ความหมาย คออักเสบ
คออักเสบ (Pharyngitis) เป็นภาวะที่เกิดการอักเสบ หรือเกิดแผลภายในลำคอ จนเกิดอาการเจ็บคอ คันคอและทำให้กลืนอาหารลำบาก ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ในประเทศไทย พบการป่วยได้ทุกฤดูกาล โดยอัตราการป่วยคออักเสบจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว เพราะมีอากาศหนาวเย็น เหมาะแก่การแพร่กระจายของเชื้อไวรัส นอกจากนี้ คออักเสบยังรวมไปถึงการอักเสบในบริเวณใกล้เคียงที่เกี่ยวข้องด้วย ได้แก่ ลิ้นส่วนหลัง เพดานปาก และต่อมทอนซิล หากไม่ได้รับการรักษา การติดเชื้ออาจลุกลามสร้างความเสียหายแก่อวัยวะอื่น ๆ ต่อไปได้ เช่น โรคเกิดฝีที่ทอนซิลหรือเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียง ไตอักเสบ ไข้รูมาติก เป็นต้น
อาการของคออักเสบ
อาการหลักของภาวะคออักเสบ คือ เจ็บคอและกลืนลำบาก และอาจมีอาการแสดงอื่น ๆ บางอาการเกิดขึ้นร่วมด้วย ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดคออักเสบ ดังนี้
คออักเสบที่เกิดจากเชื้อไวรัส
ลักษณะอาการที่เกิดขึ้นจากเชื้อไวรัส ได้แก่
- คอแดง คอแห้ง เสียงแหบ
- ตาแดง คัดจมูก น้ำมูกไหล
- มีไข้ต่ำ ๆ ในผู้ป่วยที่เป็นหวัด และมีไข้สูงในผู้ที่ป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่
- ไม่อยากอาหาร รู้สึกไม่สบาย
- ไอ จาม ปวดหัว
- มีผื่นตามตัว
- อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ หนาวสั่น
- ไวรัสบางชนิดอาจทำให้เกิดแผลร้อนในภายในปากและริมฝีปาก
- ผู้ป่วยที่เป็นเด็กอาจมีอาการท้องร่วงด้วย
คออักเสบที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย
เชื้อแบคทีเรียอาจทำให้เกิดอาการต่อไปนี้
- มีไข้ หนาวสั่น
- ปวดหัว
- คลื่นไส้วิงเวียน
- คอแดง มีจุดหรือแผ่นสีขาวหรือสีเทาบริเวณลำคอ
- ปวดเมื่อยตามตัว รู้สึกไม่สบาย
- ทอนซิลโตและมีจุดสีขาว
- ต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอบวม หรือกดแล้วรู้สึกเจ็บ
- ผู้ป่วยที่เป็นเด็กอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และปวดท้องด้วย
สาเหตุของคออักเสบ
คออักเสบส่วนใหญ่กว่า 90% เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ อีสุกอีใส คอตีบเทียมหรือกลุ่มอาการครุ้ป (Croup) โรคหัด ไวรัสค็อกซากี้ (Coxsackie Virus) ไวรัสเอ็บสไตน์บาร์ที่ทำให้เกิดโรคโมโนนิวคลิโอสิส (Mononucleosis) หรือไวรัสเอชไอวีเป็นต้น
อีกส่วนหนึ่ง คออักเสบอาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น โรคคออักเสบ (Strep Throat) จากแบคทีเรียสเตรปโทค็อคคัส (Streptococcus) แบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคหนองในแท้ หนองในเทียม ไอกรน และโรคคอตีบ เป็นต้น
โดยการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรียมักเกิดจากการที่ผู้ป่วยได้รับเชื้อซึ่งกระจายอยู่ในอากาศเข้าสู่ร่างกายผ่านการหายใจ หรือการสัมผัสกับเชื้อโดยตรง
ส่วนสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจเป็นปัจจัยทำให้เกิดคออักเสบ ได้แก่
- สภาพอากาศหนาวเย็น อยู่ในช่วงฤดูฝนหรือฤดูหนาว ซึ่งเอื้อต่อการระบาดของไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่
- มีสิ่งที่ทำให้เกิดการระคายเคืองภายในลำคอ
- กล้ามเนื้อตึงในลำคอ
- อาการแพ้ หรือเป็นโรคภูมิแพ้
- กรดไหลย้อน
- ป่วยด้วยการติดเชื้อบริเวณไซนัสบ่อย ๆ
- มีเนื้องอกบริเวณลำคอ ลิ้น หรือกล่องเสียง
- อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เจ็บคอ คออักเสบ หรือเป็นไข้หวัด
- อยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็กที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อ
- สูบบุหรี่ หรืออยู่ใกล้ผู้ที่สูบบุหรี่แล้วได้รับควันบุหรี่เข้าสู่ร่างกาย
การวินิจฉัยคออักเสบ
เมื่อมีอาการคออักเสบ ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษา โดยแพทย์อาจตรวจวินิจฉัยอาการเพื่อหาสาเหตุของการป่วยและวางแผนรักษาให้ถูกต้องต่อไป ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
ตรวจร่างกาย
ในเบื้องต้น แพทย์จะซักประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย สอบถามว่าผู้ป่วยได้อยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการป่วย ติดเชื้อ เจ็บคอหรือคออักเสบหรือไม่ รวมทั้งผู้ป่วยมีอาการป่วยใดที่เป็นสัญญาณการติดเชื้อเกิดขึ้นร่วมด้วยหรือไม่ จากนั้น แพทย์จะตรวจดูบริเวณลำคอ ภายในลำคอ ปาก จมูก หู และต่อมน้ำเหลืองภายในคอ หากแพทย์สามารถวินิจฉัยอาการป่วยและหาสาเหตุได้อย่างชัดเจน แพทย์อาจทำการรักษาหรือจ่ายยาต่อไปโดยไม่ต้องมีการตรวจเพิ่มเติมใด ๆ อีก
ตรวจตัวอย่างของเหลว
หากแพทย์มีข้อสงสัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคคออักเสบ แพทย์จะนำก้านสำลีเก็บตัวอย่างของเหลวภายในลำคอไปตรวจหาเชื้อในห้องปฏิบัติการต่อไป ซึ่งผลตรวจจะออกมาภายในเวลาประมาณ 1-2 วัน
ตรวจเลือด
หากแพทย์สันนิษฐานว่าอาการป่วยที่เกิดขึ้นอาจมาจากสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจมีความซับซ้อนทางการรักษา แพทย์อาจส่งตรวจตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยในห้องปฏิบัติการ โดยการตรวจหาเชื้อนี้อาจใช้วิธีเช่น การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count: CBC)
การรักษาคออักเสบ
คออักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส หรือสาเหตุอื่น ๆ ผู้ป่วยสามารถดูแลให้อาการดีขึ้นได้ด้วยการรักษาตามอาการป่วย จนกว่าภูมิคุ้มกันของร่างกายจะแข็งแรงและกำจัดเชื้อให้หมดไปในที่สุด ทั้งนี้ ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองในระหว่างที่ป่วยได้โดย
- รับประทานยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาความเจ็บปวด หรือลดอาการไข้ที่เกิดขึ้นร่วมกับคออักเสบ เช่น พาราเซตามอลและไอบูโพรเฟน ส่วนแอสไพรินต้องใช้ในผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่เท่านั้น
- พักผ่อนฟื้นฟูสภาพร่างกายให้เต็มที่
- บ้วนปากล้างลำคอด้วยน้ำเกลือ
- ดื่มน้ำเปล่ามาก ๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
- ดื่มน้ำอุ่น หรือรับประทานอาหารอ่อน ๆ อย่างน้ำซุป เยลลี่เหลวต่าง ๆ
- อมยาอมบรรเทาอาการเจ็บคอที่หาซื้อได้ตามร้านขายยา
- ใช้เครื่องเพิ่มความชื้นในอากาศ หรือหลีกเลี่ยงการอยู่ในอากาศแห้ง
- เลิกสูบบุหรี่ และไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ใช้สเปรย์พ่นคอที่มีส่วนประกอบของสารสกัดจากสมุนไพรธรรมชาติที่มีฤทธิ์ลดการระคายเคืองคอหรือเจ็บคอ บรรเทาอาการไอ และให้ความรู้สึกชุ่มคอ เช่น ดอกคาโมไมล์ น้ำมันสน มะกรูด ป๊วยกั๊ก เปปเปอร์มิ้นท์ ยูคาลิปตัส และเซจ (Sage) เป็นต้น สามารถใช้ได้ตั้งแต่เริ่มมีอาการระคายคอหรืออาการเจ็บคอที่ไม่รุนแรง เพื่อให้การทำงานหรือการทำกิจกรรมต่าง ๆ ระหว่างวันนั้นดำเนินไปอย่างราบรื่น โดยผลิตภัณฑ์สเปรย์พ่นคอสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป ผู้ที่มีข้อสงสัยควรปรึกษาเภสัชกรก่อนใช้งานเสมอ
ส่วนผู้ป่วยที่คออักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แพทย์จะพิจารณาจ่ายยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อ รักษาอาการ และป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ยาเพนนิซิลิน (Penicillin) หรืออะม็อกซี่ซิลิน (Amoxicillin) ซึ่งผู้ป่วยต้องรับประทานยาให้ถูกต้องและครบตามปริมาณที่แพทย์กำหนด ซึ่งเป็นเวลาประมาณ 10 วัน โดยต้องไม่หยุดใช้ยาแม้จะมีอาการดีขึ้นแล้วก็ตาม หากผู้ป่วยมีอาการแพ้ยา ให้รีบไปพบหรือปรึกษาแพทย์ทันที ส่วนผู้ป่วยที่แพ้ยาเพนนิซิลินหรืออะม็อกซี่ซิลิน แพทย์อาจจ่ายยาอิริโทรมัยซิน (Erythromycin) หรืออะซิโทรมัยซิน (Azithromycin) แทน ซึ่งผู้ป่วยต้องรับประทานยาภายใต้คำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัดเช่นกัน
นอกจากนี้ แพทย์จะพิจารณารักษาตามสาเหตุที่ทำให้เกิดคออักเสบเป็นกรณีไป
ภาวะแทรกซ้อนของคออักเสบ
ภาวะคออักเสบที่เกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งเกิดขึ้นกับผู้ป่วยสุขภาพดี อาจใช้เวลาฟื้นตัวและหายดีในระยะเวลาไม่นานนัก และอาจไม่นำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนในระยะยาว ส่วนภาวะคออักเสบที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นตามมาได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม
อย่างไรก็ตาม การเกิดโรคและภาวะแทรกซ้อนใด ๆ ย่อมขึ้นอยู่กับสุขภาพและการรักษาของแต่ละบุคคลที่แตกต่างกันไปด้วย โดยตัวอย่างภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้หลังป่วยด้วยคออักเสบ ได้แก่
- การติดเชื้อในหู
- หูชั้นกลางอักเสบ (Otitis Media)
- ไซนัสอักเสบ (Sinusitis)
- เกิดฝีในบริเวณใกล้ ๆ กับทอนซิล
- หน่วยไตอักเสบเฉียบพลัน (Acute Glomerulonephritis)
- ไข้ออกผื่นในเด็ก หรือไข้อีดำอีแดง (Scarlet Fever)
- กลุ่มอาการท็อกสิกช็อกจากเชื้อแบคทีเรียสเตรปโทค็อกคัส (Streptococcal Toxic Shock Syndrome)
- ไข้รูมาติก (Acute Rheumatic Fever)
การป้องกันคออักเสบ
แม้คออักเสบจะมักเกิดจากการติดเชื้อ และการติดเชื้อเป็นเรื่องที่ป้องกันได้ยาก แต่ก็สามารถป้องกันการเกิดคออักเสบได้ด้วยการลดโอกาสการติดเชื้อ รวมไปถึงการรักษาสุขภาพและเสริมสร้างภูมิต้านทานโรคให้แข็งแรงอยู่เสมอ เช่น
- ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ โดยเฉพาะก่อนกินอาหารและหลังจากที่อาจสัมผัสกับเชื้อ เช่น ไอ จาม สั่งน้ำมูก หรือหลังการดูแลเด็กและผู้ป่วย
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสเชื้อ หรืออยู่ใกล้กับผู้ป่วย
- ไม่ใช้ภาชนะ หรืออุปกรณ์ในการดื่มกินอาหารร่วมกับผู้อื่น
- หากมีคนในบ้านหรือบุคคลใกล้ชิดป่วยคออักเสบ ให้แยกภาชนะที่ใช้ดื่มกินอาหารออกไปต่างหาก และล้างภาชนะด้วยน้ำร้อนและน้ำยาล้างจานให้สะอาดอยู่เสมอ
- หากเด็กเล็กป่วยเป็นคออักเสบแล้วอมของเล่น ให้ล้างทำความสะอาดของเล่นด้วยน้ำและสบู่
- หากเด็กป่วยเป็นคออักเสบ ควรให้หยุดเรียนจนกว่าเด็กจะได้กินยาอย่างน้อย 24 ชั่วโมง และมีอาการดีขึ้นแล้ว เพื่อลดโอกาสในการแพร่เชื้อไปยังเด็กคนอื่น ๆ ต่อไป
- ไม่สูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่กำลังสูบบุหรี่ เพื่อไม่ให้รับควันบุหรี่เข้าสู่ร่างกาย