กระดูกสันหลังคด

ความหมาย กระดูกสันหลังคด

กระดูกสันหลังคด (Scoliosis) คือ การคดงอของกระดูกสันหลัง หรือมีลักษณะบิดเบี้ยวไปด้านข้าง ทำให้เสียสมดุลและไม่สวยงาม ซึ่งเกิดขึ้นได้กับทุกวัย แต่ส่วนใหญ่แล้วมักเกิดขึ้นกับเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 10-15 ปี โดยทั่วไปหากอาการไม่รุนแรงมักไม่ต้องเข้ารับการรักษา แต่หากกระดูกสันหลังคดมาก อาจทำให้มีอาการปวดหลัง หรือรู้สึกเหนื่อยง่ายได้ แพทย์จึงอาจแนะนำให้ผู้ป่วยใส่เสื้อเกราะดัดหลัง (Brace) หรือเข้ารับการผ่าตัดเพื่อรักษาอาการ ซึ่งขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการคดงอและความเสี่ยงที่อาจส่งผลให้อาการย่ำแย่ลงในแต่ละคน

กระดูกสันหลังคด

อาการของกระดูกสันหลังคด

ความรุนแรงและอาการของกระดูกสันหลังคดแตกต่างกันไปในแต่ละคน ในเด็ก ผู้ปกครองมักเริ่มต้นสังเกตเห็นว่าไหล่ทั้ง 2 ข้างของผู้ป่วยไม่เท่ากัน แผ่นหลังหรือหน้าออกนูนไม่เท่ากัน และอาจสังเกตเห็นได้ชัดเจนเมื่ออาการรุนแรงขึ้น ทั้งนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีทั้งอาการกระดูกสันหลังคดและบิดงอ ลักษณะของโรคกระดูกสันหลังคดที่พบบ่อยมีดังต่อไปนี้

  • สามารถมองเห็นความคดงอของกระดูกสันหลังได้อย่างชัดเจน
  • ลำตัวเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง
  • สะโพกหรือหัวไหล่ 2 ข้างไม่เท่ากัน
  • ซี่โครงหรือหน้าอกด้านใดด้านหนึ่งอาจยื่นออกมาด้านหน้า

โดยทั่วไปแล้ว กระดูกสันหลังคดมักมีผลกระทบเพียงเล็กน้อย ได้แก่ การปวดหลัง ปวดท้อง กล้ามเนื้อหดตัว (Muscle Spasms) หรือเจ็บซี่โครง เป็นต้น แต่ในกรณีที่มีอาการรุนแรงอาจส่งผลต่อการทำงานของหัวใจและปอด เช่น เจ็บหน้าอกหรือหายใจติดขัด ผู้ป่วยจึงควรเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างถูกต้อง

สาเหตุของกระดูกสันหลังคด

กระดูกสันหลังคดเป็นโรคที่พบได้บ่อยในเพศหญิงหรือคิดเป็นร้อยละ 2 ของผู้หญิงและร้อยละ 0.5 ของผู้ชาย ผู้ป่วยกว่าร้อยละ 80 เป็นโรคกระดูกสันหลังคดโดยไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic) ซึ่งพบมากในเด็กหญิง วัยรุ่น และมักมีกระดูกสันหลังคดที่กระดูกสันหลังส่วนอก (Thoracic Spine) สาเหตุของการเกิดกระดูกสันหลังคดแบ่งได้ 3 ประเภท ดังนี้

  • การทำงานของร่างกาย กระดูกสันหลังมีลักษณะปกติ แต่อาจเกิดการคดงอขึ้นจากส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ในผู้ที่มีขายาวไม่เท่ากัน หรือมีภาวะกล้ามเนื้อหดตัว (Muscle Spasms) ที่บริเวณหลัง เป็นต้น
  • ระบบประสาท สาเหตุนี้เกิดขึ้นจากระบบประสาทและส่งผลต่อปัญหากระดูกสันหลังโดยตรง มักมีความรุนแรงและจำเป็นต้องเข้ารับการรักษา ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีลักษณะกระดูกคดงอคล้ายตัวอักษร C ในภาษาอังกฤษประกอบกับอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยอาจเกิดจากความไม่สมบูรณ์ของการเจริญเติบโตของกระดูกระหว่างอยู่ในครรภ์ หรืออาการกระดูกสันหลังคดโดยกำเนิด (Congenital Scoliosis) ซึ่งมักเกิดขึ้นร่วมกับความผิดปกติอื่น ๆ เช่น ความพิการแต่กำเนิด โรคสมองพิการ (Cerebral Palsy) โรคกล้ามเนื้อเสื่อม (Muscular Dystrophy) หรือกลุ่มอาการมาร์แฟน (Marfan Syndrome) ซึ่งเป็นโรคระบบเนื้อเยื่อผิดปกติที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม
  • การเสื่อมสภาพของร่างกาย กระดูกสันหลังคดจากการเสื่อมสภาพของร่างกายมักเกิดขึ้นในผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุจากการเปลี่ยนแปลงของกระดูกสันหลัง เช่น ในผู้ที่มีโรคข้ออักเสบ (Arthritis) หรือโรคกระดูกเสื่อม (Spondylosis) ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติของเอ็น เนื้อเยื่อ การเจริญเติบโตของกระดูก การเสื่อมสภาพของหมอนรองกระดูกสันหลัง (Disc Degeneration) โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) หรือภาวะกระดูกสันหลังยุบตัว (Vertebral Compression Fractures) จึงทำให้เกิดการคดงอได้

 

สาเหตุอื่น ๆ ที่อาจทำให้กระดูกสันหลังคด ได้แก่ การบาดเจ็บหรือการติดเชื้อที่กระดูกสันหลัง หรือเนื้องอกบริเวณกระดูกสันหลัง เช่น Osteoid Osteoma ซึ่งเป็นเนื้องอกที่ไม่เป็นอันตราย (Benign Tumor) แต่อาจทำให้กระดูกสันหลังบิดตัวและเกิดความเจ็บปวดได้ ผู้ป่วยจึงมักเอนตัวไปอีกข้างหนึ่งเพื่อลดอาการปวด นอกจากนี้ พันธุกรรม ความผิดปกติเกี่ยวกับกล้ามเนื้อและ/หรือการสร้างความแข็งแรงของเนื้อเยื่อในระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ (Abnormal Fibrillin Metabolism) อาจเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดอาการกระดูกสันหลังคดได้

ปัจจัยเสี่ยงของกระดูกสันหลังคด

ปัจจัยทั่วไปที่มักก่อให้เกิดอาการกระดูกสันหลังคด ได้แก่

  • อายุ สัญญาณและอาการต่าง ๆ มักเกิดขึ้นในช่วงอายุที่มีการเติบโต เช่น ในช่วงวัยรุ่น
  • เพศ กระดูกสันหลังคดเกิดขึ้นกับเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และจำเป็นต้องเข้ารับการรักษา เนื่องจากอาจมีอาการที่รุนแรงกว่าในเพศชาย
  • ประวัติครอบครัว กระดูกสันหลังมักเกิดขึ้นในครอบครัวที่มีประวัติกระดูกสันหลังคด แต่อาจเกิดขึ้นได้ในครอบครัวที่ไม่มีประวัติของอาการเช่นกัน

การวินิจฉัยอาการกระดูกสันหลังคด

หากสงสัยว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดมีอาการกระดูกสันหลังคด ควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัย แพทย์มักเริ่มต้นจากการสอบถามประวัติอาการกระดูกสันหลังคดในครอบครัว ความเจ็บปวด หรือปัญหาทางการแพทย์ต่าง ๆ จากนั้นจะเริ่มตรวจกระดูกสันหลังจากด้านข้าง ด้านหน้า และด้านหลัง โดยอาจขอให้ผู้ป่วยก้มตัวแตะนิ้วเท้า ซึ่งจะช่วยให้แพทย์เห็นความคดงอของกระดูกสันหลังและความสมมาตรของร่างกายได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และตรวจดูระดับของสะโพกและหัวไหล่ ความเอนเอียงของร่างกาย ความแข็งแรงและปฏิกิริยาของกล้ามเนื้อ การเคลื่อนไหว และการคดงอของกระดูก เป็นต้น

หากแพทย์เชื่อว่าผู้ป่วยมีอาการกระดูกสันหลังคด ผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการวินิจฉัยเพิ่มเติม เช่น การเอกซเรย์หลัง (X-Ray) การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือการสร้างภาพอวัยวะด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อประเมินความคดงอของกระดูกและวิธีการรักษาที่เหมาะสม ทั้งนี้ การเอกซเรย์บริเวณแขน เอว หรือกระดูกเชิงกรานยังช่วยให้แพทย์สามารถประเมินถึงการเจริญเติบโตของร่างกายผู้ป่วยและการเปลี่ยนแปลงของไขสันหลังที่อาจเกิดขึ้นได้อีกด้วย

การรักษาอาการกระดูกสันหลังคด

ผู้ป่วยเด็กที่มีอาการกระดูกสันหลังคดเพียงเล็กน้อยอาจไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัดหรือการใส่เสื้อเกราะดัดหลัง (Brace) แต่อาจต้องเข้าพบแพทย์ทุก ๆ 4-6 เดือนเพื่อตรวจดูการเปลี่ยนแปลงของกระดูกสันหลัง และประเมินวิธีการรักษาได้อย่างเหมาะสมหากอาการรุนแรงขึ้น การรักษามักขึ้นอยู่กับปัจจัยต่อไปนี้

  • เพศ ความเสี่ยงในการพัฒนาของโรคมักเกิดขึ้นในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
  • ลักษณะ การคดงอของกระดูกที่เป็นคลื่นคล้ายตัวอักษร S ในภาษาอังกฤษมักมีความรุนแรงมากกว่าลักษณะที่คล้ายกับตัวอักษร C
  • ตำแหน่ง การคดงอที่เกิดขึ้นในกระดูกสันหลังช่วงอก (Thoracic) อาจรุนแรงกว่าการคดงอในช่วงคอหรือเอว
  • การเจริญเติบโต การเจริญเติบโตส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของการคดงอ ผู้ป่วยเด็กบางรายจึงอาจจำเป็นต้องใส่เสื้อเกราะ (Brace) เพื่อช่วยพยุงกระดูกสันหลังที่กำลังเจริญเติบโต
  • ความรุนแรง การคดงอมักเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาของอาการ

ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งอาจมีทั้งวิธีบรรเทาอาการเบื้องต้นที่ผู้ป่วยทำได้เอง หรืออาจเป็นวิธีการรักษาทางการแพทย์ เช่น

การรักษาด้วยตนเอง

  • การนวด กายภาพบำบัด การยืดเส้น การออกกำลังกายบางประเภท เพื่อสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบ ๆ กระดูกสันหลัง
  • การใช้ยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล เพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อมีอาการ

การรักษาด้วยกระบวนการทางการแพทย์

  • การใส่เสื้อเกราะดัดหลัง (Brace)

แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยเด็กที่ยังมีการเจริญเติบโตของกระดูก หรือมีอาการกระดูกสันหลังคดในระดับปานกลางสวมเสื้อเกราะดัดหลัง (Brace) ซึ่งแม้จะรักษาอาการกระดูกสันหลังคดไม่ได้ แต่จะช่วยป้องกันกระดูกไม่ให้เกิดความคดงอมากขึ้น

เสื้อเกราะดัดหลังมักทำจากพลาสติกและมีส่วนโค้งเว้ารับกับร่างกายผู้ป่วยบริเวณแขน ซี่โครง บริเวณหลังช่วงล่าง และสะโพก ทั้งยังแนบสนิทไปกับร่างกาย จึงสามารถใส่ไว้ภายใต้เสื้อผ้าโดยที่ผู้อื่นไม่สังเกตเห็นได้

ผู้ป่วยมักใส่เสื้อเกราะดัดหลังทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน เนื่องจากประสิทธิภาพของเสื้อเกราะขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการสวมใส่ กรณีการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การเล่นกีฬา หรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับร่างกาย ผู้ป่วยสามารถเลือกที่จะสวมใส่หรือถอดเสื้อเกราะได้เช่นกัน ผู้ป่วยหยุดใช้เสื้อเกราะได้หลังจากการเจริญเติบโตของกระดูกสิ้นสุดลง ซึ่งสังเกตได้ดังนี้

  • ภายหลังการมีประจำเดือนเป็นเวลา 2 ปี
  • เมื่อมีขนขึ้นตามบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย
  • เมื่อส่วนสูงคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง
  • การผ่าตัด

อาการกระดูกสันหลังคดที่รุนแรงมักเกิดขึ้นตามระยะเวลาของอาการ แพทย์อาจจำเป็นต้องใช้การรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อลดการคดงอของกระดูกและป้องกันอาการรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น วิธีการผ่าตัดกระดูกสันหลังคดที่เป็นที่นิยมคือการเชื่อมข้อกระดูกสันหลัง (Spinal Fusion) ศัลยแพทย์จะยึดกระดูกชิ้นเล็ก ๆ เข้ากับแนวกระดูกสันหลัง โดยใช้ชิ้นส่วนกระดูกหรือวัสดุที่คล้ายคลึงกับกระดูก เหล็กดาม ตะขอ และน็อต เพื่อตรึงไว้ด้วยกัน ในผู้ป่วยเด็ก ศัลยแพทย์จะปรับเปลี่ยนความยาวของแนวยึดตามการเปลี่ยนแปลงของการเจริญเติบโตและการคดงอของกระดูกทุก ๆ 6 เดือน

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่าตัดอาจได้แก่ เลือดออก ความเจ็บปวด การติดเชื้อ หรือความเสียหายของเส้นประสาท การผ่าตัดมักส่งผลดีต่ออาการของผู้ป่วย แต่อาจยังต้องเข้ารับการผ่าตัดอื่น ๆ เพิ่มเติมหากจำเป็น

  • การรักษาตามสาเหตุที่ทำให้กระดูกสันหลังคด

กระดูกสันหลังคดบางชนิดอาจมีสาเหตุจากความผิดปกติในระบบประสาทไขสันหลัง การติดเชื้อ หรือมีเนื้องอกของกระดูก เมื่อรักษาที่ต้นเหตุแล้ว ความคดงอของกระดูกก็อาจหายดีขึ้นได้

ภาวะแทรกซ้อนของอาการกระดูกสันหลังคด

อาการกระดูกสันหลังคดโดยส่วนใหญ่แล้วมักไม่รุนแรง แต่ในบางกรณีอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น

  • ความเสียหายของปอดและหัวใจ กระดูกสันหลังคดแบบรุนแรงอาจส่งผลให้ซี่โครงต่ำลง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อปอดและหัวใจ ทำให้เกิดภาวะหายใจลำบากหรือขัดขวางการสูบฉีดเลือดของหัวใจ
  • ปัญหาบริเวณหลัง ผู้ใหญ่ที่มีอาการกระดูกสันหลังคดตั้งแต่ในวัยเด็ก มักมีแนวโน้มที่จะเกิดอาการปวดหลังเรื้อรังมากกว่าผู้อื่น
  • ภาพลักษณ์ เมื่ออาการกระดูกสันหลังคดรุนแรงขึ้น รูปลักษณ์ของผู้ป่วยอาจเปลี่ยนแปลง ซึ่งส่งผลต่อความมั่นใจ เช่น สะโพกและหัวไหล่ 2 ข้างอยู่ในระดับต่างกัน ซี่โครงยื่น รอบเอวและลำตัวด้านข้างต่างไปจากเดิม ผู้ป่วยจึงต้องสังเกตรูปร่างของตนเองอยู่เสมอ

การป้องกันอาการกระดูกสันหลังคด

  • แม้ท่าทางในการนั่งหรือยืนจะไม่ส่งผลให้กระดูกสันหลังคด แต่อาจทำให้กระดูกเอนตัวได้ หรือมีอาการตัวเอียงคล้ายกับการยืนพิงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
  • ผู้ป่วยเด็กที่มีประวัติกระดูกสันหลังคดควรพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอเพื่อเข้ารับการวินิจฉัย เนื่องจากอาจมีอาการกระดูกสันหลังคดที่รุนแรงมากขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงวัยผู้ใหญ่
  • การออกกำลังกายบางประเภทอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการแย่ลงได้ เช่น โยคะ พีลาทิส หรือกิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหวหรือส่งผลต่อการบิดแนวกระดูกสันหลัง การเล่นยิมนาสติก การสะพายกระเป๋าเป้เพียงข้างเดียว หรือการใช้แทรมโปลีนในการออกกำลังกาย