ยาแก้แพ้

ยาแก้แพ้

ยาแก้แพ้ เป็นกลุ่มยาต้านฮิสตามีน (Antihistamine) ใช้รักษาและระงับอาการโรคภูมิแพ้และอาการแพ้อื่น ๆ ซึ่งเกิดจากการหลั่งสารฮิสตามีนออกมาเมื่อร่างกายได้รับสิ่งแปลกปลอม ส่งผลให้เกิดอาการคัน จาม มีน้ำมูก น้ำตาไหล บางรายอาจมีฮิสตามีนในท่อหลอดลมบริเวณคอจนทำให้หายใจลำบาก นอกจากนี้ ยังใช้ยาแก้แพ้รักษาอาการป่วยจากการเดินทางหรือการเคลื่อนไหว เช่น เมารถ เมาเรือ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน และอาจใช้ยาชนิดนี้รักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาการนอนให้นอนหลับง่ายขึ้น เนื่องจากยาแก้แพ้บางชนิดมีผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการง่วงได้

ยาแก้แพ้

ยาแก้แพ้มีหลายประเภท แต่โดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่

กลุ่มยาแก้แพ้ที่ทำให้ง่วง เป็นยารุ่นเดิมซึ่งตัวยาสามารถผ่านเข้าสู่สมองและทำให้เกิดอาการง่วงได้ แต่ยาออกฤทธิ์ได้ไม่นาน จึงต้องรับประทานยาวันละหลายครั้งเพื่อให้การรักษาอาการแพ้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ คลอเฟนิรามีน ไฮดรอกไซซีน โปรเมทาซีน ไดเฟนไฮดรามีน

กลุ่มยาแก้แพ้ที่ไม่ทำให้ง่วง ตัวยาถูกพัฒนาให้มีฤทธิ์เจาะจงกับตัวรับฮิสตามีน จึงมีประสิทธิภาพดีกว่าและออกฤทธิ์ในร่างกายได้นานกว่ายากลุ่มแรก จึงรับประทานเพียงวันละครั้ง และเนื่องจากยาชนิดนี้ไม่ผ่านเข้าสู่สมอง จึงไม่ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการง่วงนอนหลังใช้ยา

ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ เซทิไรซีน ลอราทาดีน และเฟกโซเฟนาดีน เป็นต้น

คำเตือนในการใช้ยา

ยาแก้แพ้ในกลุ่มยาแต่ละประเภทล้วนมีข้อบ่งชี้ ข้อควรระวังในการใช้ยา และส่วนประกอบในยาที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้น ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงอาการป่วยในปัจจุบัน ประวัติทางการแพทย์ และประวัติการแพ้ยาต่าง ๆ รวมทั้งศึกษาวิธีการใช้ยาและคำเตือนบนฉลากให้ดีก่อนใช้ยาเสมอ เพื่อป้องกันการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาผิดวิธี

ตัวอย่างข้อควรระวังในการใช้ยาแก้แพ้ ได้แก่

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากมีประวัติแพ้ยานี้ ยาแก้แพ้ชนิดอื่น ๆ หรือแพ้สารต่าง ๆ เช่น สีผสมอาหาร หรือวัตถุกันเสีย เพราะยาอาจมีส่วนประกอบที่ทำให้เกิดอาการแพ้ หรือเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้
  • หากเป็นยาแก้แพ้ชนิดที่ทำให้ง่วง แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาถึงประวัติการป่วยและโรคประจำตัว โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ ไทรอยด์ ความดันโลหิตสูง ถุงลมโป่งพอง ต้อหิน หลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรัง และผู้ที่มีอาการชัก
  • หากเป็นยาแก้แพ้ชนิดที่ไม่ทำให้ง่วง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาทุกครั้ง โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคไต เนื่องจากอาการป่วยอาจขัดขวางการกำจัดยาออกจากร่างกาย และเพิ่มความเสี่ยงการเกิดผลข้างเคียงตามมาได้ รวมถึงแจ้งให้แพทย์ทราบหากกำลังใช้ยาลดกรด ยาต้านเชื้อรา หรือยาปฏิชีวนะ เช่น อิริโทรมัยซิน ไรแฟมพิน เพราะยาเหล่านี้อาจมีปฏิกิริยากับยาแก้แพ้ ทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลง และอาจเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้เช่นกัน
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากกำลังใช้ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท หรือยาคลายกล้ามเนื้อ เนื่องจากยาดังกล่าวอาจทำปฏิกิริยากับยาแก้แพ้ และส่งผลกระทบที่เป็นอันตรายได้
  • ผู้ป่วยโรคต่อมลูกหมากโตควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา เพราะยาชนิดนี้อาจส่งผลให้อาการของโรคแย่ลง
  • หากรับประทานยาแก้แพ้ที่มีส่วนผสมของยาแก้คัดจมูกหรือยาแก้ปวด ควรอ่านฉลากยาให้ละเอียดก่อนใช้ทุกครั้ง เพราะยาดังกล่าวอาจมีปฏิกิริยากับยาอื่น ๆ ที่กำลังรับประทานอยู่ และอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ขึ้นได้
  • ไม่ควรรับประทานยาแก้แพ้มากกว่า 1 ชนิดในคราวเดียวกัน เนื่องจากการใช้ยาเกินปริมาณที่แพทย์แนะนำอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้
  • ยาแก้แพ้บางชนิดอาจมีฤทธิ์ทำให้ง่วงซึม จึงควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ การใช้เครื่องจักร หรือการทำกิจกรรมเสี่ยงอันตรายหากใช้ยา
  • จำกัดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างที่ใช้ยา ส่วนผู้ที่ใช้ยาแก้แพ้ชนิดที่ไม่ทำให้ง่วงไม่ควรดื่มน้ำผลไม้ขณะใช้ยา เนื่องจากยาอาจมีประสิทธิภาพลดลง และอาจส่งผลให้ร่างกายดูดซึมยาได้น้อย
  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ไม่ควรรับประทานยานี้โดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์
  • ผู้ที่กำลังให้นมบุตร ควรงดให้นมบุตรขณะใช้ยานี้ เนื่องจากยาแก้แพ้สามารถซึมผ่านน้ำนมมารดาไปยังทารก และอาจส่งผลรุนแรงจนเด็กเสียชีวิตได้
  • ห้ามใช้ยานี้ในเด็กแรกเกิด หรือเด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี โดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ เพราะอาจส่งผลข้างเคียงรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา

เนื่องจากยาแก้แพ้แต่ละชนิดล้วนมีส่วนประกอบที่แตกต่างกัน จึงอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการข้างเคียงจากการใช้ยาแตกต่างกันไปด้วย ดังนั้น ผู้ป่วยควรศึกษาข้อมูลยาจากฉลากอย่างระมัดระวัง และใช้ยาอย่างถูกวิธี หากพบอาการผิดปกติเกิดขึ้นหลังใช้ยา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร และไปพบแพทย์ทันทีหากอาการเหล่านั้นไม่ทุเลาลง หรือกลับทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

ตัวอย่างผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากการใช้ยาแก้แพ้แต่ละกลุ่ม ได้แก่

กลุ่มยาแก้แพ้ที่ทำให้ง่วง

  • ง่วงซึม และมีปฏิกิริยาตอบสนองช้าลง
  • ตามัว หรือน้ำตาไหล
  • ปากแห้ง
  • ปัสสาวะลำบาก
  • ท้องผูก
  • รู้สึกสับสน มึนงง กระสับกระส่าย

กลุ่มยาแก้แพ้ที่ไม่ทำให้ง่วง

  • ปวดหัว หรือเวียนหัว
  • คลื่นไส้
  • ตาแห้ง หรือตามัว
  • ปากแห้ง
  • ปัสสาวะลำบาก
  • ท้องผูก
  • สภาพจิตใจเปลี่ยนแปลง