ร้อนใน

ความหมาย ร้อนใน

ร้อนในหรือแผลร้อนใน (Aphthous Ulcers) เป็นแผลขนาดเล็กและตื้นที่เกิดขึ้นบริเวณเนื้อเยื่ออ่อนในช่องปากหรือเหงือก มักมีสีเหลืองหรือสีขาวล้อมรอบด้วยสีแดง ทำให้เกิดอาการเจ็บปวด และส่งผลให้รับประทานอาหารหรือพูดคุยได้ลำบาก นอกจากนี้ แผลร้อนในสามารถเกิดขึ้นบริเวณด้านในของริมฝีปาก กระพุ้งแก้ม หรือลิ้นได้ด้วย 

โดยส่วนใหญ่แผลร้อนในสามารถหายได้เองภายในระยะเวลา 1–2 สัปดาห์ โดยที่ไม่ต้องทำการรักษา แต่ก็มีวิธีต่าง ๆ ที่จะช่วยบรรเทาอาการของแผลร้อนในได้ อย่างไรก็ตาม หากพบว่าแผลร้อนในมีขนาดใหญ่กว่าปกติ มีความเจ็บปวดมากกว่าปกติ หรือไม่มีทีท่าว่าจะหายไป ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา

ร้อนใน

อาการร้อนใน

เมื่อเป็นร้อนในจะสังเกตได้ว่ามีแผลสีเหลืองหรือสีขาว ลักษณะเป็นรูปทรงกลมหรือรี มีอาการบวมแดงและรู้สึกเจ็บเกิดขึ้นในช่องปาก เช่น บริเวณกระพุ้งแก้ม ลิ้น หรือด้านในของริมฝีปาก ในบางรายอาจมีอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นร่วมด้วย เช่น ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ เป็นไข้หรือรู้สึกไม่สบาย

แต่หากมีอาการดังต่อไปนี้เกิดขึ้น ควรไปพบแพทย์

  • แผลร้อนในมีขนาดใหญ่กว่าปกติ
  • แผลร้อนในไม่หายภายในเวลา 2 สัปดาห์
  • แผลร้อนในลุกลามไปยังบริเวณริมฝีปาก
  • มีแผลร้อนในใหม่เกิดขึ้นก่อนที่แผลเดิมจะหาย หรือพบว่าเป็นบ่อย
  • มีแผลร้อนในร่วมกับมีอาการไข้สูง
  • รับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มได้ลำบากมาก

สาเหตุของร้อนใน

สาเหตุของการเกิดร้อนในยังไม่สามารถสรุปได้อย่างแน่ชัด แต่ปัจจัยบางอย่างอาจกระตุ้นให้เกิดร้อนในได้มากกว่าปกติ เช่น ปัจจัยทางพันธุกรรม ปัจจัยทางสภาพแวดล้อมอย่างสารก่อภูมิแพ้หรืออาหารบางชนิด 

ตัวอย่างปัจจัยที่อาจกระตุ้นให้เกิดร้อนในได้ มีดังนี้

  • การบาดเจ็บในช่องปาก
  • เชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก
  • ความเครียด และการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
  • การมีประจำเดือน
  • ปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน
  • การแพ้อาหาร
  • การขาดวิตามินและแร่ธาตุบางชนิด

นอกจากนี้ ผู้ที่มีผิวฟันแหลม หรือผู้ที่มีอุปกรณ์ทันตกรรมอยู่ในช่องปาก เช่น เหล็กดัดฟัน อาจกระตุ้นให้เกิดแผลร้อนในได้มากกว่าปกติ หากเกิดแผลร้อนในขึ้นบ่อยครั้งควรปรึกษาทันตแพทย์เพื่อหาทางแก้ไข

การวินิจฉัยร้อนใน

โดยทั่วไปแผลร้อนไม่จำเป็นต้องทำการตรวจสอบด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ใด ๆ เนื่องจากแพทย์หรือทันตแพทย์สามารถวินิจฉัยแผลร้อนในได้ด้วยการตรวจดูที่แผลเพียงอย่างเดียว

แต่ในบางกรณี หากเป็นแผลร้อนในอย่างรุนแรงหรือต่อเนื่อง แพทย์อาจทำการวินิจฉัยโดยการตรวจเลือดหรือตรวจตัวอย่างชิ้นเนื้อ เพราะผู้ป่วยอาจมีการแพร่กระจายของแผลร้อนในอย่างรุนแรงจากสาเหตุบางประการ เช่น ความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ความผิดปกติเกี่ยวกับฮอร์โมน การขาดวิตามินหรือแร่ธาตุ รวมถึงเชื้อไวรัสบางชนิด

