หลักการดูแลผู้ป่วยพาร์กินสัน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า

พาร์กินสัน (Parkinson’s Disease) หรือสันนิบาต เป็นความผิดปกติของระบบประสาทบางส่วนที่ส่งผลให้ร่างกายมีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติไป เช่น เคลื่อนไหวช้า เดินช้า ตัวเกร็ง มือสั่น พูดไม่ชัด เป็นต้น อาการเหล่านี้อาจกระทบต่อการใช้ชีวิตและเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ ทำให้ผู้ป่วยพาร์กินสันควรได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของโรคพาร์กินสัน แต่สาเหตุบางส่วนอาจมาพันธุกรรมที่ผิดปกติ สารพิษ หรือสภาพแวดล้อมอื่น ๆ โดยโรคนี้พบในผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ นอกจากอาการทางกายแล้ว ผู้ป่วยอาจได้รับผลกระทบทางจิตใจจนอาจเสี่ยงต่อความเครียดและภาวะซึมเศร้า ดังนั้น ผู้ดูแลผู้ป่วยควรรู้วิธีดูแลทั้งทางร่างกายและจิตใจที่ถูกต้อง โดยเฉพาะลูกหลานที่ดูแลผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคพาร์กินสันภายในบ้าน

2545-สันนิบาต

หลักในการดูแลผู้ป่วยพาร์กินสัน

โรคพาร์กินสันมีความรุนแรงหลายระดับ บางรายสามารถเคลื่อนไหวได้เกือบปกติ แต่บางรายอาจจำเป็นต้องมีผู้ดูแล ในเบื้องต้นสามารถนำหลักต่อไปนี้ไปปรับใช้กับการดูแลผู้ป่วยแต่ละคนได้

1. ทำความเข้าใจโรค

สิ่งแรกที่ผู้ดูแลควรใส่ใจคือการทำความเข้าใจในโรคและตัวผู้ป่วยเอง เนื่องจากโรคพาร์กินสันยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด แต่อาจบรรเทาความรุนแรงได้ด้วยการใช้ยา การบำบัด ควบคู่ไปกับการดูแลสุขภาพในด้านอื่น ๆ อีกทั้งผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเป็นสูงอายุและอยู่ในวัยที่เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพทั้งทางกายและใจ ดังนั้น นอกเหนือจากโรคและตัวผู้ป่วย ผู้ดูแลควรทราบข้อมูลอื่น ๆ โดยเฉพาะในเรื่องต่อไปนี้ 

  • โภชนาการ
    เนื่องจากพาร์กินสันเป็นโรคในผู้สูงอายุซึ่งเป็นวัยที่ระบบภายในร่างกายทำงานได้น้อยลง ทำให้ต้องควบคุมสารอาหารให้เหมาะสม โดยแพทย์จะแนะนำให้รับประทานอาหารอ่อนหรืออาหารที่นิ่ม ย่อยง่าย ทำให้กระเพาะและลำไส้ไม่ต้องทำงานหนัก และป้องกันการสำลักที่มีสาเหตุมาจากอาการของโรค สำหรับอาหารที่ควรรับประทานคืออาหารที่มีประโยชน์ เน้นอาหารที่มีใยอาหารและแคลเซียมสูง เพื่อป้องกันอาการท้องผูก และเสริมแคลเซียมให้กับมวลกระดูกภายในร่างกาย เนื่องจากผู้สูงอายุมักเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนและยังช่วยลดความรุนแรงหากเกิดการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ
  • ยารักษา
    แพทย์อาจจ่ายยาเลโวโดปา (Levodopa) ชนิดรับประทานให้กับผู้ป่วยบางราย โดยยานี้ควรรับประทานในขณะท้องว่างเพื่อให้ยาออกฤทธิ์ได้เต็มที่ ผู้ดูแลจึงไม่ควรให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารใกล้เคียงกับเวลาที่ใช้ยา โดยเฉพาะอาหารประเภทโปรตีน เพราะอาจทำให้ยาดูดซึมได้น้อยลง ส่วนยาอื่น ๆ อาจมีวิธีใช้ที่แตกต่างกันไป โดยแพทย์จะเป็นผู้แนะนำ
  • สถานที่และอุปกรณ์
    ควรปรับสิ่งแวดล้อมภายในที่พักให้เหมาะสม อย่างการจัดเฟอร์นิเจอร์และเคลียร์พื้นที่ เพื่อป้องกันการหกล้ม สะดุด หรืออุบัติเหตุอื่น ๆ โดยอาจติดตั้งราวจับในที่พักและห้องน้ำเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถทำกิจกรรมด้วยทำตัวเองได้อย่างปลอดภัย

2. ออกกำลังกายอยู่เสมอ

พาร์กินสันเป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวร่างกาย ทำให้ตัวสั่น แข็งเกร็ง เคลื่อนไหวช้า เสียการทรงตัว พูดไม่ชัด หรือไม่สามารถใช้งานอวัยวะได้อย่างเดิม ด้วยเหตุนี้ ควรให้ผู้ป่วยใช้กล้ามเนื้อในการเคลื่อนไหวอยู่เป็นประจำ เพื่อกระตุ้นการทำงานของระบบประสาท กล้ามเนื้อ และข้อต่อ ซึ่งอาจช่วยฟื้นฟูและรักษาการทำงานของอวัยวะนั้น ๆ

โดยแพทย์อาจแนะนำวิธีต่อไปนี้ในการออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยพาร์กินสัน

  • อ่านหนังสือออกเสียงหรือร้องเพลงให้เพื่อรักษากล้ามเนื้อใบหน้า ปาก และขากรรไกร
  • ออกกำลังกายที่ไม่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ เช่น เดิน ปั่นจักรยาน รำมวยจีน รำไท้เก๊ก โยคะ เป็นต้น

