พฤติกรรมซ้ำ ๆ สู่โรคย้ำคิดย้ำทำหรือโรค OCD

โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive–Compulsive Disorder หรือ OCD) เป็นความผิดปกติทางบุคลิกภาพชนิดหนึ่ง ผู้ที่ป่วยจะมีความคิดและการกระทำบางอย่างซ้ำไปซ้ำมาอย่างไม่สมเหตุสมผลและควบคุมไม่ได้ เพื่อบรรเทาอาการกังวลใจ ซึ่งอาการจะส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดความเครียด ความทุกข์ และมีปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน

โรคย้ำคิดย้ำทำสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย โดยทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดที่ส่งผลให้เกิดโรคนี้ แต่คาดว่าอาจมีความเกี่ยวข้องกับปัจจัยบางอย่าง เช่น การเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาทในสมอง พันธุกรรม สภาพแวดล้อม หรือเหตุการณ์ฝังใจที่เคยเผชิญในอดีต

ย้ำคิดย้ำทำ

พฤติกรรมแบบไหนเข้าข่ายโรคย้ำคิดย้ำทำ

โดยปกติแล้วพฤติกรรมย้ำคิดย้ำ เช่น การคิดทบทวนอะไรซ้ำไปซ้ำมาหลาย ๆ รอบในเรื่องที่กำลังกังวล หรือการทำอะไรซ้ำ ๆ เดิม ๆ จนกลายเป็นนิสัยหรือกิจวัตร มักถูกจัดเป็นเพียงส่วนหนึ่งของบุคลิกภาพเฉพาะบุคคลเท่านั้น ไม่ใช่โรคหรืออาการผิดปกติใด ๆ

แต่ลักษณะการคิดและการกระทำที่วกวนซ้ำ ๆ จนเกินพอดี และเริ่มก่อให้เกิดความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน ส่งผลกระทบต่อการทำงาน สังคม ความสัมพันธ์ สร้างความทุกข์ให้แก่ตนเองและบุคคลใกล้ชิด อาจเป็นสัญญาณสำคัญที่กำลังบ่งบอกว่าคุณกำลังเผชิญกับสภาวะของโรคย้ำคิดย้ำทำ 

โดยพฤติกรรมแสดงออกที่เป็นสัญญาณของโรคย้ำคิดย้ำทำสามารถแยกได้เป็น

อาการย้ำคิด

ความคิดและกระบวนการคิดที่ผิดไปจากปกติหรือมากเกินกว่าปกติ เช่น

  • เข้มงวด เจ้าระเบียบ ละเอียด นิยมความสมบูรณ์แบบ
  • กังวลมากเป็นพิเศษถ้าสิ่งของต่าง ๆ ไม่ได้วางอยู่ในที่ที่ควรจะเป็นหรืออยู่ในตำแหน่งเดิมเสมอ
  • กลัวเชื้อโรค กลัวติดเชื้อ กลัวสิ่งปนเปื้อน กลัวการสัมผัสกับสิ่งของหรือผู้คนโดยไม่ป้องกัน
  • หมกมุ่นอยู่กับความคิดที่ไม่เหมาะสมเรื่องเพศ ศีลธรรม เชื้อชาติ ศาสนา
  • จินตนาการภาพที่รุนแรงซึ่งทำให้เกิดความกลัวและความวิตกกังวลอยู่เสมอ
  • มีความคิดที่รุนแรงและอันตรายเกี่ยวกับการทำร้ายตัวเองหรือผู้อื่น

อาการย้ำทำ

การกระทำที่มากผิดปกติ เกินความจำเป็น และไม่สมเหตุสมผล เช่น

  • ล้างมือ หรือทำความสะอาดร่างกายอยู่เสมอและเป็นเวลานาน
  • จัดสิ่งของให้วางอยู่ในตำแหน่งเดิมเสมอ ไม่ให้แตกต่างจากจุดเดิม ไม่มองข้ามความแตกต่างแม้เพียงเล็กน้อย
  • คอยตรวจเช็กทุกอย่างให้เป็นระเบียบเสมอ หากเกี่ยวกับตัวเลขต้องนับทวนซ้ำ ๆ
  • วิตกกังวลอย่างมากเมื่อต้องออกจากบ้าน พะวงเรื่องการปิดหน้าต่าง ประตู น้ำ ไฟหรือเตาแก๊ส จนต้องกลับมาเช็กซ้ำหลาย ๆ รอบ
  • มักจะพูดซ้ำ ๆ พูดทวนกับตัวเองหลาย ๆ รอบ

เนื่องจากอาการของโรคย้ำคิดย้ำทำในข้างต้นมีความคล้ายคลึงกับภาวะบุคลิกภาพผิดปกติชนิดย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-Compulsive Personality Disorder: OCPD) อย่างอาการยึดติดกับความเป็นระเบียบและความสมบูรณ์แบบอย่างรุนแรง หลายคนจึงอาจเข้าใจว่าโรคย้ำคิดย้ำทำกับภาวะบุคลิกภาพผิดปกติชนิดย้ำคิดย้ำทำเป็นโรคชนิดเดียวกัน

ในความเป็นจริงแล้ว ทั้งสองโรคนี้มีความแตกต่างกัน โดยผู้ป่วยโรคย้ำคิดย้ำทำจะมีความรู้สึกว่าอาการที่เกิดขึ้นนั้นเป็นสิ่งผิดปกติและไม่สมเหตุสมผล แต่ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ในขณะที่ผู้ป่วยภาวะบุคลิกภาพผิดปกติชนิดย้ำคิดย้ำทำจะไม่รู้สึกว่าอาการที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งผิดปกติที่ต้องได้รับการรักษาแต่อย่างใด

โรคย้ำคิดย้ำทำ รักษาอย่างไร

โรคย้ำคิดย้ำทำเป็นโรคที่เกิดขึ้นอย่างเรื้อรังและอาจมีความรุนแรงขึ้นได้ ในบางกรณีอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากพฤติกรรมและความคิดที่ไม่เหมาะสม เช่น เกิดการเจ็บป่วยหรือบาดแผลจากการล้างมือตลอดเวลา มีความคิดอยากทำร้ายตัวเองและผู้อื่น หรือมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย หากคนใกล้ตัวหรือตนเองมีอาการดังที่กล่าวมาข้างต้น ควรให้คำแนะนำหรือพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ 

สำหรับการรักษา แพทย์ใช้ 2 วิธีหลัก ๆ คือ วิธีจิตบำบัด (Psychotherapy) และการรักษาด้วยยา เพื่อช่วยควบคุมกระบวนการคิดที่ผิดปกติไปของผู้ป่วย ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะใช้ทั้งสองวิธีควบคู่กัน แต่ชนิดของยาและการบำบัดจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ ความเหมาะสมของผู้ป่วย และดุลยพินิจของแพทย์

โดยจากงานวิจัยพบว่า ผู้ป่วยกว่าร้อยละ 80 ที่เข้ารับการรักษาด้วยการทำพฤติกรรมบำบัดร่วมกับการใช้ยา มีพฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำลดลงถึง 43% หลังเข้ารับการบำบัด เมื่อเทียบกับการบำบัดแบบการใช้ยารักษาเพียงอย่างเดียว

นอกจากการรักษาโดยแพทย์แล้ว บุคคลใกล้ชิดก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการรักษาผู้ป่วยโรคย้ำคิดย้ำทำเช่นกัน โดยแพทย์จะแนะนำให้คนใกล้ชิดคอยติดตามอาการของผู้ป่วย และไม่จำเป็นต้องช่วยเหลือเมื่อผู้ป่วยเกิดอาการขึ้นมา แต่ให้หลีกเลี่ยงการดุด่าว่ากล่าว เพื่อป้องกันผู้ป่วยเกิดความเครียดและความกดดัน ซึ่งอาจส่งผลให้อาการแย่ลงได้