แผลผ่าคลอด ควรดูแลอย่างไร

แผลผ่าคลอดเป็นผลจากการผ่าคลอด โดยแผลจะถูกเย็บปิดสนิทอยู่ใต้สะดือยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร คุณแม่ที่ผ่าคลอดควรปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัดในการดูแลสุขภาพร่างกายและรอยแผลเพื่อลดความเสี่ยงเกิดเกิดรอยแผลเป็นนูนหรือคีลอยด์ การเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ อันรวมไปถึงแผลติดเชื้อ นอกจากนั้น ควรเตรียมพร้อมด้วยการทำความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะแผล วิธีดูแลแผล และการป้องกันแผลติดเชื้อ เพื่อจะได้ดูแลแผลผ่าคลอดได้อย่างถูกต้อง

แผลผ่าคลอด

แผลผ่าคลอดเป็นอย่างไร

โดยทั่วไปแล้ว การผ่าตัดศัลยกรรมจะทำให้เกิดรอยแผลแก่ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัด เช่นเดียวกับสตรีมีครรภ์ส่วนใหญ่ที่ผ่าคลอด โดยมักปรากฏรอยเย็บแผลยาว 4-6 นิ้ว เป็นแนวนอนตามแนวขอบกางเกงชั้นในหรือแนวตั้งใต้สะดือ ขึ้นอยู่กับลักษณะการลงแผลตอนผ่าคลอด ในสัปดาห์แรกหลังจากผ่าคลอด ผิวชั้นนอกของแผลจะเริ่มติดกัน จากนั้นแผลจึงปิดสนิทและเปลี่ยนเป็นสีแดงอมม่วงอยู่นานประมาณ 6 เดือน ก่อนจะค่อย ๆ จางลงเป็นสีขาวและเรียบขึ้น ส่วนแผลที่กล้ามเนื้อท้องและมดลูกอาจใช้เวลานานหลายเดือนจึงจะหายดี ทั้งนี้ ผู้ผ่าคลอดบางรายอาจเกิดแผลเป็นคีลอยด์ แต่พบได้ไม่บ่อยนัก

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เข้ารับการผ่าคลอดควรหมั่นดูแลรักษาแผลให้ดี เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่แผล โดยหากสังเกตพบสัญญาณของการติดเชื้อดังต่อไปนี้ ควรรีบพบแพทย์ทันที

  • เจ็บบริเวณแผลหรือมดลูกมากกว่าปกติ
  • เกิดรอยแดง บวม และแสบร้อนที่แผล
  • มีหนองสีเขียวหรือเหลืองไหลออกมาจากแผล
  • ตกขาวมีกลิ่นไม่พึงประสงค์
  • มีเลือดออกทางช่องคลอดปริมาณมากหรือมีลิ่มเลือดขนาดใหญ่ออกมาด้วย
  • ขาบวมหรือเจ็บ
  • ไข้ขึ้นสูงกว่า 38 องศาเซลเซียส

ควรดูแลแผลผ่าคลอดอย่างไร

คุณแม่จะได้รับการดูแลแผลหลังผ่าคลอด โดยแพทย์จะทำแผลให้เรียบร้อย และเปลี่ยนผ้าพันแผลให้ในกรณีที่มีเลือดซึมออกมาจากแผล นอกจากนี้ คุณแม่ควรดูแลแผลด้วยตนเองตามคำแนะนำโดยปฏิบัติตามดังนี้