การรักษาการทำงานของร่างกายอาจช่วยให้ผู้ป่วยสามารถทำกิจกรรมระหว่างวันได้เป็นปกติมากยิ่งขึ้น อีกทั้งช่วยลดความเครียดและลดความเสี่ยงของความผิดปกติทางอารมณ์ได้ด้วย 

3. ดูแลสุขภาพจิตร่วมกับสุขภาพกาย

เมื่อได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคพาร์กินสัน ผู้ป่วยอาจมีความรู้สึกทางลบ อย่างความรู้สึกกลัวหรือกังวล โดยเฉพาะช่วงแรกที่เริ่มมีปัญหาทางการเคลื่อนไหวจนส่งผลให้การใช้ชีวิตประจำวันไม่เหมือนเดิม ในผู้ป่วยพาร์กินสันที่ต้องพึ่งพาคนดูแลก็อาจเกิดความรู้สึกผิดภายในใจและรู้สึกเป็นภาระแก่ผู้ดูแล ผู้ดูแลจึงควรใส่ใจ ถามไถ่และรับฟังความรู้สึกของผู้ป่วย แสดงถึงความรักและความเข้าใจในตัวผู้ป่วย เพราะหากละเลยและไม่ทำความเข้าใจในจุดนี้ ความรู้สึกเหล่านี้อาจนำไปสู่ภาวะผิดปกติทางอารมณ์ อย่างภาวะซึมเศร้าหรือภาวะวิตกกังวล นอกจากนี้ การปล่อยภาวะซึมเศร้าโดยไม่รักษาอาจทำให้อาการของโรคแย่ลงเร็วกว่าปกติ ซึ่งเป็นผลกระทบที่ต่อเนื่องกัน 

4. ช่วยให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตเหมือนเดิมมากที่สุด

ผู้ป่วยพาร์กินสันอาจเดินช้า ต้องใช้ไม้เท้าหรือรถเข็น จะหยิบจับหรือจะพูดอะไรก็ไม่ทันใจอย่างเคย จึงทำให้ผู้ป่วยหลายคนทำกิจกรรมได้ลดลงจากเดิมและอาจเป็นเหตุผลที่ออกไปใช้ชีวิตในโลกภายนอกได้น้อยลง แต่การอยู่แต่ในที่พักอาจทำให้เกิดความรู้สึกอุดอู้และความเครียดได้ ดังนั้น ควรพาผู้ป่วยออกไปทำกิจกรรมข้างนอก เช่น รับประทานอาหารนอกบ้าน ไปดูหนัง เข้าสังคม หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ เป็นต้น 

หากผู้ป่วยมีงานอดิเรกหรือกิจกรรมที่ชื่นชอบ ควรให้ความช่วยเหลือในการทำสิ่งเหล่านั้นให้ได้ปกติที่สุดโดยไม่ฝืนร่างกายจนเกินไป เพื่อให้ร่างกายและจิตใจได้พักผ่อน และผ่านช่วงเวลาของปรับตัวได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม ควรเตรียมความพร้อมเรื่องการเดินทาง ศึกษาสถานที่ที่สะดวกต่อการเดินทาง อย่างลิฟต์หรือทางลาดสำหรับรถเข็น หรือสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสิ่งแรก

5. สังเกตการเปลี่ยนแปลงของอาการ

โรคพาร์กินสันพบอาการแสดงได้หลายแบบ จึงควรสังเกตปัญหาที่มักพบร่วมได้ เช่น

  • อาการที่เป็นอยู่รุนแรงขึ้นกว่าเดิม
  • ปัญหาการทรงตัวและการเดิน
  • ปัญหาในการพูด
  • ปัญหาในเคี้ยวหรือกลืนอาหาร
  • ปัญหาในการขับถ่าย
  • รู้สึกเหนื่อยล้าอ่อนเพลียมากกว่าปกติ
  • ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง
  • อารมณ์เปลี่ยนแปลง หรือมีสัญญาณภาวะซึมเศร้า

หากพบอาการเหล่านี้ ควรพาผู้ป่วยไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจและรับการรักษา

6. รู้วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น

ผู้ป่วยพาร์กินสันที่มีอาการเกี่ยวกับการทรงตัวและการกลืนอาหารจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ อย่างการหกล้มหรืออาหารติดคอ ผู้ที่ดูแลจึงควรศึกษาวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเพื่อลดความรุนแรงและป้องกันการเสียชีวิตเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น การห้ามเลือด ทำแผล การปฐมพยาบาลคนหมดสติ การช่วยเหลือเมื่ออาหารติดคอ รวมทั้งเตรียมเบอร์โทรศัพท์สำหรับเรียกรถพยาบาลเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน เป็นต้น

สุดท้ายนี้ นอกจากความเข้าใจและรู้จักวิธีดูแลผู้ป่วยแล้ว ความอดทนเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้ดูแลจำเป็นต้องมี เนื่องจากอาการของโรค ทั้งการเคลื่อนไหวช้า พูดไม่ชัด โดยเฉพาะรายที่อาการรุนแรงอาจต้องการความช่วยเหลือแทบทุกอย่างในชีวิตประจำวันและการใส่ใจที่มากเป็นพิเศษ ทำให้อาจส่งผลต่ออารมณ์ของผู้ดูแลได้ ดังนั้น ความอดทนจึงเป็นที่ขาดไม่ได้ ผู้ดูแลควรดูแลผู้ป่วยอย่างค่อยเป็นค่อยไปและทำความเข้าใจในอาการให้มากขึ้น ซึ่งอาจช่วยให้ผู้ป่วยมีความสุขและการดูแลเป็นไปอย่างราบรื่น