โรคหัด กับการป้องกันด้วยวัคซีน

โรคหัดเป็นโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากไวรัส ส่วนใหญ่มักเกิดในเด็กเล็ก โดยผู้ป่วยจะมีไข้ น้ำมูกไหล ไอ ตาแดง เจ็บคอ และมีผื่นขึ้นตามร่างกาย ซึ่งอาการป่วยอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีวัคซีนที่สามารถป้องกันโรคหัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น การศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนโรคหัดจะช่วยให้เข้าใจแนวทางในการเสริมภูมิคุ้มกันของตนเองและลูกน้อยได้ดียิ่งขึ้น เพื่อรับวัคซีนป้องกันโรคนี้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

1415 โรคหัด วัคซีน Resized

โรคหัดกับสถานการณ์การแพร่ระบาด

โรคหัดเป็นโรคที่พบได้ทุกวัย โดยผู้ที่ไม่เคยป่วยเป็นโรคหัดหรือไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดมาก่อนอาจเสี่ยงเป็นโรคนี้ได้ เนื่องจากโรคสามารถแพร่กระจายได้ง่ายในกลุ่มคนที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ดังนั้น ควรไปเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดให้ครบตามกำหนด

ด้านสถานการณ์โรคหัดในประเทศไทยจากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค พบว่าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมไปจนถึง 17 พฤศจิกายน 2560 มีผู้ป่วยโรคหัดกว่า 2,637 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยในกลุ่มเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 4 ปี รองลงมา คือ เด็กช่วงอายุ 10-14 ปี และ 5-9 ปีตามลำดับ

การรับวัคซีนป้องกันโรคหัดในเด็ก

ปัจจุบันมีวัคซีนที่สามารถป้องกันโรคหัดได้ คือ

  • วัคซีนป้องกันโรคหัดที่มีส่วนประกอบของวัคซีนป้องกันโรคคางทูม หัดเยอรมัน หรืออีสุกอีใส
  • วัคซีนเอ็มเอ็มอาร์ (MMR) ที่ป้องกันได้ทั้งโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน ซึ่งผู้ที่ไม่สามารถรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดโดยตรง สามารถเข้ารับวัคซีนนี้เพื่อช่วยป้องกันโรคหัดแทนได้ เช่น ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น
  • วัคซีนป้องกันไวรัสสายพันธ์ุเดี่ยว (Monovalent Vaccine) ซึ่งหลายประเทศมักใช้วัคซีนป้องกันโรคหัด และวัคซีนเอ็มเอ็มอาร์แทนการใช้วัคซีนป้องกันไวรัสสายพันธุ์เดี่ยว

โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถป้องกันลูกน้อยจากโรคหัดได้ด้วยการพาเด็กเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดให้ครบตามกำหนด ซึ่งวัคซีนดังกล่าวมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูง

ในปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด 2 ครั้ง ดังนี้

  • ครั้งแรก เมื่อเด็กอายุ 9-12 เดือน
  • ครั้งที่ 2 เมื่อเด็กอายุ 2.5 ปีเป็นต้นไป

นอกจากนี้ แพทย์อาจแนะนำให้ฉีดวัคซีนเอ็มเอ็มอาร์ ซึ่งเป็นวัคซีนที่สามารถป้องกันได้ทั้งโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน และอีสุกอีใส ให้แก่เด็กอายุ 12 เดือนไปจนถึงอายุ 12 ปี ในกรณีที่เด็กยังไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส

การรับวัคซีนป้องกันโรคหัดในผู้ใหญ่

ในประเทศไทยเริ่มมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดในปี 2527 ซึ่งผู้ที่เกิดก่อนหรือเกิดระหว่างปีดังกล่าวแล้วไม่เคยเข้ารับการฉีดวัคซีนมาก่อนมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคหัดได้ ดังนั้น ผู้ที่ไม่เคยรับวัคซีนหรือไม่แน่ใจว่าตนเองเคยฉีดวัคซีนแล้วหรือไม่ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด โดยแพทย์อาจแนะนำให้ฉีดวัคซีนเอ็มเอ็มอาร์เป็นปริมาณ 2 เท่าแก่ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคหัดสูง เช่น กลุ่มนักเรียน นักศึกษา บุคลากรด้านสาธารณสุข ผู้ที่ต้องเดินทางไปยังประเทศที่มีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคหัด หรือผู้ที่อาศัยอยูในบริเวณที่มีการแพร่ระบาดของโรค เป็นต้น

นอกจากนี้ หญิงวัยเจริญพันธุ์หรือผู้ที่วางแผนตั้งครรภ์ควรตรวจให้แน่ใจว่าตนเองได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดแล้วหรือไม่ หากยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนควรเข้ารับวัคซีนและคุมกำเนิดเป็นเวลา 1 เดือนก่อนเตรียมตัวมีบุตร ส่วนหญิงตั้งครรภ์ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนหลังคลอดบุตรแล้ว

วิธีเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคหัดเมื่อต้องเดินทางออกนอกประเทศ

ผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุมากกว่า 6 เดือนควรรับวัคซีนป้องกันโรคหัดก่อนเดินทางไปยังต่างประเทศ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  • เด็กอายุ 6-11 เดือน ควรได้รับการฉีดวัคซีนเอ็มเอ็มอาร์ก่อนเดินทางออกนอกประเทศ หากเด็กได้รับวัคซีนก่อนอายุครบ 1 ปี ควรไปรับการฉีดวัคซีนซ้ำอีกครั้งในช่วงอายุ 12-15 เดือน และฉีดวัคซีนซ้ำอีกครั้งก่อนเดินทางออกนอกประเทศอย่างน้อย 28 วัน
  • เด็กที่มีอายุมากกว่า 12 เดือน ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนเอ็มเอ็มอาร์ 2 ครั้งในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ก่อนเดินทางออกนอกประเทศอย่างน้อย 28 วัน
  • วัยรุ่นและผู้ใหญ่ที่ไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดมาก่อน ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนเอ็มเอ็มอาร์ 2 ครั้งในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ก่อนเดินทางออกนอกประเทศอย่างน้อย 28 วัน

วัคซีนป้องกันโรคหัดสำคัญอย่างไร ?

  • โรคหัดเป็นโรคที่แพร่กระจายได้ง่ายและติดต่อกันอย่างรวดเร็ว โดยผู้ติดเชื้อกว่า 90 เปอร์เซ็นต์มักมีอาการของโรคปรากฏให้เห็น
  • ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนเอ็มเอ็มอาร์มากกว่า 95 เปอร์เซ็นต์มีภูมิต้านทานโรคทั้ง 3 ชนิด คือ โรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน
  • ผู้ป่วยโรคหัดส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเอ็มเอ็มอาร์ ซึ่งโรคหัดอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น โรคปอดบวม และสมองอักเสบ ซึ่งอาจทำให้สมองถูกทำลายและทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้
  • 30 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยโรคหัดมีอาการแทรกซ้อนเกิดขึ้น ซึ่งมักเกิดในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 20 ปี โดยอาจมีอาการอย่างท้องเสีย หูชั้นกลางอักเสบ และปอดบวม ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนรุนแรงของโรคหัดที่เป็นสาเหตุของการตายที่พบมากที่สุด