แรงบันดาลใจ รู้จักวิธีสร้างแรงใจในวันที่หมดไฟ

แรงบันดาลใจ หรือแรงจูงใจ (Motivation) เป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้เราไปถึงเป้าหมายหรือสิ่งที่ต้องการ แรงบันดาลใจจะกระตุ้นให้เรามีไฟและควบคุมตัวเองในการตั้งใจทำงานหรือเรียน กระตือรือร้นที่จะดูแลร่างกายและจิตใจให้ดีและมีความสุข ไม่ทำพฤติกรรมเสี่ยงที่จะทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ ซึ่งจะทำให้ความเป็นอยู่ของชีวิตและสุขภาพโดยรวมดีขึ้น

อย่างไรก็ดี การมีแรงบันดาลใจลุกโชนอยู่ตลอดอาจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเรามักจะรู้สึกเหนื่อยล้า ท้อแท้ และหมดหวังเมื่อเจอสถานการณ์ตึงเครียดและความล้มเหลวจากเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ทั้งนี้ การเข้าใจเหตุผลที่ทำให้สูญเสียแรงบันดาลใจ และฝึกวิธีช่วยเสริมสร้างแรงบันดาลใจ จะช่วยให้เราเดินทางไปสู่จุดหมายที่หวังไว้ได้ดีขึ้น

แรงบันดาลใจ

แหล่งที่มาของแรงบันดาลใจ

องค์ประกอบสำคัญของแรงบันดาลใจประกอบด้วยการตัดสินใจว่าเริ่มทำบางสิ่ง บวกกับความพยายามอย่างเข้มข้น และความสม่ำเสมอในการทำ โดยไม่ท้อถอยหรือล้มเลิกกลางคัน เพื่อให้ได้มาซึ่งเป้าหมายที่ต้องการ โดยที่มาของแรงบันดาลใจแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ

แรงบันดาลใจจากภายนอก (Extrinsic Motivation)

แรงบันดาลใจจากภายนอกอาจเป็นแรงกระตุ้นเชิงบวกที่ได้จากภายนอกตัวเรา มักเป็นผลตอบแทนความสำเร็จ เช่น ชื่อเสียง คำชื่นชม เงินโบนัส ถ้วยรางวัล ใบปริญญา หรืออาจเป็นสิ่งที่ทำให้กดดันและบังคับให้เราทำให้สำเร็จ เช่น กำหนดส่งงาน หรือผลลัพธ์ไม่ดีที่เราอยากหลีกเลี่ยง เช่น คำดุด่า และการถูกลงโทษ

แรงบันดาลใจจากภายใน (Intrinsic Motivation)

แรงบันดาลใจจากภายในคือแรงจูงใจที่เกิดขึ้นภายในตัวเราเอง โดยไม่มีปัจจัยภายนอกมากระตุ้นให้เราทำ มักเกิดจากความชอบส่วนตัวและความพึงพอใจ โดยไม่ได้หวังผลตอบแทน  เช่น 

  • ลงเรียนภาษา เพราะสนใจและอยากเรียนด้วยตัวเอง โดยไม่ได้หวังใบประกาศหรือเกรดเฉลี่ย
  • ทำความสะอาดบ้าน เพราะชอบให้บ้านสะอาดและเป็นระเบียบ โดยที่ไม่มีใครสั่งให้ทำ
  • หมั่นออกกำลังกาย เพราะรู้สึกสนุก และอยากมีสุขภาพดี

สาเหตุที่ทำให้เราสูญเสียแรงบันดาลใจ

การขาดแรงจูงใจหรือแรงบันดาลใจเป็นเรื่องปกติ โดยอาจเกิดขึ้นในช่วงสั้น ๆ จากความเครียด เหนื่อยล้า และหมดไฟ (Burnout) จากการเรียนหรือการทำงานหนัก รวมถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เช่น ปัญหาครอบครัว และความสัมพันธ์

นอกจากนี้ การสูญเสียแรงบันดาลใจอาจเกิดจากนิสัยส่วนตัว เช่น คนที่รักความสมบูรณ์แบบ (Perfectionist) มักตั้งเป้าหมายที่ทำได้ยาก และมีแนวโน้มเสียกำลังใจได้ง่ายเมื่อผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง หรืออาจเกิดจากความไม่มั่นใจในตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสามารถพอที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ให้สำเร็จ ซึ่งอาจบั่นทอนความรู้สึก และทำให้แรงบันดาลใจลดลง

การสูญเสียแรงบันดาลใจหรือการมีแรงจูงใจต่ำ อาจพบในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางจิตใจและการทำงานสมอง เช่น โรคเครียด โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคจิตเภท (Schizophrenia) อัลไซเมอร์ และโรคพาร์กินสัน  

8 เคล็ดลับเสริมสร้างแรงบันดาลใจ

หากรู้สึกหมดไฟ ไม่มีแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตหรือการทำงาน ให้ลองทำตามวิธีเหล่านี้

1. กระตือรือร้นในเช้าวันใหม่

วิธีสร้างแรงบันดาลใจข้อแรกคือการกระตุ้นตัวเองให้ลุกจากเตียง แปรงฟัน ล้างหน้า เปลี่ยนชุดนอนและอาบน้ำให้ร่างกายสดชื่น พร้อมกับท่องคำที่ช่วยกระตุ้นให้เรามีแรงจูงใจในการทำกิจกรรมในวันใหม่อย่างมีพลัง เช่น “ฉันทำได้” และ “วันนี้ต้องเป็นวันที่ดีแน่”

2. ตั้งเป้าหมายที่เป็นไปได้

การตั้งเป้าหมายใหญ่เกินไปหรือยากเกินความสามารถของเรา มักเป็นสาเหตุที่ทำให้รู้สึกเหนื่อยล้า ท้อ และสูญเสียแรงบันดาลใจได้ง่าย

ให้ลองตั้งเป้าหมายเล็ก ๆ ที่พอจะทำได้จริง เช่น ตั้งเป้าว่าจะค่อย ๆ ออมเงินเดือนละ 10% ของรายได้ แทนที่จะคิดว่าต้องรีบเก็บเงินให้ได้หลักล้าน หรือว่าจะเริ่มออกกำลังกายสัปดาห์ละ 3–4 วัน พร้อมกับควบคุมอาหาร แทนที่จะกำหนดว่าต้องลดน้ำหนักให้ได้เดือนละ 10 กิโลกรัม 

3. จัดระเบียบชีวิต

การจะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ สิ่งสำคัญคือการวางแผนชีวิต หากเราไม่กำหนดสิ่งที่ควรทำในแต่ละวัน อาจทำให้เราใช้ชีวิตแบบไม่มีจุดหมาย ไม่มีแรงบันดาลใจที่จะทำ และผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อย ๆ 

ควรใช้การจดบันทึกสิ่งที่ต้องทำแต่ละวัน เรียงลำดับความสำคัญ และทำสิ่งต่าง ๆ ทีละชิ้นตามที่จดไว้ จะช่วยให้ไม่หลงลืมสิ่งที่ต้องทำ ทำให้ชีวิตของเรามีระบบระเบียบมากขึ้น และยังช่วยให้คุณมีเวลาพักผ่อนในแต่ละวันมากขึ้นด้วย

4. หาเวลาพักผ่อนและคลายเครียด

อย่าลืมหาเวลาพักผ่อน โดยเฉพาะวันที่ทำงานหนักตลอดทั้งวัน อย่างน้อยควรหาเวลาพักสายตาในระหว่างวันสัก 10–15 นาที ก่อนจะไปทำงานต่อ จะช่วยให้รู้สึกสดชื่นและกระปรี้กระเปร่าขึ้น หรืออาจหาเวลาช่วงเย็นหลังเลิกงานไปกินอาหารอร่อย ๆ ดูหนังที่อยากดู ไปชอปปิ้งกับเพื่อนหรือคนในครอบครัว จะช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายความเหนื่อยล้าได้

