การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย

การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย คือ การดูแลประคับประคอง รักษาบรรเทาอาการผู้ป่วยที่มีอาการทรุดหนัก ป่วยด้วยโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และมีแนวโน้มเสียชีวิตในอนาคตอันใกล้ ดังนั้น การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายจึงมีองค์ประกอบหลาย ๆ ด้าน ซึ่งทั้งหมดล้วนเกี่ยวโยงกับการดูแลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีในระหว่างการรักษาให้ครอบครัวได้เตรียมความพร้อมทั้งด้านจิตใจและการใช้ชีวิตหลังจากผู้ป่วยเสียชีวิตไปแล้ว และให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้จากไปอย่างสงบ

การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย

ผู้ป่วยแบบใดถือเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย

  • ป่วยด้วยโรคที่ลุกลามและไม่สามารถรักษาได้ เช่น โรคมะเร็ง ภาวะสมองเสื่อม โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอแอลเอสหรือโรคเซลล์ประสาทสั่งการเสื่อม
  • มีอาการป่วยที่ทรุดลงเรื่อย ๆ และมีอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่ปรากฏร่วมด้วย โดยแพทย์คาดว่าผู้ป่วยอาจมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน 1 ปี
  • มีอาการป่วยที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตอย่างกะทันหันจากอาการที่กำเริบไปสู่ภาวะวิกฤต
  • เผชิญภาวะอาการป่วยที่เป็นอันตรายต่อชีวิตอย่างเฉียบพลัน จากสถานการณ์ร้ายแรง เช่น เส้นเลือดในสมองแตกหรือตีบตัน หรือประสบอุบัติเหตุรุนแรง

การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายควรเริ่มตอนไหน

การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายเป็นประโยชน์ต่อทั้งตัวผู้ป่วยเองและครอบครัวคนรักผู้ดูแลที่ใกล้ชิด เพราะเป็นการเตรียมการให้พร้อมในการเผชิญเหตุการณ์ที่เลี่ยงไม่ได้เมื่อวันนั้นมาถึง ฉะนั้น การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายจึงไม่ใช่การเริ่มดูแลในระยะที่ผู้ป่วยใกล้หมดลมหายใจ แต่ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่แพทย์แจ้งให้ทราบล่วงหน้าว่าผู้ป่วยเหลือเวลาในการใช้ชีวิตอีกยาวนานเพียงใด บางรายอาจมีเวลาให้ผู้ป่วยกับครอบครัวได้วางแผนเตรียมตัวใช้ชีวิตที่เหลืออีกหลายเดือน แต่บางรายก็อาจเหลือเวลาไม่มากนัก เพียงไม่กี่วัน หรือไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น

ทางเลือกในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย

เมื่อทราบแล้วว่าผู้ป่วยเหลือเวลาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนรักและครอบครัวได้อีกไม่นาน ผู้ป่วยอาจตัดสินใจด้วยตนเองร่วมกับครอบครัวและผู้เกี่ยวข้องที่มีอำนาจในการตัดสินใจว่ามีความประสงค์ในการดูแลในสถานที่ใด อาจเป็นการดูแลในสถานพยาบาล หรือให้ผู้ป่วยกลับบ้านมารับการดูแลและหมดลมหายใจภายใต้การดูแลของครอบครัว

  • การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่บ้าน

ผู้ป่วยระยะสุดท้ายหลายคนมักเลือกใช้เวลาที่มีค่าแม้ว่าเหลือไม่มากนักของชีวิตอยู่ที่บ้านกับครอบครัว หากผู้ป่วยหรือญาติตัดสินใจที่จะดูแลผู้ป่วยที่บ้าน แพทย์ผู้ดูแลจะแนะนำขั้นตอนและวิธีการดูแล โดยสมาชิกในครอบครัว ญาติ เพื่อนของผู้ป่วย และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องสามารถช่วยกันดูแลผู้ป่วยให้บรรเทาจากอาการหรือความเจ็บปวดทางร่างกาย รวมทั้งให้กำลังใจให้ผู้ป่วยผ่อนคลายและลดความกังวลต่าง ๆ ลง

