เจาะหู เรื่องต้องรู้ก่อนตัดสินใจ

เจาะหู เป็นแฟชั่นเพื่อความสวยความงาม และช่วยเสริมสร้างบุคลิกและความมั่นใจ แต่หากไปเจาะหูกับผู้ที่ไม่ชำนาญหรือมีการรักษาความสะอาดที่ไม่เพียงพอ ก็อาจเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือติดโรคต่าง ๆ เช่น ไวรัสตับอักเสบ บี บาดทะยัก หรือฝี ได้ ดังนั้น เบื้องต้นก่อนที่จะตัดสินใจไปเจาะหู ควรทำความเข้าใจและเตรียมตัวให้ดีก่อน เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

เจาะหู

ก่อนตัดสินใจเจาะหูควรเตรียมตัวอย่างไรบ้าง ?

ข้อควรคำนึงก่อนตัดสินใจจะไปเจาะหู ได้แก่

  • สำหรับวัยรุ่นที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ควรขออนุญาตหรือปรึกษากับผู้ปกครองก่อน
  • โดยส่วนใหญ่โรงเรียนจะไม่อนุญาตให้นักเรียนเจาะหูหรือเจาะอวัยะอื่น ๆ บนใบหน้า ดังนั้น วัยรุ่นหรือเด็กวัยเรียนหนังสือควรตรวจสอบกฎระเบียบของโรงเรียนก่อน
  • บางหน่วยงานหรือบริษัทจะไม่รับพนักงานที่เจาะหูหรือเจาะอวัยวะอื่น ๆ บนใบหน้า ดังนั้น ก่อนเจาะหูควรดูถึงความเหมาะสมในการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวันของตนเอง
  • โดยส่วนใหญ่หน่วยงานที่รับบริจาคเลือด มักจะไม่รับผู้ที่มีประวัติเจาะหูหรือส่วนอื่น ๆ ของร่างกายภายในช่วงระยะเวลา 1 ปี ก่อนหน้า ดังนั้น ผู้ที่ต้องการบริจาคเลือดควรตรวจสอบและวางแผนก่อนไปเจาะเลือด
  • ก่อนที่จะรับการเจาะหู ควรตรวจสอบว่าตนเองมีภูมิต้านทานโรคจากวัคซีนป้องกันโรค เช่น ไวรัสตับอักเสบ บี หรือบาดทะยัก อยู่หรือไม่ เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดโรคดังกล่าว

การเลือกสถานที่ที่จะไปเจาะหูควรคำนึงถึงอะไรบ้าง ?

เบื้องต้นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการเลือกสถานที่ที่จะไปเจาะหู คือสภาพแวดล้อมที่สะอาดและมีการดูแลอุปกรณ์ที่ดีได้มาตรฐาน นอกจากนั้น เพื่อความปลอดภัยของตนเองอาจปฏิบัติดังต่อไปนี้

  • ตรวจสอบว่ามีสถานพยาบาลที่ใดหรือปรึกษาแพทย์ เพราะโรงพยาบาลบางแห่งจะมีแพทย์ที่สามารถเจาะหูให้ได้ เช่น แพทย์โรคผิวหนัง ซึ่งจะทำให้ผู้ที่ต้องการเจาะหูมั่นใจได้ถึงความสะอาดของอุปกรณ์และขั้นตอนการเจาะหูที่ถูกต้อง
  • ควรปรึกษาแพทย์และขอคำแนะนำว่าควรไปเจาะหูที่ใด ในกรณีที่ไม่สามารถหาแพทย์เพื่อเจาะหูได้
  • สืบค้นข้อมูลว่าสถานที่ที่ตนเองจะไปเจาะหู มีการให้บริการและขั้นตอนที่มีความปลอดภัย หรือมีใบรับรองจากหน่วยงานของรัฐหรือไม่
  • หากเลือกที่จะไปเจาะหูตามร้านหรือศูนย์การค้าทั่วไป ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าพนักงานที่จะเจาะหูให้ ได้ใช้อุปกรณ์ที่ปลอดเชื้อหรืออุปกรณ์เจาะหูที่ใช้แล้วทิ้งทันที และไม่นำของมีคมที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่
  • ตรวจสอบดูว่าผู้ที่จะเจาะหูให้ ทำความสะอาดหรือล้างมือด้วยสบู่ฆ่าเชื้อโรค รวมไปถึงใส่ถุงมือคู่ใหม่ทุกครั้งหรือใหม่
  • ควรเลือกร้านที่ใช้เครื่องอบความร้อนสูงด้วยไอน้ำ ซึ่งจะใช้สำหรับฆ่าเชื้ออุปกรณ์ที่ใช้เจาะหู
  • การเลือกใช้เข็มเจาะมักจะมีความสะอาดและง่ายต่อการฆ่าเชื้อมากกว่าการใช้ปืนเจาะ แต่หากเลือกที่จะใช้ปืนเจาะ ควรแน่ใจว่าปืนเจาะนั้นใช้แล้วทิ้งทันที ไม่นำกลับมาใช้ใหม่ หรือควรผ่านขั้นตอนการฆ่าเชื้ออย่างถูกต้อง นอกจากนั้น ปืนเจาะหูควรใช้สำหรับเจาะที่ติ่งหูเท่านั้น เพราะปืนเจาะจะสร้างความเสียหายให้กับเนื้อเยื่อผิวหนังมากกว่าการใช้เข็ม

นอกจากนั้น ผู้ที่ต้องการเจาะหูไม่ควรเจาะหูด้วยตนเองหรือให้ผู้อื่นมาเจาะให้ รวมไปถึงเลือกที่จะไปเจาะหูกับร้านที่ดูไม่สะอาดหรือไม่น่าไว้ใจ เพราะอาจทำให้เสี่ยงติดเชื้อหรือได้รับโรคต่าง ๆ ตามมา

การดูแลตนเองภายหลังเจาะหู

แผลที่เกิดขึ้นหลังเจาะหูจะมีการฟื้นฟูที่แตกต่างกันไป โดยจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เจาะ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเจาะที่ติ่งหู ซึ่งแผลจะใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟูประมาณ 6-8 สัปดาห์ หรือถ้าเป็นบริเวณกระดูกอ่อนที่ใบหู แผลก็จะใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟูประมาณ 4 เดือน ถึง 1 ปี

การดูแลตนเองภายหลังการเจาะหู มีดังนี้

  • ควรล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาดทุกครั้ง ก่อนที่จะทำความสะอาดบริเวณใบหูหรือต่างหู
  • ควรทำความสะอาดบริเวณที่เจาะหูรวมไปถึงหลังใบหู ด้วยสำลีชุบแอลกอฮอล์  ไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์ หรือสารละลายที่ใช้สำหรับทำความสะอาด วันละ 2 ครั้ง
  • ควรทำความสะอาดต่างหูด้วยน้ำเกลือ และควรให้แน่ใจว่าต่างหูสะอาดอยู่เสมอ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการติดเชื้อ
  • หลังจากเจาะหู ควรค่อย ๆ หมุนและขยับต่างหูไปข้างหน้าและหลัง เพื่อคงรูปของรูที่เจาะไว้
  • ต่างหูที่ใส่ไม่ควรแน่นเกินไป
  • ไม่ควรเอาต่างหูที่ใส่ไว้หลังจากการเจาะออก จนกว่าจะผ่านไปอย่างน้อยเป็นระยะเวลา 6 สัปดาห์ เพื่อป้องกันไม่ให้รูที่เจาะอุดตัน
  • หลังจากผ่านไปเป็นระยะเวลา 6 สัปดาห์ ควรเอาต่างหูอันเก่าออกและใส่อันใหม่ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งจะทำให้รูที่เจาะคงอยู่อย่างถาวร
  • ควรเลือกใช้ต่างหูที่มีคุณภาพดีเพื่อลดโอกาสในการแพ้หรือติดเชื้อ

เจาะหูมีความเสี่ยงต่อสุขภาพอย่างไร ?

โดยทั่วไปหากเจาะหูกับผู้ที่มีความชำนาญ อุปกรณ์และสภาพแวดล้อมที่สะอาด มักจะมีความปลอดภัย แต่หากอุปกรณ์ที่ใช้ในการเจาะหูไม่สะอาดหรือปนเปื้อน ผู้ที่เจาะหูอาจเสี่ยงได้รับโรคที่ติดต่อทางกระแสเลือด ซึ่งได้แก่

ความเสี่ยงทั่วไปที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ที่เจาะหู ถึงแม้ว่าจะอยู่ในสภาพแวดล้อมหรือใช้อุปกรณ์ที่ปลอดเชื้อ ได้แก่

  • การติดเชื้อเรื้อรัง
  • ภูมิแพ้ผิวหนังหรือการแพ้วัสดุที่ใช้ทำต่างหู
  • ฝี
  • เกิดการอักเสบหรือความเสียหายต่อเส้นประสาท
  • มีเลือดไหลเยอะหรือเป็นเวลานาน
  • ผู้ที่ตัดสินใจเจาะหูบริเวณกระดูกอ่อนของใบหู อาจทำให้เกิดการอักเสบของกระดูกอ่อนของใบหู (Perichondritis) ซึ่งอาจทำให้เกิดผลที่ร้ายแรงตามมาภายหลัง ถึงขั้นใบหูเสียรูป (Cauliflower Ear) 

ทั้งนี้ ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์ ผู้ที่ใช้ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด รวมไปถึงผู้ที่สงสัยว่าตนเองกำลังตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนที่จะตัดสินใจเจาะหูหรือเจาะอวัยวะส่วนใด ๆ ของร่างกาย เพื่อความปลอดภัยและลดความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาต่อสุขภาพ

นอกจากนั้น บางคนอาจมีความเชื่อว่าการรับประทานไข่หลังเจาะหูทำให้แผลหายช้า แต่ความจริงแล้วสามารถรับประทานไข่ได้ตามปกติ โดยไข่ยังอาจทำให้แผลหายเร็วขึ้นด้วย เนื่องจากไข่มีโปรตีน และโปรตีนสามารถช่วยซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่เกิดการบาดเจ็บได้