นอกจากนี้ ควรทำกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายร่างกายและจิตใจ เช่น อาบน้ำอุ่น ฟังเพลง ฝึกหายใจ นั่งสมาธิ และโยคะ ซึ่งจะช่วยให้มีแรงบันดาลใจในการทำสิ่งต่าง ๆ ในวันถัดไป

5. จับคู่สิ่งที่ไม่อยากทำกับสิ่งที่ชอบ

เทคนิคนี้เหมาะสำหรับคนที่ไม่มีแรงบันดาลใจในตัวเอง การจับคู่สิ่งที่ไม่อยากทำเข้ากับสิ่งที่ชอบจะเป็นการเพิ่มแรงจูงใจให้รู้สึกอยากทำสิ่งนั้นให้เสร็จ เช่น ฟังเพลงที่ชอบขณะวิ่งออกกำลังกาย จุดเทียนหอมขณะนั่งทำงาน หรือดูรายการโทรทัศน์ที่ชอบขณะทำความสะอาดบ้านไปด้วย

6. ให้รางวัลตัวเองบ้าง

เมื่อทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งสำเร็จตามแผนที่วางไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยอย่างการออกกำลังกายได้ 15 นาที หรือทำความสะอาดห้องนอนเสร็จ ไปจนถึงความสำเร็จใหญ่ ๆ เช่น สอบได้คะแนนเต็ม หรือทำงานชิ้นใหญ่เสร็จลุล่วงด้วยดี ให้จดบันทึกความสำเร็จไว้ทั้งหมด และอย่าลืมให้รางวัลตอบแทนความพยายามและความสำเร็จนั้น จะช่วยให้มีแรงบันดาลใจในการตั้งใจสิ่งต่าง ๆ ต่อไป

7. หาแรงบันดาลใจเชิงบวก

หากกำลังท้อ เหนื่อยล้า หรือไม่มีพลังที่จะทำอะไรต่อ ควรหลีกเลี่ยงการรับพลังงานลบ ๆ จากภายนอกที่จะทำให้รู้สึกหมดแรงจูงใจมากขึ้น เช่น ไม่เสพข่าวสารหรือโซเชียลมีเดียที่ทำให้เครียดมากขึ้น หลีกเลี่ยงการอยู่กับคนที่ทำให้ไม่สบายใจ ให้อยู่กับเพื่อนสนิท หรือคนในครอบครัวที่เราสามารถพูดคุยได้อย่างสบายใจจะดีกว่า

8. ดูแลตัวเอง

การดูแลตัวเองคือการดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจให้แข็งแรง เช่น กินอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เพื่อให้ร่างกายได้รับพลังงานและสารอาหารที่เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนหลับให้เพียงพอ ดื่มน้ำให้เพียงพอ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ 

รวมทั้งฝึกความเมตตาต่อตัวเอง ซึ่งจะช่วยให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น ไม่โทษตัวเองเมื่อทำผิดพลาด และพร้อมที่จะเริ่มต้นใหม่ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยให้ไม่รู้สึกหมดหวัง และมีแรงบันดาลในการทำสิ่งต่าง ๆ ต่อไป

หากรู้สึกเครียด ท้อแท้ และไม่มีความสุขในชีวิตเป็นเวลานานกว่า 2 สัปดาห์ต่อเนื่องกัน หรือความรู้สึกแย่นั้นส่งผลเสียต่อการเรียน การทำงาน และการใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงมีอาการผิดปกติ เช่น นอนไม่หลับ หลง ๆ ลืม ๆ เบื่ออาหาร ไม่อยากทำอะไร รู้สึกไม่มีคุณค่า เก็บตัว ควรปรึกษาจิตแพทย์ เพื่อรับคำแนะนำในการรับมือกับปัญหา เพื่อช่วยให้กลับมามีแรงบันดาลใจอย่างเต็มเปี่ยมอีกครั้ง