ดอกเล็บคืออะไร เป็นแล้วอันตรายหรือไม่

จุดหรือเส้นสีขาวขนาดเล็กที่ปรากฏบนเล็บมักมาพร้อมกับความเชื่อที่หลากหลาย เช่น ขาดสารอาหาร กำลังจะมีความรัก หรือมีโชคลาภ เป็นต้น สิ่งที่เกิดขึ้นบนเล็บเหล่านี้เรียกกันทั่วไปว่า ดอกเล็บ ซึ่งเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย จริงแล้ว ๆ ความเชื่อเกี่ยวกับดอกเล็บนั้นเป็นแค่เรื่องเล่าที่พูดกันปากต่อปากหรือมีความเชื่อมโยงกับสุขภาพคนเราในทางการแพทย์กันแน่

ดอกเล็บ

ดอกเล็บคืออะไร

ดอกเล็บเป็นจุดหรือขีดสีขาวขนาดเล็กบนเล็บ ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการบาดเจ็บเล็กน้อยและมักไม่เป็นอันตรายในบุคคลที่มีสุขภาพแข็งแรง แต่ในบางกรณีอาจเป็นผลมาจากสุขภาพไม่แข็งแรง ขาดสารอาหาร การติดเชื้อ โรค ยาบางชนิด หรือสาเหตุอื่น

ดอกเล็บเกิดได้หลายลักษณะ อาจเป็นจุดเล็ก ๆ เหมือนรอยปากกา เส้นหนา จุดขนาดใหญ่ โดยแตกต่างกันออกไปตามสาเหตุ เช่น การบาดเจ็บบริเวณเล็บมืออาจทำให้เกิดดอกเล็บที่มีลักษณะเป็นจุดสีขาวขนาดใหญ่กลางเล็บ อาการแพ้อาจทำให้เกิดจุดหลายจุดกระจายทั่วเล็บ บางรายอาจพบอาการหรือสัญญาณอื่น ๆ ทั้งนี้ รูปร่างหรือลักษณะของดอกเล็บในแต่ละเล็บอาจไม่เหมือนกัน

สาเหตุที่ทำให้เกิดดอกเล็บ

ความคิดของคนส่วนใหญ่เชื่อว่าดอกเล็บเกิดจากการขาดสารอาหารหรือร่างกายได้รับวิตามินบางชนิดไม่ครบถ้วน เช่น สังกะสีหรือแคลเซียม แต่การเกิดดอกเล็บจากสาเหตุนี้มีเพียงส่วนน้อย เพราะดอกเล็บหรือความผิดปกติอื่น ๆ ของเล็บในทางการแพทย์อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

การบาดเจ็บ

ดอกเล็บมักเกิดขึ้นบริเวณฐานเล็บหรือแผ่นเล็บ ส่วนใหญ่มักเป็นอุบัติเหตุเล็กน้อยในชีวิตประจำวัน เช่น ถูกของหนักหล่นทับเล็บหรือกระแทกโดน ถูกประตูหนีบ การกัดเล็บ หรือทำเล็บบ่อยเกินไปก็อาจสร้างแรงกดให้เนื้อเยื่อรองเล็บหรือฐานเล็บเสียหายได้เช่นกัน

บางรายอาจเกิดดอกเล็บขึ้นหลังจากการบาดเจ็บผ่านไปเป็นเดือน แต่เมื่อเล็บยาวขึ้นก็สามารถตัดเล็บส่วนที่เกิดดอกเล็บออกไปได้ เนื่องจากเล็บเป็นส่วนของเซลล์ที่ตายและมีส่วนประกอบของโปรตีนที่เรียกว่า เคราติน (Keratin) ชนิดแข็ง ซึ่งช่วยปกป้องผิวหนังชั้นนอกเช่นเดียวกับเส้นผม จึงไม่ต้องมีความกังวลมากนักหากเกิดดอกเล็บจากสาเหตุนี้

การติดเชื้อราที่เล็บ

โรคติดเชื้อราที่เล็บ เกิดขึ้นได้หลายลักษณะ โดยชนิดที่เกิดได้บ่อย ได้แก่ ชนิดที่เกิดกับแผ่นเล็บด้านบน (White Superficial Onychomycosis) จากการติดเชื้อรากลุ่ม Dermatophyte หรือ Trichophyton Interdigitale โดยในช่วงแรกอาจสังเกตเห็นอาการติดเชื้อได้ยาก แต่เมื่อเชื้อราเจริญเติบโตขึ้นก็อาจจะเริ่มสังเกตเห็นจุดขนาดเล็กหลายจุดบนเล็บ บางส่วนอาจขยายไปยังฐานเล็บ

อาการแพ้

เป็นอาการที่เกิดจากเล็บตอบสนองไวมากเกินปกติต่อสารบางชนิดในผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเล็บประเภทต่าง ๆ เช่น ยาทาเล็บ น้ำยาเคลือบเล็บ น้ำยาล้างเล็บ เป็นต้น หรือสารเหล่านี้อาจสร้างความเสียหายให้แก่เล็บ จึงอาจเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดดอกเล็บขึ้น

