คางทูม

ความหมาย คางทูม

คางทูม (Mumps) เป็นโรคติดต่อทางระบบทางเดินหายใจ ที่ติดเชื้อไวรัสจากคนสู่คน โดยสัมผัสละอองน้ำลายของผู้ที่ติดเชื้อได้จากการไอหรือจาม ไวรัสจะเคลื่อนจากระบบทางเดินหายใจไปยังต่อมน้ำลายบริเวณข้างหู เมื่อต่อมนี้เกิดการอักเสบจะทำให้เกิดอาการเจ็บปวดและบวมแดง โดยเฉพาะต่อมน้ำลายบริเวณข้างหูซึ่งจะมีอาการบวมที่สามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน

นอกจากนี้ ถ้าไวรัสแพร่กระจายเข้าสู่น้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังแล้ว ก็อาจจะแพร่ไปที่อื่นในร่างกายส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น ภาวะแทรกซ้อนในระบบสืบพันธุ์ ในปัจจุบันยังไม่มียารักษาคางทูมโดยเฉพาะ แต่สามารถทำได้โดยรักษาตามอาการ และทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแข็งแรงขึ้น

คางทูม

อาการของโรคคางทูม

โรคคางทูมจะมีอาการผิดปกติที่สังเกตได้คือ ต่อมน้ำลายบริเวณข้างหูเจ็บและบวมอย่างเห็นได้ชัด และปรากฏอาการเบื้องต้นของโรคดังต่อไปนี้

สาเหตุของโรคคางทูม

สาเหตุของโรคคางทูมเกิดขึ้นจากการติดเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า มัมส์ (Mumps) เป็นไวรัสที่อยู่ในอากาศ สามารถแพร่กระจายได้โดยการไอ จาม เหมือนโรคหวัด หรือสัมผัสละอองของเหลวทั้งน้ำลายและน้ำมูกจากผู้ป่วยที่อาจแฝงอยู่ตามวัตถุต่าง ๆ เช่น ลูกบิดประตู โต๊ะ หรือแม้แต่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้เป็นโรคนี้ 

ผู้ป่วยส่วนมากจะแพร่เชื้อก่อนมีอาการบวมของต่อมน้ำลายบริเวณข้างหู 2–3 วัน โดยเชื้อไวรัสนี้จะเคลื่อนจากระบบทางเดินหายใจตั้งแต่จมูก ปาก ลำคอ ไปยังต่อมน้ำลายบริเวณข้างหูข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง 

โดยปกติแล้วโรคนี้จะมีระยะฟักตัวอยู่ที่ประมาณ 16–18 วัน แต่ในบางรายอาจมีระยะฟักตัวนานถึง 25 วัน พบมากในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี โดยเด็กที่มีอายุ 5–9 ปี จะมีอัตราการป่วยสูงที่สุด หรือกลุ่มผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน

การวินิจฉัยโรคคางทูม

โรคคางทูม ปกติแล้วมักจะรักษาตามอาการหากยังไม่ได้เป็นอะไรรุนแรงหรือพบอาการแทรกซ้อน โดยแพทย์อาจวินิจฉัยด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

  • ตรวจเช็กประวัติการเจ็บป่วยของผู้ป่วย
  • ตรวจการบวมของต่อมน้ำลายที่ข้างหู และต่อมทอนซิลในปาก
  • ตรวจวัดอุณหภูมิของผู้ป่วยว่าอยู่ในระดับที่สูงผิดปกติหรือไม่
  • ตรวจสารก่อภูมิต้านทาน (Antigen) ในเลือด

การรักษาโรคคางทูม

การรักษาโรคคางทูมในปัจจุบันยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะ แต่สามารถทำได้โดยบรรเทาอาการและทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแข็งแรงขึ้น ด้วยวิธีดังต่อไปนี้  

  • ดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอจนกว่าอุณหภูมิในร่างกายจะลดลงเป็นปกติ
  • รับประทานยาลดไข้จำพวกพาราเซตามอลหรือไอบูโปรเฟน และไม่ควรใช้ยาแอสไพรินกับเด็ก และบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี เพราะอาจเกิดกลุ่มอาการไรย์ซินโดรม ซึ่งจะทำให้ตับและสมองบวม อาเจียน อ่อนเพลีย ชัก และหมดสติได้
  • หลีกเลี่ยงอาหารหรือน้ำผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เช่น น้ำส้ม น้ำมะนาว เพราะกรดในน้ำผลไม้จะทำให้ต่อมน้ำลายเกิดการระคายเคือง และทำให้ปวดบวมมากขึ้นได้
  • ประคบร้อนหรือประคบเย็นเพื่อช่วยลดอาการปวดบวมที่บริเวณต่อมน้ำลาย
  • รับประทานอาหารอ่อนหรืออาหารเหลว เช่น โจ๊กหรือซุป เพื่อลดการเคี้ยวและการกระแทกในบริเวณที่ปวดบวม

ทั้งนี้ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นและหายเป็นปกติภายใน 7–10 วัน แต่เมื่อรักษาตามอาการแล้วไม่ดีขึ้น ควรรีบไปปรึกษาแพทย์เพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงขึ้นได้

ภาวะแทรกซ้อนของโรคคางทูม

โรคคางทูมสามารถก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้หลายอย่าง เช่น

  • อัณฑะอักเสบ 25% ของผู้ป่วยคางทูมในเพศชาย มักจะมีอาการบวมของลูกอัณฑะเพียงข้างเดียว ทำให้การผลิตสเปิร์มลดลง อาจส่งผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์ แต่มักไม่ถึงกับทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากในผู้ป่วย อาการนี้จะเกิดขึ้นหลังเป็นโรคคางทูมตั้งแต่ 4–8 วัน หรือบางรายอาจนานถึง 6 สัปดาห์ สามารถบรรเทาอาการลงได้ด้วยตนเองโดยการประคบร้อนหรือประคบเย็น หรือสวมใส่กางเกงชั้นในที่กระชับ
  • รังไข่อักเสบ 1 ใน 20 ของผู้ป่วยคางทูมในเพศหญิง จะมีอาการปวดที่บริเวณท้องน้อย ป่วยและมีไข้สูง
  • เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากไวรัส สามารถเกิดขึ้นจากเชื้อไวรัสคางทูมแพร่กระจายเข้าสู่เยื่อหุ้มสมองซึ่งจะเกิดขึ้นกับผู้ป่วย 1 ใน 7 คน แต่จะไม่รุนแรงเท่าเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย
  • ตับอ่อนอักเสบ หรือตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน เป็นอาการอักเสบของตับอ่อนระยะสั้น อาการที่พบบ่อยที่สุดคือ เจ็บที่บริเวณหน้าท้อง อาจพบอาการท้องร่วง เบื่ออาหาร หรือมีไข้สูงร่วมด้วย
  • ไข้สมองอักเสบ สามารถเกิดขึ้นได้ 1 ใน 1,000 ของผู้ป่วยคางทูม เป็นอาการแทรกซ้อนที่พัฒนามาจากอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากไวรัส
  • สูญเสียการได้ยิน ในผู้ป่วยคางทูม 1 ใน 20 คนอาจสูญเสียการได้ยินแบบชั่วคราว และ 1 ใน 20,000 อาจสูญเสียการได้ยินแบบถาวร

การป้องกันโรคคางทูม

การป้องกันโรคคางทูมสามารถทำได้โดยการฉีดวัคซีน MMR (Measles-Mumps-Rubella Vaccine) เป็นการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ขนาด 0.5 มิลลิลิตร บริเวณกึ่งกลางต้นขาด้านหน้าในเด็กหรือต้นแขนในผู้ใหญ่ ซึ่งจะสามารถป้องกันได้ถึง 95% การรับวัคซีนจะเกิดขึ้นทั้งหมด 2 ครั้ง คือ

  • ครั้งแรกในเด็กอายุ 9–12 เดือน
  • ครั้งที่ 2 ในเด็กอายุ 2 ½ ปี หรือ 4–6 ปี

ในปี พ.ศ. 2556 กระทรวงสาธารณะสุข ประเทศไทย มีการแนะนำให้เปลี่ยนการฉีดวัคซีน MMR ครั้งที่ 2 จากเด็กอายุ 4–6 ปี เลื่อนเข้ามาเป็นอายุ 2 ½ ปี เพื่อเร่งการสร้างภูมิคุ้มกันในเด็กที่ได้รับวัคซีนครั้งแรกในอายุ 9 เดือนแล้วไม่ได้ผล

ส่วนในภาคเอกชน สำหรับเด็กที่รับวัคซีน MMR ครั้งแรกที่อายุ 12 เดือน อาจรับวัคซีนครั้งที่ 2 ที่อายุ 2 ½ ปี หรือ 4–6 ปีตามปกติก็ได้

ทุกคนสามารถช่วยกันลดการแพร่กระจายของโรคคางทูมได้ ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

  • ล้างมือให้สะอาดด้วยการฟอกสบู่
  • ใช้ทิชชู่ปิดปากเวลาไอหรือจามและทิ้งลงในถังขยะให้เรียบร้อย
  • เมื่อเริ่มสังเกตได้ว่ามีอาการของโรคคางทูม ควรหยุดพักอยู่ที่บ้านอย่างน้อย 5 วัน และหลีกเลี่ยงการไปโรงเรียน ที่ทำงานหรือสถานที่สาธารณะ