ห้อเลือด

ความหมาย ห้อเลือด

ห้อเลือด (Subungual Hematoma) เป็นอาการเลือดออกและช้ำบริเวณใต้เล็บมือหรือเล็บเท้า มักเกิดจากการบาดเจ็บ เช่น ประตูหนีบ กระแทกกับขอบโต๊ะ หรือถูกของแข็งหล่นทับ บางครั้งอาจเกิดขึ้นจากปัญหาสุขภาพอย่างโรคมะเร็งผิวหนังบางชนิด แต่มักพบได้น้อยมาก

โดยทั่วไป ภาวะนี้อาจก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดอย่างรุนแรง หรือปวดตุบ ๆ บริเวณที่มีเลือดคั่งอยู่ภายใต้เล็บ แต่มักจะไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เว้นเสียแต่จะมีกระดูกหักหรือเนื้อเยื่อใต้เล็บและบริเวณโดยรอบถูกทำลายร่วมด้วย  

ห้อเลือด

อาการห้อเลือด

ผู้ที่ห้อเลือดมักมีอาการปวดตุบ ๆ อย่างรุนแรงอันเกิดการกดทับของเลือดที่ไหลมาสะสมบริเวณใต้เล็บจนมีแรงดันที่มากกว่าปกติ สีของเล็บเปลี่ยนเป็นสีม่วงแดงหลังได้รับบาดเจ็บก่อนจะกลายเป็นสีน้ำตาลและสีดำลักษณะคล้ายลิ่มเลือดในที่สุด บางรายอาจมีเล็บแตก เล็บแยกตัวออกจากฐานเล็บ หรือเล็บเปิดได้ อย่างไรก็ตาม อาการปวดมักจะหายไปได้ในไม่กี่วัน แต่ผู้ป่วยอาจต้องใช้เวลานานในการฟื้นฟูเล็บให้กลับมาเป็นปกติอีกครั้ง   

สาเหตุของอาการห้อเลือด

อาการห้อเลือดโดยส่วนมากจะเกิดจากอุบัติเหตุบริเวณนิ้วเท้าหรือนิ้วมือที่พบได้ในชีวิตประจำวัน เช่น โดนประตูบ้านหรือประตูรถยนต์หนีบ ถูกค้อนหรือของหนักอย่างดัมเบลหล่นใส่ กระแทกหรือสะดุดของแข็ง เป็นต้น นอกจากนั้น ยังอาจเกิดจากการสวมรองเท้าคับแน่นจนเกินไป โดยเฉพาะในการเล่นกีฬาที่ต้องขยับตัวอยู่ตลอดเวลาอย่างเทนนิส ฟุตบอล หรือบาสเกตบอล 

อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยมีอาการห้อเลือดที่ไม่ได้มาจากการบาดเจ็บหรือการเล่นกีฬา และอาการค่อย ๆ ทวีความรุนแรงขึ้นโดยกินเวลานาน ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาโดยเร็ว เพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา ซึ่งมีลักษณะอาการเลือดออกคล้ายกัน แต่โรคดังกล่าวมักพบได้น้อยมากเพียง 1 ในล้านคนเท่านั้น

การวินิจฉัยอาการห้อเลือด

เบื้องต้นแพทย์จะตรวจดูบริเวณเล็บที่เกิดอาการห้อเลือดร่วมกับการสอบถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บางครั้งอาจต้องตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อให้การวินิจฉัยแม่นยำมากที่สุด เช่น 

  • การส่องกล้องตรวจผิวหนัง เพื่อตรวจดูความเสียหายของเล็บ 
  • การเอกซเรย์ เพื่อดูว่ามีการแตกหักของกระดูกหรือไม่
  • การตัดชิ้นเนื้อ โดยแพทย์อาจเก็บตัวอย่างเล็บบางส่วนหรือทั้งหมดไปส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการหากสงสัยว่าอาจมีสาเหตุมาจากโรคอื่น ๆ 

การรักษาอาการห้อเลือด

โดยปกติแล้ว ผู้ป่วยที่มีอาการห้อเลือดเล็กน้อยและมีอาการปวดไม่มากสามารถดูแลตนเองได้ที่บ้านตามคำแนะนำต่อไปนี้ 

  • ยกมือหรือเท้าข้างที่เกิดห้อเลือดขึ้นเหนือระดับหัวใจ เพื่อช่วยลดอาการบวมและปวด
  • ใช้แผ่นประคบเย็นหรือประคบน้ำแข็งเป็นระยะเวลา 20 นาที โดยควรนำน้ำแข็งใส่ผ้าขนหนูหรือเสื้อผ้าก่อนนำมาใช้ประคบ แต่ไม่ควรใช้น้ำแข็งประคบที่ผิวหนังโดยตรง เพื่อป้องกันผิวหนังถูกทำลายจากความเย็น 
  • รับประทานยาแก้ปวดในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) ที่หาซื้อได้ตามร้านขายทั่วไป แต่ควรปรึกษาเภสัชกรถึงความปลอดภัยและความเสี่ยงก่อนเสมอ โดยเฉพาะผู้ที่กำลังใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เพราะตัวยาอาจส่งผลให้มีเลือดออกในกระเพาะอาหารและปัญหาเกี่ยวกับไตได้

หากปฏิบัติตามคำแนะนำแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นหรือมีอาการรุนแรงมากกว่าเดิม ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ โดยการรักษาจะมีอยู่หลายวิธีขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ ดังนี้

  • ผู้ป่วยบางรายอาจต้องรักษาด้วยการเจาะเล็บ โดยแพทย์จะเจาะรูเล็ก ๆ บนเล็บด้วยเข็มหรือคลิปหนีบที่ผ่านการฆ่าเชื้อ รวมถึงเลเซอร์เพื่อระบายเลือดที่คั่งอยู่ภายในออกมา ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการบวมและปวด 
  • ในกรณีที่มีอาการรุนแรงหรือเล็บถูกทำลาย แพทย์อาจรักษาด้วยการถอดเล็บ เพื่อรักษาและซ่อมแซมเนื้อเยื่อใต้เล็บ

ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ทันทีหากพบสัญญาณของอาการติดเชื้อไม่ว่าจะผ่านการรักษาด้วยการเจาะเล็บมาหรือไม่ เช่น มีไข้ มีรอยริ้วสีแดงบนเล็บ จับเล็บแล้วรู้สึกอุ่น มีหนองไหลออกมาจากเล็บ เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อนของอาการห้อเลือด

อาการห้อเลือดอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพในอนาคตได้ โดยในระยะยาวอาจส่งผลให้เล็บงอกอย่างผิดปกติหรือมีเล็บใหม่ที่ผิดปกติ แต่อาจเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวและจะกลับมาเป็นปกติอีกครั้งหลังจากเล็บที่ได้รับบาดเจ็บหลุดออกจนหมด หรืออาจคงความผิดปกตินี้ไปอย่างถาวร รวมถึงอาการห้อเลือดยังอาจก่อเกิดรอยแผลเป็นและเสี่ยงต่อการติดเชื้อตามมา

การป้องกันอาการห้อเลือด

เนื่องจากห้อเลือดส่วนใหญ่มักเกิดจากการบาดเจ็บ อาการนี้จึงสามารถป้องกันได้โดยดำเนินชีวิตอย่างมีสติและระมัดระวังตนเองอยู่เสมอ หากต้องใช้อุปกรณ์งานช่างควรใส่ถุงมือหรือรองเท้าบูทป้องกันตนเองทุกครั้ง สำหรับผู้ที่เล่นกีฬาควรเลือกสวมรองเท้าที่มีขนาดพอดี ไม่คับแน่นจนเกินไป และควรเล่นบนพื้นหญ้าหรือพื้นดินที่มีความนิ่ม ในกรณีที่นิ้วเท้ามีปัญหาอาจใช้ผ้าพันบริเวณนิ้วข้าง ๆ เพื่อลดการเสียดสีระหว่างนิ้วเท้าและรองเท้า 

นอกจากนี้ ควรตัดเล็บมือหรือเล็บเท้าให้สั้นเพื่อลดอาการเล็บฉีกหรือช่วยให้จับสิ่งของต่าง ๆ ได้ง่ายยิ่งขึ้น และควรพยายามเลิกนิสัยกัดเล็บหรือผิวหนังโดยรอบเพื่อสุขภาพเล็บที่ดีและไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทั้งนี้ หากพบความผิดปกติเกิดขึ้นบริเวณเล็บเป็นเวลานานก็ควรไปพบแพทย์ เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรคอันตรายในอนาคต