แปะก๊วยและคุณประโยชน์ทางการแพทย์

แปะก๊วย พืชพื้นเมืองเก่าแก่ที่มีมาแต่โบราณโดยเฉพาะในแถบประเทศจีน เกาหลี และญี่ปุ่น มีลำต้นขนาดใหญ่ ใบเป็นรูปพัด แปะก๊วยมีการนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการรักษาแบบแพทย์แผนจีนโดยเชื่อว่ามีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบสมอง ความคิด รวมถึงระบบไหลเวียนเลือด นอกจากนี้เมล็ดแปะก๊วยยังสามารถนำมาประกอบอาหารได้อีกด้วย

แปะก๊วย

ใบแปะก๊วยประกอบไปด้วยสารออกฤทธิ์หลักที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายอยู่ 2 ชนิด คือ ฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) และเทอร์พีนอยด์ (Terpenoids) ซึ่งมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ มีการนำมารับประทานโดยเชื่อว่าอาจช่วยกระตุ้นระบบไหลเวียนโลหิตซึ่งอาจช่วยเสริมสร้างการทำงานของสมอง ตา หู และขาให้ดีขึ้น บรรเทาอาการของโรคอัลไซเมอร์ การสูญเสียความทรงจำ สมาธิสั้น ปวดศีรษะ วิงเวียน หูอื้อ ความผิดปกติทางการได้ยิน นอกจากนี้ในเมล็ดแปะก๊วยยังประกอบไปด้วยสารที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อในร่างกาย แต่ก็อาจมีท็อกซิน (Toxin) หรือพิษที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้มีอาการชักหรือหมดสติ

ทั้งนี้ข้อพิสูจน์หรือหลักฐานทางการแพทย์มีมากน้อยเพียงใดที่จะช่วยยืนยันสรรพคุณ ประโยชน์ และความปลอดภัยของการรับประทานแปะก๊วย สารสกัดจากแปะก๊วย รวมถึงสารสกัดจากใบแปะก๊วยที่มีบทบาทหรือส่วนช่วยในการรักษาโรคเหล่านี้

การรักษาด้วยแปะก๊วยที่อาจได้ผล

โรควิตกกังวล การขาดหลักฐานและข้อสรุปในปัจจุบันเกี่ยวกับประสิทธิภาพของแปะก๊วยที่มีต่ออาการทางระบบประสาท เช่น ออทิสติก ภาวะซึมเศร้า สมาธิสั้น รวมถึงโรควิตกกังวล ทำให้มีการศึกษาโดยการทบทวนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับประสิทธิภาพของแปะก๊วยต่อโรคทางจิตประสาทรวมถึงโรควิตกกังวลทั่วไป โดยสุ่มให้ผู้ป่วยจำนวน 82 คน รับประทานสารสกัดจากใบแปะก๊วยขนาด 480 มิลลิกรัมต่อวัน หรือ 240 มิลลิกรัมต่อวัน พบว่าผู้ป่วยมีการตอบสนองต่อการรักษาที่ 41% และ 31% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับยาหลอกที่มีการตอบสนองเพียง 22% และมีความปลอดภัยอยู่ในระดับที่ดี จึงอาจได้ผลในการรักษาโรควิตกกังวล แต่ก็ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม

ความคิดความจำ ในปัจจุบันยังมีการถกเถียงเกี่ยวกับประสิทธิภาพของแปะก๊วยในการพัฒนาความคิดความจำ แต่งานวิจัยส่วนใหญ่แนะนำว่าการรับประทานแปะก๊วยอาจช่วยพัฒนาความคิดความจำและสมาธิได้เล็กน้อยในผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดี โดยที่การรับประทานในปริมาณ 120-240 มิลลิกรัมต่อวันเป็นขนาดที่ดูเหมือนจะมีประสิทธิภาพมากกว่าการรับประทานในปริมาณมากหรือ 600 มิลลิกรัมต่อวัน นอกจากนี้ยังมีการวิจัยบางส่วนศึกษาเกี่ยวกับการรับประทานแปะก๊วยร่วมกับสมุนไพรหรืออาหารเสริมประเภทอื่น ๆ เช่น โสม หรือตังเซียม ที่อาจช่วยพัฒนาความคิดความจำได้ดีกว่าการรับประทานแปะก๊วยเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม การรับประทานแปะก๊วยร่วมกับโสมไม่อาจช่วยทำให้ความคิดหรืออารมณ์ของผู้หญิงวัยทองดีขึ้นได้ จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยต่อไปเพื่อยืนยันประสิทธิภาพของแปะก๊วย

