เล็บเป็นเชื้อรา กับวิธีรักษาที่ควรรู้

เล็บเป็นเชื้อราเป็นภาวะที่พบได้บ่อย เนื่องจากเล็บเป็นส่วนที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อและทำให้เชื้อราเจริญเติบโตได้ง่าย เมื่อเกิดการติดเชื้อราที่เล็บจะทำให้เล็บเกิดความผิดปกติ เช่น สีเปลี่ยนไป เล็บหนาขึ้น เปราะง่าย และบางครั้งอาจทำให้ผิวบริเวณใกล้เคียงติดเชื้อไปด้วย เล็บเป็นเชื้อราเกิดได้ทั้งเล็บมือและเล็บเท้า แต่จะพบได้มากที่เล็บเท้า

เล็บเป็นเชื้อราเกิดจากการเพิ่มจำนวนผิดปกติของเชื้อราบนเล็บ ใต้เล็บ หรือบริเวณขอบเล็บ ซึ่งเชื้อราที่ทำให้เล็บเป็นเชื้อรามีหลายสายพันธุ์ บางสายพันธุ์อาศัยอยู่บนผิวหนังของคนเราอยู่แล้ว และไม่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพใด ๆ แต่เชื้อราจะเติบโตได้ดีในสภาวะอากาศร้อนชื้นอย่างในประเทศไทย จึงทำให้เกิดการติดเชื้อราที่เล็บได้บ่อย

เล็บเป็นเชื้อรา

เช็กอาการเล็บเป็นเชื้อรา

เล็บเป็นเชื้อราอาจทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ดังนี้

  • ระยะแรกอาจสังเกตเห็นเป็นจุดสีขาวหรือเหลืองอยู่ใต้เล็บ เมื่อเวลาผ่านไป เล็บที่เป็นเชื้อราจะเปลี่ยนสีเป็นสีขาวทั้งหมด หรืออาจเป็นสีเหลือง เขียว และดำ
  • เล็บหนาขึ้น และงอผิดรูปจนไม่สามารถตัดเล็บได้
  • เล็บเปราะ ฉีก และหักง่าย
  • เจ็บบริเวณเล็บ โดยเฉพาะเมื่อมีแรงกดทับที่เล็บมือและเล็บเท้าที่ติดเชื้อ
  • การติดเชื้อลามไปที่ผิวรอบ ๆ เล็บ ทำให้มีอาการคัน ผิวบวม แดง ลอก และมีกลิ่นเหม็น

กลุ่มเสี่ยงของการเกิดเล็บเป็นเชื้อรา

เล็บเป็นเชื้อราเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่คนที่เสี่ยงต่อการที่เล็บเป็นเชื้อราได้ง่ายกว่าคนอื่น ๆ ได้แก่

  • คนที่สวมรองเท้าคับเกินไป หรือคนที่สวมรองเท้าปิดบริเวณนิ้วเท้าเป็นเวลานาน
  • คนที่ชอบเดินเท้าเปล่าในสถานที่ที่มีน้ำขังหรือชื้น เช่น สระว่ายน้ำ ยิมออกกำลังกาย ห้องอาบน้ำสาธารณะ
  • คนที่ล้างมือบ่อย และสวมถุงมือเป็นเวลานาน เช่น คนทำอาหาร แพทย์ พยาบาล
  • คนที่ทำเล็บและต่อเล็บปลอม โดยใช้อุปกรณ์ทำเล็บที่ไม่สะอาด ผู้ป่วยเบาหวาน คนที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หรือมีความผิดปกติเกี่ยวกับระบบไหลเวียนเลือด
  • คนที่ได้รับบาดเจ็บที่เล็บ หรือมีโรคผิวหนัง เช่น สะเก็ดเงิน ที่ทำให้เล็บเป็นเชื้อราได้ง่าย
  • คนที่เคยเป็นโรคน้ำกัดเท้ามาก่อน
  • ผู้สูงอายุที่อายุ 65 ปีขึ้นไป 

วิธีรักษาเล็บเป็นเชื้อราให้หายดี

หากอาการเล็บเป็นเชื้อราไม่รุนแรงและไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการใช้ชีวิต อาจไม่จำเป็นต้องรับการรักษา แต่กรณีที่อาการรุนแรงขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจหาเชื้อ และรับการรักษาอย่างเหมาะสม เนื่องจากยาหรือผลิตภัณฑ์ที่หาซื้อได้เองมักใช้รักษาเล็บเป็นเชื้อราไม่ได้ผล

การใช้ยา

ยาที่แพทย์สั่งจ่ายเพื่อใช้รักษาเล็บเป็นเชื้อรามีทั้งยาใช้ภายนอกและยารับประทาน ได้แก่

  • ยาทาเชื้อราชนิดครีม ขี้ผึ้ง และยาเคลือบเล็บ เช่น ไมโคนาโซล (Miconazole) ไบโฟนาโซล (Bifonazole) อะโมรอลฟีน (Amorolfine) และยาอื่น ๆ
  • ยาฆ่าเชื้อราชนิดรับประทาน ใช้ในกรณีที่ใช้ยาทาแล้วอาการเล็บเป็นเชื้อราไม่ดีขึ้น โดยแพทย์อาจให้ใช้ร่วมกับการทายา เช่น เทอร์บินาฟีน (Terbinafine) ไอทราโคนาโซล (Itraconazole) และฟลูโคนาโซล (Fluconazole)

การใช้ยารักษาเล็บเป็นเชื้อราอาจใช้เวลาหลายเดือนกว่าอาการจะหายดี ผู้ที่มีอาการติดเชื้อราที่เล็บควรใช้ยารักษาอย่างต่อเนื่องตามที่แพทย์สั่ง แม้อาการจะดีขึ้นแล้ว เพื่อควบคุมและป้องกันไม่ให้ติดเชื้อราซ้ำอีก

การผ่าตัดถอดเล็บ

การผ่าตัดถอดเล็บที่ติดเชื้อราออกชั่วคราว เพื่อช่วยให้ยาทาสามารถเข้าสู่ผิวใต้เล็บที่ติดเชื้อราได้ดีขึ้น และรอให้เล็บปกติงอกขึ้นมาใหม่ โดยแพทย์จะฉีดยาชาที่เล็บ จากนั้นจะใช้อุปกรณ์ตัดเล็บบางส่วนที่ติดเชื้อราหรือถอดเล็บออกทั้งหมด

หลังการถอดเล็บอาจทำให้ผู้รับการผ่าตัดรู้สึกเจ็บเล็บ เล็บบวมแดง และอาจมีเลือดไหล ในช่วง 48 ชั่วโมงแรกหลังผ่าตัดควรยกแขนหรือขาข้างที่ผ่าตัดถอดเล็บขึ้นสูงกว่าระดับหัวใจ เพื่อช่วยลดอาการปวดบวมบริเวณแผลผ่าตัด ทั้งนี้ ควรหมั่นเปลี่ยนผ้าพันแผลและทายาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่แผลตามที่แพทย์สั่ง แผลมักจะดีขึ้นภายใน 2–3 สัปดาห์

การรักษาด้วยวิธีอื่น

หากใช้ยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น ให้รักษาด้วยการใช้แสงเลเซอร์www.pobpad.com/เลเซอร์ผิวหนัง-ทางเลือก หรือการรักษาแบบโฟโตไดนามิค (Photodynamic Therapy) เพื่อรักษาเชื้อราที่เล็บ 

การป้องกันไม่ให้ติดเชื้อซ้ำ

หลังจากรักษาจนหายดีแล้ว อาจเกิดอาการเล็บเป็นเชื้อราซ้ำได้อีก โดยเฉพาะคนที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย จึงควรดูแลด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น

  • รักษาความสะอาดของมือและเท้า ไม่เดินเท้าเปล่าในสถานที่สาธารณะ เช็ดมือและเท้าให้แห้งเสมอ ไม่ปล่อยให้เปียกชื้น
  • ใส่รองเท้าที่ขนาดพอดี ไม่คับเกินไป ถอดรองเท้าออกบ้างในระหว่างวัน และเปลี่ยนถุงเท้าใหม่ทุกวัน เพื่อไม่ให้สกปรกและอับชื้น ในระหว่างวันอาจโรยแป้งหรือใช้ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นเท้า เพื่อช่วยดูดซับความชื้นในรองเท้าและฆ่าเชื้อรา
  • ทำเล็บกับร้านเสริมสวยที่สะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐาน และควรตรวจดูความสะอาดของอุปกรณ์ทำเล็บก่อนใช้บริการเสมอ
  • หากมีโรคผิวหนัง เช่น น้ำกัดเท้า หรือสะเก็ดเงิน และโรคประจำตัวอื่น เช่น เบาหวาน ควรรับการรักษาอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้เล็บเป็นเชื้อราตามมา

เล็บเป็นเชื้อราสามารถรักษาให้หายได้เมื่อได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมโดยแพทย์ ซึ่งระยะเวลาการรักษาจะขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงที่เป็น หากสังเกตเห็นอาการผิดปกติใด ๆ ที่เล็บ เช่น รูปร่าง ผิวสัมผัส และสีเล็บเปลี่ยนไป รู้สึกเจ็บ ผิวหนังรอบเล็บบวมแดง มีเลือดออกจากเล็บ หรือมีปัญหาในการใช้มือและเท้าในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที