ไฮโปไทรอยด์ (Hypothyroidism)

ความหมาย ไฮโปไทรอยด์ (Hypothyroidism)

ไฮโปไทรอยด์ (Hypothyroidism) หรือภาวะขาดไทรอยด์ (Underactive Thyroid) คือภาวะที่ต่อมไทรอยด์ (Thyroid Gland) ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ ออกมาไม่เพียงพอ โดยต่อมไทรอยด์ซึ่งอยู่ด้านหน้าส่วนล่างของคอ ทำหน้าที่ผลิตและส่งฮอร์โมนไทรอยด์เข้าไปในกระแสเลือด 

ฮอร์โมนดังกล่าวยังส่งผลต่ออวัยวะเกือบทุกส่วนของร่างกาย ตั้งแต่หัวใจไปยังสมอง และจากกล้ามเนื้อไปที่ผิวหนัง ฮอร์โมนไทรอยด์นั้นจะควบคุมกระบวนการใช้พลังงานของเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายหรือที่เรียกว่ากระบวนการเมตาบอลิซึม ซึ่งส่งผลต่ออุณหภูมิ อัตราการเต้นหัวใจ และการเผาผลาญพลังงาน หากร่างกายผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ไม่เพียงพอ จะส่งผลให้กระบวนการทำงานของร่างกายช้าลง

ไฮโปไทรอยด์

ผู้หญิงที่อายุมากกว่า 60 ปี มีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะขาดไทรอยด์มาก โดยภาวะดังกล่าวจะส่งผลต่อระดับความสมดุลของปฏิกิริยาเคมีภายในร่างกาย อาจปรากฏอาการบ้างในช่วงแรก แต่หากปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษาจะก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมา เช่น ภาวะอ้วน อาการปวดข้อ มีบุตรยาก และปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ

อาการของไฮโปไทรอยด์

อาการของไฮโปไทรอยด์ปรากฏหลายอาการและแตกต่างกันไปตามระดับความรุนแรงที่ผู้ป่วยขาดฮอร์โมนดังกล่าว ทั้งนี้ อาการบางอย่างที่ปรากฏขึ้นก็อาจแสดงออกไม่ชัดเจน คล้ายกับอาการป่วยของโรคอื่น และบางอาการก็ไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้ป่วยทุกราย 

แต่โดยทั่วไปแล้ว อาการจะค่อย ๆ รุนแรงขึ้นซึ่งมักใช้เวลาเป็นปี หากกระบวนการเมตาบอลิซึมทำงานช้าลงจะก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ โดยแบ่งเป็นอาการที่พบได้บ่อย และอาการที่พบได้ไม่บ่อย ดังนี้

อาการที่พบได้บ่อย ผู้ป่วยไฮโปไทรอยด์จะปรากฏอาการดังต่อไปนี้

อาการที่พบได้ไม่บ่อย นอกจากอาการทั่วไปที่กล่าวไปแล้วนั้น ผู้ป่วยไฮโปไทรอยด์ยังเกิดอาการอื่นร่วมด้วย โดยไม่ค่อยพบทั่วไปนัก ดังนี้

  • เสียงแหบ 
  • ประจำเดือนมาไม่ปกติหรือมามากกว่าปกติ
  • มีลูกยาก
  • ความต้องการทางเพศลดลง
  • เป็นโรคเส้นประสาทถูกกดทับที่ข้อมือ (ทำให้รู้สึกเจ็บหรือชาที่มือ)
  • หลงลืมหรือความคิดสับสน (พบในผู้ป่วยสูงอายุ)

ผู้ป่วยไฮโปไทรอยด์บางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนเรียกว่าภาวะมิกซีดีมาโคม่า (Myxedema Coma) เป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงที่สุดแต่พบได้น้อย เมื่อผู้ป่วยประสบภาวะนี้แล้วอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิต โดยอาการของภาวะมิกซีดีมาโคม่าประกอบด้วยความดันโลหิตต่ำ หายใจแผ่ว อุณหภูมิร่างกายลดลง ไม่ตอบสนองใด ๆ และถึงขั้นหมดสติ ในกรณีที่เกิดอาการร้ายแรงที่สุดอาจทำให้เสียชีวิตได้