นอกจากนี้ ผู้ป่วยหรือครอบครัวอาจจัดหาพยาบาลหรือผู้ดูแลส่วนตัวมาช่วยดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยจะได้รับการดูแลที่ดีและถูกต้องเหมาะสม

  • การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่สถานพยาบาล

ผู้ป่วยบางรายอาจเลือกหรือมีความจำเป็นที่ต้องใช้เวลาในวาระสุดท้ายของชีวิตอยู่ที่สถานพยาบาล เช่น อาการปวดที่ไม่บรรเทาเมื่อได้รับการดูแลที่บ้าน หรือผู้ป่วยเกิดภาวะแทรกซ้อน เจ็บป่วยกะทันหันขึ้น โดยอาจได้รับการดูแลที่สถานพยาบาลเพียงชั่วคราว เมื่ออาการดีขึ้นแล้วก็สามารถกลับไปดูแลต่อที่บ้านได้หากผู้ป่วยและครอบครัวต้องการ แม้ว่าจะได้รับการดูแลอยู่ที่โรงพยาบาล ครอบครัว ญาติ เพื่อน และผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยก็สามารถมาเยี่ยม ดูแล และให้กำลังใจผู้ป่วยที่โรงพยาบาลได้ แต่อาจมีข้อจำกัดบ้างในบางสถานที่ เช่น ห้องผู้ป่วยวิกฤตหรือที่มักเรียกกันว่าไอซียู ซึ่งผู้ที่มาเยี่ยมควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อสุขภาพและความปลอดภัยของทั้งตัวผู่ป่วยและผู้ที่มาเยี่ยมเองด้วย

ขั้นตอนและวิธีการในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย

  • การดูแลทางด้านร่างกาย

ผู้ป่วยระยะสุดท้ายอาจมีอาการที่ควรได้รับการรักษาประคับประคองอย่างต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ ดังต่อไปนี้

ความเจ็บปวด หากผู้ป่วยเกิดความเจ็บปวด ควรแจ้งให้แพทย์และผู้ดูแลทราบว่ามีอาการอย่างไร และเจ็บปวดบริเวณใด เพื่อให้ทราบสาเหตุของอาการปวดและให้การรักษาดูแลได้อย่างถูกต้องต่อไป แต่หากผู้ป่วยอยู่ในสภาวะที่ไม่สามารถพูดคุยหรือแจ้งอาการของตนได้ ผู้ดูแลสามารถสังเกตอาการที่เป็นสัญญาณของความเจ็บปวดของผู้ป่วยได้ เช่น ผู้ป่วยหายใจเสียงดัง หายใจแรง หายใจเร็ว การแสดงสีหน้าดูตึงเครียด ซึมเศร้า ตกใจ หน้าบึ้ง ถลึงตา หรือร้องไห้ กำมือ เกร็งตัว ชันเข่าขึ้น กระสับกระส่าย ขยับตัวไปมาเพื่อหาตำแหน่งที่สบายตัวขึ้น เป็นต้น

การบรรเทาความเจ็บปวดแก่ผู้ป่วย สามารถทำได้ด้วยการให้ยาแก้ปวดแก่ผู้ป่วย อาจให้ยาพาราเซตามอล เพื่อบรรเทาอาการเบื้องต้น หรือในกรณีที่มีอาการเจ็บปวดอย่างรุนแรง แพทย์อาจให้ยากลุ่มมอร์ฟีนเพื่อระงับอาการปวด ทั้งนี้ การเลือกใช้ยาขึ้นอยู่กับลักษณะอาการ ความรุนแรง และบริเวณที่ปวดด้วย

