แพ้เครื่องสำอาง รับมืออย่างไรดี?

แพ้เครื่องสำอาง เป็นปฏิกิริยาที่ผิวแสดงอาการแพ้สารเคมีในเครื่องสำอาง จนเกิดอาการผิวหนังแดง บวม มีผื่น คัน หรืออาการอื่น ๆ เช่น ผิวหนังอักเสบ ผิวหนังลอก ผื่นแพ้สัมผัส ผิวไวต่อแสง เกิดการติดเชื้อ เป็นลมพิษ หรือมีภาวะแทรกซ้อนอื่นที่เป็นอันตราย เป็นต้น แม้เครื่องสำอางนั้นจะเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติหรือออร์แกนิค ก็อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ โดยผู้ที่แพ้เกสรดอกไม้หรือแพ้อาหาร มีความเสี่ยงสูงที่จะแพ้เครื่องสำอาง

แพ้เครื่องสำอาง

ทำไมจึงแพ้เครื่องสำอาง ?

เครื่องสำอาง คือ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้เสริมความงาม ทำความสะอาดและปกป้องผิวพรรณ เส้นผมหรือฟัน ช่วยปรับเปลี่ยนลักษณะภายนอกให้ผู้ใช้มีบุคลิกภาพที่ดีขึ้น แต่ไม่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างหรือพื้นผิวนั้น ๆ เครื่องสำอางส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยสารแต่งกลิ่นหอม สารกันแดด สี โลหะ เรซิ่น วัตถุกันเสีย และสารอื่น ๆ อีกมากมาย จนบางครั้ง อาจไม่สามารถระบุได้ว่าสารใดที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ต่อผู้ใช้

สารเคมีที่พบว่าทำให้เกิดการแพ้เครื่องสำอางบ่อยที่สุดตามลำดับ ได้แก่

  • สารแต่งกลิ่นหอม มีสารแต่งกลิ่นหอมหรือหัวน้ำหอมกว่า 5,000 ชนิดถูกนำมาใช้ในเครื่องสำอาง เช่น น้ำหอม แชมพู ครีมนวดผม ครีมให้ความชุ่มชื้นผิว ยาระงับกลิ่นกาย และเครื่องสำอางตกแต่งใบหน้า ทั้งนี้ 70-80 เปอร์เซ็นต์ของสารแต่งกลิ่นหอมที่ทำให้เกิดอาการแพ้ สามารถตรวจพบได้โดยการทดสอบทางผิวหนัง
  • วัตถุกันเสีย เครื่องสำอางส่วนใหญ่ที่เป็นของเหลวมักมีวัตถุกันเสียเป็นส่วนประกอบไม่ว่าจะเป็น ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว แชมพู สารนี้ถูกใช้เพื่อป้องกันการเติบโตของแบคทีเรียและเชื้อรา ซึ่งอาจทำให้เกิดผื่นแพ้สัมผัสได้
  • สารพาราฟีนิลีนไดอะมีนในยาย้อมสีผม เป็นสารที่นิยมใช้ในยาย้อมสีผม เพราะมีคุณสมบัติทำให้สีผมดูเป็นธรรมชาติ แต่อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ เช่น ผื่นแพ้ผิวหนังบริเวณเปลือกตา ใบหู หรือบวมบริเวณใบหน้าและหนังศีรษะ

ระดับอาการแพ้เครื่องสำอาง

ผู้ใช้บางรายอาจเกิดอาการแพ้ เพียงเล็กน้อยและหายได้เอง หรืออาจแพ้อย่างรุนแรงจนต้องไปพบแพทย์ ซึ่งความรุนแรงของอาการอาจขึ้นอยู่กับปฏิกิริยาต่อสารในเครื่องสำอางแต่ละชนิดด้วย โดยระดับอาการแพ้เครื่องสำอางมีดังนี้

  • ผิวหนังอักเสบจากการระคายเคือง เป็นอาการที่พบได้บ่อยและเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่มีผิวไวต่อสารก่อภูมิแพ้ หลังจากสัมผัสเครื่องสำอาง ผู้ป่วยจะมีผื่นผิวหนัง คัน แดง ผิวอาจลอกเป็นขุย หรือเป็นแผลพุพอง หากผู้ป่วยแพ้เครื่องสำอางรุนแรง ปฏิกิริยาอาจเกิดขึ้นหลังสัมผัสสารไม่นาน แต่หากอาการแพ้ไม่รุนแรง อาจใช้เวลาหลายวันหรือเป็นสัปดาห์จึงปรากฏอาการแพ้
  • ผื่นลมพิษสัมผัส ผู้ป่วยจะมีอาการแสบร้อนเฉพาะจุด รู้สึกเหมือนเข็มทิ่มหลังจากสัมผัสเครื่องสำอางไม่นาน อาจมีอาการนานหลายนาทีหรือเป็นชั่วโมง และตามด้วยการเกิดผื่นลมพิษ ซึ่งมีลักษณะบวม แดง คันบริเวณผิวหนัง ทั้งนี้ อาการข้างต้นมักหายได้เองใน 1 วัน
  • ผื่นแพ้สัมผัส เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันร่างกายไวต่อสารก่อภูมิแพ้ หลังจากสัมผัสถูกสาร ผู้ป่วยจะมีผื่นผิวหนัง คัน บวม แดง ซึ่งจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นานกว่า 12 ชั่วโมง และมักรุนแรงมากที่สุดในช่วงวันที่ 2 หลังจากสัมผัสสาร
  • ผื่นสัมผัสจากปฏิกิริยาต่อแสง สารในเครื่องสำอางอาจทำปฏิกิริยากับแสงแดดจนทำให้เกิดผื่นผิวหนังได้
  • อาการแพ้รุนแรง แม้เป็นอาการที่พบได้ไม่บ่อยนัก แต่ผู้ป่วยจะคลื่นไส้ อาเจียน มีผื่นผิวหนัง มีอาการบวม และหายใจลำบาก ซึ่งผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะหากอาการแพ้ทวีความรุนแรงขึ้น อาจทำให้เสียชีวิตได้

วิธีรักษาอาการแพ้เครื่องสำอาง

เมื่อมีอาการแพ้เครื่องสำอาง ให้หยุดใช้แล้วรีบล้างออกทันที หากอาการแพ้ไม่รุนแรงมากอาจหายได้เองในเวลาไม่นาน หรืออาจรักษาด้วยการใช้ยาไฮโดรคอร์ติโซนชนิดครีม 1 เปอร์เซ็นต์ ทาลงบนผิวบริเวณที่แพ้ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถึงวิธีการใช้ยาและข้อควรระวังก่อนใช้ยาเสมอ

แต่หากรักษาอาการด้วยตนเองแล้วไม่ได้ผล หรือมีอาการรุนแรงมากขึ้น ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ แพทย์มักพิจารณารักษาตามลักษณะอาการ บริเวณที่เกิด และระดับความรุนแรง ในบางกรณีอาจต้องรักษาด้วยยาสเตียรอยด์ร่วมกับยาปฏิชีวนะ โดยเฉพาะเมื่อเริ่มเป็นแผลพุพองและติดเชื้อ

แพ้เครื่องสำอาง ป้องกันอย่างไร ?

วิธีป้องกันการแพ้เครื่องสำอางมีดังนี้

  • เลือกซื้อเครื่องสำอางจากร้านที่มีหลักแหล่งแน่นอนและเชื่อถือได้
  • เลือกซื้อเครื่องสำอางที่มีฉลากระบุส่วนประกอบและวิธีใช้ชัดเจน
  • เลือกซื้อเครื่องสำอางที่มีสารประกอบน้อยชนิด เพื่อลดความเสี่ยงเผชิญสารอันตราย หรือสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้
  • เลือกซื้อเครื่องสำอางที่ระบุว่าก่อให้เกิดอาการแพ้ได้น้อย ปราศจากสารแต่งกลิ่นหอม หรือไม่ทำให้เกิดการอุดตัน
  • พิจารณาข้อมูลส่วนประกอบสำคัญอย่างละเอียด เพื่อหลีกเลี่ยงสารที่ก่อให้เกิดการแพ้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเคยมีประวัติการแพ้สารใด ๆ มาก่อน
  • ทดสอบอาการแพ้ทางผิวหนังเบื้องต้นก่อนใช้เครื่องสำอางชิ้นใหม่ โดยทาเป็นบริเวณแคบ ๆ หรือลองทาที่ท้องแขน
  • ปิดฝาเครื่องสำอางให้สนิทหลังจากใช้เสร็จแล้ว เพื่อป้องกันการปนเปื้อนจากฝุ่นละออง สิ่งสกปรก หรือเชื้อโรคต่าง ๆ
  • หลีกเลี่ยงการฉีดน้ำหอมให้เข้าสู่ผิวหนังโดยตรง ควรฉีดน้ำหอมลงบนเสื้อผ้าและทิ้งไว้ให้แห้งก่อนนำมาใส่
  • หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางทุกชนิดที่เคยมีประวัติอาการแพ้แบบรุนแรง