แม้ว่าไฮโปไทรอยด์ส่วนใหญ่มักเกิดกับผู้หญิงวัยกลางคนไปจนถึงสูงอายุ แต่ทารก เด็ก และวัยรุ่นต่างประสบภาวะขาดไทรอยด์ได้เช่นกัน ซึ่งทารก เด็ก และวัยรุ่นที่ป่วยเป็นไฮโปไทรอยด์จะเกิดอาการดังนี้

อาการไฮโปไทรอยด์ที่เกิดขึ้นกับทารก 

ทารกที่เกิดมาแล้วไม่มีต่อมไทรอยด์หรือต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติอาจปรากฏอาการบางอย่าง ดังนี้

  • ตัวเหลืองและตาเหลือง ส่วนใหญ่แล้วมักเกิดจากตับของทารกไม่สามารถเผาผลาญบิริรูบินซึ่งเป็นสารเคมีที่เกิดจากร่างกายผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงที่ตายแล้วกลับมาใหม่
  • สำลักอยู่บ่อย ๆ
  • ลิ้นมีขนาดใหญ่คับปากและยื่นออกมา
  • หน้าบวมฉุ

หากอาการของโรคกำเริบขึ้น ทารกมีแนวโน้มที่จะมีปัญหาเกี่ยวกับการรับประทานอาหารและแคระแกร็น โดยในระยะนี้ เด็กจะท้องผูก มวลกล้ามเนื้อน้อย และนอนมากเกินไป และถ้าทารกยังไม่ได้รับการรักษาต่อไปแม้จะเกิดอาการไม่รุนแรง ก็สามารถนำไปสู่อาการร้ายแรงทางร่างกายและภาวะปัญญาอ่อนได้

อาการไฮโปไทรอยด์ที่เกิดขึ้นกับเด็กและวัยรุ่น

โดยทั่วไป เด็กและวัยรุ่นที่ป่วยเป็นไฮโปไทรอยด์จะมีอาการคล้ายผู้ใหญ่ แต่อาจมีอาการอื่นเกิดขึ้นร่วมด้วย ดังนี้

  • เจริญเติบโตช้า (ส่งผลให้รูปร่างเตี้ย)
  • ฟันแท้ขึ้นช้ากว่าปกติ
  • เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ช้า
  • การเรียนรู้ช้า

สาเหตุของไฮโปไทรอยด์

ต่อมไทรอยด์ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ส่งผลต่อสุขภาพอย่างมาก รวมทั้งกระทบต่อกระบวนการเมตาบอลิซึม หากต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ออกมาไม่เพียงพอ สามารถก่อให้เกิดภาวะขาดไทรอยด์ โดยอาจเกิดได้จากสาเหตุต่อไปนี้

โรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง (Autoimmune Disease) 

โรคนี้คือการที่ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายผลิตแอนติบอดี้ขึ้นมาทำลายเนื้อเยื่อภายในร่างกายตัวเอง ที่พบได้บ่อยที่สุดคือ ไทรอยด์อักเสบฮาชิโมโต (Hashimoto's Thyroiditis) เมื่อต่อมไทรอยด์อักเสบและผลิตแอนติบอดีขึ้นมาทำลายเนื้อเยื่อของตัวเอง ย่อมส่งผลต่อการทำงานของต่อมไทรอยด์ที่ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ออกมาได้ไม่เพียงพอจนนำไปสู่ภาวะขาดไทรอยด์ 

ยังไม่ปรากฏหลักฐานชี้ชัดว่าเหตุใดร่างกายจึงผลิตสารภูมิคุ้มกันขึ้นมาทำลายเนื้อเยื่อภายในร่างกายตัวเอง โดยสันนิษฐานว่าอาจมาจากเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือความผิดปกติของยีน อย่างไรก็ตาม โรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเองเกิดจากหลายปัจจัยรวมกัน

การรักษาต่อมไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism) 

ต่อมไทรอยด์เป็นพิษหรือไฮเปอร์ไทรอยด์ (Hyperthyroidism) คือภาวะที่ร่างกายผลิตฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินไป โดยผู้ป่วยโรคนี้อาจจะได้รับการรักษาด้วยการฉายรังสี (Radioactive Lodine) หรือยาต้านไทรอยด์เพื่อลดและปรับระดับฮอร์โมนดังกล่าวให้เป็นปกติ อย่างไรก็ดี รังสีที่ใช้รักษานั้นจะทำลายเซลล์ในต่อมไทรอยด์ จนนำไปสู่ภาวะขาดไทรอยด์ได้

การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ 

การผ่าตัดนำส่วนต่าง ๆ เกือบทุกส่วนของต่อมไทรอยด์ออกไปนั้น จะทำให้ร่างกายลดหรือหยุดการผลิตฮอร์โมน หากเกิดกรณีดังกล่าวขึ้น ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับการให้ฮอร์โมนไทรอยด์ไปตลอดชีวิต

การรักษาด้วยรังสี 

ผู้ป่วยมะเร็งบางชนิดต้องได้รับการรักษาด้วยการฉายรังสีที่คอหรือหัว โดยรังสีจะทำลายเซลล์ภายในต่อมไทรอยด์ ทำให้ไม่สามารถผลิตฮอร์โมนออกมาได้เพียงพอ

ยารักษาโรคบางตัว 

ยาบางตัวที่ใช้รักษาโรคเกี่ยวกับหัวใจ ภาวะทางจิต หรือโรคมะเร็งนั้น บางครั้งก็ส่งผลกระทบต่อการผลิตฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์ โดยยาเหล่านี้ ได้แก่ ยาอะมิโอดาโรน (Amiodarone) ยาลิเทียม (Lithium) อินเตอร์เฟอรอน (Interferon Alpha) ยาอินเตอร์ลูคีน 2 (Interleukin-2)

การขาดธาตุไอโอดีน 

ธาตุไอโอดีนถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในการผลิตฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์ ทั้งนี้ ร่างกายไม่สามารถผลิตแร่ธาตุนี้ได้เอง จึงควรรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยไอโอดีนเพื่อช่วยในการผลิตฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์ อาหารที่มีไอโอดีนสูง ได้แก่ เกลือไอโอดีน อาหารทะเล สาหร่ายทะเล ปลาทะเล ไข่ และผลิตภัณฑ์เนยนม

นอกจากนี้ ไฮโปไทรอยด์ยังเกิดได้จากสาเหตุอื่น ๆ ซึ่งพบได้ไม่บ่อยนัก ได้แก่

โรคแต่กำเนิด (Congenital Disease) 

ทารกบางคนไม่มีต่อมไทรอยด์หรือต่อมไทรอยด์ทำงานบกพร่องมาตั้งแต่เกิด เรียกว่าโรคพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนแต่กำเนิด (Congenital Hypothyroidism)

ความผิดปกติของต่อมใต้สมอง (Pituitary Gland) 

การทำงานของต่อมใต้สมองที่ผิดปกติสามารถส่งผลต่อการผลิตฮอร์โมนในต่อมไทรอยด์ได้ โดยต่อมใต้สมองทำหน้าที่ผลิตสารไทรอยด์ สติมูเลติง ฮอร์โมน (Thyroid-Stimulating Hormone: TSH) หรือทีเอสเอช ซึ่งช่วยกำหนดปริมาณการผลิตและส่งฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์ 

แต่หากต่อมใต้สมองทำงานผิดปกติ ก็จะไม่สามารถผลิตทีเอสเอชขึ้นมากระตุ้นการผลิตฮอร์โมนในต่อมไทรอยด์ได้ปกติ ส่งผลให้ฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายน้อยลง เรียกว่าภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนชนิดทุติยภูมิ (Secondary Hypothyroidism) อย่างไรก็ตาม การป่วยเป็นไฮโปไทรอยด์อันเนื่องมาจากต่อมไร้ท่อทำงานผิดปกตินี้ มักพบได้น้อย

การตั้งครรภ์ 

สตรีตั้งครรภ์บางรายอาจประสบภาวะขาดไทรอยด์ระหว่างตั้งครรภ์หรือหลังตั้งครรภ์ไปแล้ว เรียกภาวะที่เกิดขึ้นว่าไทรอยด์ต่ำหลังคลอด (Postpartum Hypothyroidism) เมื่อต่อมไทรอยด์อักเสบ ทำให้ร่างกายผลิตสารภูมิคุ้มกันขึ้นมาทำลายเซลล์ในต่อมไทรอยด์ ส่งผลให้ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนออกมาน้อยลง 

หากไม่ได้รับการรักษาอาจเสี่ยงแท้ง คลอดก่อนกำหนด และภาวะครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia) ซึ่งทำให้มารดาเกิดความดันโลหิตสูงในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของอายุครรภ์ โดยทารกในครรภ์ก็อาจได้รับผลกระทบรุนแรงด้วย

นอกจากสาเหตุที่ยกมาข้างต้นจะทำให้ป่วยเป็นไฮโปไทรอยด์แล้ว ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เสี่ยงทำให้เกิดภาวะขาดไทรอยด์ ดังนี้

  • ผู้ที่มีประวัติบุคคลในครอบครัวป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์
  • ผู้ที่ป่วยเป็นโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง และภูมิคุ้มกันทำลายตนเองที่เกี่ยวเนื่องกับโรคอื่น เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเองอื่น ๆ
  • ผู้ที่เคยได้รับการรักษาด้วยการฉายกัมมันตรังสีหรือยาต้านไทรอยด์
  • ผู้ที่ได้รับการฉายรังสีที่คอหรือหน้าอกส่วนบน
  • ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ (ผ่าตัดไทรอยด์เพียงบางส่วน)
  • ผู้ที่เคยตั้งครรภ์หรือคลอดบุตรภายใน 6 เดือนที่ผ่านมา

การวินิจฉัยไฮโปไทรอยด์

ไฮโปไทรอยด์หรือภาวะขาดไทรอยด์มีแนวโน้มเกิดขึ้นกับผู้หญิงวัยกลางคนไปจนถึงสูงอายุ แพทย์จึงแนะนำ

ให้กลุ่มคนอายุช่วงนี้อาจจะได้รับการตรวจภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์ในการตรวจสุขภาพประจำปีด้วย รวมไปถึงสตรีมีครรภ์ หรือคิดว่าตัวเองน่าจะตั้งครรภ์ นอกจากนี้ แพทย์จะทำการตรวจเพื่อวินิจฉัยภาวะขาดไทรอยด์สำหรับผู้ที่เกิดอาการอ่อนเพลียมากขึ้นเรื่อย ๆ ผิวแห้ง ท้องผูกและน้ำหนักขึ้น หรือผู้ที่เคยมีประวัติป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์หรือคอพอก การวินิจฉัยไฮโปไทรอยด์มีขั้นตอน ดังนี้

การตรวจเลือด 

แพทย์จะตรวจเลือดผู้ป่วยเพื่อวัดระดับทีเอสเอชและฮอร์โมนไทรอยด์ ผู้ที่มีระดับฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำกว่ามาตรฐานจัดว่าป่วยเป็นไฮโปไทรอยด์ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยไฮโปไทรอยด์บางรายอาจมีระดับทีเอสเอชสูงในขณะที่ระดับฮอร์โมนไทรอยด์อยู่ในเกณฑ์ปกติ ซึ่งจัดว่าป่วยเป็นไฮโปไทรอยด์เช่นเดียวกัน โดยเรียกว่าภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำแบบไม่มีอาการ (Subclinical Hypothyroidism) 

การตรวจฮอร์โมนทีเอสเอชและฮอร์โมนไทรอยด์ มีรายละเอียด ดังนี้

การตรวจทีเอสเอช 

วิธีนี้จัดเป็นเครื่องมือหลักที่ใช้วินิจฉัยไฮโปไทรอยด์ อาการของไฮโปไทรอยด์ในขั้นแรกนั้นจะแสดงว่าระดับฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์อยู่เกณฑ์ปกติ การตรวจฮอร์โมนทีเอสเอชจะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้ก่อน ซึ่งมักตรวจพบก่อนผู้ป่วยแสดงอาการของโรค 

เพราะถ้าผู้ป่วยประสบภาวะขาดไทรอยด์ ต่อมใต้สมองจะเร่งผลิตทีเอสเอชมากขึ้นเพื่อกระตุ้นการผลิตฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์ ระดับทีเอสเอชจากต่อมใต้สมองที่เพิ่มขึ้นนี้จะเกิดขึ้นก่อนระดับฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์ลดต่ำลง แพทย์จึงมักให้ผู้ป่วยทำการตรวจฮอร์โมนทีเอสเอชก่อน

การตรวจฮอร์โมนไทรอยด์ 

ในกรณีที่ผู้ป่วยป่วยเป็นไฮโปไทรอยด์อันเนื่องมากจากความผิดปกติของต่อมใต้สมองหรือไฮโปทาลามัส ซึ่งมีระดับทีเอสเอชต่ำกว่าปกติ แพทย์จะตรวจด้วยวิธีพิเศษที่เรียกว่าการตรวจไทโรโทรปิน รีลิสซิ่งฮอร์โมน (Thyrotropin Releasing Hormone: TRH) หรือการตรวจทีอาร์เอช 

ซึ่งช่วยระบุว่าภาวะขาดไทรอยด์นั้นเกิดจากความผิดปกติของต่อมใต้สมองหรือไฮโปทาลามัส แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต่อมไร้ท่อจะเป็นผู้ทำการตรวจนี้ โดยฉีดฮอร์โมนดังกล่าวให้แก่ผู้ป่วย

นอกจากนี้ ยังมีวิธีวินิจฉัยอื่น ๆ ซึ่งใช้ไม่มากนัก เช่น การสแกนต่อมไทรอยด์ซึ่งอาจช่วยวินิจฉัยตำแหน่งของอาการป่วยได้ หรือการตรวจสมองผ่านเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging: MRI) ร่วมกับการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติมในกรณีที่แพทย์สันนิษฐานว่าสาเหตุของไฮโปไทรอยด์เกิดจากความผิดปกติของต่อมไร้ท่อหรือไฮโปทาลามัส

การรักษาไฮโปไทรอยด์

ไฮโปไทรอยด์สามารถรักษาได้ด้วยการให้ฮอร์โมนสังเคราะห์อย่างยาเลโวไทรอกซิน (Levothyroxine) ซึ่งเป็นยาสำหรับรับประทาน เลโวไทรอกซินจะช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมนในร่างกายให้กลับมาเป็นปกติ หลังจากผู้ป่วยรับยานี้เข้าไปประมาณ 1–2 สัปดาห์จะเริ่มดีขึ้น 

นอกจากนี้ ยาเลโวไทรอกซินยังค่อย ๆ ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลที่เพิ่มขึ้นจากการป่วยเป็นไฮโปไทรอยด์ ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาด้วยเลโวไทรอกซินตลอดชีวิต แต่การให้จำนวนตัวยาในการรักษาอาจเปลี่ยนแปลงได้ โดยแพทย์จะตรวจระดับฮอร์โมนทีเอสเอชของผู้ป่วยเป็นระยะ ๆ

แพทย์จะให้จำนวนตัวยาในระดับที่เหมาะสมเพื่อรักษาไฮโปไทรอยด์ โดยตรวจระดับฮอร์โมนทีเอสเอชหลังจากให้ยาไปแล้วสองถึงสามเดือน หากผู้ป่วยได้รับยาเลโวไทรอกซินมากเกินขนาดจะเกิดผลข้างเคียง เช่น น้ำย่อยในกระเพาะเพิ่มขึ้น นอนไม่หลับ ใจสั่น ตัวสั่น เป็นต้น 

ผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจหรือเกิดภาวะขาดไทรอยด์รุนแรงจะได้รับยาปริมาณน้อยก่อนและค่อย ๆ เพิ่มจำนวนตัวยา ซึ่งช่วยให้หัวใจสามารถปรับระดับการทำงานให้เข้ากับกระบวนการเผาผลาญของเมตาบอลิซึมที่เพิ่มขึ้นได้ ยาเลโวไทรอกซินจะไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงหากได้รับในปริมาณที่เหมาะสม 

ผู้ป่วยไม่ควรหยุดกินยาเมื่อรู้สึกดีขึ้น เพราะอาการของโรคสามารถกลับมากำเริบได้อีก และควรติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ยา อาหารเสริม หรืออาหารบางอย่างอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพในการดูดซึมยาเลโวไทรอกซิน ซึ่งได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากถั่วเหลืองหรือมีเส้นใยสูง ธาตุเหล็กเสริมหรือวิตามินรวมที่มีธาตุเหล็ก ยาคอเลสไทรามีน (Cholestyramine) อลูมิเนียมไฮดรอกซิน (Aluminum Hydroxide) ซึ่งพบในยาลดกรด หรืออาหารเสริมจำพวกแคลเซี่ยม 

ผู้ป่วยที่ป่วยเป็นฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำแบบไม่แสดงอาการ ควรปรึกษาวิธีการรักษากับแพทย์ ส่วนผู้ป่วยที่มีระดับฮอร์โมนทีเอสเอชสูงในระดับอ่อน ๆ การรักษาด้วยการให้ฮอร์โมนไทรอยด์อาจไม่ได้ผลนัก รวมทั้งอาจเป็นอันตรายด้วย

ภาวะแทรกซ้อนของไฮโปไทรอยด์

ไฮโปไทรอยด์หรือภาวะขาดไทรอยด์ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากอาการป่วยที่ไม่ได้รับการรักษา รวมทั้งผลข้างเคียงจากการได้รับการรักษา ดังปรากฏรายละเอียดต่อไปนี้

ภาวะแทรกซ้อนจากอาการป่วยที่ไม่ได้รับการรักษา 

ผู้ป่วยไฮโปไทรอยด์ที่ไม่ได้รับการรักษาจะเกิดอาการต่อไปนี้

คอพอก 

ต่อมไทรอยด์ที่ถูกกระตุ้นเป็นเวลาต่อเนื่องอาจทำให้ต่อมไทรอยด์ใหญ่ขึ้นหรือที่รู้จักกันในอาการคอพอก นอกจากนี้ ภาวะต่อมไทรอยด์อักเสบ (Hashimoto's Thyroiditis) คือหนึ่งในสาเหตุของอาการคอพอกที่พบได้บ่อยมากที่สุด อาการคอพอกจะส่งผลต่อรูปลักษณ์ของผู้ป่วยรวมทั้งทำให้กลืนอาหารและหายใจลำบาก

ปัญหาสุขภาพหัวใจ 

ไฮโปไทรอยด์อาจเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงป่วยเป็นโรคหัวใจ เนื่องจากระดับไขมันเลว (Low-Density Lipoprotein: LDL) ที่สูงนั้นสามารถเกิดได้กับผู้ที่มีฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำหรือผู้ที่ป่วยเป็นภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำแบบไม่แสดงอาการ โดยภาวะขาดไทรอยด์ยังอาจทำให้หัวใจโตและนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลว

ปัญหาสุขภาพจิต 

ผู้ป่วยไฮโปไทรอยด์มักเกิดอาการซึมเศร้าในช่วงแรก และอาจรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งนี้ ไฮโปไทรอยด์ยังก่อให้เกิดพัฒนาการทางสมองที่ช้า

ปลายประสาทอักเสบ (Peripheral Neuropathy) 

ผู้ป่วยไฮโปไทรอยด์ที่ปล่อยให้เกิดอาการเรื้อรังมาเป็นเวลานาน จะทำลายปลายประสาท ซึ่งผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บ ชา หรือเสียวปลาบบริเวณที่เส้นประสาทถูกทำลาย ทั้งนี้ อาจก่อให้เกิดกล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือสูญเสียการควบคุมกล้ามเนื้อ

ภาวะมิกซีดีมาโคม่า (Myxedema Coma) 

ผู้ป่วยภาวะไทรอยด์ที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยโรคและปล่อยไว้นานสามารถเกิดภาวะมิกซีดีมาได้ โดยผู้ป่วยจะเกิดอาการทนหนาวไม่ได้และง่วงซึม ตามมาด้วยอาการหลับลึกและไม่รู้สึกตัว อาการหมดสติที่เกิดจากภาวะมิกซีดีมาอาจเกี่ยวกับยาระงับประสาท การติดเชื้อ หรืออาการตึงของอวัยวะในร่างกาย หากผู้ป่วยเกิดภาวะมิกซีดีมา ควรได้รับการรักษาทันที อย่างไรก็ตาม ภาวะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก

ภาวะมีบุตรยาก 

ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำนั้นจะส่งผลต่อการตกไข่ของผู้หญิง ทำให้มีลูกได้ยาก นอกจากนี้ โรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเองซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของไฮโปไทรอยด์ก็ทำให้มีบุตรยากด้วย

เด็กเกิดมาผิดปกติ 

สตรีมีครรภ์ที่ป่วยเป็นไฮโปไทรอยด์และไม่ได้รับการรักษา เสี่ยงที่ทารกจะเกิดมาและมีความผิดปกติสูงกว่าทารกซึ่งเกิดจากแม่ที่สุขภาพแข็งแรง โดยทารกเหล่านี้ยังมีแนวโน้มที่จะมีปัญหาด้านพัฒนาการความฉลาดและร่างกาย แต่หากได้รับการวินิจฉัยภายในช่วงเดือนแรก ๆ นับแต่เกิดมา เด็กก็สามารถมีพัฒนาการที่ปกติได้

ผลข้างเคียงจากการได้รับการรักษา 

การรักษาไฮโปไทรอยด์ด้วยยาเลโวไทรอกซิน (Levothyroxine Tablets) ซึ่งเป็นฮอร์โมนสังเคราะห์เข้าไปแทนที่ฮอร์โมนเดิมในร่างกาย มักเกิดผลข้างเคียงที่ได้พบไม่บ่อยนัก อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยมีอาการเจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด (Angina) อาการดังกล่าวจะยิ่งกำเริบเมื่อเริ่มใช้ยานี้ สำหรับผู้ป่วยที่ใช้ยาเลโวไทรอกซินมากเกินไปอาจเกิดอาการของต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ดังนี้

การป้องกันไฮโปไทรอยด์

ไฮโปไทรอยด์หรือภาวะขาดไทรอยด์เป็นโรคที่ป้องกันได้ยากหากสาเหตุของโรคเกิดจากภาวะไทรอยด์อักเสบฮาชิโมโต อย่างไรก็ตาม การป่วยเป็นไฮโปไทรอยด์ที่เกิดจากการขาดธาตุไอโอดีน ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้มากในประเทศไทยนั้น สามารถป้องกันได้ด้วยการรับธาตุไอโอดีนให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย 

โดยเลือกซื้อเกลือเสริมไอโอดีนและผลิตภัณฑ์ที่เสริมแร่ธาตุไอโอดีน เช่น น้ำปลา ซีอิ๊ว ซอสปรุงรส และเกลือปรุงอาหาร เพื่อเอาไว้ประกอบอาหารสำหรับรับประทาน

ทั้งนี้ ไฮโปไทรอยด์สามารถเฝ้าดูอาการของโรคและรักษาให้หายได้ทันการณ์ ผู้ป่วยบางรายที่เสี่ยงเป็นไฮโปไทรอยด์สูงแต่ไม่แสดงอาการนั้นสามารถรับการตรวจเพื่อวินิจฉัยว่าอาการของโรคอยู่ในระดับใดเพื่อรับการรักษาต่อไป

สำหรับทารกที่เพิ่งเกิดมานั้นสามารถรับการตรวจด้วยวิธีเจาะเลือดที่ส้นเท้า (Heel Prick Test) ซึ่งเป็นการนำตัวอย่างเลือดของเด็กมาตรวจเพื่อวินิจฉัยว่าเด็กมีความผิดปกติหรือเกิดภาวะใดที่ส่งผลต่อสุขภาพหรือไม่ โดยแพทย์จะทำการตรวจเมื่อเด็กอายุได้ประมาณ 2 วัน หากตรวจพบว่าเด็กป่วยเป็นไฮโปไทรอยด์ ก็สามารถรับการรักษาได้ด้วยการให้ฮอร์โมนสังเคราะห์ ทำให้เด็กเติบโตได้ปกติ