ต้อหิน เป็นสาเหตุที่นำไปสู่การสูญเสียเซลล์ปมประสาทม่านตาและใยประสาทแอกซอน (Axons) รวมถึงความดันตาที่เพิ่มสูงขึ้นอาจทำให้ตาบอด จึงเกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพของแปะก๊วยต่อความดันตา ทำให้มีงานวิจัยพบว่าการลดความดันตายังคงเป็นวิธีการรักษาต้อหินที่เป็นที่ยอมรับในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามสารสกัดจากแปะก๊วยอาจเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยต้อหิน และอาจใช้เป็นทางเลือกหนึ่งในการบำบัดรักษาผู้ป่วยต้อหินแบบความดันตาปกติ (Normal Tension Glaucoma) และแบบความดันตาสูง (High Tension Glaucoma)

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งให้ผู้ป่วยที่มีลานสายตาผิดปกติจากต้อหินจำนวน 27 คน รับประทานสารสกัดจากแปะก๊วยขนาด 40 มิลลิกรัม 3 ครั้งต่อวัน เป็นเวลา 4 สัปดาห์ จากนั้นเว้นระยะพักไป 8 สัปดาห์ และรับประทานยาหลอกที่มีส่วนผสมของฟรักโทส 40 มิลลิกรัมต่อเป็นเวลา 4 สัปดาห์ จากผลการทดลองพบว่าแปะก๊วยอาจช่วยทำให้ลานสายตาที่ผิดปกติจากต้อหินมีอาการดีขึ้น แต่เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างมีจำนวนน้อย จึงยังจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันประสิทธิภาพของแปะก๊วยต่อไป

อาการก่อนมีประจำเดือน เป็นอาการเรื้อรังชนิดหนึ่งที่ผู้หญิงส่วนใหญ่ในวัยมีประจำเดือนต่อประสบพบเจอ ซึ่งอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้การรักษาด้วยสมุนไพรเป็นทางเลือกหนึ่งที่อาจช่วยบรรเทาอาการและเกิดผลข้างเคียงได้น้อยกว่า จึงมีการทดลองชิ้นหนึ่งสุ่มให้นักศึกษาหญิงที่มีอาการก่อนมีประจำเดือนทั้งหมด 90 คนรับประทานสารสกัดจากใบแปะก๊วยชนิดเม็ดขนาด 40 มิลลิกรัมหรือยาหลอก 3 ครั้งต่อวัน โดยเริ่มรับประทานในวันที่ 16 ของรอบประจำเดือนไปจนถึงวันที่ 5 ของรอบถัดไป พบว่าความรุนแรงของอาการก่อนมีประจำเดือนทั้งทางร่างกายและทางจิตใจโดยรวมลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งในกลุ่มที่รับประทานสารสกัดจากใบแปะก๊วยมีความรุนแรงของอาการลดลงมากกว่าในกลุ่มที่รับประทานยาหลอก อย่างไรก็ตามยังจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับสารออกฤทธิ์ ประสิทธิภาพ ความปลอดภัย ปริมาณ และระยะเวลาในการรักษา

ภาวะ Tardive Dyskinesia เป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยารักษาโรคจิต ทำให้ผู้ป่วยมีความผิดปกติของการเคลื่อนไหวร่างกายแบบบิดไปมาหรือซ้ำ ๆ ในรูปแบบเดิมของกล้ามเนื้อโดยเฉพาะที่บริเวณใบหน้า ซึ่งอนุมูลอิสระอาจมีส่วนเกี่ยวข้องต่อการเกิดภาวะนี้ จึงมีการทดลองชิ้นหนึ่งสุ่มให้ผู้ป่วยรับประทานสารสกัดจากใบแปะก๊วย ขนาด 240 มิลลิกรัมต่อวันหรือยาหลอก เป็นเวลา 12 สัปดาห์ พบว่าแปะก๊วยอาจมีประสิทธิภาพในการรักษาและบรรเทาอาการของภาวะดังกล่าวในผู้ป่วยจิตเภท

วิงเวียนศีรษะ เป็นอาการเกิดขึ้นบ่อยและมักพบในเพศหญิงมากกว่าในเพศชาย และส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งมีการทดลองชิ้นหนึ่งสุ่มให้ผู้ป่วยอายุเฉลี่ยที่ 58 ปี จำนวน 160 คน รับประทานสารสกัดจากใบแปะก๊วย ขนาด 240 มิลลิกรัมต่อวันหรือยาเบตาฮีสทีน (Betahistine) ขนาด 32 มิลลิกรัมต่อวันเป็นเวลา 12 สัปดาห์ พบว่าสารสกัดจากแปะก๊วยมีประสิทธิภาพในการรักษาอาการวิงเวียนศีรษะเท่าเทียมกับเบตาฮีสทีน ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาอาการวิงเวียนศีรษะอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

การรักษาด้วยแปะก๊วยที่เป็นไปได้ แต่ยังมีหลักฐานสนับสนุนไม่เพียงพอ

จอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุ เป็นโรคที่ส่งผลต่อจอประสาทตาหรือเรตินา ซึ่งจะเกิดการเสื่อมสภาพเนื่องจากอายุหรือบางรายอาจเกิดบาดแผลที่จอประสาทตาและส่งผลต่อการมองเห็น ซึ่งแปะก๊วยเชื่อว่ามีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระและช่วยชะลอการเสื่อมสภาพของจอประสาทตา จึงมีการทดลองชิ้นหนึ่งในประเทศฝรั่งเศสทำการเปรียบเทียบประสิทธิภาพของแปะก๊วยกับยาหลอก โดยสุ่มให้ผู้ป่วยรับประทานสารสกัดจากใบแปะก๊วย ขนาด 80 มิลลิกรัม 2 ครั้งต่อวันหรือยาหลอก และการทดลองอีกชิ้นหนึ่งในประเทศเยอรมันสุ่มให้ผู้ป่วยรับประทานสารสกัดจากใบแปะก๊วย ขนาด 240 มิลลิกรัมต่อวัน และขนาด 60 มิลลิกรัมต่อวัน โดยทั้ง 2 การทดลองใช้ระยะเวลา 6 เดือน ถึงแม้ว่าทั้ง 2 การทดลองจะมีการรายงานเกี่ยวกับผลกระทบในทางบวกของแปะก๊วยต่อการมองเห็น แต่กลุ่มตัวอย่างมีขนาดเล็ก มีระยะเวลาในการทดลองสั้น ไม่มีการประเมินผลกระทบและคุณภาพชีวิต ซึ่งทำให้ยังไม่ได้คำตอบว่าแปะก๊วยมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยจอประสาทตาเสื่อมหรือไม่ อีกทั้งผู้วิจัยยังได้แนะนำอีกว่าการศึกษาในอนาคตควรเพิ่มขนาดของกลุ่มตัวอย่างและระยะเวลาในการทดลองเพื่อให้การประเมินผลมีประสิทธิภาพมากขึ้น

สมาธิสั้น ผู้ป่วยสมาธิสั้นบางรายอาจมีการตอบสนองต่อยารักษาโรคที่แตกต่างกันออกไป ผู้ที่ตอบสนองต่อยาได้ไม่ดีอาจมีความสนใจการรักษาทางเลือก ซึ่งแปะก๊วยเป็นสมุนไพรที่มีการสันนิษฐานว่าอาจมีประโยชน์ต่อการรักษา ซึ่งจากการศึกษานำร่องทางคลินิกโดยให้เด็กสมาธิสั้นรับประทานสารสกัดจากใบแปะก๊วย เป็นเวลา 3-5 สัปดาห์ โดยสามารถเพิ่มขนาดสูงสุดที่ 240 มิลลิกรัมต่อวันในผู้ป่วยที่ปัญหาเรื่องการจดจ่อยังไม่ดีขึ้น หลักฐานที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้แนะนำว่าการใช้สารสกัดจากแปะก๊วยด้วยขนาดสูงสุดที่ 240 มิลลิกรัมต่อวันอาจเป็นทางเลือกที่เป็นประโยชน์ทางการแพทย์สำหรับเด็กสมาธิสั้น แต่ยังจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมก่อนสรุปถึงประสิทธิภาพในการรักษา

นอกจากนี้ยังมีการศึกษาอีกชิ้นหนึ่งสุ่มให้ผู้ป่วยเด็กสมาธิสั้นรับประทานสารสกัดจากแปะก๊วยขนาด 80-120 มิลลิกรัมต่อวัน หรือรับประทานยาเมทิลเฟนิเดต (Methylphenidate) ขนาด 20-30 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นเวลา 6 สัปดาห์ พบว่าการรักษาสมาธิสั้นด้วยสารสกัดจากแปะก๊วยมีประสิทธิภาพด้อยกว่าการรักษาด้วยเมทิลเฟนิเดต ซึ่งเรื่องนี้ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม

ออทิสติก จากการศึกษาโดยการทบทวนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับประสิทธิภาพของแปะก๊วยต่อความผิดปกติของระบบประสาท โดยสุ่มให้ผู้ป่วยเด็กออทิสติกรับประทานแปะก๊วยหรือยาหลอก ร่วมกับการรับประทานยาริสเพอริโดน (Risperidone) พบว่ามีความปลอดภัย สามารถใช้ได้กับผู้ป่วยเด็ก สามารถทนต่ออาการข้างเคียงได้ดี แต่ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และดูเหมือนว่าการใช้แปะก๊วยเป็นยารักษาเสริมร่วมกับยาริสเพอริโดนอาจไม่มีประสิทธิภาพในการรักษา แต่มีการวิจัยจากการสังเกตขั้นต้นชิ้นหนึ่ง ให้ผู้ป่วยออทิสติกรับประทานสารสกัดจากใบแปะก๊วยขนาด 100 มิลลิกรัม เป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่าส่งผลดีต่อพฤติกรรมที่ผิดปกติ รวมถึงอาการต่าง ๆ และแนะนำว่าแปะก๊วยอาจมีประสิทธิภาพเป็นยาเสริมในการรักษาออทิสติก แต่เนื่องจากหลักฐานสนับสนุนคุณสมบัติของแปะก๊วยต่อออทิสติกยังไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องทำการศึกษาเพิ่มเติม

สูญเสียการได้ยิน จากการทดลองโดยสุ่มให้ผู้ป่วยจำนวน 106 คน ที่มีอาการประสาทหูเสื่อมเฉียบพลันแบบไม่ทราบสาเหตุ (Acute Idiopathic Sudden Sensorineural Hearing Loss) อย่างน้อย 15 เดซิเบล ที่เกิดขึ้นน้อยกว่า 10 วันก่อนการทดลอง รับประทานสารสกัดจากใบแปะก๊วยขนาด 120 มิลลิกรัม 2 ครั้งต่อวัน และขนาด 12 มิลลิกรัม เป็นเวลา 8 สัปดาห์ พบว่าการรับประทานสารสกัดจากใบแปะก๊วยดูเหมือนจะช่วยในการฟื้นตัวของผู้ป่วยที่สูญเสียการได้ยิน โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับประทานในปริมาณสูงและไม่มีอาการหูอื้อ แต่เนื่องจากหลักฐานสนับสนุนคุณสมบัติของแปะก๊วยต่อการได้ยินยังไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องทำการศึกษาต่อไป

ปวดศีรษะไมเกรน มีการศึกษาขั้นต้นเกี่ยวกับการใช้สารกิงโกไลด์ ชนิดบี (Ginkgolide B) ซึ่งเป็นสารสกัดจากใบแปะก๊วยชนิดหนึ่งในการป้องกันอาการปวดศีรษะไมเกรน โดยหยุดยาก่อนการทดลองเป็นเวลา 2 เดือน และรับประทานยาที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากใบแปะก๊วยนี้ขนาด 60 มิลลิกรัม โคเอนไซม์คิวเท็นขนาด 11 มิลลิกรัม และวิตามินบี 12 ขนาด 8.7 มิลลิกรัม 2 ครั้งต่อวัน เป็นเวลา 4 เดือน และให้ผู้ป่วยจดบันทึกรายงานเกี่ยวกับอาการทางระบบประสาท ระยะเวลาและความถี่ของอาการ พบว่าสารกิงโกไลด์ ชนิดบีมีประสิทธิภาพในการลดความถี่และระยะเวลาของอาการปวดศีรษะไมเกรน โดยที่ผลการทดลองปรากฏชัดในช่วงแรกและเพิ่มขึ้นในช่วงที่ 2 ของการรักษา แต่เนื่องจากหลักฐานสนับสนุนคุณสมบัติของแปะก๊วยต่ออาการปวดศีรษะไมเกรนยังไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องทำการศึกษาต่อไป

การรักษาด้วยแปะก๊วยที่อาจไม่ได้ผล

มีโรคอีกหลายชนิดที่เชื่อว่าสามารถรักษาได้ด้วยแปะก๊วย แต่ไม่มีผลงานวิจัยรองรับเพียงพอ เช่น ความดันโลหิตสูง หูอื้อ สมองเสื่อม ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

ความปลอดภัยในการรับประทานแปะก๊วย

การรับประทานแปะก๊วยหรือสารสกัดจากใบแปะก๊วยโดยทั่วไปแล้วค่อนข้างปลอดภัยหากรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม แต่ก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน ใจสั่น คลื่นไส้ แน่นท้อง ระคายเคืองกระเพาะอาหาร ท้องผูก หรือท้องเสีย และอาจเกิดอาการแพ้ในผู้ที่แพ้แปะก๊วย และยังมีข้อควรระวังในการใช้แปะก๊วยดังต่อไปนี้

  • สารสกัดจากใบแปะก๊วย
  • อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งตับและมะเร็งต่อมไทรอยด์ อย่างไรก็ตามยังคงมีเพียงการทดลองโดยใช้แปะก๊วยปริมาณมากในสัตว์เท่านั้น ยังไม่พบข้อมูลพี่เพียงพอที่ยืนยันว่าจะเกิดความเสี่ยงดังกล่าวกับมนุษย์
  • อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดแผลฟกช้ำและเลือดออกได้ โดยที่แปะก๊วยจะส่งผลต่อการแข็งตัวของเลือด และพบว่าอาจมีเลือดออกมากหลังการผ่าตัด
  • อาจไม่ปลอดภัยหากใช้สารสกัดจากใบแปะก๊วยฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ
  • เมล็ดหรือใบแปะก๊วย
  • อาจไม่ปลอดภัยหากรับประทานเมล็ดแปะก๊วยที่นำไปอบมากกว่าวันละ 10 เมล็ด เพราะอาจเป็นสาเหตุทำให้หายใจลำบาก ชีพจรอ่อน มีอาการชัก หมดสติ และช็อก
  • การรับประทานเมล็ดและใบแปะก๊วยสดอาจไม่ปลอดภัย เพราะเมล็ดแปะก๊วยสดมีพิษ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการชักและเสียชีวิต

รวมถึงมีข้อควรระวังในการรับประทานแปะก๊วยโดยเฉพาะบุคคลในกลุ่มดังต่อไปนี้

  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร ไม่ควรรับประทานแปะก๊วยหากกำลังตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร เพราะการรับประทานแปะก๊วยอาจไม่ปลอดภัย และอาจเป็นสาเหตุทำให้คลอดก่อนกำหนดหรือมีเลือดออกมากในขณะคลอด และยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าการรับประทานแปะก๊วยในช่วงให้นมบุตรจะส่งผลให้เกิดอันตรายต่อมารดาหรือทารกหรือไม่
  • ทารกและเด็ก การรับประทานสารสกัดจากใบแปะก๊วยอาจเป็นไปได้ว่าปลอดภัยหากใช้ในระยะเวลาสั้น ๆ
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพของยาที่ใช้อยู่ในขณะนั้น และควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอย่างใกล้ชิด
  • ผู้ที่มีอาการชัก ไม่ควรรับประทานแปะก๊วยหากเคยมีอาการชัก เพราะอาจทำให้อาการกำเริบได้
  • ผู้ที่มีภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี (G6PD) ควรหลีกเลี่ยงหรือรับประทานแปะก๊วยด้วยความระมัดระวัง เพราะอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดเม็ดเลือดแดงแตกสลายและโลหิตจางอย่างรุนแรง
  • ผู้ที่มีภาวะมีบุตรยาก การรับประทานแปะก๊วยอาจส่งผลต่อการตั้งครรภ์ได้ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนหากกำลังวางแผนการตั้งครรภ์
  • ผู้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด ควรหยุดรับประทานแปะก๊วยก่อนการผ่าตัดอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพราะอาจส่งผลให้เลือดแข็งตัวช้าลง หรือทำให้มีเลือดออกมากในระหว่างหรือหลังการผ่าตัด และไม่ควรใช้แปะก๊วยในผู้ที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติ
  • ผู้ที่รับประทานยาหรืออาหารเสริมเป็นประจำ รวมถึงอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพในการรักษาทางจิตเวชด้วยไฟฟ้า (Electroconvulsive Therapy: ECT) เพราะอาจทำให้เกิดปฏิกิริยาที่ไม่พึงประสงค์ หากรับประทานแปะก๊วยร่วมกับการใช้ยาดังต่อไปนี้
    • ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด
    • ยาในกลุ่มเอ็นเสด
    • ยาต้านเกล็ดเลือด
    • ยากันชัก
    • ยารักษาอาการซึมเศร้า
    • ยารักษาโรคเบาหวาน
    • ยาที่ส่งผลต่อตับ
    • สมุนไพร เช่น กระเทียม ซอว์พาเมตโต เซนต์จอห์นวอร์ต เป็นต้น