Hashimoto's Thyroiditis

ความหมาย Hashimoto's Thyroiditis

Hashimoto's Thyroiditis หรือโรคต่อมไทรอยด์อักเสบจากภูมิคุ้มกัน คือภาวะความผิดปกติของภูมิคุ้มกันที่ทำลายเซลล์ในต่อมไทรอยด์ โดยในระยะยาวจะส่งผลให้เกิดภาวะขาดไทรอยด์ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ ผู้ป่วยจึงมักจะมีอาการอ่อนเพลีย น้ำหนักเพิ่ม รู้สึกหดหู่ และซึมเศร้า 

ต่อมไทรอยด์จัดอยู่ในระบบต่อมไร้ท่อ อยู่บริเวณส่วนหน้าของลำคอใต้ลูกกระเดือก ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนเพื่อใช้ในการเผาผลาญ การควบคุมอุณหภูมิ และการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย หากต่อมไทรอยด์เกิดภาวะนี้จะส่งผลให้การทำงานในร่างกายผิดปกติ ซึ่ง Hashimoto's Thyroiditis พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะผู้หญิงวัยกลางคน

Hashimoto's Thyroiditis

อาการของ Hashimoto's Thyroiditis

Hashimoto's Thyroiditis อาจใช้เวลานานหลายปีก่อนจะแสดงอาการ ทำให้ผู้ป่วยไม่ทราบว่าตนเองมีอาการของโรคดังกล่าว โดยสัญญาณบ่งชี้ของโรคระยะแรก คือ มีอาการคอโต รู้สึกแน่นในลำคอ กลืนลำบาก ซึ่งเป็นผลมาจากต่อมไทรอยด์โตหรืออาจเรียกว่าคอพอก บางรายอาจจะมีอาการไทรอยด์เป็นพิษ (Overactive Thyroid) หรือภาวะต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนออกมามากเกินไปร่วมด้วย ทำให้หลายปีต่อมาจะมีภาวะขาดไทรอยด์ (Underactive Thyroid) แทน ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการต่าง ๆ จากระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือดต่ำ ดังนี้

  • รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่กระฉับกระเฉง 
  • รู้สึกหนาวกว่าปกติ
  • หน้าบวมและลิ้นบวม 
  • ผิวแห้ง ซีด 
  • เล็บบาง 
  • ผมร่วง
  • ท้องผูก 
  • น้ำหนักขึ้นโดยไม่มีสาเหตุ 
  • ระดับไขมันในเลือดสูง 
  • ประจำเดือนมามากหรือนานผิดปกติ
  • ปวดตามกล้ามเนื้อและข้อ รู้สึกเจ็บเมื่อกด 
  • กล้ามเนื้อตึงหรือมีอาการข้อติด 
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • มีภาวะหลงลืม รู้สึกหดหู่ ซึมเศร้า 

สาเหตุของ Hashimoto's Thyroiditis

โรคต่อมไทรอยด์อักเสบเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันทำลายเซลล์ในต่อมไทรอยด์ ซึ่งจะส่งผลให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำกว่าปกติในภายหลัง โดยสาเหตุอาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางพันธุกรรม แม้ว่ายังไม่พบสาเหตุที่ชัดเจน แต่พบปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคได้ ได้แก่

  • เป็นเพศหญิง โดยเฉพาะในวัยกลางคน
  • มีสมาชิกในครอบครัวเจ็บป่วยเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์หรือเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน เช่น โรคแพ้ภูมิตัวเอง โรคเบาหวานประเภทที่ 1 โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นต้น

การวินิจฉัย Hashimoto's Thyroiditis

การวินิจฉัย Hashimoto's Thyroiditis จะพิจารณาจากอาการของผู้ป่วยและผลการตรวจเลือดเป็นหลัก โดยผลการตรวจเลือดจะแสดงถึงระดับฮอร์โมนไทรอยด์ที่ต่ำ และระดับฮอร์โมนที่ทำหน้าที่กระตุ้นต่อมไทรอยด์ในเลือด (Thyroid-stimulating Hormone หรือ TSH) สูงขึ้นหากการทำงานของต่อมไทรอยด์น้อยลง เพราะร่างกายต้องกระตุ้นต่อมไทรอยด์อย่างหนักเพื่อให้ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์มากกว่าเดิม นอกจากนี้ แพทย์ยังตรวจเลือดดูความผิดปกติอื่น ๆ อย่างการตรวจภูมิต้านทานต่อเอนไซม์ TPO (TPO Antibodies) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่มีบทบาทสำคัญในการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์  

การรักษา Hashimoto's Thyroiditis

Hashimoto's Thyroiditis ไม่สามารถรักษาให้หายขาด ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่มีภาวะขาดไทรอยด์ แพทย์จะเฝ้าระวังอาการ สังเกตการเปลี่ยนแปลงสุขภาพและผลเลือดของผู้ป่วยอยู่เสมอ แต่หากพบภาวะขาดไทรอยด์อาจรักษาได้โดยการให้ฮอร์โมนไทรอยด์ทดแทนด้วยการรับประทาน เพื่อช่วยให้ร่างกายมีระดับฮอร์โมนไทรอยด์เป็นปกติ และฟื้นฟูระบบเผาผลาญของร่างกายให้กลับมาทำงานดังเดิม ซึ่งแพทย์จะจ่ายยาเลโวไทรอกซีน (Levothyroxine) ที่เป็นฮอร์โมนสังเคราะห์ชนิดเม็ด

ทั้งนี้ การรับประทานยานี้มักจะไม่มีผลข้างเคียงและจำเป็นต้องรับประทานตลอดชีวิต เพื่อรักษาสมดุลฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกาย โดยปริมาณการใช้ยาจะขึ้นอยู่กับอายุ น้ำหนัก ความรุนแรงของภาวะขาดไทรอยด์ ปัญหาสุขภาพ รวมทั้งการใช้ยาตัวอื่น ๆ ในขณะนั้นที่อาจมีปฏิกิริยาต่อยาฮอร์โมนไทรอยด์

ภาวะแทรกซ้อนของ Hashimoto's Thyroiditis

หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษา อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น

  • ภาวะคอพอกจากการขาดฮอร์โมนไทรอยด์เป็นเวลานาน ซึ่งเป็นผลมาจากร่างกายพยายามกระตุ้นต่อมไทรอยด์ติดต่อเป็นเวลานานจนส่งผลให้ต่อมมีขนาดใหญ่ขึ้น แม้ว่าภาวะนี้มักไม่ก่อให้เกิดความระคายเคืองหรือความเจ็บปวด แต่อาจกระทบถึงรูปลักษณ์ภายนอก หากต่อมมีขนาดใหญ่มากก็อาจรบกวนการกลืนและการหายใจ 
  • ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ อย่างหัวใจโตหรือหัวใจล้มเหลว 
  • ปัญหาเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจ เนื่องจากผู้ป่วยมักมีภาวะไขมันในเลือดสูง
  • ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต เช่น ความต้องการทางเพศลดลง ภาวะซึมเศร้า เป็นต้น โดยอาการซึมเศร้าจะเริ่มแสดงอาการตั้งแต่ช่วงต้นการเกิดโรคและอาจรุนแรงขึ้น
  • ภาวะมิกซีดีมา (Myxedema) เป็นภาวะที่มีความรุนแรง ผู้ป่วยจะง่วงซึม หลับลึก ชัก หัวใจล้มเหลว ไม่รู้สึกตัว และอาจเสียชีวิตได้
  • ปัญหาเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ หากมารดามีภาวะขาดไทรอยด์ในระหว่างการตั้งครรภ์อาจส่งผลให้คลอดก่อนกำหนด ทารกตายในครรภ์ ภาวะครรภ์เป็นพิษ และแท้งบุตร ถ้าไม่ได้รับการรักษาอาจจะส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองและการเจริญเติบโตของทารก และอาจส่งผลให้ทารกเกิดภาวะเพดานโหว่ได้ 

การป้องกัน Hashimoto's Thyroiditis

Hashimoto's Thyroiditis เป็นความผิดปกติของภูมิคุ้มกันและไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคที่แน่ชัด จึงไม่สามารถป้องกันได้ แต่ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงอาจลดความเสี่ยงของโรคลงได้โดยการหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกายตนเองอยู่เสมอ หากมีอาการผิดปกติควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องแต่เนิ่น ๆ