น้ำเกลือล้างแผล ใช้อย่างไรให้ถูกต้องและปลอดภัย

น้ำเกลือล้างแผล เป็นอุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่มักนำมาทำความสะอาดแผลจากอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรงนัก เช่น หกล้มเป็นแผลถลอก มีดบาดไม่ลึก แผลถูกของแหลมแทง และยังใช้ล้างแผลจากการเจาะร่างกายเพื่อสวมใส่เครื่องประดับ เช่น เจาะหู เจาะสะดือ ได้ด้วย โดยแผลเหล่านี้อาจใช้น้ำเกลือรักษาเป็นหลักเพียงอย่างเดียวและผู้ป่วยสามารถทำแผลด้วยตนเองได้ เพราะน้ำเกลือล้างแผลหาซื้อได้ง่ายตามร้านขายยาทั่วไป และไม่ทำให้ระคายเคืองหรือแสบร้อนบริเวณแผล ทั้งนี้ ควรศึกษาวิธีการทำความสะอาดแผลด้วยน้ำเกลืออย่างถูกต้องและเหมาะสมตามชนิดของแผลที่แตกต่างกัน

น้ำเกลือล้างแผล

วิธีทำความสะอาดแผลด้วยน้ำเกลือล้างแผล

แผล คือ อาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นบริเวณผิวหนังและเนื้อเยื่อร่างกาย อาจมีสาเหตุมาจากการหกล้ม การถูกของมีคมบาดหรือถูกวัตถุปลายแหลมแทง รวมถึงการเจาะร่างกาย เมื่อเกิดบาดแผลขึ้นและเป็นบาดแผลที่ไม่รุนแรงมาก ผู้ป่วยอาจรักษาแผลเองได้ด้วยการใช้น้ำเกลือล้างแผลที่บ้าน ซึ่งขั้นตอนการทำความสะอาดแผลด้วยน้ำเกลืออาจแตกต่างกันไปตามชนิดของแผล ดังนี้

บาดแผลทั่วไป

หลายคนอาจเข้าใจว่าการนำผ้าพันแผลหรือพลาสเตอร์มาปิดบริเวณบาดแผล จะช่วยป้องกันแผลจากสิ่งสกปรก แต่ในความเป็นจริง ควรล้างแผลให้สะอาดก่อนพันปิดบาดแผล โดยทำตามลำดับดังต่อไปนี้

  • ล้างมือให้สะอาดก่อนทำแผล และสวมถุงมือ หากมือมีแผล
  • หากทำแผลให้ผู้อื่น ให้ผู้บาดเจ็บอยู่ในท่านั่งหรือท่านอนเสมอ
  • หากแผลมีสิ่งปนเปื้อน ให้ล้างแผลก่อน โดยใช้น้ำเกลือราดล้างบาดแผลหรือให้น้ำสะอาดไหลผ่านบาดแผล อาจใช้ทิชชูเปียกที่ปราศจากแอลกอฮอล์หรือผ้าก๊อซเช็ดล้างทำความสะอาดแผล แต่ห้ามใช้สำลีเช็ดแผล เพราะเส้นใยอาจติดอยู่ในแผล และห้ามใช้น้ำยาฆ่าเชื้อล้างแผลเด็ดขาด เพราะอาจทำให้เนื้อเยื่อเกิดความเสียหาย และทำให้เกิดแผลบาดเจ็บเพิ่มเติมได้
  • หลังจากล้างสิ่งสกปรกออกจากแผลแล้ว นำผ้าก๊อซไปชุบน้ำเกลือล้างแผลให้เปียกหมาด ๆ แล้วทาหรือเช็ดบริเวณรอบ ๆ บาดแผล
  • ปิดแผลด้วยผ้าพันแผลหรือพลาสเตอร์ที่ปลอดเชื้อ

หากสังเกตเห็นเลือดซึมผ่านผ้าพันแผลออกมา ให้นำผ้าพันแผลอีกชิ้นมาปิดทับผ้าพันแผลอันเดิมแล้วกดแผลค้างไว้ และหากพบวัตถุอื่น ๆ ติดแน่นอยู่ในแผล ให้ไปรับการรักษาจากแพทย์หรือพยาบาล ไม่ควรพยายามนำวัตถุดังกล่าวออกเองโดยพลการ

แผลผ่าตัด

แผลผ่าตัดอาจมีขนาดหรือความยาวแตกต่างกันไปตามประเภทของการผ่าตัด โดยส่วนใหญ่ แพทย์จะเย็บปิดแผลไว้หลังผ่าตัด ซึ่งผู้ป่วยมักไม่ต้องทำแผลใด ๆ เพิ่มเติม แต่อาจต้องดูแลไหมเย็บแผลให้สะอาดและแห้งอยู่เสมอ ต้องไม่เกาหรือแกะบริเวณบาดแผล และงดการเล่นกีฬาต่าง ๆ เพื่อป้องกันการอักเสบหรือติดเชื้อ โดยผู้ป่วยควรสอบถามวิธีการดูแลแผลผ่าตัดอย่างละเอียด และผู้ป่วยอาจต้องดูแลหรือทำความสะอาดแผลด้วยตนเองที่บ้านจนกว่าแผลจะหายดี

ขั้นตอนการทำความสะอาดแผลผ่าตัดด้วยน้ำเกลือล้างแผล มีดังนี้

  • ล้างมือให้สะอาด หรืออาจล้างมือด้วยน้ำยาทำความสะอาดที่ผสมแอลกอฮอล์
  • ใช้ผ้าก๊อซเช็ดทำความสะอาดรอบ ๆ แผล
  • นำผ้าก๊อซไปชุบน้ำเกลือล้างแผลจนชุ่ม แล้วนำมาทาหรือเช็ดแผลเบา ๆ
  • เช็ดคราบเลือดแห้งและของเหลวอื่น ๆ ที่เกาะติดบริเวณแผลออกให้หมด

นอกจากนี้ ห้ามนำครีมทาผิวและสมุนไพรอื่น ๆ มาทารอบแผลหากไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ และห้ามทำความสะอาดแผลด้วยน้ำยาทำความสะอาดผิว แอลกอฮอล์ สารเปอร์ออกไซด์ ไอโอดีน หรือสบู่ขจัดแบคทีเรียเด็ดขาด เพราะผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอาจทำลายเนื้อเยื่อบริเวณแผล และทำให้แผลสมานตัวช้าลง  

แผลจากการเจาะร่างกาย

แผลที่เกิดจากการเจาะร่างกายอาจต้องรับการรักษาเช่นเดียวกับแผลชนิดอื่น ๆ และน้ำเกลือล้างแผลอาจเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยและดีที่สุดในการทำความสะอาดแผล ซึ่งวิธีการทำความสะอาดแผลจากการเจาะร่างกายด้วยน้ำเกลือ มีดังนี้

  • นำผ้าพันแผลชุบน้ำเกลือล้างแผลให้ชุ่ม แล้วประคบบริเวณแผลเจาะร่างกายจนน้ำเกลือซึมเข้าไปในแผล
  • หากน้ำเกลือยังไม่ซึมเข้าแผลเท่าที่ควร เพราะติดสะเก็ดน้ำเหลือง ให้นำผ้าไปชุบน้ำเกลือแล้วประคบซ้ำอีกหลาย ๆ ครั้ง ทำซ้ำเรื่อย ๆ จนครบ 5 นาที หรือจนกว่าน้ำเกลือจะซึมเข้าไปในแผลดีแล้ว และสะเก็ดน้ำเหลืองนุ่มลงจนหลุดออกจากผิวหนัง

วิธีทำน้ำเกลือล้างแผลด้วยตนเอง

หากไม่สะดวกไปหาซื้อน้ำเกลือล้างแผลจากร้านขายยา ผู้ป่วยอาจทำน้ำเกลือล้างแผลด้วยตนเองได้ตามวิธีดังต่อไปนี้

  • เตรียมน้ำกลั่นที่สะอาดปราศจากเชื้อประมาณ 3.8 ลิตร หรือน้ำประปาต้ม 5 นาทีประมาณ 3.8 ลิตร แต่ห้ามใช้น้ำทะเลหรือน้ำบาดาลมาทำน้ำเกลือ
  • นำเกลือที่บริโภคทั่วไปปริมาณ 8 ช้อนชา มาผสมกับน้ำที่เตรียมไว้ แล้วคนให้เกลือละลายจนหมด
  • นำน้ำเกลือที่ได้เทเก็บไว้ในภาชนะที่ผ่านการทำความสะอาดและปราศจากเชื้อ เช่น ขวดแก้ว หรือขวดน้ำที่ปิดสนิท
  • เก็บน้ำเกลือที่บรรจุใส่ภาชนะแล้วไว้ในอุณหภูมิห้อง ซึ่งน้ำเกลือที่ทำขึ้นสามารถใช้งานได้นานประมาณ 1 สัปดาห์

ข้อควรระวังในการใช้น้ำเกลือล้างแผล

ผู้ใช้น้ำเกลือล้างแผลควรอ่านฉลากบนผลิตภัณฑ์ก่อนใช้ทุกครั้ง และควรบันทึกวันที่เปิดใช้ขวดน้ำเกลือล้างแผล เพราะแบคทีเรียอาจเกิดขึ้นได้ภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากเปิดใช้ และหากใช้น้ำเกลือล้างแผลแล้วยังมีอาการเจ็บปวด บวมแดง มีหนองไหลออกมาจากแผล หรือสังเกตเห็นวัตถุติดอยู่ภายในแผล ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม หากบาดแผลเกิดจากอุบัติเหตุรุนแรง เป็นแผลขนาดใหญ่ แผลลึก แผลที่เป็นรอยกัดจากคนหรือสัตว์ แผลเก่าที่อาจติดเชื้อ แผลบริเวณหลอดเลือดแดงและข้อพับ หรือแผลมีเลือดออกอย่างต่อเนื่องแม้ผ่านการปฐมพยาบาลเบื้องต้นไปแล้วประมาณ 15-20 นาที ผู้ป่วยไม่ควรทำแผลด้วยตนเอง แต่ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป