กินยาคุมฉุกเฉินให้ปลอดภัย 12 ข้อสงสัยที่คุณอยากรู้

การกินยาคุมฉุกเฉินให้ถูกต้อง เป็นวิธีที่จะช่วยป้องกันการตั้งครรภ์หลังการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ได้ป้องกัน ถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือเกิดความผิดพลาดจากการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น ยาคุมฉุกเฉินจะช่วยยับยั้งหรือชะลอการตกไข่ ซึ่งจะช่วยป้องกันการปฏิสนธิ และไม่เกิดการตั้งครรภ์ตามมา

ยาคุมฉุกเฉินชนิดเม็ดมีหลายประเภท โดยในประเทศไทยจะนิยมใช้ชนิดที่มีเฉพาะฮอร์โมนโพรเจสติน (Progestin-only Pill) ทั้งนี้ การกินยาคุมฉุกเฉินมีข้อควรรู้และผลข้างเคียงของการกินที่หลายคนอาจยังเข้าใจผิด หากเข้าใจวิธีการกินยาคุมฉุกเฉินอย่างถูกต้องจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของตัวยา และป้องกันการเกิดผลเสียต่อสุขภาพ

 กินยาคุมฉุกเฉิน

คำถามยอดฮิตเกี่ยวกับการกินยาคุมฉุกเฉิน

รวมข้อมูลเกี่ยวกับกินยาคุมฉุกเฉินให้ถูกต้องและปลอดภัย มีดังนี้

1. ใครที่ควรกินยาคุมฉุกเฉิน และเหมาะกับสถานการณ์ไหน

การกินยาคุมฉุกเฉินเหมาะสำหรับผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ที่ต้องการป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พร้อมจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น

  • มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน เช่น หลั่งนอก ไม่สวมถุงยางอนามัย และนับระยะปลอดภัยผิดพลาด
  • ถุงยางอนามัยชำรุดหรือเสียหาย เช่น เลื่อนหลุด มีรอยรั่ว ฉีกขาด หรือแตกขณะมีเพศสัมพันธ์
  • ลืมกินยาคุมกำเนิดตั้งแต่ 1 เม็ดขึ้นไป
  • อาเจียนหรือถ่ายเหลวหลังกินยาคุมกำเนิด ซึ่งอาจทำให้ยาคุมกำเนิดถูกขับออกจากร่างกาย และไม่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้
  • ถูกข่มขืน

2. ยาคุมฉุกเฉินออกฤทธิ์อย่างไร

โดยปกติแล้ว ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์จะมีระยะที่ไข่ตกทุกเดือน ซึ่งร่างกายจะปล่อยไข่ออกจากรังไข่ไปยังท่อนำไข่ เพื่อรอการปฏิสนธิกับอสุจิ การกินยาคุมฉุกเฉินจะช่วยหยุดยั้งหรือเลื่อนการตกไข่ออกไป เมื่อไม่มีการตกไข่ก็จะไม่เกิดการปฏิสนธิของตัวอ่อนในครรภ์ และไม่เกิดการตั้งครรภ์

3. ยาคุมฉุกเฉินมีกี่ประเภท ต่างกันอย่างไร

ยาคุมฉุกเฉินชนิดยากิน มี 3 ประเภท ได้แก่ 

  • ชนิดฮอร์โมนรวม ซึ่งในแต่ละเม็ดมีตัวยาฮอร์โมนในกลุ่มเอสโตรเจน (Estrogens) ผสมกับฮอร์โมนในกลุ่มโพรเจสติน (Progestins)
  • ชนิดฮอร์โมนเดี่ยว ซึ่งประกอบด้วยฮอร์โมนในกลุ่มโพรเจสตินเพียงอย่างเดียว
  • ชนิดยาต้านโพรเจสติน (Antiprogestin) เช่น ยูริพริสทอล (Ulipristal)

ในประเทศไทย ตัวยาที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายคือยาคุมฉุกเฉินชนิดฮอร์โมนเดี่ยวที่มีตัวยาลีโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel) มีทั้งขนาดเม็ดละ 0.75 มิลลิกรัม และ 1.5 มิลลิกรัม ซึ่งสามารถหาซื้อได้เองที่ร้านขายยา 

4. กินยาคุมฉุกเฉินได้ผลดีแค่ไหน

การกินยาคุมฉุกเฉินเป็นวิธีที่ช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้ดี แต่ต้องกินให้เร็วที่สุดหลังมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ได้ป้องกัน เพื่อให้ตัวยามีประสิทธิภาพสูงสุด โดยกินทันทีหลังจากมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่พึงประสงค์ หรืออย่างช้าที่สุดไม่ควรเกิน 72 ชั่วโมง หากช้ากว่านั้นประสิทธิภาพของยาคุมฉุกเฉินจะลดลง

5. กินยาคุมฉุกเฉินอย่างไร

การยาคุมฉุกเฉินชนิดฮอร์โมนเดี่ยวที่มีตัวยาลีโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel) ที่มีจำหน่ายในประเทศไทย มี 2 แบบ ดังนี้

ยาคุมฉุกเฉินแบบ 2 เม็ด/แผง

ยาคุมฉุกเฉินแบบนี้จะประกอบด้วยยาลีโวนอร์เจสเตรลขนาดเม็ดละ 0.75 มิลลิกรัม ให้กินเม็ดแรกหลังมีเพศสัมพันธ์ หรือทันทีที่นึกได้ จากนั้นให้กินเม็ดที่ 2 หลังจากกินยาเม็ดแรกไปแล้ว 12 ชั่วโมง หรืออย่างช้าที่สุดไม่เกิน 72 ชั่วโมงนับจากการมีเพศสัมพันธ์

ยาคุมฉุกเฉินแบบ 1 เม็ด/แผง

ยาคุมฉุกเฉินแบบนี้จะประกอบด้วยยาลีโวนอร์เจสเตรลขนาดเม็ดละ 1.5 มิลลิกรัม ให้กินยาหลังมีเพศสัมพันธ์ให้เร็วที่สุด หรือทันทีที่นึกได้ ไม่เกิน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์

หากอาเจียนภายใน 2–3 ชั่วโมงหลังกินยาคุมฉุกเฉินแต่ละเม็ด ต้องกินยาใหม่อีกครั้ง โดยหลังจากกินยาคุมฉุกเฉินแล้ว สามารถเริ่มกินยาคุมกำเนิดปกติที่กินสม่ำเสมอต่อไปได้ทันที และงดการมีเพศสัมพันธ์หลังจากกินยาเป็นเวลา 7 วัน หรือใช้วิธีการคุมกำเนิดอื่นร่วมด้วย เช่น ใช้ถุงยางอนามัย ไม่ควรกินยาคุมฉุกเฉินซ้ำอีก เพราะประสิทธิภาพของยาจะลดลง และเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงอีกด้วย

6. คนมีโรคประจำตัวอะไรที่ไม่ควรกินยาคุมฉุกเฉิน

คนที่มีภาวะสุขภาพหรือโรคประจำตัวต่าง ๆ เหล่านี้ ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบก่อนกินยาคุมฉุกเฉินเสมอ

  • แพ้ตัวยาใด ๆ ที่เป็นส่วนประกอบของยาคุมฉุกเฉิน
  • ความดันโลหิตสูง
  • โรคหัวใจ
  • โรคเบาหวาน
  • โรคตับชนิดรุนแรง
  • โรคหืดชนิดรุนแรง
  • โรคมะเร็งเต้านม
  • ผู้ที่ให้นมบุตร ตัวยาอาจซึมผ่านน้ำนมแม่และเป็นอันตรายต่อทารกได้ แพทย์อาจแนะนำให้หยุดให้นมบุตรชั่วคราวหลังกินยาคุมฉุกเฉิน

7. กินยาคุมฉุกเฉินทำให้แท้งลูกไหม เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์หรือไม่

หลายคนเข้าใจว่าเข้าใจว่าจะช่วยให้แท้งลูก ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด ยาคุมฉุกเฉินไม่ใช่ยาทำแท้ง และไม่ใช่ยาที่ใช้เพื่อยุติการตั้งครรภ์ แต่จะช่วยการป้องกันการตั้งครรภ์เท่านั้น หากกินยาหลังการปฏิสนธิของไข่กับอสุจิ และเกิดการฝังตัวที่ผนังมดลูกไปแล้ว การกินยาคุมฉุกเฉินจะไม่มีผลใด ๆ ในการป้องกันการตั้งครรภ์

นอกจากนี้ บางคนกังวลว่าการกินยาคุมฉุกเฉินโดยที่ไม่รู้ตัวว่าตัวเองตั้งครรภ์ จะทำให้ทารกพิการหรือเกิดความผิดปกติ ในปัจจุบันยังไม่พบหลักฐานว่าการกินยาคุมฉุกเฉินส่งผลให้เกิดความผิดปกติต่อทารก อย่างไรก็ตาม เมื่อรู้ว่าตัวเองตั้งครรภ์ควรหยุดกินยาคุมฉุกเฉินและไปพบแพทย์ เพื่อตรวจสุขภาพครรภ์

8. กินยาคุมฉุกเฉินพร้อมกับยาอื่นได้ไหม

การกินยาคุมฉุกเฉินขณะที่ใช้ยาอื่นอยู่ อาจทำให้ประสิทธิภาพของยาคุมฉุกเฉินลดลง หรือทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ได้ จึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนกินยาคุมฉุกเฉินเสมอ เช่นคนที่ใช้ยาดังต่อไปนี้

9. กินยาคุมฉุกเฉินป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ไหม

การกินยาคุมฉุกเฉินไม่สามารถช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STDs) ได้ วิธีป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่าง ๆ ได้ดีที่สุดคือการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ตรวจการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี และวัคซีนเอชพีวี (HPV)

10. กินยาคุมฉุกเฉินแทนยาคุมปกติได้ไหม

แม้การกินยาคุมฉุกเฉินไม่เป็นอันตรายต่อการตั้งครรภ์ครั้งถัดไป และไม่ทำให้มีลูกยากขึ้น แต่ควรกินยาคุมกำเนิดฉุกเฉินเมื่อจำเป็นเท่านั้น ไม่ควรกินยาคุมฉุกเฉินบ่อย ๆ หรือกินเป็นประจำแทนยาเม็ดคุมกำเนิดปกติ เนื่องจากยาคุมฉุกเฉินมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ต่ำกว่ายาเม็ดคุมกำเนิดปกติที่กินสม่ำเสมอ รวมทั้งยาคุมฉุกเฉินมีปริมาณฮอร์โมนสูง จึงอาจเสี่ยงต่อการผลข้างเคียงต่อร่างกายได้มาก

11. จะรู้ได้อย่างไรว่ากินยาคุมฉุกเฉินแล้วไม่ได้ผล

การกินยาคุมฉุกเฉินแล้วไม่ได้ผล คือไม่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ ซึ่งสามารถสังเกตได้จากสัญญาณการตั้งครรภ์ คือประจำเดือนขาด หากประจำเดือนมาช้ากว่าปกติ 7 วันขึ้นไป ควรใช้ชุดตรวจการตั้งครรภ์ด้วยตนเองเบื้องต้น และหากไม่แน่ใจ ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจเพิ่มเติม เพื่อยืนยันผลของที่ตรวจครรภ์ให้แน่ชัดยิ่งขึ้น

12. กินยาคุมฉุกเฉินมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง

โดยทั่วไป การกินยาคุมฉุกเฉินอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่าง ๆ ที่ไม่รุนแรง เช่น

ผลข้างเคียงเหล่านี้มักไม่รุนแรง และมักจะหายไปได้เอง อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียงจากการกินยาคุมฉุกเฉินมากกว่าปริมาณที่แนะนำ อาจทำให้การเกิดความผิดปกติที่รังไข่ เยื่อบุโพรงมดลูก และกรณีที่การป้องกันการตั้งครรภ์ล้มเหลว อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้ 

หากมีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกตินานกว่า 1 สัปดาห์ ปวดท้องน้อยอย่างรุนแรงเป็นเวลา 3–5 สัปดาห์หลังกินยาคุมฉุกเฉิน ควรไปพบแพทย์