาวนานและอาการไม่หายไป เช่น

  • ตุ่มบวมแดงอย่างเห็นได้ชัด
  • บริเวณที่โดนผึ้งต่อยขยายบวมโตขึ้นในวันถัดมา
  • อาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นใช้เวลานานกว่าจะหายดี อาจยาวนานเป็นสัปดาห์หรือเกินกว่านั้น

ส่วนอาการแพ้ที่เป็นปฏิกิริยารุนแรงหลังถูกผึ้งต่อย ซึ่งผู้ป่วยควรขอความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน หรือไปพบแพทย์ทันที ได้แก่

  • มีอาการแพ้ปรากฏบนผิวหนัง อย่างผดผื่นคันสีแดงหรือสีซีดขาว
  • อ่อนเพลีย หมดแรง
  • แน่นหน้าอก หายใจลำบาก หายใจไม่ออก หรือหายใจมีเสียงหวีด
  • เสียงแหบ พูดจาติดขัด
  • ลิ้นบวม คอบวม
  • หัวใจเต้นแรง ชีพจรเต้นเร็ว
  • คลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องร่วง
  • วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลม
  • กระวนกระวาย ไม่รู้สึกตัว หมดสติ

นอกจากนี้ ในกรณีที่ผู้ป่วยถูกผึ้งต่อยมากกว่า 1 จุด อาจเกิดการสะสมพิษจนทำให้มีอาการป่วยที่รุนแรงขึ้นได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่เป็นเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่ป่วยด้วยโรคหัวใจ หรือมีปัญหาการหายใจ โดยอาการป่วยที่อาจเกิดขึ้นได้ คือ

  • คลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องร่วง
  • ปวดศีรษะ
  • รู้สึกเวียนศีรษะเหมือนบ้านหมุน
  • มีอาการชัก
  • มีไข้
  • วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลม

ดังนั้น ผู้ที่ถูกผึ้งต่อยหลาย ๆ จุดในร่างกาย หากพบอาการป่วยที่รุนแรงดังกล่าวมาข้างต้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาให้ทันการณ์เช่นกัน

สาเหตุของอาการผึ้งต่อย

ผึ้งมักใช้เหล็กในต่อยเพื่อป้องกันตัวจากการรบกวนของมนุษย์ และหลังจากปล่อยเหล็กในแล้ว ผึ้งบางชนิดก็จะตายไปในที่สุด โดยในการต่อยแต่ละครั้ง ผึ้งอาจปล่อยเหล็กในฝังอยู่ในผิวหนังของมนุษย์ พิษของเหล็กใน คือ โปรตีนที่ส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ในบริเวณที่ถูกผึ้งต่อย ส่วนผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ที่แพ้เหล็กในของผึ้ง พิษจากเหล็กในจะยิ่งส่งผลให้เกิดอาการที่รุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก

ผู้ที่มีความเสี่ยงถูกผึ้งต่อย

  • ผู้ที่อยู่อาศัยในบริเวณที่มีผึ้งทำรังอยู่ หรือไปอยู่ใกล้ ๆ รังผึ้ง
  • ผู้ที่อยู่นอกบ้าน หรือทำงานนอกสถานที่ ไม่ได้อยู่ในที่พักอาศัยที่ปิดมิดชิด

ผู้ที่มีความเสี่ยงเกิดอาการรุนแรงจากการถูกผึ้งต่อย

  • ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ที่แพ้เหล็กในของผึ้ง
  • ผู้ที่ถูกผึ้งต่อยหลาย ๆ จุดในร่างกาย

การวินิจฉัยอาการผึ้งต่อย

เมื่อผู้ป่วยไปพบแพทย์หลังถูกผึ้งต่อย นอกจากการตรวจร่างกายเพื่อดูปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นตามบริเวณที่ถูกผึ้งต่อยแล้ว หากแพทย์มีข้อสงสัยว่าผู้ป่วยอาจมีอาการแพ้พิษจากเหล็กใน แพทย์อาจตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

  • ทดสอบผิวหนัง แพทย์อาจใช้ชุดทดสอบภูมิแพ้ ด้วยการฉีดสารก่อภูมิแพ้ที่เป็นสารพิษจากผึ้งไปบนผิวหนังบริเวณแขนหรือแผ่นหลังด้านบนเพียงเล็กน้อย แล้วรอดูปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นบนผิวหนังบริเวณนั้น วิธีการนี้จะไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ที่รุนแรง แต่ผู้ที่แพ้ต่อสารจริง จะปรากฏเป็นตุ่มนูนขึ้นมา
  • ตรวจเลือด แพทย์อาจนำตัวอย่างเลือดไปตรวจในห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจหาระดับภูมิคุ้มกันในเลือดที่เพิ่มขึ้นในการต้านพิษจากเหล็กในผึ้ง

การรักษาอาการผึ้งต่อย

สำหรับผู้ที่มีอาการเพียงเล็กน้อยหลังถูกผึ้งต่อย อาจปฐมพยาบาลอาการในเบื้องต้น และบรรเทาความเจ็บปวดได้ ดังนี้

