ทำความรู้จักโรคเกลียดเสียง โรคที่ควรได้รับการรักษา

โรคเกลียดเสียง (Misophonia) เป็นอาการทางจิตรูปแบบหนึ่งที่ผู้ป่วยจะรู้สึกไม่สบายใจเมื่อได้ยินเสียงบางอย่าง เช่น เสียงเคี้ยวอาหาร เสียงกดปากกา เสียงย่ำเท้า โดยอาจทำให้เกิดอาการหงุดหงิด โกรธ ตื่นตระหนก และอยากออกจากสถานที่นั้น

โรคเกลียดเสียงอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยสันนิษฐานว่าอาจเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง และอาจพบได้ในผู้ที่มีโรคทางจิตเวชบางประเภท ทั้งนี้ อาการของผู้ป่วยส่วนมากมักดีขึ้นหลังได้รับการบำบัดรักษาที่เหมาะสม

ทำความรู้จักโรคเกลียดเสียง โรคที่ควรได้รับการรักษา

อาการของผู้ที่เป็นโรคเกลียดเสียง

ผู้ป่วยแต่ละคนจะมีปฏิกิริยาต่อเสียงที่แตกต่างกัน โดยอาจทำให้เกิดอาการเล็กน้อยไปจนถึงรุนแรง ได้แก่ 

  • ไม่สบายใจ 
  • วิตกกังวล
  • ขยะแขยง
  • ตื่นตระหนก
  • หวาดกลัว
  • โกรธ เกลียด และหงุดหงิด 
  • อยากหนีจากสถานการณ์นั้น

โดยเสียงที่กระตุ้นให้เกิดอาการเหล่านี้อาจเป็นเสียงที่เกิดจากพฤติกรรมของคนรอบตัว เช่น เสียงเคี้ยวและกลืนอาหารเสียงดัง เสียงกระแอมไอและสูดน้ำมูก เสียงหายใจ เสียงกัดฟัน เสียงกรน เสียงเคาะหรือย่ำเท้า บางคนอาจรู้สึกหงุดหงิดเมื่อได้ยินเสียงแป้นพิมพ์ เสียงกดปากกา เสียงพลิกหน้ากระดาษ เสียงแก้วกระทบกัน เสียงเข็มนาฬิกา หรือเสียงนกร้อง

นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคเกลียดเสียงบางคนอาจรู้สึกไม่สบายใจหรือหงุดหงิดเมื่อเห็นพฤติกรรมบางอย่างโดยไม่จำเป็นต้องได้ยินเสียง เช่น เห็นคนแกว่งเท้าไปมา ถูบริเวณจมูก ใช้นิ้วม้วนผมเล่น ควงปากกา ขยับปากในท่าเคี้ยวอาหาร โรคเกลียดเสียงจึงส่งผลกระทบต่อการเข้าสังคม ทำให้ต้องปลีกตัวมาอยู่ลำพังเพื่อหลีกเลี่ยงการได้ยินเสียงที่ทำให้ไม่สบายใจ

สาเหตุของโรคเกลียดเสียง

แม้จะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่นักวิจัยสันนิษฐานว่าโรคเกลียดเสียงอาจเกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบการได้ยินในระบบประสาทส่วนกลางที่ไวกว่าคนปกติ ซึ่งกระตุ้นให้เกิดความวิตกกังวลและการแสดงอารมณ์ต่อเสียงต่าง ๆ ที่ได้ยิน

โดยพบว่าผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-Compulsive Disorder) โรควิตกกังวล กลุ่มอาการทูเร็ตต์ (Tourette Syndrome) กลุ่มอาการผิดปกติด้านการกิน โรคสมาธิสั้น และอาการหูอื้อ (Tinnitus)  มีความเสี่ยงในการเกิดโรคเกลียดเสียงมากกว่าคนอื่น 

โรคเกลียดเสียงรักษาได้อย่างไร

การรักษาโรคเกลียดเสียงอาจใช้หลายวิธีร่วมกัน ดังนี้

1. การดูแลตัวเอง

ควรหาสถานที่ที่สงบ ไม่มีเสียงรบกวน และไม่มีคนอื่นอยู่ด้วย หากเจอคนที่ทำเสียงดังอาจขอให้เขาหยุดพฤติกรรมนั้นอย่างสุภาพ ทั้งนี้ ควรพกที่อุดหูหรือหูฟังที่สามารถตัดเสียงรบกวนติดตัวไว้ เพื่อช่วยลดการได้ยินเสียงที่ทำให้ไม่สบายใจ โดยอาจฟังเพลงสบาย ๆ หรือเสียงที่มีคลื่นความถี่สม่ำเสมอ (White Noise) ซึ่งช่วยให้ผ่อนคลายอย่างเสียงฝนตกและเสียงธรรมชาติ

นอกจากนี้ ควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรงด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ และผ่อนคลายความเครียด เช่น ฝึกลมหายใจ ซึ่งอาจช่วยปรับอารมณ์และลดอาการของโรคเกลียดเสียงได้

2. การใช้ยา

ในปัจจุบันยังไม่มีการใช้ยาเพื่อรักษาโรคเกลียดเสียงโดยตรง แต่ผู้ป่วยโรคเกลียดเสียงที่มีโรคประจำตัวอื่นร่วมด้วย เช่น โรควิตกกังวล โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคสมาธิสั้น และโรคซึมเศร้า แพทย์อาจให้ยาเพื่อรักษาโรคประจำตัวดังกล่าว

3. การบำบัด

นักจิตบำบัดจะช่วยให้ผู้ป่วยได้พูดคุยและรับคำแนะนำในการรับมือกับอาการที่เกิดจากโรคเกลียดเสียงได้อย่างเหมาะสม โดยการบำบัดที่อาจนำมาใช้รักษาโรคเกลียดเสียง ได้แก่ 

  • การบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy) ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจและจัดการความรู้สึกในเชิงลบที่เกิดจากการได้ยินเสียงได้อย่างเหมาะสม 
  • การบำบัดอาการหูอื้อ (Tinnitus Retraining Therapy) ผู้ที่มีอาการหูอื้ออาจได้ยินเสียงในหู การบำบัดจะช่วยลดการทำงานของเซลล์ประสาทที่เกี่ยวข้องกับการตอบสนองต่อเสียงที่ได้ยิน ทำให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตได้ดีขึ้น ในบางกรณีจึงได้นำวิธีบำบัดนี้มาใช้รักษาผู้ป่วยโรคเกลียดเสียง
  • กิจกรรมบำบัด (Occupational Therapy) เป็นการบำบัดโดยให้ผู้ป่วยได้ฟังเสียงต่าง ๆ ที่กระตุ้นให้เกิดอาการทีละน้อย ซึ่งจะช่วยให้สมองค่อย ๆ ปรับให้เกิดความเคยชินกับเสียงนั้น และสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ

โรคเกลียดเสียงเป็นโรคที่พบได้ยาก แต่อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก หากเข้ารับการบำบัดรักษาอย่างเหมาะสมกับนักจิตบำบัดและจิตแพทย์อาจช่วยให้ผู้ป่วยสามารถรับมือกับสภาวะอารมณ์ที่เกิดขึ้นจากโรค และช่วยให้ใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นได้ดี