รู้จักยาแก้เมารถ พร้อมวิธีใช้ยาให้ปลอดภัย

ทุกการเดินทางไม่ว่าจะใกล้หรือไกล สิ่งหนึ่งซึ่งคนที่มีปัญหาเมารถมักจะขาดไม่ได้ก็คือยาแก้เมารถ แต่รู้กันหรือไม่ว่า ยาแก้เมารถที่ใช้กันประกอบด้วยตัวยาอะไรบ้าง แล้วแน่ใจได้อย่างไรว่าเราใช้ยาได้อย่างถูกต้องและปลอดภัยแล้ว 

อาการเมารถเกิดขึ้นเมื่อสมองของเราได้รับข้อมูลหรือสัญญาณขัดกับที่ดวงตา หูชั้นใน หรือร่างกายได้รับ เช่น ตามองเห็นการเคลื่อนไหวอยู่เบื้องหน้า แต่หูชั้นในรับรู้ว่าเรากำลังนั่งอยู่นิ่ง ๆ สมองจึงเกิดความสับสน ทำให้เรารู้สึกเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ไม่สบายท้อง คลื่นไส้ และอยากอาเจียนออกมา ซึ่งเป็นผลจากการโดยสารรถยนต์ เครื่องบิน เรือ รวมถึงการเล่นเครื่องเล่นที่เหวี่ยงไปมา โคลงเคลง หรือผาดโผนมาก ๆ นั่นเอง 

รู้จักยาแก้เมารถ พร้อมวิธีใช้ยาให้ปลอดภัย

ข้อควรรู้ก่อนใช้ยาแก้เมารถ

การใช้ยาแก้เมารถควรใช้ตามฉลากยาหรือตามที่เภสัชกรแนะนำเพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อตนเองมากที่สุด โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว เด็ก ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร โดยยาแก้เมารถที่นิยมใช้กันก็เช่น

1. ยาแก้แพ้หรือยาต้านฮิสตามีน (Antihistamines)

ยาแก้เมารถในกลุ่มนี้ที่เรามักหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปหรือสั่งจ่ายโดยแพทย์ก็คือ ยาไดเมนไฮดริเนต (Dimenhydrinate) และยาไซไคลซีน (Cyclizine) ซึ่งมีส่วนช่วยบรรเทาหรือป้องกันอาการเมารถอันเกิดจากสารฮิสตามีน ซึ่งเป็นต้นเหตุเดียวกันกับการเกิดอาการแพ้ต่าง ๆ 

ยาแต่ละตัวจะมีปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาที่ต่างกันไป เราจึงควรอ่านฉลากยาก่อนเสมอ แต่สำหรับผู้ใหญ่ทั่วไป ยาไดเมนไฮดริเนตควรกินในปริมาณ 50–100 มิลลิกรัม ทุก 4–6 ชั่วโมง ส่วนยาไซไคลซีนควรกินในปริมาณ 50 มิลลิกรัม ทุก 4–6 ชั่วโมง โดยยาทั้งสองชนิดนี้ควรใช้ก่อนออกเดินทางอย่างน้อย 30–60 นาที

การใช้ยาแก้แพ้อาจมีข้อจำกัดบางประการต่อคนบางกลุ่ม อาทิ

  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหืด โรคปอด โรคหัวใจ ชัก โรคตับ โรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ มีปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะอาหาร ลำไส้ ต่อมลูกหมากโต หรือการปัสสาวะ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา 
  • ผู้ปกครองไม่ควรให้เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปีกินยาแก้แพ้หากไม่ได้รับอนุญาตจากแพทย์ เพราะเด็กอาจแพ้ยาและเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ 

เนื่องจากยาแก้แพ้อาจส่งผลให้ง่วงซึมและเวียนศีรษะ จึงควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะด้วยตนเอง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ และผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ เพราะยาแก้แพ้อาจไปเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจและระดับความดันโลหิตให้สูงขึ้นได้ 

ผลข้างเคียงอื่น ๆ ที่อาจพบได้ เช่น ท้องผูก มองเห็นเป็นภาพเบลอ ปากแห้ง คอแห้ง ในกรณีที่พบผลข้างเคียงที่รุนแรง เช่น รู้สึกสับสน กระสับกระส่าย หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดปกติ สั่น หรือปัสสาวะลำบาก ชัก เวียนศีรษะคล้ายจะหมดสติ ควรไปพบแพทย์ทันที

2. ยากลุ่มแอนติโคลิเนอร์จิก (Anticholinergics)

ยากลุ่มแอนติโคลิเนอร์จิกนั้นออกฤทธิ์ปรับสมดุลของสารสื่อประสาทอย่างแอซิติลโคลีน (Acetylcholine) และนอร์อิพิเนฟริน (Norepinephrine) ที่ผิดปกติในสมอง อีกทั้งยังยับยั้งการส่งสัญญาณต่าง ๆ ไปสู่สมองส่วนกลางที่อาจก่อให้เกิดอาการคลื่นไส้และอาเจียน จึงอาจช่วยป้องกันการเมารถได้

ตัวอย่างยาแก้เมารถในกลุ่มนี้คือ ยาสโคโปลามีน (Scopolamine) ชนิดแผ่นแปะหลังหู แนะนำให้ใช้ก่อนเดินทางอย่างน้อย 4–6 ชั่วโมง ตามคำสั่งของแพทย์ผู้จ่ายยาเท่านั้น และมีข้อควรระวังบางประการ โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงต่อไปนี้

  • ผู้ป่วยต้อหินมุมปิดหรือมีอาการแพ้ยาสโคโปลามีนและยาที่คล้ายกันอย่างยาไฮออสไซยามีน (Hyoscyamine) หรือยาอะโทรปีน (Atropine) ไม่ควรใช้ยานี้
  • ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น ต้อหิน โรคตับ โรคไต ชัก โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ อาการผิดปกติทางจิต โรคจิต ปัญหาในการหายใจ การปัสสาวะ หรือระบบย่อยอาหาร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา
  • ไม่อนุญาตให้เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ใช้ยานี้ 

อย่างไรก็ตาม ยานี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ปากแห้ง เจ็บคอ ท้องผูก แดงหรือคันผิวหนังบริเวณที่ใช้แผ่นแปะ มีปัญหาด้านการมองเห็น ง่วงซึม เวียนศีรษะ สับสน รู้สึกกระสับกระส่าย ฉุนเฉียวง่าย หรือมีเหงื่อออกมาก  

หากพบอาการรุนแรงหลังใช้ยา เช่น เวียนศีรษะอย่างรุนแรง หลอน รู้สึกหวาดกลัวมาก ความคิดหรือพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิม มีปัญหาด้านการมองเห็นหรือการปัสสาวะ ชัก และสัญญาณของการแพ้ยาอย่าง ลมพิษ ผื่นคัน หายใจลำบาก หรืออาการบวมตามใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น หรือลำคอ ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว

นอกจากการใช้ยาแล้ว หากเราเลือกที่นั่งโดยสารบริเวณที่นิ่งกว่าจุดอื่น ๆ อย่างเบาะหน้ารถยนต์ ที่นั่งกลางลำเครื่องบิน หรือที่นั่งกลางลำบนชั้นสองของเรือ เลือกกินอาหารมื้อเบา ๆ ก่อนออกเดินทาง และในระหว่างเดินทางก็สวมแว่นกันแดดหรือหลับตา เปิดหน้าต่างให้ได้สูดอากาศภายนอก รวมทั้งงดอ่านหนังสือ เล่นโทรศัพท์ หรือมองสิ่งที่กำลังเคลื่อนไหวระหว่างทาง ก็อาจพอช่วยรับมือกับปัญหาเมารถได้เช่นกัน

ปกติแล้วอาการเมารถมักดีขึ้นได้เองในเวลาไม่นานหลังจบการเดินทาง แต่ถ้าผู้ป่วยยังมีอาการอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการขาดน้ำ เจ็บหน้าอก และสูญเสียการได้ยิน ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาเพิ่มเติม