สาเหตุอื่น

บางคนอาจเกิดดอกเล็บจากสาเหตุอื่น แต่พบได้ค่อนข้างน้อย เช่น

  • การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาเคมีบำบัด ยาในกลุ่มซัลฟาบางชนิด (Sulfonamides)
  • ได้รับสารพิษหรือโลหะหนักบางชนิด เช่น สารตะกั่ว สารหนู เป็นต้น
  • โรคหรือภาวะบางอย่างของร่างกาย เช่น โรคปอด โรคหัวใจวาย โรคไตเรื้อรัง โรคสะเก็ดเงิน

ทำอย่างไรเมื่อเกิดดอกเล็บและรักษาอย่างไร

หากสังเกตพบดอกเล็บ สิ่งแรกที่ควรทำ คือ ให้ลองนึกถึงเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ว่ามีสาเหตุใดบ้างอาจมีส่วนทำให้เกิดดอกเล็บ บางคนอาจได้รับบาดเจ็บที่มือ เล็บไปกระแทกโดนสิ่งของ รวมถึงสังเกตอาการอื่นที่เกิดในเวลาใกล้เคียงกัน เช่น สีเล็บหรือลักษณะของผิวเล็บเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เล็บเหลือง เล็บเปราะ แต่โดยทั่วไปดอกเล็บที่เกิดขึ้นค่อนข้างไม่เป็นอันตรายและมักหายได้เอง

ที่กังวลเรื่องนี้อาจขอคำปรึกษาจากแพทย์หรือตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด เพื่อปฏิบัติตนหรือรับการรักษาอย่างถูกต้องในรายที่มีอาการรุนแรง ทั้งนี้ การรักษาดอกเล็บจะแตกต่างออกไปตามสาเหตุ เช่น

  • ดอกเล็บที่เกิดจากอาการแพ้ ควรหยุดใช้ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเล็บก่อนหน้านี้หรือคาดว่าอาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการแพ้
  • การติดเชื้อราที่เล็บรักษาได้โดยรับประทานยาต้านเชื้อรา ซึ่งเป็นวิธีหลักในการรักษาดอกเล็บที่เกิดจากการติดเชื้อรา โดยทั่วไปจะใช้เวลารักษาประมาณ 3 เดือนจึงหายขาด และควรรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพและหายขาด
  • ดอกเล็บที่เกิดจากการบาดเจ็บมักจะต้องรอเวลาให้เล็บยาวขึ้นจึงตัดเล็บทิ้ง บางกรณีดอกเล็บจะหายไปเองเมื่อร่างกายมีการซ่อมแซมอาการบาดเจ็บบริเวณเล็บ

การป้องกันการเกิดดอกเล็บ

ดอกเล็บในแต่ละคนเกิดได้จากหลายสาเหตุแตกต่างกันออกไป การป้องกันเบื้องต้นจะเป็นการรักษาสุขอนามัยของเล็บและร่างกาย เพื่อสุขภาพเล็บที่สมบูรณ์ควรปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้

  • ไม่กัดเล็บ ไม่ใช้มือฉีกเล็บหรือหนังหุ้มด้านข้างเล็บออก เพราะจะยิ่งทำให้เล็บเกิดความเสียหาย แต่ควรใช้กรรไกรตัดเล็บหรือกรรไกรเล็มหนังหุ้มด้านข้างเล็บออกแทน
  • ดูแลความสะอาดของมือและเล็บอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรปล่อยให้เปียกชื้น หลังอาบน้ำหรือล้างมือก็ควรเช็ดมือให้แห้งสนิท
  • ไม่ควรไว้เล็บยาวจนเกินไป ควรเล็มหนังข้างเล็บที่เป็นส่วนเกินออก ซึ่งช่วงเวลาที่เหมาะสมในการตัดเล็บคือหลังอาบน้ำเสร็จใหม่ ๆ เพราะเล็บจะนิ่มมากกว่าเวลาปกติ
  • ผู้ที่มีปัญหาเล็บเปราะบางหรือหักง่ายบ่อยไม่ควรไว้เล็บยาว เพื่อไม่ให้เล็บฉีกขาดได้ง่าย และควรทาโลชั่นบำรุงมือและเล็บอย่างสม่ำเสมอ
  • การทำเล็บตามร้านทั่วไปควรเลือกร้านที่น่าเชื่อถือ สะอาด และมีการดูแลรักษาความสะอาดของเครื่องมือทำเล็บอย่างสม่ำเสมอ
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาทาเล็บ ยาล้างเล็บ หรือผลิตภัณฑ์สารเคมีอื่น ๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรปล่อยให้เล็บมือได้พัก
  • ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับเล็บเป็นประจำและไม่สามารถหาต้นเหตุได้ ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ เพื่อป้องกันความผิดปกติร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นได้
  • รับประทานอาหารตามหลักโภชนาการ มีสารอาหารครบถ้วน เพราะจะช่วยป้องกันภาวะขาดสารอาหาร ซึ่งเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของการเกิดดอกเล็บ