เล็บหลุด รู้จักสาเหตุและแนวทางการรับมืออย่างเหมาะสม

เล็บหลุดเป็นอาการที่พบได้ทั่วไป ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากการได้รับบาดเจ็บบริเวณเล็บ การติดเชื้อรา หรือเป็นโรคสะเก็ดเงิน เมื่อเล็บหลุดแล้ว อาจจำเป็นต้องรอให้เล็บงอกขึ้นใหม่แทนเล็บที่หลุดออก ดังนั้น การรับมืออาการเล็บหลุดอย่างถูกวิธีเป็นสิ่งสำคัญ เพราะอาจช่วยป้องกันไม่ให้แผลเล็บหลุดเกิดการติดเชื้อ 

เล็บเป็นอวัยวะสำคัญที่ปกคลุมบริเวณนิ้วมือและนิ้วเท้า มีหน้าที่เพิ่มความแข็งแรงให้แก่นิ้วในการหยิบจับสิ่งของ ป้องกันการได้รับบาดเจ็บที่ปลายนิ้ว และป้องกันเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกาย โดยปัญหาเล็บหลุดอาจป้องกันได้ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น รักษาความสะอาดของเล็บ ตัดเล็บให้สั้น หลีกเลี่ยงหรือป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นกับเล็บ

เล็บหลุด

สาเหตุที่ทำให้เล็บหลุด

เล็บหลุดเป็นหนึ่งในอาการที่อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน ซึ่งอาจเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ เช่น

1. การได้รับบาดเจ็บ

อุบัติเหตุต่าง ๆ เช่น ประตูหนีบนิ้ว การเล่นกีฬา หรือการทำสิ่งของหล่นใส่เล็บ อาจทำให้เล็บได้รับบาดเจ็บได้ โดยอาจรู้สึกเจ็บบริเวณเล็บ และอาจทำให้เล็บเปลี่ยนเป็นสีดำหรือสีม่วง เนื่องจากมีเลือดออกใต้เล็บ โดยอาจมีเลือดคั่งหรือเกิดอาการห้อเลือดใต้แผ่นเล็บ ซึ่งอาการห้อเลือดอาจทำให้เกิดแรงดันใต้เล็บ และอาจส่งผลให้เล็บหลุดออกจากฐานเล็บได้

2. โรคสะเก็ดเงินที่เล็บ

โรคสะเก็ดเงินที่เล็บเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งอาจส่งผลให้เซลล์ผิวหนังเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว และเกิดการสะสมสมตัวอยู่บนผิวหนัง เมื่อเซลล์ผิวหนังเกิดการสะสมตัวอยู่ใต้แผ่นเล็บ อาจทำให้เล็บถูกดันขึ้น และหลุดออกได้ นอกจากนี้ อาจมีอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นบริเวณเล็บ เช่น

  • ผิวหนังใต้เล็บเปลี่ยนสี โดยอาจมีสีเหลือง สีแดง สีชมพู หรือสีน้ำตาล
  • เล็บขรุขระ และมีเส้นสีขาวทึบลากยาวตามแนวขวางของเล็บ
  • เล็บบาง ฉีกขาดง่าย 
  • ผิวหนังใต้ปลายเล็บอาจหนาขึ้น เล็บเป็นโพรงหรือแยกออกจากฐานเล็บ และเล็บหลุด 

3. เชื้อราที่เล็บ

เชื้อราที่เล็บอาจนำไปสู่อาการเล็บหลุดได้ ซึ่งเชื้อราที่เล็บมักเกิดจากการสัมผัสบริเวณที่มีเชื้อราชุกชุม เช่น พื้นห้องน้ำสาธารณะ หรือการใส่รองเท้าที่มีความอับชื้น โดยเชื้อราอาจเข้าสู่รอยแตกหรือรอยแผลบริเวณเล็บ และทำให้เกิดการติดเชื้อได้ อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อราที่เล็บมักไม่ก่อให้เกิดอาการรุนแรง แต่อาจก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น

  • เล็บหนาขึ้น และเปลี่ยนเป็นสีขาว สีเหลือง หรือสีน้ำตาล
  • เล็บแห้ง เล็บเปราะ หรือเล็บฉีกขาดง่าย
  • นิ้วมีกลิ่นเหม็น
  • เล็บเป็นโพรง เล็บแยกออกจากฐานเล็บ และเล็บหลุด

นอกจากนี้ เล็บหลุดอาจเกิดจากปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคโลหิตจาง และผลข้างเคียงจากการใช้ยา เช่น ยารักษาที่ใช้ในการทำเคมีบำบัด (Chemotherapy) โดยปัญหาสุขภาพเหล่านี้อาจส่งผลให้เล็บแยกออกจากฐานเล็บ และอาจนำไปสู่อาการเล็บหลุดได้

วิธีการรับมือเล็บหลุดอย่างเหมาะสม

การรับมือเล็บหลุดอาจทำได้ด้วยตัวเอง หากเล็บหลุดมีอาการไม่รุนแรง เช่น นิ้วมือหรือนิ้วเท้ายังคงปกติ แผลเล็บหลุดไม่ลึกมาก เล็บหลุดบางส่วน หรือเล็บยังคงติดกับฐานเล็บ เล็บเกิดอาการห้อเลือดเล็กน้อยและไม่เจ็บมาก โดยสามารถดูแลแผลเล็บหลุดได้ด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้

  • หากเล็บหลุดบางส่วน ไม่ควรดึงเล็บออก แต่อาจใช้กรรไกรตัดเล็บตัดส่วนที่หลุดออก เพื่อป้องกันไม่ให้เล็บเกี่ยวเสื้อผ้าหรือสิ่งของ 
  • ใช้ตะไบขัดขอบเล็บที่แหลมคม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการบาดเจ็บเพิ่มเติม
  • ทำความสะอาดแผลให้สะอาด และทายาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  • ปิดแผลเล็บหลุดด้วยผ้าก๊อซที่ไม่ติดแผลประมาณ 7–10 วัน หรือจนกว่าแผลจะดีขึ้น 
  • หากมีอาการเจ็บ ปวด หรือบวมบริเวณแผลเล็บหลุด สามารถประคบเย็น ประมาณ 20 นาที ทุก ๆ 3–6 ชั่วโมง หรือยกเท้าและมือที่มีอาการเล็บหลุดให้อยู่สูงกว่าระดับหัวใจ โดยวิธีนี้อาจช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้นและทำให้อาการบวมลดลง
  • กินยาเพื่อบรรเทาอาการปวดและลดอาการบวม เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ยานาพรอกเซน (Naproxen)

หากมีอาการรุนแรง เช่น เล็บหลุดทั้งหมด อาการห้อเลือดที่เล็บมีขนาดใหญ่ มีบาดแผลลึกที่อาจจำเป็นต้องเย็บแผล บริเวณที่เล็บหลุดมีเลือดไหลไม่หยุด รวมไปถึงสัญญาณของการติดเชื้อ เช่น มีไข้ รู้สึกปวด บวม และแดงที่แผลเป็นอย่างมาก แผลเล็บหลุดมีหนองเกิดขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการรักษาต่อไป