เล็บฉีกกับวิธีรับมือและพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เล็บอ่อนแอ

เล็บฉีกเป็นเรื่องที่หลายคนคงเคยพบเจอ โดยเฉพาะคนที่ชอบไว้เล็บหรือเล็บบาง การบาดเจ็บนี้ไม่เพียงส่งผลต่อความสวยงามของเล็บเท่านั้น แต่เมื่อเล็บฉีกขาดอย่างรุนแรงอาจทำให้เกิดความเจ็บปวด มีอาการเลือดออกใต้เล็บ หรือเล็บหลุดได้ 

เล็บฉีกมักพบได้จากอุบัติเหตุที่มีการกระแทกหรือบีบอัด อย่างประตูหนีบหรือลิ้นชักหนีบนิ้ว แต่นอกจากอุบัติเหตุแล้ว ปัจจัยและพฤติกรรมเสี่ยง อย่างการกัดเล็บและปัญหาสุขภาพบางอย่างก็อาจทำให้เล็บอ่อนแอ เปราะบาง และฉีกขาดได้ง่ายขึ้น เพราะฉะนั้น เรามาดูกันว่าสาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เล็บฉีกมีอะไรบ้าง และจะรับมือกับการบาดเจ็บนี้อย่างไร

เล็บฉีกกับวิธีรับมือและพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เล็บอ่อนแอ

เล็บฉีกเกิดจากอะไร?

เล็บเป็นส่วนประกอบหนึ่งของนิ้วมือและนิ้วเท้า ซึ่งโดยธรรมชาติของมนุษย์ เราใช้มือและเท้าในการเคลื่อนที่ จับ ถือ หรือสัมผัสกับสิ่งอื่น ๆ อยู่เสมอ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เล็บของเราจะเป็นหนึ่งในอวัยวะที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บจนทำให้เล็บฉีกขาดได้ แต่เมื่อรู้สาเหตุหรือปัจจัยที่ส่งผลต่อสุขภาพและการบาดเจ็บของเล็บก็อาจเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้เราระมัดระวังได้มากขึ้น

ปัญหาเล็บฉีกมักเกิดจากอุบัติเหตุในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะรุนแรงหรือไม่รุนแรง เช่น ประตูหนีบนิ้ว ของหล่นใส่นิ้วเท้า การใช้เล็บแคะ แกะ เกาสิ่งของ การตอกตะปูพลาด อุบัติเหตุจากการใช้ของมีคม การเดินเตะขาโต๊ะ ขาเตียง หรือขอบตู้ นอกจากนี้ กิจกรรมที่ต้องใช้กำลังมือและเท้าอย่างต่อเนื่อง อย่างการวิ่ง การเล่นกีฬา หรือการยกของหนัก ๆ ก็อาจทำให้เล็บฉีกได้ 

ไม่ใช่อุบัติเหตุเพียงอย่างเดียวที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บบริเวณเล็บจนฉีกได้ แต่ปัจจัยและพฤติกรรมบางอย่างอาจทำให้เล็บอ่อนแอ เปราะหัก และฉีกขาดได้ง่ายขึ้น เช่น กัดเล็บ ตกแต่งเล็บ ไว้เล็บยาว ขาดสุขอนามัย เล็บเปื่อยจากการแช่น้ำเป็นเวลานาน ลักษณะเล็บที่ผิดรูป (Nail Deformity) รวมไปถึงปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวกับผิวหนังและเล็บ อย่างการติดเชื้อรา เล็บขบ โรคขาดสารอาหาร โรคสะเก็ดเงิน

เล็บฉีกเกิดได้หลายลักษณะ ทั้งฉีกในแนวตรง ฉีกในแนวขวาง ฉีกเฉพาะเล็บที่ยื่นออกมา หรือฉีกเข้ามาบริเวณเนื้อเยื่อใต้เล็บ (Nail Bed) หากฉีกเป็นแนวตั้งหรือฉีกเข้ามายังปลายนิ้วอาจทำให้เลือดออกรอบเล็บ ห้อเลือดบริเวณใต้เล็บ มีอาการปวดตุบ (Throbbing Pain) หรือหากเกิดการกระแทกหรือฉีกขาดรุนแรงอาจทำให้เล็บบางส่วนหรือทั้งหมดฉีกและหลุดออกจากนิ้วได้

ทำอย่างไรเมื่อเล็บฉีก?

เล็บฉีกอาจแบ่งคร่าว ๆ เป็น 2 ระดับ และแต่ละระดับก็มีรูปแบบการรักษาที่ค่อนข้างต่างกันไปดังนี้

เล็บฉีกระดับไม่รุนแรง

การฉีกขาดของเล็บระดับนี้ไม่รุนแรง และจะเกิดการฉีกขาดเฉพาะเล็บที่ยืนออกมาจากนิ้ว โดยไม่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อหรือเลือดออก สามารถรักษาได้ด้วยการใช้กรรไกรตัดเล็บตัดบริเวณที่ฉีกออกทิ้ง เพื่อป้องกันเล็บไปเกี่ยวกับสิ่งของหรือเสื้อผ้าที่อาจทำให้เล็บฉีกมากขึ้น

นอกจากการตัดเล็บแล้วยังมีวิธีสำหรับต่อเล็บที่ฉีกเข้าด้วยกันโดยใช้อุปกรณ์ อย่างกาวและเทปสำหรับต่อเล็บ แต่ก่อนใช้อุปกรณ์เหล่านี้ ควรศึกษาวิธีใช้อย่างถูกต้อง เพราะอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือทำให้เล็บเสียหายกว่าเดิมได้

