กลัวเชื้อโรค ความผิดปกติที่ควรได้รับการรักษา

กลัวเชื้อโรค (Mysophobia หรือ Germaphobia) จัดอยู่ในกลุ่มโรคกลัว (Phobia) ที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกกลัวสิ่งสกปรก เชื้อโรค และการปนเปื้อนอย่างรุนแรง และพยายามหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่จะทำให้เกิดความเลอะเทอะหรือสกปรก ซึ่งทำให้ใช้ชีวิตได้ลำบาก หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้อาการกลัวเชื้อโรคยิ่งรุนแรงขึ้น

ความกังวลและระมัดระวังในการใช้ชีวิตนั้นถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน เช่น รู้สึกกังวลเมื่อต้องกินอาหารที่ปรุงไม่สุกหรือไม่สะอาดเพราะกลัวว่าอาจทำให้ท้องเสีย จึงพยายามหลีกเลี่ยงอาหารเหล่านั้น แต่ผู้ที่มีอาการกลัวเชื้อโรคจะกลัวสิ่งสกปรกในระดับที่รุนแรงจนไม่สามารถยับยั้งความกลัวได้และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษา

กลัวเชื้อโรค ความผิดปกติที่ควรได้รับการรักษา

อาการของผู้ที่กลัวเชื้อโรค

อาการของโรคกลัวเชื้อโรคคล้ายกับอาการของผู้ที่เป็นโรคกลัวแบบเฉพาะเจาะจง (Specific Phobias) ประเภทอื่น ๆ ซึ่งจะรู้สึกกลัวสิ่งใดสิ่งหนึ่งและพยายามหลีกเลี่ยงไม่เข้าไปอยู่ใกล้สิ่งที่กลัว โดยอาการที่พบบ่อย เช่น

  • กลัวเชื้อโรคและความสกปรก แม้จะรู้ว่าความรู้สึกกลัวเป็นสิ่งที่ไม่มีเหตุผลแต่ไม่สามารถควบคุมความกลัวได้
  • คิดหมกมุ่นเรื่องเชื้อโรคและความสกปรก เพียงแค่คิดว่าจะต้องสัมผัสกับสิ่งสกปรกก็รู้สึกวิตกกังวล เพราะกลัวว่าการสัมผัสเชื้อโรคจะทำให้ไม่สบาย
  • พยายามไม่เข้าใกล้คนที่ดูสกปรก ไม่สัมผัสสิ่งของที่ดูไม่สะอาดหรือเป็นของที่มีคนใช้ร่วมกัน เช่น คีย์บอร์ด ลูกบิดประตู หรือไม่ไปสถานที่ที่มีโอกาสสัมผัสเชื้อโรค เช่น ห้องน้ำสาธารณะ โรงพยาบาล สนามบิน
  • รักสะอาดมากผิดปกติ เช่น ใช้เวลาอาบน้ำและล้างมือนานหรือทำซ้ำหลายครั้งในระหว่างวัน สวมถุงมือหรือใช้วัสดุคลุมสิ่งของ เช่น พวงมาลัยรถยนต์ รีโมทคอนโทรล เพื่อป้องกันความสกปรก
  • แสดงอาการวิตกกังวลหรือตื่นตระหนก (Panic) เมื่อนึกถึงหรือต้องสัมผัสเชื้อโรค เช่น เหงื่อออกมาก หายใจเร็วขึ้น แน่นหน้าอก หัวใจเต้นเร็ว ตัวสั่น กระสับกระส่าย ปวดหรือเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ร้องไห้ และกรีดร้อง ในเด็กอาจมีอาการร้องไห้งอแง ไม่ยอมห่างจากพ่อแม่ ร้องอาละวาด (Tantrums) นอนไม่หลับ และความภูมิใจในตัวเอง (Self Esteem) ลดลง
  • คุณภาพชีวิตแย่ลง มีปัญหาด้านการเรียนและการทำงาน

อาการของโรคกลัวเชื้อโรคมีส่วนคล้ายกับโรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) ที่ทำให้มีความคิดหมกมุ่นและทำพฤติกรรมบางอย่างซ้ำ ๆ เช่น ล้างมือบ่อย แต่ทั้งสองโรคแตกต่างกันที่แรงจูงใจในการทำ โดยผู้ที่กลัวเชื้อโรคจะล้างมือบ่อยเพราะต้องการชะล้างเชื้อโรคและสิ่งสกปรก ส่วนผู้ป่วยโรคย้ำคิดย้ำทำอาจไม่ได้กลัวความสกปรก แต่รู้สึกว่าการล้างมือเป็นสิ่งที่ต้องทำ หากไม่ทำจะรู้สึกไม่สบายใจ

กลัวเชื้อโรคเกิดจากอะไร

สาเหตุของการโรคกลัวเชื้อโรคยังไม่ทราบแน่ชัด และอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย โดยผู้ที่กลัวเชื้อโรคมักมีอาการตั้งแต่เด็ก  ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้

  • พันธุกรรมหรือคนในครอบครัวมีอาการกลัวเชื้อโรค เป็นโรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า หรือโรคกลัวอื่น ๆ
  • สารเคมีในสมองและการทำงานของสมองผิดปกติ
  • ประสบการณ์ฝังใจในวัยเด็กที่ทำให้เกิดความกลัวเชื้อโรคและสิ่งสกปรก เช่น สูญเสียคนในครอบครัวจากการติดเชื้อโรค
  • ถูกปลูกฝังความเชื่อและพฤติกรรมรักสะอาดมาตั้งแต่เด็ก

กลัวเชื้อโรค รักษาได้หรือไม่

อาการของโรคกลัวเชื้อโรคจะดีขึ้นได้หากได้รับการวินิจฉัยและรักษาโดยจิตแพทย์และนักจิตบำบัดอย่างเหมาะสม จิตแพทย์จะวินิจฉัยตามคู่มือวินิจฉัยอาการผิดปกติทางจิตฉบับที่ 5 (DSM 5) โดยสัมภาษณ์ผู้ป่วย เช่น ถามคำถามเกี่ยวกับอาการ ประวัติสุขภาพ ประวัติครอบครัว รวมทั้งวินิจฉัยว่าอาการกล้วเชื้อโรคเกิดจากโรคย้ำคิดย้ำทำหรือไม่ และใช้วิธีบำบัดรักษา ดังนี้

  • การบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy) เป็นวิธีที่ใช้บำบัดโรคทางจิตเวชหลายโรค เช่น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า และโรคผิดปกติเกี่ยวกับการกิน ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยโรคกลัวเชื้อโรคเข้าใจสาเหตุของความกลัว เรียนรู้วิธีควบคุมความกลัว และสามารถรับมือได้อย่างเหมาะสม
  • การบำบัดความกลัวด้วยการเผชิญหน้า (Exposure Therapy) โดยอาจจำลองสถานการณ์ให้ผู้ป่วยได้เผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัวภายใต้การควบคุมของนักจิตบำบัด ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยปรับสภาพจิตใจให้รู้สึกกลัวน้อยลงและรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้นเมื่อเจอสิ่งที่กลัว
  • การใช้ยา เช่น ยาต้านเศร้า (Antidepressants) และยาเบต้า บล็อกเกอร์ (Beta blocker) แม้จะไม่ใช่ยาที่รักษาโรคกลัวเชื้อโรคได้โดยตรง แต่อาจช่วยบรรเทาความวิตกกังวลเมื่อเกิดอาการกลัวในที่สาธารณะ

นอกจากนี้ ผู้มีอาการกลัวเชื้อโรคอาจปรับพฤติกรรมของตนเองควบคู่ไปกับการบำบัดรักษา เช่น นั่งสมาธิ เล่นโยคะ และฝึกหายใจ ซึ่งช่วยลดความวิตกกังวล รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ

ความรู้สึกกังวลต่อเชื้อโรคและการสัมผัสสิ่งสกปรกที่อาจทำให้เราป่วยเป็นเรื่องปกติ แต่เมื่ออาการกลัวเชื้อโรครุนแรงจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการเข้าสังคม ควรไปพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเพื่อรับการตรวจและรักษา หากได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง โรคกลัวเชื้อโรคสามารถหายดีได้