  • ไม่ยกของหนักในช่วง 6 สัปดาห์แรกหลังผ่าคลอด
  • หมั่นล้างแผลและทำความสะอาดผิวอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะผิวบริเวณเชิงกราน
  • ล้างมือก่อนสัมผัสแผลหรือทำแผลทุกครั้ง
  • ไม่ดึงปลายไหมเย็บแผลที่โผล่ออกมา ควรแจ้งแพทย์ให้เล็มปลายไหมให้ เพื่อป้องกันไหมเย็บแผลเกี่ยวเสื้อผ้า
  • อาบน้ำฝักบัวแทนการแช่น้ำในอ่าง
  • อาบน้ำด้วยสบู่ที่มีฤทธิ์อ่อน และไม่ถูสบู่ เจลอาบน้ำ หรือทาแป้งลงบนแผลโดยตรง
  • ซับแผลให้แห้งด้วยผ้าขนหนูสะอาด
  • สวมเสื้อผ้าและกางเกงชั้นในที่หลวม ไม่รัดแน่น เพื่อป้องกันการเสียดสีที่แผล
  • ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยากินหรือยาทาสำหรับรักษาแผลผ่าคลอดทุกครั้ง
  • คุณแม่อาจต้องหลีกเลี่ยงการใช้ครีมหรือเครื่องสำอางบางชนิดระหว่างอยู่ในช่วงให้นมบุตร เพราะอาจเป็นอันตรายต่อทารกได้
  • หมั่นเช็ดบริเวณผิวหนังที่เป็นรอยพับเหนือแผลผ่าตัดให้แห้งอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้บริเวณดังกล่าวชื้นเหงื่อ
  • ควรพบแพทย์ทันทีในกรณีที่พบสัญญาณการเกิดแผลติดเชื้อ เช่น เกิดรอยแดงที่แผล มีไข้ขึ้นสูง เป็นต้น
  • หลังแผลแห้งปิดสนิท ทาวิตามินอีที่แผลเพราะวิตามินอีจะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น ปกป้องผิวจากอนุมูลอิสระ โดยเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีวิตามินอีเข้มข้นสูงเป็นส่วนประกอบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแล, อัลเลียม ซีปาจะช่วยลดอาการอักเสบ และซิลิโคนจะช่วยป้องกันการเกิดแผลเป็นนูนซึ่งจะช่วยลดโอกาสในการเกิดแผลเป็นคีลอยด์

ป้องกันแผลผ่าคลอดติดเชื้ออย่างไร

หลังจากผ่าคลอด คุณแม่ควรหมั่นดูแลแผลเพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้อ ดังนี้

  • ดูแลแผลผ่าคลอดอย่างเคร่งครัดตามคำแนะนำของแพทย์ รวมทั้งซักถามข้อสงสัยเกี่ยวกับการดูแลแผลให้เข้าใจ
  • หากได้รับยาปฏิชีวนะ ควรรับประทานจนครบกำหนด ไม่หยุดยาหรือลดปริมาณยาเองโดยปราศจากคำแนะนำจากแพทย์
  • ทำความสะอาดและเปลี่ยนผ้าพันแผลอย่างสม่ำเสมอ
  • ควรซักถามแพทย์เกี่ยวกับคำแนะนำในการอุ้มและให้นมบุตร เพื่อเลี่ยงแผลถูกกดทับขณะอุ้มหรือให้นม
  • ไม่สวมเสื้อผ้าที่รัดแน่นหรือทาครีมบริเวณแผลผ่าคลอด
  • หลีกเลี่ยงไม่ให้ผิวหนังบริเวณแผลผ่าตัดเสียดสีกัน
  • ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายทันที หากรู้สึกไม่สบายหรือมีไข้ 
  • รีบไปพบแพทย์ทันที ในกรณีที่สงสัยว่าแผลติดเชื้อ

นอกจากนี้ ผู้ที่วางแผนมีบุตรและต้องการผ่าคลอดมีโอกาสเตรียมป้องกันแผลติดเชื้อได้ โดยดูแลสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อลดความเสี่ยงนี้ ได้แก่ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารให้ครบถ้วนตามหลักโภชนาการ รักษาปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ให้หายดีก่อนตั้งครรภ์ รวมทั้งอาจพิจารณาการคลอดบุตรแบบธรรมชาติ เนื่องจากเสี่ยงติดเชื้อหลังคลอดน้อยกว่าการผ่าคลอด