9 อาการคนท้องระยะแรก เรื่องน่ารู้สำหรับว่าที่คุณแม่

อาการคนท้องระยะแรกเป็นสัญญาณที่คุณแม่มือใหม่ตั้งตารอเมื่อต้องการมีเจ้าตัวน้อย ซึ่งหลายคนมักมีอาการคัดเต้านม ประจำเดือนขาด หรือมีอาการแพ้ท้อง โดยอาการเหล่านี้เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายเพื่อเตรียมพร้อมกับการตั้งครรภ์และให้กำเนิดเจ้าตัวน้อย

แม้ว่าสัญญาณบ่งบอกถึงเจ้าตัวน้อยจะทำให้คุณแม่ดีใจอยู่ไม่น้อย แต่อาการเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของคุณแม่ได้เช่นกัน โดยบทความนี้ได้รวบรวมอาการคนท้องระยะแรกที่คุณแม่อาจต้องเจอ พร้อมมีเคล็ดลับเล็ก ๆ น้อย ๆ ในการรับมือกับอาการคนท้องระยะแรกมาฝาก

อาการคนท้องระยะแรก

9 อาการคนท้องระยะแรกที่ควรรู้

การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนและร่างกายในระหว่างตั้งครรภ์อาจทำให้คุณแม่หลายคนเผชิญกับอาการคนท้องที่แตกต่างกันไป โดยอาการคนท้องระยะแรกที่คุณแม่ควรสังเกต ได้แก่

1. เลือดล้างหน้าเด็ก

เลือดล้างหน้าเด็ก (Implantation Bleeding) จะพบในช่วง 6-12 วันหลังจากไข่ได้รับการปฏิสนธิ โดยเป็นเลือดที่เกิดจากการฝังตัวของตัวอ่อนภายในมดลูก ทำให้คุณแม่มีเลือดออกปริมาณเล็กน้อยจากบริเวณช่องคลอดประมาณ 1-3 วัน แต่บางรายอาจมีเลือดไหลน้อยมากจนไม่ทันได้สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลง

คุณแม่อาจมีเลือดล้างหน้าเด็กพร้อมกับมีอาการปวดท้องน้อยร่วมด้วย ทำให้อาจเกิดความสับสนระหว่างอาการคนท้องกับอาการมีประจำเดือน หากเป็นประจำเดือนมักจะมีเลือดออกปริมาณมากกว่าและระยะเวลานานกว่า ส่วนอาการปวดท้องประจำเดือนพบได้ในช่วง 24-48 ชั่วโมงก่อนประจำเดือนมา แต่อาการปวดจะค่อย ๆ บรรเทาลงจนกระทั่งหายไปเมื่อประจำเดือนหมด นอกจากนี้ อาจสังเกตได้จากตำแหน่งของอาการปวดร่วมด้วย โดยอาการปวดท้องจากการตั้งครรภ์มักปวดบริเวณท้องน้อยและหลังส่วนล่าง

2. ประจำเดือนขาด

อาการคนท้องระยะแรกที่คุณแม่อาจพบหลังจากเลือดล้างหน้าเด็กคือการขาดประจำเดือน ถือเป็นหนึ่งในสัญญาณหลักที่บ่งบอกถึงการตั้งครรภ์ โดยสาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนขาดนั้นมาจากฮอร์โมนเอชซีจี (Human Chorionic Gonadotropin: hCG) ที่ร่างกายผลิตเพื่อให้ร่างกายหยุดการตกไข่ในระหว่างตั้งครรภ์ ส่งผลให้ไม่เกิดการลอกของเยื่อบุมดลูกเพื่อรักษาไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิและฝังอยู่ในผนังมดลูก ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ไม่มีเลือดประจำเดือนในช่วงที่กำลังตั้งครรภ์

3. คัดเต้านม

ในช่วง 1-2 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ คุณแม่อาจพบว่าหน้าอกหรือเต้านมนั้นมีการเปลี่ยนแปลง โดยหน้าอกจะมีขนาดใหญ่ขึ้น หนาขึ้น หากคล้ำแล้วจะรู้สึกแข็งกว่าปกติและมีอาการเจ็บร่วมด้วย อาการเหล่านี้อาจค่อย ๆ รุนแรงขึ้นจนทำให้คุณแม่รู้สึกไม่สบายตัว โดยเฉพาะเมื่อสัมผัสโดนหน้าอกหรือมีการเคลื่อนไหวร่างกาย แต่อาการคัดเต้านมอาจลดน้อยลงหลังจากตั้งครรภ์ได้ 3 เดือน

4. แพ้ท้อง

อาการแพ้ท้องสามารถเกิดได้ทั้งกลางวันและกลางคืน ส่วนใหญ่จะพบได้ในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะสัปดาห์ที่ 2-8 หลังการตั้งครรภ์ โดยหลายคนมักเข้าใจผิดว่าอาการแพ้ท้องต้องเป็นอาการคลื่นไส้และอาเจียน แต่อาจมีแค่อาการคลื่นไส้เพียงอย่างเดียวก็ได้ นอกจากนี้ อาการแพ้ท้องอาจส่งผลให้บางคนได้กลิ่นที่รุนแรงมากขึ้นกว่าปกติจนอาจไปกระตุ้นให้คลื่นไส้ได้

แต่ละคนอาจมีระดับความรุนแรงในการแพ้ท้องแตกต่างกัน ส่วนมากอาการจะรุนแรงขึ้นเมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 12 หรือสัปดาห์สุดท้ายของเดือนที่ 3 แต่อาการแพ้ท้องจะเริ่มบรรเทาลงเมื่อเข้าสู่เดือนที่ 4 อย่างไรก็ตาม คุณแม่บางคนอาจแพ้ท้องนานกว่านั้น หากมีอาการแพ้ท้องตลอดทั้งวันหรือมีอาการรุนแรงกว่าปกติ ควรไปพบแพทย์

5. ปัสสาวะบ่อย

จากการศึกษาพบว่าอาการปัสสาวะบ่อยเป็นอาการคนท้องระยะแรกที่คุณแม่จำนวนกว่าครึ่งหนึ่งมักพบ โดยในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของการตั้งครรภ์ มดลูกจะขยายใหญ่ขึ้นตามพัฒนาการของทารก ส่งผลให้มดลูกไปเบียดอวัยวะที่อยู่รอบ ๆ โดยเฉพาะกระเพาะปัสสาวะ ขณะเดียวกันร่างกายก็มีปริมาณเลือดและของเหลวเพิ่มมากขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ รวมทั้งฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นก็มีส่วนกระตุ้นการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ จึงทำให้คุณแม่ปวดปัสสาวะบ่อยขึ้นหรืออาจมีอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่เกิดขึ้นได้

6. อ่อนเพลีย

ระดับฮอร์โมนโปรเจนเตอโรนและเอสโตรเจนจะค่อย ๆ เพิ่มสูงขึ้นหลังจากตั้งครรภ์ ทำให้ร่างกายทำงานหนักมากขึ้นและสูญเสียพลังงานได้ง่าย ส่งผลให้คุณแม่รู้สึกง่วงนอน อ่อนเพลีย และเหนื่อยล้า โดยอาการอ่อนเพลียอาจพบได้ตั้งแต่ช่วงสัปดาห์แรก ๆ ของการตั้งครรภ์ไปจนถึงสัปดาห์ที่ 12 ของการตั้งครรภ์ แต่คุณแม่บางคนอาจพบอาการนี้หลังจากตั้งครรภ์เพียงสัปดาห์เดียว

7. ท้องผูกและท้องอืด

อาการท้องผูกและท้องอืดเป็นอีกอาการคนท้องระยะแรกที่พบได้ โดยสาเหตุมาจากการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่จะไปลดการทำงานของกล้ามเนื้อเรียบ (Smooth Muscle) ภายในระบบทางเดินอาหารเพื่อให้ร่างกายมีเวลาดูดซึมสารอาหารได้มากขึ้นจนอาจทำให้เกิดอาการท้องอืด นอกจากนี้ กล้ามเนื้อเรียบที่คลายตัวลงยังส่งผลให้ลำไส้เคลื่อนตัวได้ช้าลง จึงอาจส่งผลต่อการขับถ่ายและทำให้ท้องผูกได้

อาการท้องผูกและท้องอืดอาจหายได้เองเมื่อเข้าสู่เดือนที่ 4 แต่บางรายอาจเป็นตลอดการตั้งครรภ์ ซึ่งคุณแม่อาจบรรเทาอาการท้องอืดได้ด้วยการลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทาน โดยรับประทานอาหารช้าลงและอาหารคำเล็กลง งดของทอด ของหวาน กะหล่ำปลี ถั่ว หรืออาหารอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะ ส่วนการบรรเทาอาการท้องผูกอาจทำได้โดยการรับประทานอาหารที่มีใยอาหารสูงโดยเฉพาะผักและผลไม้ ร่วมกับการดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม

8. อารมณ์อ่อนไหว

การตั้งครรภ์ส่งผลให้ระดับของฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจนเตอโรนสูงขึ้น จึงกระทบต่อสภาวะอารมณ์และความรู้สึกของผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ได้ง่าย โดยคุณแม่อาจมีอารมณ์ที่อ่อนไหวมากกว่าปกติหรืออารมณ์เปลี่ยนแปลงได้ง่าย เช่น เศร้า หดหู่ หงุดหงิด กังวล ตื่นเต้นหรือมีความสุขในบางครั้ง นอกจากนี้ คนท้องอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้าระหว่างตั้งครรภ์ได้อีกด้วย หากตัวคุณแม่เองหรือคุณพ่อสังเกตพบว่าเกิดอารมณ์ซึมเศร้าหรือหดหู่นานต่อเนื่องกว่า 2 สัปดาห์ ควรปรึกษาและขอคำแนะนำจากแพทย์ เพราะภาวะทางด้านอารมณ์อาจกระทบต่อทารกในครรภ์ได้

9. พฤติกรรมการรับประทานเปลี่ยนไป

คุณแม่ที่เพิ่งเริ่มตั้งครรภ์อาจมีพฤติกรรมการรับประทานที่ต่างไปจากเดิม โดยอาจรู้สึกอยากอาหารเพิ่มมากขึ้น หรือมีความชอบในการรับประทานอาหารที่ต่างไปจากเดิม เช่น รู้สึกเบื่ออาหาร ไม่ชอบอาหารที่เคยรับประทานเป็นประจำ แต่อยากรับประทานของหมักดองหรืออาหารชนิดอื่นที่ไม่ค่อยได้รับประทานในชีวิตประจำวัน เป็นต้น 

พฤติกรรมการรับประทานที่เปลี่ยนไปนี้อาจพบได้ตลอดช่วงการตั้งครรภ์ คุณแม่ควรควบคุมปริมาณการรับประทานอาหารให้พอดีเพื่อไม่ให้กระทบต่อร่างกาย นอกจากนี้ คนท้องบางคนอาจอยากรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์หรือของที่ไม่ใช่อาหาร อย่างน้ำแข็ง เศษไม้ หรือเศษดิน หากมีความรู้สึกอยากรับประทานของเหล่านี้ ควรไปพบแพทย์

อย่างไรก็ตาม คุณแม่บางคนอาจมีอาการคนท้องระยะแรกในรูปแบบอื่น อย่างปวดหลัง ปวดศีรษะ ตัวร้อนขึ้น โดยแต่ละคนอาจมีอาการคนท้องที่แตกต่างกันไปและอาการบางอย่างก็อาจเกิดขึ้นจากสาเหตุอื่นได้ ดังนั้น คุณแม่ควรสังเกตจากหลาย ๆ อาการที่เกิดขึ้น และอาจปรึกษาเภสัชกรเกี่ยวกับการใช้ที่ตรวจครรภ์เพื่อยืนยันถึงการตั้งครรภ์เบื้องต้น 

วิธีรับมืออาการคนท้องระยะแรก

อาการตั้งครรภ์ในช่วงแรกอาจส่งผลกระทบทั้งร่างกายและจิตใจของว่าที่คุณแม่ โดยเบื้องต้นอาจบรรเทาได้ด้วยวิธีดังนี้

  • พักผ่อนให้เพียงพอ เพราะการพักผ่อนอย่างเพียงพอจะช่วยบรรเทาอาการเหนื่อยล้าและอ่อนแรง พร้อมทั้งฟื้นฟูสุขภาพโดยรวมให้แข็งแรงขึ้น และอาจช่วยบรรเทาภาวะอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้ง่าย
  • ดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม แม้ว่าจะต้องปัสสาวะบ่อยมากขึ้น แต่คุณแม่ก็ควรจิบน้ำอยู่บ่อยเพื่อให้ร่างกายไม่ขาดน้ำ โดยเฉพาะคุณแม่ที่แพ้ท้อง นอกจากนี้ การดื่มน้ำยังรักษาอุณหภูมิร่างกายไม่ให้สูงเกินไปด้วย
  • เลือกเสื้อชั้นในสำหรับคุณแม่ อาการคัดเต้านมอาจส่งผลให้คุณแม่รู้สึกไม่สบายตัวและเคลื่อนไหวไม่สะดวก จึงควรเลือกสวมใส่บราที่ช่วยให้หน้าอกกระชับเพื่อลดการเคลื่อนไหวของหน้าอก ซึ่งอาจทำให้คุณแม่ทำสิ่งต่าง ๆ ได้สะดวกขึ้น
  • ออกกำลังกายเบา ๆ โดยคุณแม่ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับท่าออกกำลังกายสำหรับคนท้องเพื่อความปลอดภัยของตนเองและทารกในครรภ์
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ คุณแม่และทารกในครรภ์ต้องการสารอาหารที่มีประโยชน์เป็นจำนวนมาก จึงควรใส่ใจเรื่องอาหารการกินมากเป็นพิเศษเพราะอาจมีอาหารบางอย่างที่คนท้องควรหลีกเลี่ยง แต่หนึ่งในอาหารที่คุณแม่ควรรับประทานคือผักผลไม้ที่เป็นอาหารที่มีไฟเบอร์หรือใยอาหารสูง เพราะอาจช่วยในระบบการย่อยอาหารและขับถ่าย บรรเทาอาการท้องผูกได้
  • เลิกบุหรี่ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเลิกใช้สารเสพติด เนื่องจากอาจทำให้เกิดอาการผิดปกติอย่างเลือดออกอย่างรุนแรงได้

สุดท้ายนี้ แม้ว่าอาการคนท้องระยะแรกเป็นอาการที่พบได้ทั่วไปและมักไม่รุนแรง แต่หากมีอาการหนักขึ้นหรือเป็นต่อเนื่องกันนานกว่าปกติ ควรไปพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำ นอกจากนี้ คุณแม่ทราบว่าตนเองตั้งครรภ์และต้องการใช้อาหารเสริมก็ควรปรึกษาแพทย์ถึงปริมาณที่เหมาะสมก่อนทุกครั้ง