ติดนิสัยกัดเล็บ เข้าข่ายป่วยทางจิต หรือเสี่ยงเป็นโรคอะไรไหม

การกัดเล็บ อาจไม่ได้เป็นเพียงแค่นิสัยติดตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าชอบกัดเล็บเป็นประจำและไม่สามารถหยุดหรือควบคุมอาการได้ อาจจัดเป็นโรคทางจิตเวชอย่างหนึ่ง ซึ่งนอกจากพฤติกรรมนี้จะส่งผลเสียต่อลักษณะเล็บรวมถึงบุคลิกภาพของบุคคลนั้นแล้ว การกัดเล็บอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายได้ด้วย

2012 ติดนิสัยกัดเล็บ rs

กัดเล็บ นิสัยติดตัว หรืออาการทางจิต ?

หากดูเผิน ๆ การกัดเล็บอาจเป็นเพียงนิสัยที่ติดตัวมาตั้งแต่เด็ก แต่เมื่อพิจารณาตามเกณฑ์การวินิจฉัยโรคทางจิตเวชของสมาคมจิตแพทย์อเมริกา นิสัยชอบกัดเล็บเป็นประจำที่ทำโดยไม่สามารถหยุดหรือควบคุมพฤติกรรมของตนเองได้ แม้จะรู้อยู่แก่ใจว่าอาจทำให้เล็บ ผิวหนัง หรือเนื้อบริเวณรอบ ๆ เกิดความเสียหาย จัดว่าเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำชนิดหนึ่ง ซึ่งมีชื่อทางการแพทย์ว่า Onychophagia หรือ Onychophagy

ทั้งนี้ นิสัยชอบกัดเล็บมักเกิดขึ้นในวัยเด็กและวัยรุ่น แม้พฤติกรรมนี้จะค่อย ๆ หายไปเมื่อมีอายุเพิ่มมากขึ้น แต่บางรายก็อาจติดพฤติกรรมนี้ไปจนถึงวัยทำงานได้เช่นกัน โดยการกัดเล็บเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ อย่างความรู้สึกวิตกกังวล เครียด เบื่อ ไม่มั่นใจ หรือแม้แต่เมื่อรู้สึกหิว เพราะสำหรับบางคน การกัดเล็บอาจเป็นตัวช่วยเพื่อบรรเทาอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นได้ นอกจากนี้ มีงานวิจัยบางส่วนพบว่า การถ่ายทอดทางพันธุกรรม รวมถึงการเลียนแบบพฤติกรรมของพ่อแม่ที่ชอบกัดเล็บ ก็อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เด็กมีนิสัยชอบกัดเล็บไปด้วยได้

ความเสี่ยงของการกัดเล็บ

การกัดเล็บอาจเป็นเพียงพฤติกรรมที่เกิดขึ้นชั่วคราว ซึ่งส่วนใหญ่มักไม่ทำให้เกิดอันตรายใด ๆ แต่อาจทำให้รูปร่างของเล็บบิดเบี้ยว ไม่สวยงามได้รูป และส่งผลกระทบต่อบุคลิกภาพส่วนบุคคล อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมนี้อาจก่อให้เกิดโรคหรือปัญหาสุขภาพในลักษณะต่าง ๆ ตามมาได้เช่นกัน ดังนี้

รูปร่างของเล็บเปลี่ยนไป
การกัดเล็บอาจทำให้เนื้อเยื่อบริเวณเล็บเกิดความเสียหาย และอาจส่งผลให้เนื้อเยื่อที่ร่างกายสร้างขึ้นมาใหม่เจริญขึ้นมาแบบผิดปกติ จนเล็บมีลักษณะผิดรูปไปจากเดิม

เกิดการติดเชื้อ
มือของคนเราเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคจำนวนมาก และเล็บก็เป็นเหมือนหลุมหลบภัยของเชื้อโรคเหล่านั้น ดังนั้น การนำเล็บที่มีเชื้อโรคสะสมอยู่เข้าปาก จึงเสี่ยงต่อการนำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายและอาจทำให้เกิดการติดเชื้อตามมาได้ นอกจากนี้ การกัดเล็บอาจทำให้ผิวหนังบริเวณเล็บหลุดลอกหรือเกิดแผล ซึ่งทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้นด้วย

ฟันเสียหาย
การกัดเล็บอาจทำให้ฟันร้าว ฟันบิ่นหรือแตกหัก หากกัดเล็บติดต่อกันเป็นเวลานานก็อาจส่งผลให้กรามหรือกระดูกขากรรไกรเกิดความผิดปกติได้

ติดนิสัยกัดเล็บ ควรทำอย่างไรดี ?

การกัดเล็บมักเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว การหยุดพฤติกรรมเช่นนี้จึงจำเป็นต้องใช้ความพยายามค่อนข้างสูง โดยผู้ที่ติดนิสัยกัดเล็บควรปรับพฤติกรรมของตัวเองไปทีละน้อย และปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นตามมาจากการกัดเล็บ

  • ตัดเล็บให้สั้นอยู่เสมอ
  • สวมถุงมือ พันพลาสเตอร์ หรือติดสติกเกอร์ที่เล็บ
  • ใช้ยาทาเล็บแก้ปัญหากัดเล็บ เพราะตัวยาจะมีรสขม จึงอาจทำให้ไม่อยากนำเล็บเข้าไปในปาก หรือเข้าร้านทำเล็บ เพื่อตกแต่งเล็บให้สวยงาม ซึ่งอาจทำให้ไม่อยากกัดเล็บ
  • ลองถือลูกบอลลดความเครียด กดปากกา หรือเคี้ยวหมากฝรั่งแทน เพื่อลดโอกาสในการกัดเล็บ
  • หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่กระตุ้นให้กัดเล็บ และทำกิจกรรมที่ช่วยลดความกังวลหรือความเครียด

นอกจากนี้ ผู้ที่ชอบกัดเล็บควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมและร่างกายของตนเองอยู่เสมอ หากนิสัยกัดเล็บส่งผลกระทบต่อสุขภาพ หรือทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้เป็นปกติ ควรไปปรึกษาแพทย์ เพื่อหาสาเหตุและเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป