คลอดธรรมชาติ รู้พร้อมก่อนคลอด

คลอดธรรมชาติ หมายถึงการคลอดลูกเองโดยไม่ใช้การผ่าตัด ซึ่งอาจมีการใช้ยาช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดขณะคลอดหรือใช้เครื่องมือทางการแพทย์เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่คุณแม่ในการคลอดด้วย เช่น การติดเครื่องอัลตราซาวด์ดูเด็กในท้อง หรือการเย็บแผลตัดขยายปากช่องคลอด

ทั้งนี้ ควรวางแผนพูดคุยปรึกษากับแพทย์เกี่ยวกับวิธีการคลอดก่อน โดยคุณแม่ที่ครรภ์มีความเสี่ยงน้อยหลายคนสามารถเลือกคลอดธรรมชาติได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับคุณแม่ที่ครรภ์มีความเสี่ยงสูงหรือมีภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ แพทย์อาจแนะนำให้ใช้การผ่าคลอดแทน เนื่องจากการคลอดธรรมชาติอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ปลอดภัย

คลอดธรรมชาติ

เหตุผลที่คุณแม่ควรคลอดธรรมชาติ

การคลอดธรรมชาติถือเป็นวิธีการคลอดที่ปลอดภัยสำหรับคุณแม่ที่ครรภ์มีสุขภาพดี ไม่มีความเสี่ยงต่าง ๆ เช่น คุณแม่อายุเกิน 35 ปี มีการดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้สารเสพติดขณะตั้งครรภ์ ตั้งครรภ์แฝด เกิดภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ เคยผ่านการผ่าตัดมดลูกหรือมีปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือด

นอกจากนี้ การคลอดธรรมชาติยังมีข้อดีอีกมากมาย เช่น

  • โอกาสเกิดอันตรายหรือผลข้างเคียงจากการทำคลอดต่อแม่และเด็กมีน้อย
  • คุณแม่สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ และสามารถขยับเปลี่ยนท่าทางที่ช่วยให้รู้สึกสบาย อีกทั้งยังทำให้คุณแม่รู้สึกมีส่วนร่วมในการคลอดเมื่อถึงเวลาต้องเบ่งลูกออกมา
  • พ่อของเด็กอาจสามารถอยู่ใกล้ ๆ เพื่อเป็นกำลังใจและช่วยภรรยารับมือกับความเจ็บปวดจากการคลอดได้
  • คุณแม่รู้สึกมีพลังและภาคภูมิใจเมื่อคลอดสำเร็จ โดยหญิงหลายคนที่เคยคลอดธรรมชาติมาก่อนก็มักจะเลือกคลอดด้วยวิธีนี้อีกในการตั้งครรภ์ครั้งต่อมา
  • คุณแม่อาจฟื้นตัวจากการคลอดธรรมชาติได้เร็วกว่าการผ่าคลอด

การเตรียมตัวก่อนการคลอดธรรมชาติ

คุณแม่ที่ตัดสินใจคลอดธรรมชาติควรเตรียมพร้อมด้วยการเลือกโรงพยาบาลที่มีผู้เชี่ยวชาญในการทำคลอดแบบธรรมชาติ จากนั้นปรึกษาและเตรียมวางแผนการคลอดกับแพทย์ โดยพูดคุยถึงความต้องการเกี่ยวกับการคลอดของตนเองอย่างชัดเจน รวมทั้งปรึกษาว่าจำเป็นต้องใช้ยาหรืออุปกรณ์ใดช่วยในการทำคลอดบ้าง 

แพทย์มีการใช้เครื่องตรวจอัลตราซาวด์ดูการเต้นของหัวใจทารกในครรภ์ และในกรณีที่จำเป็น แพทย์อาจใช้การบล็อกหลัง ซึ่งเป็นการฉีดยาชาเข้าที่ข้อต่อกระดูกไขสันหลัง (Epidural block) หรือฉีดยาชาเข้าไปในน้ำไขสันหลัง (Spinal block) เพื่อลดความเจ็บปวดในการคลอด อย่างไรก็ตาม การบล็อกหลังหรือการฉีดยาชามักไม่จำเป็นต้องใช้ในการคลอดธรรมชาติ

นอกจากนี้ คุณแม่ยังควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการคลอดแบบธรรมชาติ และวิธีบรรเทาอาการเจ็บขณะคลอด เช่น การฝึกหายใจเพื่อให้รู้สึกผ่อนคลาย หรือการเบี่ยงเบนความสนใจไปที่อื่นแทนความรู้สึกเจ็บขณะคลอด โดยการเตรียมตัวไว้ก่อนอาจช่วยคลายกังวลและความเครียด ซึ่งเป็นเรื่องดี เพราะความกังวลอาจส่งผลให้ฮอร์โมนความเครียดเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อการหดรัดตัวของมดลูก และทำให้การคลอดล่าช้าได้

