คัน

ความหมาย คัน

คัน เป็นอาการระคายเคืองที่ทำให้รู้สึกไม่สบายตัว และนำไปสู่การแกะเกาเพื่อบรรเทาอาการคัน ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ผิวแห้ง โรคผิวหนัง แมลงกัด แพ้สบู่ โรคที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาท รวมถึงการตั้งครรภ์ เป็นต้น แม้การเกาจะช่วยบรรเทาอาการคันได้ในระยะหนึ่ง แต่หากเกาอย่างรุนแรงก็อาจทำให้เกิดการระคายเคืองผิว หรืออาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังตามมาได้ ผู้ที่มีอาการนี้จึงควรระมัดระวังและหาวิธีรักษาอย่างเหมาะสม

1500 คัน Resized

อาการคัน

อาการคันสามารถเกิดขึ้นได้ตามผิวหนังทุกส่วนของร่างกาย ทั้งเป็นบริเวณเล็ก ๆ หรือทั่วทั้งร่างกาย โดยอาจเกิดขึ้นร่วมกับอาการทางผิวหนังอื่น ๆ หรือไม่ก็ได้ เช่น ผิวแห้ง เป็นขุยหรือตุ่ม มีผื่นแดง แผลพุพอง ผิวแตก เป็นต้น หากยิ่งเกาก็อาจจะยิ่งทำให้มีอาการคันมากขึ้น อีกทั้งยังส่งผลให้ผิวหนังได้รับความเสียหายและอาจเกิดการติดเชื้อได้

โดยผู้ที่มีอาการคันควรไปพบแพทย์หากมีอาการสำคัญ ดังต่อไปนี้

  • มีอาการคันนานกว่า 2 สัปดาห์ และรักษาด้วยตัวเองแล้วแต่อาการไม่ดีขึ้น
  • มีอาการคันเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือคันทั่วทั้งร่างกาย
  • อาการคันส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน และการพักผ่อน
  • มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น เหนื่อยล้ามาก น้ำหนักลด มีไข้ ลักษณะการขับถ่ายเปลี่ยนแปลงไป ปัสสาวะบ่อยหรือน้อยกว่าปกติ เป็นต้น

สาเหตุของอาการคัน

อาการคันเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

  • โรคและอาการทางผิวหนัง เช่น ผิวแห้ง ลมพิษ กลาก เกลื้อน ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ผื่นผิวหนังอักเสบ โรคสะเก็ดเงิน โรคหัด โรคหิด โรคเริม โรคอีสุกอีใส เป็นต้น
  • การระคายเคือง เช่น แมลงกัด แพ้หญ้า แพ้สบู่ แพ้เครื่องสำอาง แพ้สารเคมี แพ้อาหาร เป็นต้น
  • โรคเกี่ยวกับระบบประสาท เช่น โรคเบาหวานที่มีปลายประสาทอักเสบร่วมด้วย โรคงูสวัด โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง โรคเส้นประสาทอักเสบ เป็นต้น
  • โรคบางชนิด การเจ็บป่วยบางอย่างอาจทำให้เกิดอาการคันได้ทั้งร่างกายแม้จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง เช่น โรคตับอักเสบเรื้อรัง ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ภาวะดีซ่าน ภาวะไตวายเรื้อรัง โลหิตจาง มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น
  • สภาวะจิตใจ เช่น ผู้ที่คิดว่ามีพยาธิชอนไชในผิวหนัง ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ผู้ป่วยโรคย้ำคิดย้ำทำ เป็นต้น
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาต้านเชื้อรา ยาปฏิชีวนะบางขนิด ยากันชัก ยาแก้ปวดชนิดเสพติด เป็นต้น
  • การตั้งครรภ์ มักทำให้เกิดอาการคันบริเวณหน้าท้องหรือต้นขา และหากมีโรคผิวหนังมาก่อน เช่น ผิวหนังอักเสบ เป็นต้น ก็อาจทำให้อาการคันแย่ลงในช่วงตั้งครรภ์ด้วย

การวินิจฉัยอาการคัน

การวินิจฉัยอาจเริ่มจากการตรวจร่างกายและซักถามเกี่ยวกับอาการที่เกิดขึ้น เช่น มีอาการคันมานานเท่าไร ได้สัมผัสกับสารที่อาจก่อให้เกิดอาการคันหรือมีอาการแพ้อะไรบ้างหรือไม่ ในช่วงที่ผ่านมามีการใช้ยาอะไรบ้าง บริเวณไหนในร่างกายที่มีอาการคันมากที่สุด เป็นต้น

นอกจากนี้ หากยังไม่สามารถวินิจฉัยได้ชัดเจน แพทย์อาจส่งตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีการ ดังต่อไปนี้

  • การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง เพื่อวินิจฉัยการแพ้ต่าง ๆ
  • การตรวจเลือด ซึ่งการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดแดงอาจบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพที่ทำให้เกิดอาการคันได้ เช่น ภาวะโลหิตจาง เป็นต้น
  • การตรวจการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ที่อาจเป็นเหตุให้เกิดอาการคันได้ เช่น ต่อมไทรอยด์ ตับ หรือไต เป็นต้น

การรักษาอาการคัน

การรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการคัน หากคันจากโรคหรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ อย่างโรคไต หรือภาวะโลหิตจาง ก็ควรรักษาที่โรคต้นเหตุเหล่านี้

โดยผู้ที่มีอาการคันไม่รุนแรง สามารถบรรเทาอาการได้ด้วยตนเองที่บ้านด้วยแนวทางปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

  • ประคบเย็น ประคบน้ำแข็งหรือผ้าชุบน้ำเย็นในบริเวณที่มีอาการคันก็อาจช่วยบรรเทาอาการให้ดีขึ้นได้
  • รับประทานยาแก้แพ้ เช่น ยาไดเฟนไฮดรามีน เป็นต้น ซึ่งสามารถช่วยลดอาการคันได้ แต่อาจทำให้มีอาการง่วงซึมและช่วยให้ไม่ต้องตื่นมาเกากลางดึก
  • ทาครีมบำรุง เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง
  • ทายาบรรเทาอาการคัน และช่วยลดอาการแดงหรืออักเสบที่ผิวหนังได้ เช่น คาลาไมน์ ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของเมนทอลไม่เกิน 1 เปอร์เซ็นต์ หรือครีมที่มีส่วนผสมของยาไฮโดรคอร์ติโซนหรือสารแคปไซซิน เป็นต้น
  • ผ่อนคลายความเครียด ทำกิจกรรมหรืองานอดิเรกที่สนใจ เพราะความเครียดอาจทำให้อาการคันที่เป็นอยู่แล้วแย่ลงกว่าเดิมได้

ส่วนอาการคันโดยทั่วไปที่เป็นโรคทางผิวหนังอาจรักษาได้ ดังนี้

  • การใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดทาภายนอก ใช้ทาบริเวณที่มีอาการคันและแดง แพทย์อาจแนะนำให้ใช้สำลีชุบน้ำวางบริเวณที่มีอาการคันก่อน เพื่อช่วยให้ยาซึมลงผิวหนังได้ดีขึ้นและช่วยบรรเทาอาการคันได้
  • การใช้ยายับยั้งในกลุ่มแคลซินูริน เช่น ยาทาโครลิมัส หรือยาพิเมโครลิมัส เป็นต้น อาจใช้ยานี้แทนยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดทาภายนอกได้ในกรณีที่มีอาการคันเป็นบริเวณไม่กว้างนัก
  • การใช้ยาต้านเศร้า ยาในกลุ่มเอสเอสอาร์ไออาจช่วยบรรเทาอาการคันได้ เช่น ยาฟลูออกซิทีน หรือยาเซอร์ทราลีน เป็นต้น  
  • การรักษาด้วยแสงอัลตราไวโอเลต เพื่อรักษาหรือบรรเทาอาการคันด้วยการฉายแสงยูวี

ภาวะแทรกซ้อนของอาการคัน

อาการคันสามารถส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน และการนอนได้ รวมถึงอาจส่งผลต่อบุคลิกภาพหากต้องเกาบ่อยครั้งหรือเกาเป็นเวลานาน แม้การเกาจะบรรเทาอาการคันได้ระยะหนึ่ง แต่หากเกาอย่างรุนแรงหรือเกาเป็นเวลานานก็อาจทำให้เกิดการระคายเคืองผิวได้ เช่น ผิวหนังถลอก เป็นแผล หรืออาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง เป็นต้น หากมีอาการคันและเกาเป็นเวลานานหลายเดือนก็อาจทำให้ผิวหนังในบริเวณนั้นหนา มีสีคล้ำขึ้น และเป็นแผลเป็นได้

นอกจากนี้ หากอาการคันเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ก็อาจมีภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจากโรคนั้น ๆ ร่วมด้วย เช่น โรคตับ หรือโรคไต เป็นต้น

การป้องกันอาการคัน

เนื่องจากอาการคันอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งบางสาเหตุก็สามารถป้องกันได้ด้วยการหลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้คัน เช่น การระคายเคืองทางผิวหนัง แมลงกัด แพ้หญ้า แพ้สบู่ หรือแพ้เครื่องสำอาง เป็นต้น แต่บางสาเหตุก็อาจป้องกันได้ยาก

อย่างไรก็ตาม อาการคันที่ไม่ได้เกิดจากโรคหรือความเจ็บป่วยร้ายแรงอาจป้องกันได้ ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้เกิดอาการคัน เช่น ไม่สวมใส่เสื้อผ้าที่ทำจากขนสัตว์หรือผ้าใยสังเคราะห์ ไม่อาบน้ำอุ่นหรือน้ำร้อน เป็นต้น
  • ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์บางชนิดที่ทำให้เกิดการระคายเคือง และเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อย่างระมัดระวัง เช่น สบู่ ผงซักฟอก ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสีและน้ำหอม เป็นต้น
  • ทาครีมบำรุงผิว เพื่อเพื่มความชุ่มชื้นและช่วยป้องกันผิวแห้งซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการคัน
  • หลีกเลี่ยงการเกา เพราะการเกาอาจช่วยบรรเทาอาการคันได้เพียงระยะหนึ่ง แต่อาจทำให้ผิวหนังถลอกหรือเกิดการติดเชื้อได้
  • ดูแลสุขอนามัยให้ดี ด้วยการอาบน้ำให้สะอาดเป็นประจำวันละ 2 ครั้ง ตัดเล็บให้สั้นเพื่อลดการสะสมของขี้เล็บและการถลอกหรือติดเชื้อจากการใช้เล็บเกา