  • หากเหล็กในอยู่ในตำแหน่งที่มองเห็นได้ชัด ผู้ป่วยควรพยายามบีบผิวโดยรอบเพื่อดันเหล็กในออกมาให้เร็วที่สุด
  • ล้างทำความสะอาดผิวบริเวณที่ถูกผึ้งต่อยด้วยสบู่และน้ำสะอาด
  • ใช้น้ำแข็งหรือผ้าเย็นวางประคบในบริเวณนั้น
  • หากถูกผึ้งต่อยบริเวณแขนหรือขา ให้ยกแขนหรือขาขึ้น หรือวางแขนขาไว้บนระดับที่สูงกว่าปกติ
  • หากสวมใส่เครื่องประดับอยู่ ให้ถอดเครื่องประดับออก เพราะอาจเกิดอาการบวมจนยากต่อการถอดเครื่องประดับในภายหลัง
  • ไม่เกาบริเวณที่ถูกผึ้งต่อย เพราะจะยิ่งทำให้อาการแย่ลง และเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ
  • บรรเทาอาการปวดด้วยการรับประทานยาแก้ปวดที่หาซื้อได้ตามร้านขายยา เช่น พาราเซตามอล ไอบูโพรเฟน แอสไพริน (ห้ามใช้แอสไพรินในผู้ป่วยที่มีอายุต่ำกว่า 19 ปีเด็ดขาด)
  • รักษาอาการที่เกิดบนผิวหนัง เพื่อลดอาการบวมแดงและอาการคัน ด้วยการทายาไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) คาลาไมน์ (Calamine) ผสมเบกกิ้งโซดากับน้ำเปล่า หรือรับประทานยาต้านฮิสตามีน (Antihistamine) เช่น ไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) หรือ คลอร์เฟนิรามีน (Chlorpheniramine)

ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาทันที โดยแพทย์อาจใช้วิธีการรักษาอาการ ดังนี้

  • ให้ยาหรือฉีดยาต้านฮิสตามีน (Antihistamine) และคอร์ติโซน (Cortisone) เพื่อลดอาการแพ้ที่เกิดขึ้น และอาการอักเสบภายในทางเดินหายใจ ลดภาวะหลอดลมตีบ หรือมีเสมหะในทางเดินหายใจจากฮีสตามีน
  • ฉีดเอพิเนฟรีน โดยเฉพาะในรายที่มีปฏิกิริยาแพ้อย่างรุนแรง (Anaphylaxis) เพื่อรักษาและลดการเกิดอาการแพ้ที่เป็นอันตราย
  • พ่นยาขยายหลอดลม (Beta agonist) เช่น อัลบูเทอรอล เพื่อบรรเทาอาการหลอดลมตีบจากปัญหาการหายใจ
  • ให้ออกซิเจน แพทย์อาจต้องให้ออกซิเจนเพื่อช่วยในการหายใจแก่ผู้ป่วยที่มีปัญหาการหายใจอย่างรุนแรงจากอาการแพ้
  • ทำซีพีอาร์ หรือปฏิบัติการช่วยชีวิต (Cardiopulmonary Resuscitation: CPR) ในผู้ป่วยที่หยุดหายใจ
  • แพทย์อาจฉีดสารภูมิคุ้มกันบำบัดให้ ซึ่งผู้ป่วยต้องมาฉีดเรื่อย ๆ ทุก 2-3 ปี เพื่อรักษาและลดปฏิกิริยาตอบสนองต่อพิษจากเหล็กในผึ้ง

การป้องกันการถูกผึ้งต่อย

  • เก็บอาหารและเครื่องดื่มไว้ในภาชนะที่มิดชิด
  • ระมัดระวังในขณะดื่มน้ำหวานหรือเครื่องดื่มที่มีรสหวาน ตรวจเช็คหลอด ภายในกระป๋อง หรือภาชนะทีไม่ชัดเจนต่อการมองเห็นก่อนบริโภคเสมอ
  • ทำความสะอาดพื้นที่อยู่อาศัยโดยรอบ กำจัดขยะมูลฝอยและสิ่งที่อาจล่อผึ้งหรือแมลงต่าง ๆ เข้ามาได้
  • สวมใส่เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่มิดชิดขณะออกจากบ้าน หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าหลวม ๆ ซึ่งจะมีพื้นที่ว่างให้แมลงเข้าไปภายในได้
  • ไม่สวมใส่เสื้อผ้าลายดอกไม้หรือที่มีสีสันสดใส เพราะอาจดึงดูดผึ้งได้
  • ไม่ใช้น้ำหอมหรือครีมทาผิวที่มีกลิ่นหอมหวานดึงดูดผึ้งได้
  • ไม่เปิดกระจกในขณะขับรถ
  • ระมัดระวังในขณะทำกิจกรรมนอกบ้านอย่างการตัดหญ้าหรือทำสวน เพราะอาจไปรบกวนรังที่อยู่ของผึ้งและแมลงมีพิษโดยไม่ตั้งใจ
  • ให้ผู้ที่เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ช่วยกำจัดรังผึ้งและแมลงอันตรายอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้บริเวณที่พักอาศัย
  • หากมีผึ้งบินอยู่ใกล้ ๆ ตัว ให้อยู่ในความสงบและเดินออกมาอย่างช้า ๆ หลีกเลี่ยงการใช้มือปัดหรือตี เพราะจะทำให้ถูกผึ้งต่อยได้
  • หากถูกผึ้งต่อยและยังมีผึ้งตัวอื่น ๆ บินอยู่ในบริเวณนั้น ให้ปิดปากและจมูกไว้ แล้วรีบออกจากบริเวณนั้น หรือเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่มิดชิด เนื่องจากเมื่อผึ้งต่อย จะเป็นการปล่อยสารเคมีดึงดูดผึ้งตัวอื่น ๆ เข้ามาเพิ่มด้วย ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอาการแพ้รุนแรงจากการถูกผึ้งต่อยในหลาย ๆ จุด