ความเมื่อยล้า ผู้ป่วยอาจมีอาการเมื่อยล้า ไม่มีแรง อ่อนเพลีย โดยที่อาการไม่ดีขึ้นแม้จะได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอแล้วก็ตาม ในระยะนี้ ผู้ป่วยควรรักษาสมดุลระหว่างการพักผ่อนกับการทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการเมื่อยล้าอ่อนแรงที่ทรุดหนักลง โดยอาจทำกิจกรรมอย่างการดูหนังฟังเพลง ออกไปเที่ยวนอกบ้านบ้าง หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่ชื่นชอบเพื่อให้เกิดความผ่อนคลาย

ส่วนผู้ดูแลควรอำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วย เช่น ช่วยประคองตัวเมื่อผู้ป่วยไม่มีแรงลุก นั่ง หรือเดิน อาจให้ผู้ป่วยใช้ไม้เท้าหรือนั่งรถเข็นแทน จัดบริเวณที่อยู่อาศัยของผู้ป่วยให้สะดวกต่อการลุกเข้าห้องน้ำทำธุระส่วนตัวได้โดยง่ายและไม่ต้องใช้พลังงานมากในการเคลื่อนที่

ปัญหาการหายใจ ผู้ป่วยบางรายอาจมีปัญหาในการหายใจ หายใจไม่อิ่ม หายใจติดขัด หายใจเร็วหรือแรงกว่าปกติ รู้สึกแน่นเหมือนมีของเหลวอยู่ในปอดจนทำให้อยากไอออกมา ซึ่งอาการดังกล่าวมักเกิดขึ้นเป็นระยะแล้วหายไป

อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยมีอาการหายใจลำบาก ควรรีบแจ้งให้แพทย์หรือผู้ดูแลทราบ เพื่อทำการรักษาดูแลต่อไป เช่น ให้ผู้ป่วยลุกขึ้นนั่ง เอาหมอนรองตัวหรือดันหลังผู้ป่วย เปิดหน้าต่างระบายอากาศ เปิดพัดลมหรือแอร์ ให้ผู้ป่วยได้อยู่ในห้องที่เย็นสบายมีอากาศถ่ายเท ให้ยารักษาอาการหายใจติดขัด อาจให้ยาระงับการก่อตัวของของเหลวในปอด หรือต่อสายให้ออกซิเจนช่วยหายใจ เป็นต้น

ปัญญาด้านการกิน การปฏิเสธอาหารและความอยากอาหารที่ลดลง เป็นส่วนหนึ่งในภาวะอาการของร่างกายในระยะก่อนเสียชีวิต ผู้ป่วยอาจมีอาการ เช่น มีการรับรสหรือรับรู้กลิ่นที่เปลี่ยนไป ปากแห้ง กระเพาะและลำไส้ทำงานต่างไปจากปกติ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก หรือท้องร่วง ซึ่งอาการเหล่านี้ทำให้ผู้ป่วยไม่อยากรับประทานอาหาร

ด้วยความรักและปรารถนาดีต่อผู้ป่วย ครอบครัวและบุคคลใกล้ชิดอาจมองว่าผู้ป่วยปฏิเสธการมีชีวิตอยู่ต่อ จึงไม่อยากรับประทานสิ่งใด และอาจพยายามคะยั้นคะยอให้กินมากขึ้น แต่แท้จริงแล้วอาการเหล่านี้ล้วนเป็นกลไกและการตอบสนองทางร่างกายที่ไม่อาจควบคุมได้ การฝืนให้ผู้ป่วยรับประทานมากขึ้นอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอึดอัดได้ทั้งร่างกายและจิตใจ ครอบครัวและบุคคลใกล้ชิดควรทำความเข้าใจ และอาจแสดงความรักต่อผู้ป่วยด้วยวิธีอื่นแทน เช่น การพูดคุย การกอด เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งอาการไม่อยากอาหารอาจสามารถบรรเทาได้บ้าง เช่น แพทย์อาจให้ยากระตุ้นความอยากอาหาร หรือให้ผู้ป่วยปรับพฤติกรรมการกิน อย่างกินของว่างหรือกินอาหารทีละน้อย แต่แบ่งเป็นหลาย ๆ มื้อต่อวัน แทนการกินอาหารมื้อใหญ่ 3 มื้อ

  • การดูแลทางด้านจิตใจ

ผู้ป่วยระยะสุดท้ายอาจเผชิญกับสภาวะทางอารมณ์ เช่น ความกลัว ความโศกเศร้าเสียใจ ความวิตกกังวล ความรู้สึกผิด ความซึมเศร้า หรือแม้กระทั่งความโกรธ ผู้ดูแลและผู้ใกล้ชิดควรพูดคุย ให้คำแนะนำ และให้กำลังใจให้ผู้ป่วยผ่านช่วงเวลาที่เป็นทุกข์ไปได้ เข้าใจและยอมรับสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยผู้ป่วยอาจปรึกษาแพทย์ หรือขอความช่วยเหลือในการจัดการทางอารมณ์จากผู้เชี่ยวชาญอย่างจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาได้เช่นกัน

  • การดูแลด้านจิตวิญญาณ

เมื่อผู้ป่วยรู้ตัวว่าใกล้เข้าสู่ช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต พวกเขาจะเริ่มคิดถึงความหมายของชีวิตและชีวิตหลังความตาย ผู้ดูแลควรพูดคุยกับผู้ป่วย เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้แสดงความคิดเห็นและทัศนคติต่อเรื่องต่าง ๆ ความเชื่อ ประสบการณ์ สิ่งที่มีค่ามีความหมายในชีวิต หรืออาจเชิญให้นักบวชตามศาสนาที่ผู้ป่วยนับถือเลื่อมใสมาพบปะสนทนาให้ผู้ป่วยเกิดความผ่อนคลายสบายใจ เข้าใจธรรมชาติของการดำรงอยู่ เพื่อเตรียมความพร้อมและทำจิตใจให้สงบเมื่อวันนั้นมาถึง

  • การดูแลทางด้านสังคม

ผู้ป่วยควรได้รับการดูแลและประเมินปัญหาทางด้านสังคมที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยกับครอบครัว และประเมินความพร้อมในการรับรู้ความจริง เพื่อให้สามารถวางแผนจัดการต่อไปได้อย่างเหมาะสม ดังนี้

การประเมินปัญหาทางด้านสังคมที่ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยกับครอบครัว ซึ่งต้องคำนึงถึงความแตกต่างกันในด้านองค์ประกอบของแต่ละบุคคลด้วย เช่น เพศ อายุ การศึกษา อาชีพ รายได้ ศาสนา ความเชื่อ รวมถึงความสามารถในการรับรู้เรื่องโรคและการเจ็บป่วยในขณะนั้น

โดยการประเมินควรคำนึงถึงประเด็นหลัก ดังนี้

  1. บทบาทของผู้ป่วยในครอบครัว เช่น เป็นพ่อแม่ ลูก สามีหรือภรรยา เป็นผู้หารายได้หลัก หรือศูนย์รวมความรักของครอบครัว เป็นต้น โดยบทบาทเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อสภาวะทางจิตใจของสมาชิกในครอบครัว หรือศักยภาพในการจัดการปัญหาต่าง ๆ ด้วย
  2. ความรักความผูกพันของผู้ป่วยกับสมาชิกในครอบครัว ประเมินความต้องการด้านจิตวิญญาณ ลดภาวะความรู้สึกผิดในจิตใจ ช่วยให้ผู้ป่วยและครอบครัวมองเห็นความสวยงามของชีวิต แม้ต้องสูญเสียคนที่รักไป
  3. ผู้ดูแลผู้ป่วย ควรจัดหาผู้ดูแลผู้ป่วยที่เหมาะสม เนื่องจากสมาชิกในครอบครัวทุกคนอาจมีภาระงานในขณะเดียวกัน  
  4. ที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อม ควรเตรียมสภาพแวดล้อมให้พร้อมรับผู้ป่วยกลับมาดูแลที่บ้าน
  5. เครือข่ายทางสังคมและการสนับสนุนทางสังคม ค้นหาเครือข่ายทางสังคมที่สามารถช่วยสนับสนุนผู้ป่วยได้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ เช่น ครอบครัวหรือเครือญาติ เพื่อน เพื่อนที่ทำงานหรือโรงเรียน เพื่อนบ้าน นักวิชาชีพ อาสาสมัคร หน่วยงานหรือองค์กร หรือกลุ่มทางศาสนา เป็นต้น
  6. ความต้องการของครอบครัว ครอบครัวจะมีอิทธิพลต่อความคิดและการตัดสินใจ บางครั้งผู้ป่วยจะให้ครอบครัวเป็นผู้ตัดสินใจแทนในเรื่องที่เกี่ยวกับอาการป่วยของตน ความสัมพันธ์ในครอบครัวอาจสร้างความอึดอัดใจให้ผู้ป่วยได้ หากความต้องการของผู้ป่วยและครอบครัวสวนทางกัน หรือมีความขัดแย้งระหว่างสมาชิกในครอบครัว  

ส่วนการประเมินความสามารถในการรับรู้ความจริงของผู้ป่วย ควรประกอบด้วย

  1. ความต้องการการรับรู้ความจริง  ผู้ป่วยมีความต้องการที่จะรับรู้ความจริงหรือไม่ ในระดับใด และความ ต้องการของผู้ป่วยและญาติสวนทางกันหรือไม่
  2. ประเมินความรู้ และทัศนคติต่อโรคของผู้ป่วยและครอบครัว
  3. ประเมินศักยภาพภายในของผู้ป่วย  ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยสามารถจัดการปัญหาและสถานการณ์ได้ เช่น ภาวะอารมณ์ ประสบการณ์เดิม ลักษณะบุคลิกนิสัย ความสามารถ เป็นต้น
  4. ประเมินศักยภาพภายนอกของผู้ป่วย สภาวะแวดล้อมเอื้อประโยชน์ต่อผู้ป่วยหลังจากทราบความจริงหรือไม่
  • การจัดการหน้าที่รับผิดชอบ

ผู้ป่วยควรมอบหมายส่งต่อภาระรับผิดชอบแก่บุคคลอื่นให้ดำเนินการต่อไป เช่น หน้าที่การงาน บทบาทหน้าที่ที่รับผิดชอบในครอบครัว ตารางสิ่งที่ต้องทำในชีวิตประจำวัน เป็นต้น

การจัดการภาระดังกล่าว อาจรวมไปถึงการจัดการแจกแจงแบ่งสันปันส่วนมรดกและทรัพย์สินส่วนตัวของผู้ป่วยด้วย โดยผู้ป่วยอาจทำพินัยกรรมไว้ในขณะที่ยังมีสติสัมปชัญญะครบถ้วน เพื่อให้ครอบครัวและบุคคลที่ใกล้ชิดสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ในภายหลัง แม้ต้องเสียบุคคลที่พวกเขารักไป

นอกจากนี้ ครอบครัวควรพูดคุยกับผู้ป่วยให้เข้าใจและยอมรับความเป็นไปตามธรรมชาติ เพื่อให้ผู้ป่วยสบายใจ ทำใจยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และพร้อมจากไปอย่างหมดห่วง

  • การบอกลาในช่วงเวลาสุดท้าย

ผู้ดูแลอาจผลัดเปลี่ยนกันอยู่ดูแลเฝ้าระวังอาการของผู้ป่วย เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าต้องจากโลกนี้ไปอย่างโดดเดี่ยว โดยในช่วงเวลาสุดท้ายก่อนผู้ป่วยจะสิ้นลมหายใจ ครอบครัว คนรัก เพื่อนสนิท และบุคคลที่ใกล้ชิดควรอยู่ให้กำลังใจหากเป็นไปได้ ให้ผู้ป่วยได้พูดคุยปลดปล่อยสิ่งที่ต้องการพูดแต่ไม่มีโอกาส หรือสิ่งที่คับข้องใจมาเป็นเวลานาน เช่น การขอโทษ การขอบคุณ การให้อภัย เพื่อให้ผู้ป่วยได้จากไปอย่างหมดห่วงหมดความกังวล

