คัดจมูก สาเหตุและวิธีรักษาด้วยตัวเอง

หลายคนอาจเคยมีอาการคัดจมูก หรือรู้สึกคล้ายมีสิ่งอุดตันอยู่ภายในจมูกจนหายใจไม่สะดวก และบางครั้งก็อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ ซึ่งอาการคัดจมูกนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ และการทำความเข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุรวมทั้งวิธีบรรเทาอาการในเบื้องต้นอาจช่วยให้คุณหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงของอาการนี้ และอาจช่วยให้หาวิธีรับมือกับอาการดังกล่าวได้อย่างเหมาะสมอีกด้วย

คัดจมูก

อาการคัดจมูกเกิดจากสาเหตุใดบ้าง ?

อาการคัดจมูกอาจเกิดจากสาเหตุใดก็ตามที่ทำให้เนื้อเยื่อในจมูกเกิดการอักเสบและระคายเคือง โดยปัจจัยหลัก ๆ ที่พบได้บ่อย มีดังนี้

  • การติดเชื้อหวัดหรือการติดเชื้อบริเวณทางเดินหายใจ เช่น โรคหวัดธรรมดา โรคไข้หวัดใหญ่ และภาวะไซนัสอักเสบ เป็นต้น
  • โรคภูมิแพ้จมูก หรือไข้ละอองฟาง
  • โรคจมูกอักเสบเรื้อรัง ซึ่งอาจเป็นชนิดที่เกิดจากการแพ้หรือไม่ก็ได้
  • ริดสีดวงจมูก ซึ่งเป็นการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเยื่อบุโพรงจมูกหรือโพรงไซนัส ทำให้มีก้อนเนื้อนิ่ม ๆ ยื่นออกมากีดขวาง จนทำให้หายใจไม่สะดวกได้

นอกจากนี้ อาการคัดจมูกยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น ต่อมอะดีนอยด์บวม การได้รับบาดเจ็บที่จมูก การสูดดมควันบูหรี่ มีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในจมูก มีเนื้องอกที่โพรงจมูกหรือภายในจมูก ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ การตั้งครรภ์ ความเครียด โรคหืด รวมถึงการใช้ยาบางชนิด เป็นต้น

วิธีรับมือเมื่อเกิดอาการคัดจมูก

ผู้ที่มีอาการคัดจมูกสามารถบรรเทาอาการในเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง โดยปฏิบัติตามคำแนะนำต่าง ๆ ดังนี้

  • สูดหายใจเข้า หรือสั่งน้ำมูกออกมาเบา ๆ
  • หลีกเลี่ยงสารต่าง ๆ ที่อาจกระตุ้นให้เกิดภูมิแพ้หรือก่อให้เกิดความระคายเคืองมากขึ้น เช่น ไรฝุ่น ควันบุหรี่ หรือสภาพอากาศและความชื้นที่เปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน เป็นต้น
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ เพราะอาจช่วยให้น้ำมูกไม่จับตัวเหนียวหรือปิดกั้นโพรงจมูก
  • ใช้เครื่องเพิ่มความชื้นหรือเครื่องทำไอระเหย เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นภายในห้อง
  • ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นบิดให้หมาดวางไว้บนใบหน้า ซึ่งอาจช่วยเปิดโพรงจมูกที่แน่น และอาจทำให้หายใจสะดวกยิ่งขึ้น
  • ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ เพื่อล้างน้ำมูกออกมา ทำให้โพรงจมูกชุ่มชื้นและไม่แห้ง โดยต้องระมัดระวังเรื่องความสะอาดของอุปกรณ์ที่ใช้ด้วย
  • ยกศีรษะให้สูงขึ้นจากปกติในระหว่างที่นอนหลับตอนกลางคืน เพราะอาจช่วยให้หายใจสะดวกยิ่งขึ้น
  • สำหรับอาการคัดจมูกในเด็กทารกและเด็กเล็ก ให้ใช้ลูกยางแบบบีบเพื่อดูดเอาน้ำมูกออกมาอย่างเบา ๆ

นอกจากนี้ หากมีอาการน้ำมูกไหลอย่างต่อเนื่อง และมีอาการจาม คัน หรือน้ำตาไหล อาจรับประทานยาแก้แพ้ที่หาซื้อได้เอง โดยปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัด

อาการแบบใดที่ควรไปพบแพทย์ ?

แม้อาจบรรเทาอาการคัดจมูกด้วยตนเองในเบื้องต้นได้ แต่ผู้ป่วยก็ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีหากคัดจมูกติดต่อกันเป็นระยะเวลานานกว่า 10 วันโดยไม่ทราบสาเหตุ รวมทั้งหากมีไข้สูง รู้สึกแน่นจมูกเพียงข้างเดียว มีเลือดปนออกมากับน้ำมูก มีน้ำมูกใสหลังจากได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ หรือมีอาการบางอย่างที่อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น มีน้ำมูกสีเหลืองหรือสีเขียวข้นเป็นปริมาณมาก มีไข้ หรือมีอาการปวดบริเวณไซนัส เป็นต้น

ส่วนอาการคัดจมูกในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 เดือน หากพ่อแม่พบว่าลูกน้อยมีอาการคัดจมูก มีไข้ หรือมีน้ำมูกไหลจนอาจส่งผลกระทบต่อการดูดนม หรืออาการเหล่านั้นทำให้เด็กหายใจลำบาก ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์ทันที