เมื่อผู้ดูแลหมดไฟในการดูแลผู้ป่วย สัญญาณและวิธีรับมือ

หมดไฟในการดูแลผู้ป่วย (Caregiver Burnout) เป็นภาวะที่ผู้ดูแลผู้ป่วย ซึ่งอาจเป็นคนที่รู้จักใกล้ชิดกับผู้ป่วย เช่น คนรัก และลูกหลาน รู้สึกเหนื่อยล้าทั้งทางร่างกายและจิตใจ เกิดจากความเครียดและความกดดันในการดูแลผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุที่บ้าน ผู้ดูแลจึงรู้สึกท้อ เหนื่อย เบื่อหน่าย ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า และปัญหาสุขภาพอื่น ๆ

การดูแลผู้ป่วยเป็นงานที่เหน็ดเหนื่อยและใช้ความอดทนสูง เพราะมักต้องดูแลผู้ป่วยตลอดเวลาและดูแลในระยะยาว โดยเฉพาะผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ผู้ดูแลต้องจัดเตรียมอาหารและยา อาบน้ำให้ผู้ป่วย และเรื่องอื่น ๆ ตามที่ผู้ป่วยร้องขอ ซึ่งมักทำให้ผู้ดูแลไม่มีเวลาดูแลร่างกายและจิตใจของตัวเอง จึงมีสุขภาพแย่ลง และอาจส่งผลให้ไม่สามารถดูแลผู้ป่วยได้ดีเท่าที่ควร

เมื่อผู้ดูแลหมดไฟในการดูแลผู้ป่วย สัญญาณและวิธีรับมือ

อาการแบบใดเข้าข่ายหมดไฟในการดูแลผู้ป่วย

ภาวะหมดไฟในการดูแลผู้ป่วยอาจทำให้เกิดอาการคล้ายภาวะเครียดและโรคซึมเศร้า เช่น 

  • เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย หมดแรง 
  • เศร้า ท้อแท้ สิ้นหวัง วิตกกังวล หงุดหงิด โมโหง่าย 
  • ไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งที่ทำ และรู้สึกเหมือนต้องรับผิดชอบทุกอย่างอยู่คนเดียว
  • หมดความสนใจในสิ่งที่ชอบทำ ขาดแรงจูงใจในชีวิต ไม่พูดคุยหรือทำกิจกรรมกับเพื่อนหรือคนในครอบครัว
  • ละเลยการดูแลร่างกายและจิตใจตัวเอง
  • ปวดศีรษะ ปวดตามร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง ทำให้เกิดการติดเชื้อง่ายและเจ็บป่วยบ่อย
  • ความอยากอาหารและน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลงผิดปกติ 
  • มีปัญหาในการนอนหลับ อาจต้องใช้ยานอนหลับบ่อยครั้ง 
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ หรือใช้สารเสพติด
  • อยากหนีจากหน้าที่ดูแลผู้ป่วย มีความคิดทำร้ายตัวเองหรือทำร้ายผู้ป่วยที่ดูแลอยู่ เพื่อจะได้ไม่ต้องรับภาระการดูแลผู้ป่วยอีก

หมดไฟในการดูแลผู้ป่วยเกิดจากอะไร

งานวิจัยระบุว่าภาวะหมดไฟในการดูแลผู้ป่วยมักเกิดในผู้ดูแลเพศหญิง ผู้ดูแลที่เป็นคู่สมรสกับผู้ป่วย และผู้ดูแลที่ไม่ได้ทำงานอื่น เนื่องจากคนในครอบครัวมักผลักภาระการดูแลมาให้คนเหล่านี้ แต่ภาวะหมดไฟในการดูแลผู้ป่วยเกิดได้จากหลายสาเหตุ ผู้ดูแลบางคนอาจมีภาระส่วนตัวอื่นที่ต้องรับผิดชอบด้วย ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่การงาน ค่าใช้จ่ายในบ้าน การดูแลลูก คนรัก และสมาชิกในครอบครัวคนอื่น ๆ

การทำใจไม่ได้ที่เห็นคนใกล้ชิดเจ็บป่วยและไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และความรุนแรงของอาการที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะหมดไฟในการดูแลผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยติดเตียงที่อาการรุนแรงจนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ผู้ดูแลต้องจัดการทุกอย่าง ทั้งการเตรียมและให้อาหารทางสายยาง ให้ยา ช่วยเหลือในการขับถ่าย เช็ดตัว ทำแผล และการพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาล หรือไปรับยาแทนผู้ป่วย 

ผู้ดูแลหลายคนหวังว่าการดูแลจะทำให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้น ซึ่งอาจเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น พาร์กินสัน (Parkinson's Disease) หรืออัลไซเมอร์ (Alzheimer's Disease) ที่อาการมักรุนแรงขึ้นรื่อย ๆ หากผู้ดูแลไม่มีความรู้ในการดูแลหรือไม่มีคนอื่นผลัดกันช่วยดูแลผู้ป่วย อาจยิ่งทำให้ผู้ดูแลเกิดความเครียด หงุดหงิด และนำไปสู่ภาวะหมดไฟในการดูแลผู้ป่วย

นอกจากนั้น สาเหตุหนึ่งที่ผู้ดูแลไม่ได้แบ่งเวลาเพื่อดูแลสุขภาพตนเองและทำสิ่งที่ชอบ อาจเป็นเพราะรู้สึกผิดหากใช้เวลาไปกับเรื่องส่วนตัวมากกว่าตั้งใจดูแลผู้ป่วย รวมทั้งหากแสดงออกว่าไม่อยากดูแลผู้ป่วย อาจถูกกล่าวหาว่าไม่กตัญญูหรือไม่อดทน จึงทำให้ผู้ดูแลเกิดความเครียดและความเหนื่อยล้าสะสม ซึ่งนำไปสู่ภาวะหมดไฟในการดูแลผู้ป่วยในที่สุด

รับมืออย่างไรเมื่อใกล้หมดไฟในการดูแลผู้ป่วย

ภาวะหมดไฟในการดูแลผู้ป่วยอาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ โรควิตกกังวล และโรคซึมเศร้า หากสังเกตว่ามีอาการของภาวะหมดไฟในการดูแลผู้ป่วย ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและหาวิธีรับมือก่อนจะส่งผลเสียต่อสุขภาพด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้

  • ยอมรับความรู้สึกของตัวเอง ความเหนื่อย เครียด และไม่พอใจเกิดขึ้นได้เสมอ และไม่ใช่เรื่องผิดหากแสดงความรู้สึกออกมาบ้าง การเก็บความรู้สึกไว้กับตัวอาจยิ่งทำให้รู้สึกหมดไฟมากขึ้น
  • ยอมรับว่าอาการของผู้ป่วยอาจแย่ลงได้แม้จะดูแลอย่างเต็มที่แล้ว ไม่ควรคาดหวังว่าผู้ป่วยจะช่วยเหลือตัวเองได้ตามปกติหรือหายดีได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นเรื้อรังอย่างโรคพาร์กินสันและสมองเสื่อม เช่น อัลไซเมอร์ที่อาการมักจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ
  • รู้ขีดจำกัดของตัวเอง ดูแลผู้ป่วยในส่วนที่สามารถทำได้ และพูดคุยกับคนในครอบครัวเพื่อแบ่งหน้าที่หรือให้ช่วยสลับวันในการดูแลผู้ป่วย จะช่วยแบ่งเบาภาระที่ต้องทำลงได้
  • หาเวลาพักช่วงสั้น ๆ ระหว่างวัน การพักผ่อนจากการดูแลผู้ป่วยเพียง 10 นาทีอาจช่วยลดความเครียดและความเหนื่อยล้าจากการดูแลผู้ป่วยได้บ้าง
  • พูดคุยกับคนที่เชื่อใจได้ เช่น เพื่อนสนิทและเพื่อนร่วมงานที่จะช่วยรับฟังความไม่สบายใจ 
  • ดูแลสุขภาพตัวเองด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ตรงเวลา ออกกำลังกาย นอนหลับให้เพียงพอ ผ่อนคลายความเครียดด้วยการทำสิ่งที่ชอบ และออกไปเที่ยวพักผ่อนเมื่อมีเวลา รวมทั้งไปพบแพทย์ตามนัดและตรวจสุขภาพประจำปี 

หากเป็นไปได้อาจวานหรือว่าจ้างผู้อื่นให้มาทำหน้าที่ดูแลชั่วคราวเป็นรายครั้ง หรือฝากผู้ป่วยไว้ในสถานพยาบาลที่รับดูแลผู้ป่วย โดยตรวจสอบรายชื่อสถานประกอบการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับการอนุญาตอย่างถูกต้องที่เว็บไซต์ของกิจการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง กระทรวงสาธารณสุข และพิจารณาสถานที่ตั้ง ค่าใช้จ่าย ความพร้อมของอุปกรณ์และบุคลากรดูแลผู้ป่วยที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้ดูแลมีเวลาพักผ่อนหรือทำธุระส่วนตัว

นอกจากนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติยังริเริ่มจัดระบบดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง (Long Term Care: LTC) เพื่อประเมินอาการ ดูแล ส่งยาถึงบ้านหรือที่ศูนย์พัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้ป่วย

แม้การดูแลผู้ป่วยจะเป็นงานที่ยากและเหน็ดเหนื่อย แต่การได้ดูแลผู้ป่วยถือเป็นโอกาสหนึ่งในการแสดงความรัก และเมื่อผู้ป่วยจากไปผู้ดูแลจะไม่รู้สึกผิดหรือเสียใจ เพราะได้ดูแลอย่างสุดความสามารถแล้ว ทั้งนี้ ผู้ดูแลไม่ควรดูแลผู้ป่วยจนลืมดูแลตัวเองจนนำไปสู่ภาวะหมดไฟในการดูแลผู้ป่วย หากรู้สึกเครียด นอนไม่หลับ วิตกกังวล หรือซึมเศร้า ควรปรึกษาแพทย์ จิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยาเพื่อรับคำแนะนำและตรวจรักษาต่อไป