ไข้ละอองฟาง (Hay Fever)

ความหมาย ไข้ละอองฟาง (Hay Fever)

Hay Fever หรือ ไข้ละอองฟาง เป็นโรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่งที่เกิดจากการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันต่อละอองเกสรหรือสิ่งแปลกปลอมอื่น ๆ เช่น ฝุ่น ไรฝุ่น น้ำหอม เชื้อรา ขนสัตว์ เป็นต้น โดยโรคนี้สามารถรักษาด้วยการหลีกเลี่ยงสารกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการ และการรับประทานยาแก้แพ้ แต่หากอาการไม่ดีขึ้นหรือเกิดภาวะแทรกซ้อน ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา

1641 Hay Fever Resized

อาการของไข้ละอองฟาง

เมื่อเผชิญกับสารกระตุ้น ผู้ป่วย Hay Fever อาจมีอาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • ไอและจาม
  • คัดจมูก น้ำมูกไหล
  • เสมหะไหลลงคอ
  • คันตามผิวหนัง ตา คอ ปาก จมูก หรือหู
  • ตาแดง หรือน้ำตาไหล
  • สูญเสียการได้กลิ่นชั่วคราว
  • ปวดศีรษะ หรือปวดบริเวณขมับและหน้าผาก
  • ปวดหู
  • รู้สึกเหนื่อย หรืออ่อนเพลีย
  • ผู้ป่วยที่เป็นโรคหืดอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น แน่นหน้าอก หายใจถี่ ไอ และหายใจมีเสียงหวีด เป็นต้น

ทั้งนี้ ผู้ป่วยมักจะมีอาการดังกล่าวเป็นเวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน ต่างจากอาการหวัดทั่วไปที่มักหายดีภายในเวลา 1-2 สัปดาห์

สาเหตุของไข้ละอองฟาง

อาการของ Hay Fever มีสาเหตุมาจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ที่เข้าสู่จมูก โดยสิ่งที่มักเป็นสารก่อภูมิแพ้ ได้แก่ ละอองเกสร เชื้อโรค เชื้อรา ขนสัตว์ ฝุ่น ไรฝุ่น ควันบุหรี่ เป็นต้น ซึ่งส่งผลให้ร่างกายสร้างแอนติบอดี้ขึ้นเพื่อป้องกันสารดังกล่าว และสารแอนติบอดี้จะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างสารฮิสตามีนขึ้นมาจนเกิดอาการในที่สุด

นอกจากนี้ การถ่ายทอดทางพันธุกรรมก็อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิด Hay Fever ได้ โดยมีการศึกษาพบว่าเด็กที่มีพ่อแม่ป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับภูมิแพ้จะมีความเสี่ยงเป็นโรคนี้มากกว่าเด็กคนอื่น ๆ

การวินิจฉัยไข้ละอองฟาง

ผู้ป่วยอาจไม่สามารถระบุได้เองว่าตนป่วยเป็น Hay Fever ดังนั้น หากมีอาการแพ้ต่าง ๆ เกิดขึ้นควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด โดยแพทย์จะเริ่มจากการสอบถามอาการ ตรวจประวัติสุขภาพ รวมทั้งตรวจร่างกาย จากนั้น หากยังไม่สามารถวินิจฉัยได้ แพทย์อาจตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม ดังนี้

  • ทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง เป็นวิธีการตรวจที่นิยมใช้ แพทย์จะทดสอบการแพ้โดยนำสารกระตุ้นที่คาดว่าอาจทำให้เกิดอาการแพ้ฉีดเข้าไปที่ผิวหนังบริเวณแขนหรือหลังส่วนบนในปริมาณเล็กน้อย หากผู้ป่วยแพ้สารกระตุ้นชนิดใด บริเวณที่ฉีดสารจะเกิดลมพิษขึ้น
  • ตรวจเลือด แพทย์จะเจาะเลือดและนำไปทดสอบหาสารแอนติบอดี้ที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ หากมีปริมาณสารดังกล่าวตามเกณฑ์ที่กำหนดก็จะบอกได้ว่าเป็นโรคนี้

การรักษาไข้ละอองฟาง

ในเบื้องต้นผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ให้มากที่สุด ซึ่งอาจแตกต่างไปตามสถานการณ์และบุคคล แต่โดยทั่วไปอาจทำได้ ดังนี้

  • หมั่นทำความสะอาดบ้านอย่างสม่ำเสมอ โดยใช้ปลอกหมอน ผ้าคลุมเตียง และผ้ารองระหว่างฟูกกับผ้าปูที่นอนที่มีคุณสมบัติกันไรฝุ่นซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของภูมิแพ้ รวมถึงซักเครื่องนอนต่าง ๆ ด้วยน้ำอุ่นที่มีอุณหภูมิอย่างน้อย 54 องศาเซลเซียส
  • ปิดหน้าต่างเพื่อป้องกันละอองเกสรจากภายนอก
  • ล้างมือทุกครั้งหลังจากสัมผัสสัตว์
  • สวมใส่แว่นกันแดดทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน
  • ใช้เครื่องลดความชื้นเพื่อป้องกันการเกิดเชื้อราภายในบ้าน

หากมีอาการแพ้ไม่รุนแรงมาก ผู้ป่วยสามารถรับประทานยาแก้แพ้เพื่อบรรเทาอาการของ Hay Fever ได้ ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป แต่ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาด้วย เพื่อเลือกใช้ยาให้เหมาะสมกับอาการของผู้ป่วยมากที่สุด โดยเฉพาะการใช้ยาในเด็กที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

โดยยาที่มักใช้รักษาอาการจาก Hay Fever  มีดังนี้

  • ยาแก้แพ้ ออกฤทธิ์โดยยับยั้งการทำงานของสารฮิสตามีน ช่วยให้อาการคัน คัดจมูก หรือจามลดลงได้ มีทั้งชนิดรับประทานและแบบยาหยอดตา
  • ยาสเตียรอยด์แบบใช้เฉพาะที่ในจมูก เป็นยาที่ใช้รักษาและป้องกันการอักเสบภายในจมูก ช่วยบรรเทาอาการคันจมูกและคัดจมูกอันเนื่องมาจาก Hay Fever ได้ ยาชนิดนี้มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูง ทว่าอาจมีผลข้างเคียงเรื่องกลิ่นหรือรสของยาพ่นที่รุนแรง และอาจทำให้จมูกเกิดการระคายเคืองได้
  • ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดรับประทาน เป็นยาที่มักใช้ในระยะสั้น ๆ เพื่อบรรเทาอาการแพ้อย่างรุนแรง แต่เป็นยาที่ไม่ควรใช้ในระยะยาว เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงได้ เช่น ต้อกระจก กระดูกพรุน กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นต้น
  • ยาแก้คัดจมูก สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป แต่ยาชนิดรับประทานอาจมีผลข้างเคียงทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น นอนไม่หลับ รู้สึกหงุดหงิด และปวดศีรษะได้ ส่วนชนิดสเปรย์ฉีดพ่นนั้นไม่ควรใช้ติดต่อกันนานเกิน 2-3 วัน เพราะอาจทำให้อาการแย่ลงได้
  • ยาโครโมลินโซเดียม เป็นยาตามใบสั่งแพทย์ที่ใช้ต้านการอักเสบ มีทั้งรูปแบบยารับประทาน ยาพ่นจมูก และยาหยอดตา สามารถช่วยบรรเทาอาการของโรคนี้และป้องกันการหลั่งสารฮิสตามีนในร่างกายได้ โดยยานี้จะให้ผลดีที่สุดเมื่อใช้ก่อนเกิดอาการ
  • ยาปิดกั้นลิวโคไตรอีน เป็นยาตามใบสั่งแพทย์ที่ใช้ยับยั้งการทำงานของสารลิวโคไตรอีนที่ส่งผลให้ร่างกายผลิตเสมหะและน้ำมูกออกมามากขึ้น มักใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการแพ้จากโรคหอบหืด ผู้ป่วยที่ใช้ยาพ่นแล้วไม่ได้ผล หรือผู้ป่วยมีอาการของโรคหอบหืดชนิดไม่รุนแรง แต่การใช้ยานี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงเป็นอาการปวดศีรษะ และอาการบางอย่างที่พบได้น้อยมากแต่มีความรุนแรง เช่น มีอาการทางจิต มีพฤติกรรมก้าวร้าว หลอน ซึมเศร้า และคิดฆ่าตัวตาย เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ที่ช่วยให้อาการแพ้ลดลงได้ เช่น

  • ล้างจมูก เป็นวิธีรักษาที่ง่ายและรวดเร็ว ทำได้โดยใช้น้ำเกลือล้างทางเดินในจมูกเพื่อกำจัดเสมหะ ของเหลว รวมทั้งสารก่อภูมิแพ้ออกจากจมูก ซึ่งช่วยให้อาการของโรคบรรเทาลงและหายใจได้สะดวกขึ้น
  • การรักษาด้วยวิธีภูมิคุ้มกันวิทยา ในกรณีที่ไม่สามารถใช้ยารักษาอาการของ Hay Fever ได้ หรือการใช้ยาทำให้เกิดผลข้างเคียงมากเกินไป แพทย์อาจให้ผู้ป่วยรับการรักษาในระยะยาวด้วยการฉีดสารที่กระตุ้นให้เกิดการแพ้ในปริมาณเล็กน้อยติดต่อกัน 3-5 ปี เพื่อให้ร่างกายค่อย ๆ สร้างภูมิคุ้มกันต่อสารดังกล่าว วิธีนี้มักใช้ได้ผลกับผู้ป่วยที่มีอาการแพ้รังแคแมว ไรฝุ่น และละอองเกสร นอกจากนี้ วิธีนี้อาจช่วยป้องกันการเกิดโรคหืดในเด็กได้อีกด้วย

ภาวะแทรกซ้อนของไข้ละอองฟาง

อาการของ Hay Fever ที่เกิดขึ้นติดต่อกันหลายวัน เช่น หูอื้อ ได้กลิ่นน้อยลง เจ็บคอ ปวดศีรษะ เกิดรอยคล้ำใต้ตา ตาบวม อ่อนเพลีย เป็นต้น ก็อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการนอนหลับได้ หรืออาจทำให้ผู้ป่วยโรคหืดมีอาการแย่ลง นอกจากนี้ ยังเสี่ยงทำให้เกิดการติดเชื้อในหูและการอักเสบของไซนัสตามมาได้ ดังนั้น หากมีอาการของโรคนี้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม

การป้องกันไข้ละอองฟาง

Hay Fever เป็นโรคที่ป้องกันได้ยากเนื่องจากอาจเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม จึงทำได้เพียงหลีกเลี่ยงสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดอาการ โดยควรหมั่นทำความสะอาดบ้านและบริเวณที่อยู่อาศัยให้สะอาดอยู่เสมอ แต่หากผู้ป่วยมีอาการแพ้รุนแรงก็ไม่ควรทำความสะอาดเอง รวมถึงควรเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธีหากมีอาการบ่งชี้โรค