ตัดไหม วิธีการและข้อควรระวัง

ตัดไหมเป็นขั้นตอนทางการแพทย์หลังบาดเจ็บจนแพทย์ต้องเย็บปิดแผล หลายคนอาจสงสัยว่าหลังจากเย็บแผลเสร็จแล้วต้องพักฟื้นนานแค่ไหนจึงจะตัดไหมได้ การตัดไหมมีขั้นตอนอย่างไร สามารถทำด้วยตนเองที่บ้านได้หรือไม่ ซึ่งการศึกษาข้อมูลต่อไปนี้จะช่วยไขข้อข้องใจต่าง ๆ ได้

1518 ตัดไหม Resized

การเย็บปิดบาดแผล 

เมื่อเกิดแผล แพทย์อาจพิจารณาเย็บแผลโดยใช้ด้ายหรือไหมเย็บบริเวณที่มีการฉีกขาดของผิวหนัง ซึ่งแพทย์จะใช้เข็มปักลงบนผิวหนังหรือเนื้อที่จะเย็บแล้วผูกด้ายเป็นปมเมื่อเย็บแผลเสร็จ เพื่อป้องกันแผลเปิดจนกว่าแผลจะสมานตัว

ส่วนวัสดุที่ใช้ในการเย็บแผลมีหลายชนิดด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเส้นใยไนลอน ไหม และไหมละลายที่สามารถสลายได้ด้วยเอนไซม์ในร่างกาย โดยไหมละลายนั้นเป็นชนิดที่นิยมนำมาใช้เย็บแผลบริเวณใบหน้า ริมฝีปาก หรือแผลภายในช่องปาก

ตัดไหมได้เมื่อไหร่ ? 

โดยปกติแล้ว การตัดไหมสามารถทำได้เมื่อครบ 7-14 วันหลังการเย็บแผล ซึ่งขึ้นอยู่กับบริเวณที่บาดเจ็บและความแน่นของการเย็บแผลด้วย หากแผลที่มีการฉีกขาดเกิดบริเวณหัวเข่าก็อาจต้องใช้ระยะเวลาในการรักษานานกว่าแผลบริเวณต้นขา เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีการเคลื่อนไหวมากจึงทำให้แผลสมานตัวช้า ส่วนแผลบริเวณใบหน้านั้น แพทย์อาจตัดไหมภายใน 5 วันหลังการเย็บแผล เนื่องจากเลือดไหลเวียนได้ดีจึงทำให้บาดแผลหายเร็วขึ้น ทั้งนี้ หลังจากเย็บแผลประมาณ 7-8 วัน อาจมีรอยแผลเป็นคล้ายรอยเย็บปรากฏรอบ ๆ ไหมเย็บแผล และแพทย์อาจพิจารณาเวลาที่เหมาะสมเพื่อตัดไหมออกเป็นกรณีไป

ตัดไหมทำอย่างไร ?

ขั้นตอนของการตัดไหม มีดังนี้

  • แพทย์จะใช้แหนบหรือคีมหนีบที่ผ่านการฆ่าเชื้อโรคดึงปมของไหมขึ้นมาเหนือผิวหนัง จากนั้นจะใช้กรรไกรสอดเข้าไปในไหมเย็บและตัดไหมออก
  • เมื่อตัดไหมแล้ว แพทย์จะค่อย ๆ ดึงไหมออกจากผิวหนัง ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกถึงแรงเสียดสีเล็กน้อย แต่อาจไม่รู้สึกเจ็บ
  • แพทย์จะทำความสะอาดแผลด้วยแอลกอฮอล์และสำลีหลังดึงไหมออกจากผิวหนังหมดแล้ว และอาจใช้เทปปิดแผลหรือผ้าพันแผลพันปิดบริเวณแผลเพื่อป้องกันแผลเปิด

ตัดไหมด้วยตัวเองได้ไหม ปลอดภัยหรือไม่ ? 

การตัดไหมนั้นไม่ควรทำด้วยตนเอง เพราะหากตัดไหมไม่ถูกวิธีหรือตัดไหมก่อนเวลาที่เหมาะสมอาจทำให้แผลแยก เกิดการติดเชื้อ และอาจเกิดรอยแผลเป็นได้ ดังนั้น ควรไปพบแพทย์เพื่อตัดไหมเย็บแผลออก โดยแพทย์จะสังเกตสัญญาณการติดเชื้อและตรวจดูว่าแผลมีความผิดปกติหรือไม่ หากแพทย์พบว่าแผลหายช้าก็อาจจำเป็นต้องเย็บแผลซ้ำอีกครั้งเพื่อช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น

หลังตัดไหม ดูแลแผลอย่างไร ? 

หลังตัดไหมออกแล้ว ควรปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังต่อไปนี้

  • ดูแลแผลให้แห้งและสะอาดอยู่เสมอ รวมทั้งหลีกเลี่ยงไม่ให้แผลสัมผัสแสงแดด
  • ดูแลไม่ให้แผลเปิด บวม หรือมีเลือดออก โดยใช้พลาสเตอร์หรือเทปปิดแผล และห้ามดึงเทปปิดแผลออกเด็ดขาด แต่ควรรอให้เทปปิดแผลหลุดออกเอง
  • ค่อย ๆ ล้างทำความสะอาดแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาด จากนั้นเช็ดแผลให้แห้งแล้วสังเกตบริเวณแผลว่ามีแผลแยกหรือพบสัญญาณของแผลติดเชื้อหรือไม่ เช่น อาการบวม แดง และมีหนอง เป็นต้น
  • ใช้ครีมกันแดดบริเวณผิวที่สัมผัสกับแดด เพื่อป้องกันรอยแผลเป็นหรือไม่ให้แผลเป็นเปลี่ยนเป็นสีที่เข้มขึ้น โดยอาจปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับยาที่ช่วยรักษาแผลเป็นให้จางลงด้วย

สังเกตอาการอันตรายหลังตัดไหม 

หากมีข้อสัยเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วย หรือมีอาการต่าง ๆ เกิดขึ้นหลังตัดไหม ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา เช่น

  • แผลแยกออกจากกัน
  • มีไข้ หนาวสั่น
  • รู้สึกเจ็บบริเวณบาดแผลมากขึ้น
  • บาดแผลมีกลิ่นเหม็น
  • บาดแผลมีรอยแดง แสบร้อน และมีหนอง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากพบอาการที่รุนแรงหลังตัดไหม ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เช่น

  • บาดแผลแยกออก หรือรู้สึกว่าแผลกำลังฉีกขาด
  • รู้สึกชาอย่างเฉียบพลันที่ผิวหนังบริเวณบาดแผล
  • มีเส้นสีแดงบริเวณแผล
  • ไม่สามารถเคลื่อนไหวข้อต่อได้