เล็บเหลือง เรื่องใกล้ตัวที่แก้ไขได้

เล็บเหลือง อาจเป็นเรื่องกวนใจของคนรักเล็บที่พบได้บ่อย นอกจากทำให้เล็บดูไม่น่ามองแล้ว บางครั้งก็อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพที่ซ่อนอยู่ได้ ดังนั้น การรู้สาเหตุและหมั่นสังเกตความผิดปกติจะช่วยให้เล็บมีสุขภาพดี และลดความเสี่ยงของอาการเล็บเหลืองได้ตั้งแต่ต้นเหตุด้วย

1573 เล็บเหลือง Resized

เล็บเหลืองเกิดจากอะไร ?

เล็บที่มีสุขภาพดีควรมีสีเล็บสม่ำเสมอ พื้นผิวเรียบ ไม่มีร่องรอยใด ๆ บนเล็บ เช่น รอยแตก รอยหยัก หรือรูปร่างผิดปกติ เป็นต้น แต่หากเล็บกลายเป็นสีเหลืองนั้น อาจเกิดได้จากหลายปัจจัย

โดยสาเหตุที่ทำให้เล็บเหลืองซึ่งพบได้บ่อย มีดังนี้  

ยาทาเล็บไม่มีคุณภาพ

การใช้ยาทาเล็บคุณภาพต่ำที่มีส่วนผสมของเม็ดสีหรือสารเคมีอันตราย จะทำให้สารเหล่านั้นซึมผ่านเข้าไปในเล็บและเป็นต้นเหตุทำให้เล็บเหลือง โดยเฉพาะยาทาเล็บสีเข้ม เช่น สีแดง หรือสีส้ม เป็นต้น อีกทั้งอาจส่งผลให้ยีสต์ แบคทีเรีย และเชื้อราเจริญเติบโตใต้แผ่นเล็บจนนำไปสู่ปัญหาระยะยาวได้ จึงไม่ใช่เรื่องที่ดีหากทาเล็บติดต่อกันเป็นเวลานานโดยไม่พักเล็บบ้าง

คนที่มีปัญหาเล็บเหลืองจากสาเหตุนี้อาจสังเกตได้ว่าเล็บที่งอกยาวขึ้นมาใหม่ควรมีสุขภาพดี สีเล็บใส แต่ถ้าสีเล็บยังคงเหลืองเช่นเดิม อาจเป็นสัญญาณเตือนให้รีบไปพบแพทย์

มีอายุเพิ่มมากขึ้น

เล็บของคนเรามีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลงไปตามอายุที่เพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกับร่างกายส่วนอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นสี ความหนา หรือรูปร่างของเล็บ ผู้สูงอายุจึงเป็นวัยที่มีแนวโน้มจะมีเล็บเหลืองตามธรรมชาติได้มากกว่าวัยอื่น

การเจ็บป่วย

บางคนอาจมีเล็บเหลืองได้จากความผิดปกติของร่างกาย หรือเป็นผลจากการรักษาอาการเจ็บป่วย เช่น การติดเชื้อราที่เล็บ โรคเบาหวาน โรคสะเก็ดเงิน โรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ โรคมะเร็งผิวหนัง เป็นต้น อีกทั้งยังพบได้ในผู้ที่มีกลุ่มอาการเล็บสีเหลือง (Yellow Nail Syndrome) ซึ่งเป็นความผิดปกติที่กระทบต่อเล็บ ระบบน้ำเหลือง และระบบทางเดินหายใจ แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก

นอกจากนี้ เล็บเหลืองอาจเกิดได้จากสาเหตุอื่น ๆ ด้วย เช่น ได้รับบาดเจ็บ ผิวหนังเกิดความผิดปกติ สูบบุหรี่ ขาดวิตามินหรือแร่ธาตุ เป็นต้น

เล็บเหลือง กับอาการผิดปกติที่ควรไปพบแพทย์

การเปลี่ยนแปลงบางอย่างของเล็บอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความผิดปกติในร่างกาย จึงควรไปพบแพทย์หากพบว่าเล็บเปลี่ยนสีโดยไม่มีสาเหตุ มีรอยดำคล้ำหรือรอยสีขาวเกิดขึ้นบนเล็บ ซึ่งอาจมีลักษณะเป็นเส้น ๆ ลักษณะของเล็บเปลี่ยนแปลงไป โดยหนาขึ้นหรือบางลง เปราะและหักง่ายกว่าปกติ หลุดร่อน เล็บแยกออกจากเนื้อ มีอาการบวมแดง มีเลือดออก หรือปวดรอบเล็บ

เล็บเหลือง แก้ไขอย่างไร ?

การรักษาเล็บที่มีสีเหลืองขึ้นอยู่กับสาเหตุด้วย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วสีเล็บที่เปลี่ยนไปจากการติดเชื้อหรือจากการทาเล็บและใช้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ บนเล็บ อาจแก้ไขได้เองด้วยของใกล้ตัว ดังนี้

เล็บเหลืองจากการทาเล็บ

หากเล็บเหลืองจากการใช้ยาทาเล็บ หรือใช้ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเล็บอื่น ๆ สามารถแก้ได้โดยใช้ไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์ (Hydrogen Peroxide) ซึ่งเป็นส่วนผสมในยาสีฟันที่ช่วยให้ฟันขาวขึ้นมาผสมกับน้ำอุ่น จากนั้นนำมาทาในบริเวณที่มีอาการเล็บเหลืองทิ้งไว้สักครู่แล้วล้างออก หรืออาจผสมเบกกิ้งโซดาลงไปด้วยเพื่อช่วยขจัดคราบเหลืองบนเล็บ

นอกจากนี้ วิตามินอีก็เป็นอีกทางเลือกในการแก้ปัญหาเล็บเหลืองและช่วยให้เล็บดูสุขภาพดีขึ้น เพราะเชื่อว่าช่วยป้องกันและซ่อมแซมการสึกหรอของเส้นผม ผิว และเล็บได้ โดยอาจเป็นวิตามินอีในรูปแบบรับประทานหรือยาทาก็ได้ ทั้งนี้ ก่อนใช้ผลิตภัณฑ์วิตามินอีใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งเพื่อความปลอดภัย

เล็บเหลืองจากการติดเชื้อ

หากเล็บเหลืองเกิดจากการติดเชื้อรา ยีสต์ หรือแบคทีเรีย อาจใช้เบกกิ้งโซดาผสมน้ำร้อนหรือน้ำอุ่นแล้วนำเล็บลงไปแช่ชั่วครู่ ทำซ้ำหลาย ๆ รอบก็อาจช่วยยับยั้งเชื้อราไม่ให้แพร่กระจายมากขึ้นและขจัดคราบเหลืองออกได้ เพราะเชื้อราสามารถเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมที่มีค่าพีเอช (pH) เป็นกรด แต่เบกกิ้งโซดาจะช่วยปรับสภาพแวดล้อมให้กลายเป็นด่าง

หรืออาจใช้ทีทรีออยล์ผสมกับโจโจ้บาออยล์ น้ำมันมะพร้าว หรือน้ำมันมะกอก ผสมให้เข้ากันแล้วทาลงบนเล็บที่เกิดการติดเชื้อ แต่ก็ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญก่อนเสมอ เพราะงานวิจัยบางส่วนพบว่าทีทรีออยล์ไม่มีประสิทธิภาพในการยับยั้งแบคทีเรียหรือเชื้อราได้ดีเพียงพอ

หากลองทำตามวิธีข้างต้นแล้วไม่ได้ผล อาจต้องรักษาด้วยการใช้ยาต้านเชื้อราตามใบสั่งแพทย์ด้วย เช่น ยาเทอร์บินาฟีน ยาไอทราโคนาโซล เป็นต้น แต่การใช้ยาอย่างยาวนานติดต่อกันอาจส่งผลเสียต่อตับ และก่อให้เกิดผลข้างเคียงจากยาอย่างอาการท้องเสียหรือปวดท้องได้ บางกรณีแพทย์อาจให้ยาต้านเชื้อราชนิดทาอย่างยาไซโคลพิรอกซ์แทน ซึ่งการใช้ยาอาจใช้เวลาเป็นสัปดาห์หรือนานเป็นเดือนกว่าจะเห็นผลลัพธ์

อย่างไรก็ตาม การดูแลและรักษาเล็บเหลืองด้วยตนเองอาจไม่ได้ผลเสมอไป บางคนมีโอกาสเกิดเล็บเหลืองซ้ำได้หรืออาการไม่หายขาด หากพบว่าอาการแย่ลงหรือเกิดสิ่งผิดปกติขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป

วิธีป้องกันเล็บเหลือง

การป้องกันเล็บเหลืองอาจทำได้เพียงบางส่วน เพราะปัญหานี้เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุและมีโอกาสเกิดซ้ำได้เสมอ แต่สามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยการดูแลสุขอนามัยของมือและเล็บ ตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • หลีกเลี่ยงการทาเล็บติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยเฉพาะการทาเล็บสีเข้ม ไม่ควรปล่อยสีทาเล็บไว้บนเล็บนาน หรืออาจหยุดพักการทาเล็บบ้างอย่างน้อย 1 สัปดาห์
  • ใช้ยาล้างเล็บที่ไม่มีส่วนประกอบของอะซีโตน (Acetone) และไม่ใช้ยาล้างเล็บบ่อยเกิน 1 ครั้งต่อสัปดาห์
  • ทาครีมบำรุงนิ้วและเล็บเป็นประจำ
  • ตัดเล็บเป็นประจำ โดยตัดให้สั้นพอประมาณ ไม่ควรตัดเซาะบริเวณจมูกเล็บ และอาจเลือกตัดเล็บในช่วงหลังการอาบน้ำ เพราะเล็บจะอ่อนนุ่มและทำให้ตัดเล็บได้ง่ายขึ้น
  • ทำความสะอาดกรรไกรตัดเล็บหรืออุปกรณ์ดูแลเล็บเป็นประจำ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค
  • ดูแลนิ้วและเล็บให้แห้งและสะอาดอยู่เสมอ
  • ล้างมือให้สะอาดก่อนทำความสะอาดเล็บด้วยแปรงที่มีขนอ่อนนุ่ม โดยขัดเบา ๆ บริเวณรอบเล็บ และควรทำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง
  • หากเล็บเกิดการฉีกขาดหรือได้รับบาดเจ็บ ควรตัดเล็บให้เรียบร้อย เพื่อให้เล็บใหม่งอกยาวขึ้นมาได้ตามปกติ
  • หากต้องการไปทำเล็บตามร้าน ควรเลือกร้านทำเล็บที่มีมาตรฐาน มีอุปกรณ์และสีทาเล็บที่ได้คุณภาพ มีการดูแลเครื่องมือทำเล็บให้สะอาดอยู่เสมอ
  • หมั่นสังเกตความผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับเล็บอย่างสม่ำเสมอ และไปพบแพทย์เมื่อพบความผิดปกติ