สังเกตอาการกระดูกสันหลังคด รักษาก่อนสายไม่อันตรายอย่างที่คิด

กระดูกสันหลังคดคืออาการที่กระดูกสันหลังมีการโค้งงอแบบผิดปกติ มักพบในช่วงวัยที่กำลังเจริญเติบโตอย่างวัยเด็กหรือวัยรุ่น แต่วัยผู้ใหญ่ก็พบได้เช่นกัน กระดูกสันหลังคดอาจเป็นโดยกำเนิดจากกรรมพันธุ์หรืออาจเกิดขึ้นในภายหลังจากการเสื่อมของหมอนรองกระดูก เช่น โรคข้อต่ออักเสบหรือโรคกระดูกพรุน แต่กรณีส่วนใหญ่ของภาวะนี้มักจะไม่ทราบสาเหตุ

ภาวะกระดูกสันหลังคดส่วนใหญ่มักไม่รุนแรง จึงอาจไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา แต่บางกรณีหากปล่อยไว้โดยไม่รักษาก็อาจนำไปสู่การเกิดปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงอื่น ๆ ได้ โดยเฉพาะในผู้หญิงซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่อาการมีจะรุนแรงขึ้นจนจำเป็นต้องได้รับการรักษา 

สังเกตอาการกระดูกสันหลังคด รักษาก่อนสายไม่อันตรายอย่างที่คิด

อาการที่อาจเป็นสัญญาณของกระดูกสันหลังคด

คนที่มีภาวะกระดูกสันหลังคดอาจแสดงอาการแตกต่างกันไป แต่อาการที่มักพบได้คือ

  • ศีรษะและลำตัวไม่อยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกัน
  • หัวไหล่หรือเอวด้านซ้ายและด้านขวาไม่เท่ากัน หัวไหล่หรือเอวข้างหนึ่งจะดูสูงกว่าอีกข้างหนึ่ง
  • กระดูกซี่โครงข้างหนึ่งยื่นออกมามากกว่าปกติจากการที่กระดูกสันหลังคดหรือบิดตัว 
  • เมื่อยืนตัวตรง ระดับของแขนที่ห้อยอยู่ข้างลำตัวทั้งสองข้างจะไม่เท่ากัน
  • เมื่อก้มตัวไปข้างหน้า ความสูงของแผ่นหลัง 2 ฝั่งจะไม่เท่ากัน
  • เมื่อยืนตัวตรงแล้วก้มตัวให้นิ้วมือแตะปลายเท้า อาจเห็นว่ากระดูกสันหลังมีรูปทรงโค้งเหมือนตัวอักษร C หรือ S อย่างเห็นได้ชัด

นอกจากนี้ ยังมีอาการทั่วไปอื่น ๆ ที่อาจเป็นสัญญาณของภาวะกระดูกสันหลังคดแต่ผู้ป่วยมักไม่ค่อยรู้ตัวเนื่องจากคิดว่าเป็นอาการเกิดขึ้นจากสาเหตุอื่นที่ไม่รุนแรงและไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เช่น

  • มีอาการปวดหลัง ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรคข้ออักเสบ หรือเกิดจากกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวอ่อนแรงจนส่งผลให้ไม่สามารถยืนตัวตรงได้
  • มีอาการปวดขา ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้หากมีภาวะกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาทในส่วนเอวร่วมด้วย
  • มีปัญหาการหายใจเนื่องจากพื้นที่ในช่องอกลดลง
  • มีพฤติกรรมการขับถ่ายที่เปลี่ยนแปลงไป

อย่างไรก็ตาม หากสังเกตเห็นว่ากระดูกสันหลังมีรูปทรงโค้งงอมากกว่า 10 องศา โดยเฉพาะในเด็กที่อายุน้อยกว่า 10 ปี รวมถึงมีอาการปวดหลังที่ผิดปกติหรือมีอาการเกี่ยวกับระบบประสาท เช่น มีอาการชา หรือมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ ควรไปพบแพทย์

การรักษากระดูกสันหลังคด

การรักษาภาวะกระดูกสันหลังคดนั้นจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงของความโค้ง สาเหตุของการเกิดภาวะ ช่วงวัยซึ่งเกี่ยวข้องกับแนวโน้มการเจริญเติบโตของกระดูกสันหลัง รวมถึงเพศของผู้ป่วยด้วย

กรณีที่มีอาการไม่รุนแรง แพทย์อาจใช้วิธีสังเกตอาการโดยการนัดเอกซเรย์ (X-Ray) เพื่อตรวจสอบความโค้งของกระดูกสันหลังอยู่เสมอว่ามีแนวโน้มที่อาการจะแย่ลงหรือไม่ หากอาการกระดูกสันหลังคดมีแนวโน้มที่จะแย่ลง การรักษาจะมีอยู่ 2 วิธีหลัก ดังนี้

การใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงหลัง (Braces)

การใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงหลังจะใช้รักษาในกรณีของเด็กที่กระดูกสันหลังยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ อุปกรณ์ช่วยพยุงหลังส่วนใหญ่มักเป็นแผ่นพลาสติกที่มีรูปทรงโค้งรับกับสรีระร่างกาย ใช้สวมใส่เพื่อดามแผ่นหลังเอาไว้ โดยอุปกรณ์นี้จะไม่ช่วยดัดกระดูกสันหลังให้กลับมาตรงเหมือนเดิม แต่จะช่วยป้องกันไม่ให้กระดูกสันหลังโค้งไปมากกว่าเดิม

แพทย์จะแนะนำให้ใส่อุปกรณ์ช่วยพยุงหลังประมาณ 16–23 ชั่วโมงต่อวัน เนื่องจากประสิทธิภาพของการรักษาจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนชั่วโมงที่ใส่ และผู้ป่วยจำเป็นต้องใส่อุปกรณ์ช่วยพยุงหลังไปจนถึงช่วงวัยที่หยุดการเจริญเติบโต ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วเพศหญิงจะหยุดการเจริญเติบโตเมื่ออายุ 14 ปี และเพศชายจะหยุดการเจริญเติบโตเมื่ออายุ 16 ปี

การผ่าตัด 

การผ่าตัดจะใช้รักษาในกรณีที่การรักษาแบบอื่นไม่ได้ผล กระดูกสันหลังมีความโค้งมากกว่า 45 องศาในผู้ที่ยังไม่หยุดการเจริญเติบโต กระดูกสันหลังมีความโค้งมากกว่า 50–55 องศาในผู้ที่หยุดการเจริญเติบโตแล้ว โดยวิธีผ่าตัดนั้นจะแตกต่างกันออกไปตามเงื่อนไขสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละคน

การผ่าตัดจะช่วยให้ส่วนของกระดูกสันหลังที่เคยโค้งตรงขึ้นและช่วยป้องกันไม่ให้ความโค้งเพิ่มมากกว่าเดิม แต่การผ่าตัดก็อาจนำไปสู่การเกิดภาวะแทรกซ้อนบางประการได้ เช่น ติดเชื้อhttps://www.pobpad.com/แผลติดเชื้อ เกิดภาวะเลือดออกมากเกินไป เส้นประสาทได้รับความเสียหาย ไปจนถึงล้มเหลวในการรักษา

แม้ว่าการรักษาและการติดตามอาการของภาวะกระดูกสันหลังคดอาจต้องใช้เวลานานตลอดชีวิต และในปัจจุบันก็ยังไม่มีวิธีที่จะสามารถป้องกันการเกิดภาวะนี้ได้ อย่างไรก็ตาม ควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติอยู่เสมอ และหากมีสัญญาณของภาวะกระดูกสันหลังคดควรไปพบแพทย์ เพราะการรักษาภาวะกระดูกสันหลังคดตั้งแต่ระยะแรกอาจส่งผลให้การรักษามีประสิทธิภาพสูงที่สุด