การแสดงเจตจำนงก่อนตายของผู้ป่วยระยะสุดท้าย

  • เจตจำนงทางการรักษา ผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ยังมีสติสัมปชัญญะควรอย่างยิ่งที่จะแสดงเจตจำนงทางการรักษาเป็นการยินยอมทางวาจา ทางกริยาท่าทาง หรือลงลายมือชื่อเป็นลายลักษณ์อักษรว่าผู้ป่วยต้องการการรักษาแบบใด มากน้อยเพียงใด
  • การมอบอำนาจตัดสินใจ ในสภาวะที่ผู้ป่วยไม่สามารถตัดสินใจใด ๆ ได้ด้วยตนเอง ผู้ที่ได้รับมอบสิทธิ์ในการตัดสินใจแทนผู้ป่วยจะมีสิทธิ์ในการตัดสินใจในสถานการณ์ใด ๆ ที่จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากผู้ป่วย และผู้ป่วยอาจมอบหมายให้ทนายหรือตัวแทนด้านกฎหมายจัดการกิจธุระใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินและสิทธิทางกฎหมายต่าง ๆ ของผู้ป่วยได้ด้วยเช่นกัน
  • การบริจาคอวัยวะหรือการบริจาคร่างกาย แพทย์อาจสอบถามผู้ป่วยถึงความประสงค์ในการบริจาคอวัยวะ ส่วนที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยรายอื่น ๆ ต่อไปหลังผู้ป่วยเสียชีวิต หรือการบริจาคร่างกาย เพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษาทางการแพทย์ต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ ผู้ป่วยต้องยินยอมและตัดสินใจด้วยตนเองว่าต้องการบริจาคหรือไม่

สิ่งที่ต้องทำหลังบุคคลอันเป็นที่รักได้จากไป

เมื่อผู้ป่วยได้จากไปอย่างสงบแล้ว ครอบครัว เพื่อน ๆ และบุคคลใกล้ชิดสามารถอยู่ในห้องกับผู้ป่วยเพื่อทำใจได้ระยะหนึ่ง ทั้งนี้ ระยะเวลาที่ใช้ร่วมกับผู้ป่วยเป็นครั้งสุดท้ายขึ้นอยู่กับว่าผู้ป่วยเสียชีวิตที่บ้านหรือที่สถานพยาบาล จากนั้น ผู้ดูแลอาจดำเนินตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

  • บางกรณีหรือหากมีความจำเป็น แพทย์อาจต้องชันสูตรศพผู้ป่วย เพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิตที่แน่ชัด
  • ในกรณีที่ผู้ป่วยบริจาคอวัยวะหรือบริจาคร่างกาย ญาติต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้จัดการและรับศพไปดำเนินการตามที่ผู้ป่วยได้ทำข้อตกลงไว้ก่อนเสียชีวิต
  • นำหลักฐานซึ่งเป็นเอกสาร คือ บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ตาย สำเนาทะเบียนบ้านที่มีชื่อของผู้ตาย และหนังสือรับรองการตายจากแพทย์หรือใบรับแจ้งการตายจากผู้ใหญ่บ้าน (ถ้ามี) ไปแจ้งการตายที่สถานีตำรวจ จากนั้นจึงไปแจ้งตายที่สำนักงานเทศบาลหรือที่ว่าการเขต/อำเภอในท้องที่ ภายใน 24 ชั่วโมง
  • หลังจากนั้นครอบครัวจึงนำศพไปทำพิธีตามศาสนาได้ ภายใต้ความถูกต้องตามหลักกฎหมาย และความประสงค์ของครอบครัว