การรักษาร้อนใน

โดยทั่วไป แผลร้อนสามารถหายได้เองภายในระยะเวลา 1–2 สัปดาห์โดยไม่ต้องทำการรักษา แต่ก็มีวิธีการดูแลตัวเองเพื่อช่วยบรรเทาอาการและทำให้แผลหายเร็วขึ้น แต่หากมีอาการรุนแรงก็มีวิธีการรักษาทางการแพทย์อีกหลายประการเช่นกัน

การรักษาร้อนในด้วยตนเอง

การรักษาร้อนในด้วยตัวเองสามารถทำได้ง่าย ๆ ดังนี้ 

  • กลั้วปากด้วยน้ำเกลือ โดยใช้น้ำเกลือที่ผ่านการฆ่าเชื้อด้วยความร้อนตามมาตรฐาน และบรรจุอยู่ในขวดใสที่มีฝาล็อกปิดสนิทเพื่อป้องกันการปนเปื้อน
  • แปรงฟันโดยใช้แปรงที่มีขนอ่อนนุ่มและใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำ เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัด เพื่อให้แผลร้อนในหายได้เร็วขึ้น รวมถึงอาจรับประทานโยเกิร์ต ไอศกรีม หรือดื่มนม เพื่อช่วยลดความเจ็บปวดจากแผลร้อนใน
  • ใช้ยาเฉพาะที่ที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป เพื่อบรรเทาอาการเจ็บแผลร้อนใน เช่น ยาที่มีส่วนผสมของไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (Hydrogen Peroxide) ประมาณ 3%

การรักษาร้อนในโดยแพทย์

หากเป็นแผลร้อนในนานเกินกว่า 2–3 สัปดาห์ หรือรักษาด้วยตัวเองแล้วอาการไม่ดีขึ้น อาจจำเป็นต้องไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา โดยตัวอย่างวิธีการรักษาแผลร้อนในทางการแพทย์ เช่น 

  • การใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย
  • การใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของยาเดกซาเมทาโซน (Dexamethasone) หรือยาลิโดเคน (Lidocaine) เพื่อลดการอักเสบและบรรเทาความเจ็บปวด
  • การใช้ยาคอร์ติโคสเตอรอยด์ เช่น ยาไตรแอมซิโนโลน (Triamcinolone)

ภาวะแทรกซ้อนของร้อนใน

แผลร้อนในที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมสามารถทำให้เกิดผลข้างเคียงต่าง ๆ ได้ เช่น เกิดความลำบากในการพูด การแปรงฟัน หรือการรับประทานอาหาร เกิดอาการอ่อนเพลีย เป็นไข้ รวมถึงอาจทำให้เกิดการอักเสบของผิวหนังบริเวณใกล้เคียงได้ด้วย ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์หากมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้น

การป้องกันร้อนใน

แผลร้อนในมักเกิดจากสาเหตุที่ยากต่อการควบคุม เช่น อาการเจ็บป่วยหรือกรรมพันธุ์ ดังนั้นการป้องกันไม่ให้เกิดร้อนในอาจทำได้ยาก แต่ก็มีวิธีที่อาจช่วยลดความถี่ในการเกิดร้อนในได้ ดังนี้

  • แปรงฟันหลังจากการรับประทานอาหารทุกครั้ง และใช้ไหมขัดฟันวันละ 1 ครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้มีเศษอาหารตกค้างในช่องปากซึ่งอาจกระตุ้นให้เกิดแผลร้อนในได้
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของสารเอสแอลเอส (SLS: Sodium Lauryl Sulfate)
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่อาจทำให้เกิดความระคายเคืองในปาก เช่น ของทอด อาหารรสจัด และผลไม้ที่มีกรดมากอย่างสับปะรดหรือส้ม
  • รับประทานอาหารหลัก 5 หมู่ให้ครบถ้วนโดยเฉพาะผักและผลไม้ เพื่อให้ร่างกายได้รับวิตามินและแร่ธาตุอย่างเพียงพอ
  • หลีกเลี่ยงการเคี้ยวหมากฝรั่ง
  • ผู้ที่จัดฟันควรปรึกษาทันตแพทย์แพทย์หากเครื่องมือทันตกรรมที่อยู่ในช่องปากมีความคมจนทำให้เกิดบาดแผลในช่องปากบ่อยครั้ง