แมลงเข้าหู ต้องทำอย่างไร

การมีแมลงเข้าหูเป็นหนึ่งในภาวะฉุกเฉินทางหูที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ชอบเล่นและแหย่สิ่งต่าง ๆ ลงไปในหู เช่น ลูกปัด สำลี กระดาษ ยางลบ ของเล่น ลูกแก้ว หรืออาหารต่าง ๆ เช่นเดียวกับการมีแมลงบินหรือคลานเข้าไปในหูระหว่างการนอนหลับหรือการไปพักผ่อนนอนกลางป่ากลางแจ้ง

แมลงเข้าหู

วัตถุแปลกปลอมที่เข้าไปในหูส่วนใหญ่มักไม่ก่อให้เกิดอันตราย แต่หากเป็นแมลงหรือวัตถุที่มีความคมก็อาจสร้างความระคายเคืองหรือรู้สึกปวดอย่างรุนแรงได้ โดยเฉพาะแมลงเข้าหูที่นอกจากจะส่งเสียงร้องหรือเคลื่อนไหวดังหึ่ง ๆ จนน่ากลัวแล้ว อาจนำมาซึ่งอาการปวดหูในบางครั้ง ส่วนกรณีที่สิ่งแปลกปลอมเป็นอาหารนั้นจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อในหูได้อย่างรวดเร็ว

มีสิ่งแปลกปลอมหรือแมลงเข้าหู สังเกตจากอะไร ?

สัญญาณที่บ่งบอกถึงการมีสิ่งแปลกปลอมหรือแมลงเข้าหู คือ อาการเจ็บ อักเสบ หรือระคายเคืองในหู เนื่องจากช่องหูของคนเรานั้นมีลักษณะเป็นโพรงกระดูกแข็งบาง ๆ และผิวหนังบริเวณนี้ยังไวต่อสิ่งกระตุ้น เกิดการระคายเคืองได้ง่าย เมื่อมีวัตถุใด ๆ ไปกดทับจึงทำให้รู้สึกเจ็บ ระคายเคือง และบางรายอาจเกิดการติดเชื้อในช่องหูได้ หากพบว่ามีอาการผิดปกติดังกล่าว ควรไปรับการตรวจรักษาโดยแพทย์

การวินิจฉัยความผิดปกติที่อาจเกิดจากสิ่งแปลกปลอมหรือแมลงเข้าหู แพทย์มักต้องใช้อุปกรณ์ชนิดพิเศษตรวจดูและรักษาด้วยการนำเอาวัสดุดังกล่าวออกจากหูอย่างปลอดภัย ทั้งนี้ การตรวจในเด็กอาจทำได้ยาก หากเด็กยังไม่โตพอที่จะพูดอธิบายความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น แต่อาจสังเกตได้จากอาการบวม แดง หรือมีของเหลว เช่น เลือด หรือน้ำหนองไหลออกมา ซึ่งเป็นสัญญาณของการบาดเจ็บภายในหูที่อาจเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม บางกรณีอาการที่เกิดขึ้นอาจมีสาเหตุมาจากการมีขี้หูอุดตัน ซึ่งเป็นภาวะที่จะทำให้มีอาการปวดหูหรือได้ยินเสียงดังภายในหูได้เช่นกัน แต่จะสังเกตอาการอื่น ๆ ที่แตกต่างออกไปได้ คือ รู้สึกแน่นหรืออื้อ ๆ ในหู หรือการได้ยินเสียงในหูข้างดังกล่าวลดลง รวมถึงอาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หรือเดินไม่ตรงในรายที่อาการรุนแรง เหล่านี้ล้วนเป็นผลจากการอักเสบของหูหรือแรงดันในเยื่อแก้วหูที่ส่งผลให้เกิดความผิดปกติที่หูชั้นกลาง

สิ่งที่ควรทำเบื้องต้น

วิธีปฐมพยาบาลเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในช่องหู ขึ้นอยู่กับว่าสิ่งนั้นเป็นวัตถุ สิ่งของ แมลง หรือสาเหตุอย่างอื่นที่นอกเหนือจากกรณีเหล่านี้

การปฐมพยาบาลเมื่อมีวัตถุแปลกปลอมในหู

  1. หากวัตถุดังกล่าวยื่นออกมาและคาดว่าสามารถนำออกจากหูได้ง่าย ให้ใช้มือหรือแหนบค่อย ๆ คีบออกมาเบา ๆ จากนั้นควรไปพบแพทย์เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีส่วนใดของวัตถุตกค้างอยู่ แต่อย่าใช้อุปกรณ์ที่ไม่ช่วยในการยึดเกาะ เช่น กิ๊บติดผม ก้านสำลี หรือไม้ขีดไฟ เนื่องจากจะยิ่งเสี่ยงทำให้วัตถุดังกล่าวเคลื่อนเข้าไปลึกกว่าเดิมและยังเป็นอันตรายต่อหูชั้นกลาง
  2. สำหรับการนำเอาสิ่งแปลกปลอมออกจากหูของเด็กเล็ก ควรพูดปลอบอย่างนุ่มนวลให้เด็กอยู่ในภาวะสงบและไม่ตกใจกลัว และหากวัตถุนั้นไม่ทำให้มีอาการใด ๆ ไม่จำเป็นต้องรีบเอาออกทันที หากเด็กยังอยู่ไม่สุขหรืออารมณ์ไม่ดี ควรรอจนกว่าเจ้าตัวจะสงบลงจึงค่อยพยายามเขี่ยวัตถุออก
  3. กรณีที่รู้สึกว่าอาจมีวัตถุเล็ก ๆ ติดอยู่ในหูแต่ไม่อาจมองเห็นได้ ห้ามใช้แหนบแหย่เข้าไปภายในโพรงหู เพราะเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายได้
  4. พยายามใช้ประโยชน์จากแรงโน้มถ่วงเพื่อช่วยให้วัตถุที่ติดอยู่หลุดออกมา โดยเอียงศีรษะข้างที่มีอาการ หันใบหูไปทางพื้นและเขย่าศีรษะเบา ๆ ให้สิ่งที่ติดอยู่หลุดออก แต่ไม่จำเป็นต้องใช้มือตบศีรษะช่วยและไม่ควรทำ นอกจากนี้ การดึงใบหูให้ตั้งขึ้นไปทางด้านหลังจะช่วยเหยียดช่องหูให้อยู่ในแนวตรงมากขึ้น อาจช่วยให้วัตถุหลุดออกมาได้ง่ายขึ้น
  5. อย่าพยายามนำเอาวัตถุออกในขณะที่ผู้ป่วยยังอยู่ไม่นิ่ง
  6. อย่าพยายามใช้น้ำในการทำให้วัตถุหลุดออกมา แต่ถ้ามั่นใจว่าแก้วหูไม่ได้รับบาดเจ็บและไม่มีการใส่ท่อระบายน้ำในหูอยู่เดิม อาจลองใช้น้ำอุ่นพอประมาณล้างระบายวัตถุที่ติดอยู่ในหู

การปฐมพยาบาลเมื่อแมลงเข้าหู

  1. ห้ามใช้นิ้วแหย่เข้าในในหู เพราะอาจถูกแมลงต่อยได้
  2. ตะแคงศีรษะให้หูข้างที่มีแมลงเข้าไปตั้งขึ้น เพื่อให้แสงส่องเข้าไปภายในหู แมลงที่ชอบแสงจะคลานหรือบินตามแสงออกมา
  3. หากวิธีข้างต้นไม่ได้ผล ควรใช้วิธีนอนตะแคงให้ช่องหูข้างที่มีแมลงเข้าไปตั้งขึ้น จากนั้นลองใช้น้ำมันธรรมชาติ น้ำมันมะกอก หรือเบบี้ออยล์เทลงไปในหู สำหรับผู้ใหญ่ให้ดึงใบหูให้ไปด้านหลังและดึงขึ้นเบา ๆ ระหว่างเทน้ำมัน แต่หากเป็นเด็กให้ดึงใบหูไปทางด้านหลังและดึงลง การทำเช่นนี้จะช่วยให้แมลงหายใจไม่ออกและอาจบินหรือคลานหนีน้ำมันออกมาเองได้
  4. อย่าใช้น้ำมันหยอดลงไปในหูเพื่อไล่แมลง หากผู้ป่วยมีการใส่ท่อระบายน้ำในหูอยู่เดิมหรือมีอาการที่คาดว่าจะเกิดจากแก้วหูทะลเช่น รู้สึกปวด มีเลือดหรือหนองไหลออกจากหู
  5. หลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันในการนำเอาวัตถุอื่น ๆ ที่ไม่ใช่แมลงออกจากใบหู เพราะน้ำมันอาจไปทำให้วัตถุแปลกปลอมบางชนิดขยายขนาดหรือบวมขึ้นได้
  6. แม้จะเห็นว่าแมลงออกมาจากใบหูแล้ว แต่ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูให้แน่ใจ เพราะชิ้นส่วนเล็ก ๆ ของแมลงที่ยังคงติดอยู่ภายในหูอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังบริเวณโพรงหูที่บอบบางเพราะระคายเคืองง่ายเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

การปฐมพยาบาลเมื่อมีถ่านกระดุม (Battery) ติดอยู่ในหู

ถ่านใส่นาฬิกาหรืออุปกรณ์ภายในบ้านที่มีลักษณะเป็นก้อนกลมเล็ก ๆ ขนาดเท่ากระดุม ถือเป็นวัตถุที่อันตรายเป็นพิเศษหากไปติดอยู่ในหู จำเป็นต้องนำออกมาให้เร็วที่สุด เพราะสารเคมีภายในถ่านอาจรั่วไหลออกมา ทำให้ผิวหนังไหม้และเป็นอันตรายร้ายแรงต่อโพรงหูได้ภายในเพียงหนึ่งชั่วโมงเท่านั้น

หากสังเกตพบอาการบวมอักเสบของหู หูแดงและมีลักษณะผิดปกติอย่างเห็นได้ชัด มีไข้ มีน้ำหนองหรือเลือดไหลออกมาจากหู หรือมีอาการปวดเพิ่มมากขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ และยิ่งถ้าวัตถุที่ติดอยู่ในหูเป็นถ่านนั้นให้ไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด ส่วนในกรณีที่ไม่แน่ใจว่าอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นในหูมีความรุนแรงมากน้อยเพียงใดก็ควรได้รับการตรวจจากแพทย์เช่นกัน

ทั้งนี้ เมื่อมีถ่านกระดุมหลุดเข้าไปในหูแล้วไม่สามารถนำออกมาได้ให้ไปพบแพทย์ทันที ควรไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด และระหว่างนี้อย่าพยายามนำถ่านออกด้วยการหยอดน้ำตาเทียมหรือสารละลายชนิดใด ๆ เข้าไปในหูอย่างเด็ดขาด เพราะสารเหล่านั้นอาจไปกัดกร่อนถ่านอย่างรวดเร็วและส่งผลให้โพรงหูได้รับบาดเจ็บเสียหายในที่สุด

สัญญาณใดบ่งบอกถึงอันตราย?

อาการหรือภาวะต่อไปนี้เป็นข้อบ่งชี้ว่าถึงเวลาที่ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาได้แล้ว

  • เริ่มมีอาการเจ็บหรือรู้สึกปวดในหูมากขึ้น
  • ไม่สามารถนำเอาวัตถุแปลกปลอมออกจากหูได้
  • ได้ยินเสียงผิดปกติในหู
  • มีอาการแดงหรือบวมบริเวณหู โพรงหู หรือผิวหนังรอบ ๆ ใบหู
  • มีของเหลวไหลออกจากหู
  • อาการที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงหรือเกิดบ่อยครั้งขึ้น
  • มีอาการอื่น ๆ ปรากฏเพิ่มเติม เช่น การได้ยินเสียงลดลง มีเลือดออก หรือเวียนศีรษะ

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ไม่สามารถนำแมลงหรือสิ่งแปลกปลอมออกจากหู หรือนำออกมาได้แล้วก็ตาม คนไข้ควรต้องได้รับการตรวจจากแพทย์ด้วยเสมอ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีชิ้นส่วนของแมลงหรือวัตถุแปลกปลอมหลงเหลืออยู่ภายในหู และช่องหูไม่ได้รับอันตรายหรือบาดเจ็บจากภาวะดังกล่าว หลังจากแพทย์นำเอาวัตถุที่ติดอยู่หรือเหลือค้างออกมาแล้ว คนไข้อาจได้รับการหยอดยาปฏิชีวนะเป็นเวลา 5-7 วัน เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่เกิดจากการบาดเจ็บอย่างรุนแรงในช่องหูด้วย