เล็บฉีกรุนแรงและเนื้อเยื่อใต้เล็บบาดเจ็บ

หากเล็บฉีกเข้ามาบริเวณหรือเนื้อเยื่อใต้เล็บถือว่าเป็นอาการที่อยู่ในระดับปานกลางถึงรุนแรง เพราะเนื้อเยื่อใต้เล็บมีหน้าที่ยืดเล็บให้ติดกับนิ้ว การเกิดรอยแผลอาจส่งผลให้เล็บหยุดเจริญเติบโต ไม่งอกขึ้นมาใหม่ หรือเล็บที่งอกใหม่มีลักษณะผิดไปจากเดิมได้ โดยเฉพาะการฉีกขาดที่รุนแรงจนทำให้เล็บหลุด ดังนั้นหากเล็บฉีกเข้ามาบริเวณนิ้ว เล็บหลุด หรือเคลื่อนไปจากตำแหน่งเดิม

ควรไปพบแพทย์เพื่อรักษาอย่างเหมาะสม เพราะการรักษาตามขั้นตอนจากแพทย์จะช่วยลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนและอาจลดปัญหารูปทรงเล็บที่ส่งผลต่อความสวยงามได้ 

ก่อนไปพบแพทย์อาจปฐมพยาบาลในเบื้องต้นดังนี้ ขั้นแรกให้ถอดเครื่องประดับ แหวน สร้อยข้อมือออกก่อน ตามด้วยการทำความสะอาดบริเวณเล็บ นิ้ว มือด้วยน้ำเกลือทางการแพทย์หรือน้ำสะอาด โดยหลีกเลี่ยงการขัดถูหรือสัมผัสบริเวณที่เล็บฉีกเข้าไป เพราะอาจทำให้เล็บและเนื้อเยื่อเสียหายมากขึ้น

หลังทำความสะอาดใช้ผ้าสะอาดซับให้แห้งและใช้กรรไกรตัดเล็บส่วนที่ฉีกออกให้สั้นลงอย่างเบามือ จากนั้นใช้ผ้าพันแผลพันรอบนิ้วและเล็บอย่างระมัดระวังและไม่แน่นจนเกินไป หากมีอาการปวดอาจใช้ ยาพาราเซตามอล ยาแก้ปวดชนิดไม่มีสเตียรอยด์ อย่างไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพื่อบรรเทาอาการปวด

เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์จะประเมินอาการและฉีดยาชาก่อนรักษา หากมีเลือดออกใต้เล็บ แพทย์จะใช้เข็มเจาะเล็บนำเลือดออกเพื่อช่วยลดอาการปวด หากเล็บและเนื้อเยื่อใต้เล็บฉีกรุนแรง แพทย์อาจถอดเล็บบางส่วนหรือทั้งหมดเพื่อเย็บเนื้อเยื่อใต้เล็บ จากนั้นจะเย็บหรือใช้กาวทางการแพทย์สำหรับติดเล็บไปยังที่เดิม แต่บางกรณีเล็บอาจอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถต่อกันได้ แพทย์ต้องใช้วัสดุทางการแพทย์ติดเข้าไปแทน ซึ่งช่วยให้เนื้อเยื่อใต้เล็บฟื้นฟู

หลังเสร็จขั้นตอนการรักษา แพทย์อาจสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งควรใช้ตามที่กำหนดอย่างเคร่งครัดเพื่อลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนและผลข้างเคียง หากอาการไม่ดีขึ้น รู้สึกปวดมากขึ้น นิ้วบวม หรือเป็นหนอง ควรไปพบแพทย์

วิธีป้องกันเล็บฉีกขาดง่าย

นอกจากระมัดระวังแล้ว อาจทำวิธีต่อไปนี้เพื่อป้องกันเล็บฉีก

1. ตัดเล็บให้สั้นพอดี ไม่ยาวจนเกินไป

2. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมกัดเล็บ หรือใช้เล็บแคะ แกะ เกาสิ่งของต่าง ๆ

3. กินอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารประเภทโปรตีนที่ช่วยให้เล็บแข็งแรง ไม่หักงอ

4. สวมถุงมือเมื่อต้องสัมผัสกับน้ำเป็นเวลานานหรือเมื่อทำงานช่างที่ใช้ของหนักและของมีคม

5. ทำเล็บและตกแต่งเล็บเฉพาะบางโอกาส เพราะสารเคมีส่งผลต่อความแข็งแรงของเล็บได้

6. หลีกเลี่ยงการวิ่งภายในบ้านและสวมรองเท้าสำหรับเดินในบ้านเพื่อป้องกันเท้ากระแทกเฟอร์นิเจอร์

7. สวมรองเท้าออกกำลังที่พอดีและไม่แน่นจนเกินไป

8. รักษาความสะอาดร่างกายให้เหมาะสม โดยเฉพาะเล็บเท้าที่มักติดเชื้อรา

9. หากเป็นโรคผิวหนังควรไปพบแพทย์ เพราะการติดเชื้อราหรือเชื้ออื่น ๆ อาจทำให้เล็บและเนื้อเยื่อใต้เล็บอ่อนแอได้

ตามค่าเฉลี่ยแล้วเล็บมือของคนเราจะยาวขึ้นราว 0.33 เซนติเมตรต่อเดือน หากเป็นเล็บเท้าอาจใช้เวลามากกว่านั้น ซึ่งแต่ละคนจะใช้เวลาแตกต่างกันไปตามความรุนแรงของเล็บที่ฉีกและสารอาหารที่ร่างกายได้รับ 

เพื่อป้องกันอาการเล็บฉีกและความผิดปกติที่เกี่ยวกับเล็บมือ เล็บเท้า ควรหมั่นสังเกตการเปลี่ยนแปลงของเล็บอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นสี ลักษณะภายนอก ความแข็งแรง หากเล็บมีลักษณะเปลี่ยนไปจากเดิม ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอย่างถูกต้อง