กระดูกสันหลังคดในเด็ก เรื่องที่พ่อแม่ควรระวัง

กระดูกสันหลังคดพบมากในเด็กและวัยรุ่น แต่มักคดไม่มากและไม่ทำให้รู้สึกเจ็บ แต่พ่อแม่ควรพาเด็กที่มีกระดูกสันหลังคดไปพบแพทย์เพื่อติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอ เด็กบางรายอาจต้องใส่อุปกรณ์พยุงหลังหรือเข้ารับการผ่าตัดในกรณีที่มีอาการรุนแรง นอกจากนี้ พ่อแม่ควรหมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลงของลักษณะกระดูกสันหลังของเด็กและคอยดูแลอาการอย่างใกล้ชิด

กระดูกสันหลังคด

กระดูกสันหลังคดในเด็กแตกต่างจากวัยอื่นอย่างไร

ส่วนใหญ่แล้ว กระดูกสันหลังคดมักพบได้ในเด็กอายุ 10 ปีขึ้นไป ส่งผลให้เด็กมีระดับหัวไหล่หรือเอวทั้ง 2 ข้างไม่เท่ากัน บางรายอาจมีไหล่ ซี่โครง หรือสะโพกข้างใดข้างหนึ่งยื่นออกมามากเกินไป โดยเด็กผู้หญิงจะเสี่ยงเกิดกระดูกสันหลังคดอย่างรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษามากกว่าเด็กผู้ชาย ทั้งนี้ หากบุคคลในครอบครัวหรือญาติพี่น้องมีประวัติป่วยเป็นกระดูกสันหลังคด ควรพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจ เนื่องจากเป็นปัญหาสุขภาพที่อาจถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้

กระดูกสันหลังคดในเด็กเกิดจากอะไร

ภาวกระดูกสันหลังคดในเด็กเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ ซึ่งแบ่งตามประเภทของกระดูกสันหลังคดออกเป็น 3 ลักษณะ ได้แก่ กระดูกสันหลังคดที่ไม่ทราบสาเหตุ กระดูกสันหลังคดแต่กำเนิด และกระดูกสันหลังคดจากปัญหาสุขภาพอื่น ดังนี้

  • กระดูกสันหลังคดที่ไม่ทราบสาเหตุ เป็นชนิดที่พบได้มากที่สุดในเด็ก ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นเมื่อใกล้เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ โดยไม่ปรากฏสาเหตุการเกิดที่ชัดเจน แต่พบว่าอาจถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้
  • กระดูกสันหลังคดแต่กำเนิด คือความผิดปกติของกระดูกสันหลังที่เกิดขึ้นตั้งแต่อยู่ในครรภ์ มักสังเกตอาการและลักษณะที่คดของกระดูกสันหลังได้ชัดเจนเมื่อเด็กอายุ 2 ปี หรือในช่วงอายุระหว่าง 8-13 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่เด็กมีพัฒนาการและการเจริญเติบโตทางร่างกายอย่างรวดเร็ว
  • กระดูกสันหลังคดจากปัญหาสุขภาพอื่น มีสาเหตุมาจากโรคที่ส่งผลต่อระบบกล้ามเนื้อหรือกระดูก เด็กที่มีปัญหาสุขภาพในด้านนี้เป็นเวลานานอาจเกิดกระดูกสันหลังคดได้ เช่น โรคกล้ามเนื้อฝ่อ โรคสมองพิการ มาร์แฟนซินโดรม (Marfan Syndrome) โรคกระดูกเปราะกรรมพันธุ์ เนื้องอกที่กระดูกสันหลัง เป็นต้น

รักษากระดูกสันหลังคดในเด็กได้อย่างไร

โดยทั่วไปแล้ว ผู้ป่วยกระดูกสันหลังคดที่มีอาการไม่รุนแรงนั้นไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์ แต่ในรายที่รุนแรง แพทย์อาจแนะนำให้รักษาด้วยวิธีต่าง ๆ และหากอาการไม่ดีขึ้น อาจต้องเข้ารับการผ่าตัด การรักษาโรคกระดูกสันหลังคดในเด็กมีหลายวิธี ดังนี้

  • ติดตามอาการ เด็กเล็กที่มีกระดูกสันหลังคดไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา เนื่องจากกระดูกสันหลังจะเหยียดตรงได้เมื่อเด็กโตขึ้น อย่างไรก็ตาม แพทย์จะติดตามอาการในกรณีที่เมื่อโตขึ้นแล้วกระดูกสันหลังยังไม่อยู่ในแนวตรง เนื่องจากอาจส่งผลให้อวัยวะภายในร่างกายเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ โดยอาจตรวจร่างกายและเอกซเรย์ดูลักษณะความคดของกระดูก เพื่อประกอบการตัดสินใจว่าควรให้เข้ารับการรักษาหรือไม่ ส่วนเด็กโตที่มีอาการไม่รุนแรงมากอาจเข้ารับการตรวจเพื่อติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอ โดยไม่ต้องรักษาด้วยวิธีอื่นหากอาการไม่แย่ลง
  • ใส่เฝือก ผู้ป่วยวัยทารกหรืออยู่ในวัยหัดเดินอาจใส่เฝือกเพื่อช่วยให้กระดูกสันหลังกลับมาอยู่ในแนวตรง โดยต้องใส่เฝือกไว้ตลอด และเปลี่ยนเฝือกใหม่ทุก 2-3 เดือน หรือเปลี่ยนไปใส่อุปกรณ์ช่วยพยุงหลังเมื่อโตขึ้น
  • ใส่อุปกรณ์ช่วยพยุงหลัง หากอาการกระดูกสันหลังคดแย่ลง เด็กอาจต้องใส่อุปกรณ์พยุงหลังเมื่อเริ่มโตขึ้น เพื่อให้อาการป่วยคงตัว โดยจำเป็นต้องใส่วันละ 23 ชั่วโมง และถอดออกเมื่ออาบน้ำ ว่ายน้ำ หรือเล่นกีฬาอื่น ๆ เด็กส่วนใหญ่จะเลิกใส่อุปกรณ์ช่วยพยุงหลังได้เมื่อร่างกายเจริญเติบโตเต็มที่แล้วหรืออายุประมาณ 16-17 ปี แต่วิธีนี้ไม่ได้ช่วยให้กระดูกสันหลังตรงได้
  • ผ่าตัด ผู้ป่วยที่อาการไม่ดีขึ้นหลังรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ หรือมีอาการแย่ลงกว่าเดิมอาจต้องเข้ารับการผ่าตัด โดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วงอายุ ดังนี้
    • เด็กเล็ก ผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 10 ปี จะได้รับการผ่าตัดสอดแท่งเหล็กดามกระดูกสันหลัง เพื่อช่วยให้กระดูกไม่คดเมื่อโตขึ้น และต้องไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อปรับความยาวของแท่งเหล็กให้เท่ากับกระดูกสันหลังที่เติบโตขึ้น รวมทั้งใส่อุปกรณ์ช่วยพยุงเพื่อป้องกันหลัง เมื่อเด็กโตเต็มที่แล้ว แพทย์จะนำแท่งเหล็กออกและผ่าตัดกระดูกสันหลังให้ตรง
    • วัยรุ่นหรือเด็กโต แพทย์จะผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังโดยใช้แท่งเหล็กหรือเส้นลวดมาประกอบกับกระดูกจากส่วนอื่นในร่างกาย เพื่อยึดให้กระดูกสันหลังตั้งตรง และใส่ไว้อย่างถาวร ผู้ป่วยที่ผ่าตัดมักต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลประมาณ 1 สัปดาห์ และพักฟื้นร่างกายจนกว่าจะกลับไปทำกิจกรรมได้ตามปกติ ใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือนขึ้นไป ระหว่างนี้อาจต้องใส่อุปกรณ์ช่วยพยุงหลังเพื่อป้องกันหลังกระแทกด้วย ทั้งนี้ การผ่าตัดกระดูกสันหลังคดอาจเสี่ยงทำให้ผู้ป่วยมีเลือดออก เกิดแผลติดเชื้อ แท่งเหล็กเคลื่อนจากตำแหน่ง หรือเส้นประสาทที่กระดูกสันหลังถูกทำลายได้ พ่อแม่จึงควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับความเสี่ยงก่อนตัดสินใจให้เด็กเข้ารับการผ่าตัด
  • ออกกำลังกาย เด็กที่มีกระดูกสันหลังคดสามารถออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายได้ตามปกติ โดยการออกกำลังกายเป็นประจำช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและลดอาการปวดหลังได้ ทั้งนี้ อาจปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับกิจกรรมที่ทำได้และกิจกรรมที่ควรเลี่ยง

กระดูกสันหลังคดในเด็กควรดูแลอย่างไร

นอกจากการรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์ พ่อแม่ควรดูแลเด็กที่ป่วยเป็นโรคกระดูกสันหลังคดอย่างเหมาะสมเพื่อช่วยบรรเทาและป้องกันไม่ให้อาการป่วยของเด็กแย่ลง วิธีการดูแลทำได้ดังนี้

  • ดูแลเรื่องยา พ่อแม่ควรดูแลการกินยาของเด็กอย่างละเอียด โดยดูว่าเด็กต้องรับประทานยาอะไรบ้าง ยาแต่ละชนิดรักษาอาการใด ต้องกินในปริมาณเท่าไร และรับประทานอย่างไร เมื่อต้องไปพบแพทย์ตามนัดหรือในกรณีฉุกเฉิน ควรนำตัวอย่างยาพกติดตัวเสมอ
  • ให้กินยาตามแพทย์สั่ง ควรจัดยาให้เด็กรับประทานตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด รวมทั้งปรึกษาแพทย์ในกรณีที่คิดว่าอาการไม่ดีขึ้น เด็กมีอาการแพ้ยา ต้องการหยุดหรือเปลี่ยนปริมาณยา นอกจากนี้ ไม่ควรให้เด็กกินยาที่หมดอายุแล้ว รวมทั้งไม่ควรให้รับประทานวิตามิน สมุนไพร หรืออาหารเสริมโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
  • ห้ามใช้ยาแอสไพริน เด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ห้ามรับประทานยาแอสไพริน รวมทั้งควรตรวจดูฉลากยาทุกชนิดก่อนให้รับประทานว่ามีส่วนผสมของแอสไพริน ซาลิไซเลต น้ำมันระกำ หรือเมทิลซาลิไซเลตหรือไม่ เนื่องจากตัวยาเหล่านี้อาจทำให้เด็กเกิดอาการแพ้หรือที่เรียกว่ากลุ่มอาการเรย์ (Reye Syndrome) ซึ่งจะส่งผลให้สมองและตับถูกทำลายจนเสียชีวิตได้
  • พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ควรปล่อยให้เด็กเล่นมากเกินไปในช่วงพักฟื้นร่างกายหลังผ่าตัด  เพราะจะส่งผลให้ร่างกายฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่และเสี่ยงได้รับบาดเจ็บได้ง่าย
  • ดูแลเรื่องเฝือกหรืออุปกรณ์ช่วยพยุงหลัง พ่อแม่อาจปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับเฝือกหรืออุปกรณ์พยุงหลังสำหรับใส่บรรเทาอาการกระดูกสันหลังคด รวมทั้งดูแลให้เด็กสวมใส่อุปกรณ์ดังกล่าวอย่างถูกต้อง
  • สังเกตอาการผิดปกติ ควรพาเด็กไปพบแพทย์ทันทีในกรณีที่มีอาการต่อไปนี้
    • มีไข้
    • อาการปวดหลังไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง
    • หายใจลำบากหรือมีเสียงหายใจฟืดฟาด
    • มีปัญหาเกี่ยวกับการปัสสาวะและการขับถ่าย
    • ขยับขาลำบาก
    • ขาชา อ่อนแรง หรือไม่มีความรู้สึก