อย่างไรก็ตาม คุณแม่ควรวางแผนเกี่ยวกับทางเลือกอื่นในการคลอดไว้ให้พร้อมสำหรับกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินและจำเป็นต้องใช้การผ่าคลอดเข้าช่วย เช่น ทารกไม่อยู่ในท่าเอาหัวลง ทารกตัวใหญ่เกินกว่าจะคลอดทางช่องคลอดได้ หรือเกิดภาวะเครียดของทารกในครรภ์ ซึ่งกรณีเหล่านี้อาจจำเป็นต้องใช้การผ่าคลอดเพื่อความปลอดภัยของแม่และเด็ก

ขั้นตอนการคลอดธรรมชาติ

คุณแม่ที่พร้อมคลอดอาจต้องเผชิญกับระยะการคลอด 3 ระยะ ได้แก่

1. ระยะปากมดลูกขยายออกและบางตัวลง

ในระยะปากมดลูกขยายออกและบางตัวลงอาจแบ่งออกเป็นระยะย่อยได้ ดังนี้

ระยะปากมดลูกเปิดตัวช้า

คุณแม่อาจมีอาการใกล้คลอด โดยอาจเริ่มรู้สึกถึงการหดรัดตัวเบา ๆ ของปากมดลูก ซึ่งการหดรัดตัวนี้อาจส่งผลให้ปากมดลูกเปิดออกและบางตัวลงเพื่อให้ทารกเคลื่อนมายังช่องทางการคลอด บางรายปากมดลูกอาจขยายออกประมาณ 3–4 เซนติเมตร และมีอาการปวดหลังส่วนล่าง ปวดท้องหรือปวดตึง ๆ บริเวณเชิงกราน รวมทั้งมีของเหลวสีออกชมพูหรือสีปนเลือดถูกขับออกมาด้วย

สำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ครั้งแรก ระยะนี้อาจใช้เวลาประมาณ 8–18 ชั่วโมง แต่สำหรับครรภ์ที่ 2 หรือ 3 อาจผ่านจากระยะนี้ได้เร็วกว่า โดยในช่วงนี้ คุณแม่อาจยังสามารถทำกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อคลายกังวลได้ เช่น ฟังเพลง ดูทีวี ฝึกหายใจเพื่อผ่อนคลาย หรือเปลี่ยนท่าทาง ซึ่งอาจช่วยให้รู้สึกสบายตัวยิ่งขึ้น

ระยะปากมดลูกเปิดตัวเร็ว 

ในระยะนี้ ปากมดลูกอาจค่อย ๆ หดรัดตัวถี่และรุนแรงยิ่งขึ้น ทำให้เกิดความรู้สึกเจ็บท้อง หลังส่วนล่าง และต้นขา ขาเป็นตะคริว และคลื่นไส้ บางรายอาจมีน้ำคร่ำแตกออกมา แต่บางรายที่น้ำคร่ำไม่แตกก็อาจรู้สึกถึงแรงกดที่หลังยิ่งขึ้น คุณแม่ควรรีบไปโรงพยาบาลเมื่อสังเกตเห็นสัญญาณใกล้คลอดเหล่านี้

ระยะนี้อาจคงอยู่ประมาณ 3–5 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้น ระหว่างนี้คุณแม่อาจลองใช้วิธีการฝึกหายใจเพื่อต่อสู้กับความเจ็บที่เพิ่มมากขึ้น และหากขยับตัวได้โดยไม่มีเครื่องตรวจอัลตราซาวด์ติดที่ท้อง ก็อาจลองเปลี่ยนท่าทางหรือใช้การนวดผ่อนคลายเพื่อบรรเทาความรู้สึกเจ็บ

ระยะเปลี่ยนผ่าน

ระยะนี้เป็นช่วงสุดท้ายของการคลอดระยะที่ 1 โดยปากมดลูกจะขยายออก 8–10 เซนติเมตร และมีการหดรัดตัวถี่ขึ้น จนคุณแม่อาจรู้สึกถึงแรงกดบริเวณหลังส่วนล่างและบริเวณช่องทวารหนัก

อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่มีความรู้สึกอยากเบ่งคลอดเกิดขึ้น ควรรีบบอกแพทย์ทันที เพราะหากปากมดลูกยังไม่ขยายเต็มที่ แพทย์อาจให้คุณแม่กลั้นไว้ก่อน เนื่องจากการเบ่งที่รวดเร็วเกินไปจะทำให้รู้สึกเหนื่อยล้า ช่องคลอดบวม และส่งผลให้การคลอดล่าช้าออกไปได้

2. ระยะเบ่งคลอด 

ระยะเบ่งคลอดเป็นช่วงเวลาแห่งการคลอดของคุณแม่ที่อาจใช้เวลาประมาณ 2–3 ชั่วโมงในการเบ่งคลอด โดยแพทย์จะบอกให้ออกแรงเบ่งเมื่อเกิดการหดรัดตัวของมดลูก หรือคอยให้จังหวะในการเบ่งคลอด นอกจากนี้ แพทย์อาจแนะนำให้คุณแม่เบ่งเบา ๆ หรือไม่ต้องเบ่งเลยในบางช่วง เพื่อให้เวลาเนื้อเยื่อบริเวณช่องคลอดได้ยืดตัวออกและป้องกันการฉีกขาด 

คุณแม่ควรเพ่งความสนใจทั้งหมดไปที่การเบ่งเมื่อแพทย์ให้จังหวะ หากหัวของทารกออกมาแล้ว ลำตัวส่วนที่เหลือก็จะตามออกมาในไม่ช้า เมื่อทารกคลอดออกมาแล้ว แพทย์อาจทำความสะอาดทางเดินหายใจของเด็กแล้วจึงตามด้วยการตัดสายสะดือ

3. ระยะคลอดรก 

หลังจากที่คลอดทารกสำเร็จ แพทย์อาจขอให้ออกแรงเบ่งอีกครั้งเพื่อคลอดรกออกมา เมื่อคลอดรกออกมาแล้ว แพทย์จะตรวจดูความสมบูรณ์ของรก รวมถึงส่วนอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องนำออกมาจากมดลูกเพื่อป้องกันไม่ให้มีเลือดออกหรือเกิดการติดเชื้อ

โดยก่อนและหลังการคลอดรกนี้ แพทย์อาจให้ยากระตุ้นการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อมดลูกและลดการมีเลือดออก หรือให้คุณแม่ลองให้นมลูกเพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการหดรัดตัวของช่องคลอด และนวดเบา ๆ ที่ท้องเพื่อกระตุ้นให้รกลอกตัวออกมา ซึ่งระยะนี้อาจใช้เวลาประมาณ 30 นาทีหรือนานกว่านั้น ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล 

สิ่งที่ควรรู้หลังการคลอดธรรมชาติ

หลังการคลอดธรรมชาติ มดลูกอาจยังคงหดรัดตัวต่อไปเพื่อช่วยให้กลับคืนไปสู่สภาพปกติ ระหว่างนี้แพทย์หรือพยาบาลอาจช่วยนวดช่องท้องเพื่อให้แน่ใจว่ามดลูกยังกระชับ รวมถึงพิจารณาว่าจำเป็นต้องเย็บหรือซ่อมแซมรอยฉีกที่เกิดขึ้นบริเวณช่องคลอดหรือไม่ โดยการเย็บแผลบริเวณดังกล่าวจะมีการให้ยาชาเฉพาะที่ก่อนการเย็บ

นอกจากนี้ คุณแม่อาจให้นมลูกได้ทันทีหลังการคลอด แต่ควรให้ในขณะที่เด็กทารกต้องการน้ำนม ระหว่างนี้อาจอุ้มให้ริมฝีปากของลูกอยู่ใกล้หน้าอกของตนเองสักพัก เพราะทารกส่วนใหญ่จะเริ่มดูดนมแม่ตั้งแต่ช่วงชั่วโมงแรกหลังคลอด หากคุณแม่คอยอุ้มให้ทารกอยู่ใกล้ ๆ หน้าอกไว้

โดยการให้นมลูกแต่แรกคลอดนั้นเป็นผลดีต่อลูกและยังทำให้คุณแม่เกิดความรู้สึกพึงพอใจที่ได้ให้นมลูก นอกจากนี้การให้นมยังเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายปล่อยฮอร์โมนออกซีโทซิน (Oxytocin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำให้เกิดการหดรัดตัวของมดลูก ช่วยให้มดลูกกระชับตัวและหดรัดตัวกลับเข้าที

ในกรณีที่คุณแม่ไม่ได้ให้นมลูกหรือปากมดลูกไม่หดตัวกลับ แพทย์อาจให้ออกซีโทซินเพื่อช่วยให้มดลูกหดตัว ในระหว่างนี้ การหดรัดตัวของปากมดลูกจะค่อนข้างเบา คุณแม่ที่เพิ่งคลอดครั้งแรกอาจรู้สึกถึงการหดตัวเพียงเล็กน้อย แต่หากเคยคลอดลูกมาก่อนก็อาจรู้สึกว่าปากมดลูกหดรัดตัวเป็นครั้งคราวเป็นเวลา 1–2 วันหลังจากการคลอด

ทั้งนี้ ช่วงหลังคลอดใหม่ ๆ คุณแม่อาจเผชิญกับอาการหลังคลอด เช่น รู้สึกปวดคล้ายอาการปวดประจำเดือน รู้สึกอ่อนเพลีย อาการหนาวหรือสั่น ซึ่งถือเป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นได้โดยธรรมชาติ และอาจหายได้เองเมื่อเวลาผ่านไปสักพัก โดยการฟื้นตัวหลังจากคลอดธรรมชาติอาจใช้เวลาประมาณ 2–3 วัน และอาจใช้เวลาฟื้นตัวอย่างเต็มที่ประมาณ 6–8 สัปดาห์