บริจาคอวัยวะ ขั้นตอนและการเตรียมตัว

บริจาคอวัยวะ (Organ Donation) คือ การบริจาคอวัยวะที่ยังมีสภาพสมบูรณ์ที่สุดเพื่อนำไปใช้ในการปลูกถ่ายอวัยวะให้แก่ผู้ป่วยที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยวิธีอื่น ๆ ช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ ซึ่งแตกต่างจากการบริจาคร่างกายโดยสิ้นเชิง เพราะการบริจาคร่างกายใช้เพื่อการศึกษาเท่านั้น และไม่สามารถบริจาคทั้ง 2 อย่างได้

การบริจาคอวัยวะต้องเป็นไปตามความสมัครใจของผู้บริจาค โดยในประเทศไทยสามารถแจ้งความจำนงในการบริจาคอวัยวะได้ที่ ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย เว้นแต่การบริจาคดวงตาที่ต้องบริจาคที่ธนาคารดวงตาสภากาชาดไทย ปัจจุบันอวัยวะที่สามารถบริจาคได้ได้แก่ หัวใจและลิ้นหัวใจ ปอด ตับ ไต ดวงตา 

ทั้งนี้ อวัยวะของผู้บริจาคจะนำออกจากร่างกายได้ก็ต่อเมื่อผู้บริจาคได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าอยู่ในภาวะสมองตาย หากเป็นดวงตา สามารถผ่าตัดนำออกมาจากร่างกายหลังผู้บริจาคเสียชีวิต แต่ในบางกรณีก็สามารถผ่าตัดนำอวัยวะไปปลูกถ่ายได้โดยที่ผู้ป่วยยังอยู่ในสภาพปกติ แต่ต้องได้รับการวินิจฉัยและอนุญาตจากแพทย์ว่าปลอดภัย ไม่ส่งผลร้ายแก่ผู้บริจาคในภายหลัง

บริจาคอวัยวะ

คุณสมบัติของผู้ที่สามารถบริจาคอวัยวะได้

เนื่องจากอวัยวะที่บริจาคต้องมีสภาพสมบูรณ์มากที่สุด และต้องเข้ากับผู้รอรับบริจาคได้โดยไม่เกิดการติดเชื้อไวรัสที่อันตรายในภายหลัง จึงทำให้กฎเกณฑ์ในการบริจาคอวัยวะมีมากกว่าการบริจาคร่างกาย คุณสมบัติของผู้ที่จะบริจาคอวัยวะได้ มีดังนี้

  • ผู้บริจาคต้องมีอายุต่ำกว่า 60 ปี
  • ผู้บริจาคต้องเสียชีวิตจากภาวะสมองตาย
  • ผู้บริจาคต้องไม่ป่วยเป็นโรคติดเชื้อหรือมะเร็งชนิดต่าง ๆ
  • ผู้ป่วยต้องไม่เป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคตับ โรคไต หรือพิษสุราเรื้อรัง 
  • ผู้ป่วยต้องไม่ป่วยด้วยโรคที่สามารถติดต่อผ่านการปลูกถ่ายอวัยวะได้ เช่น โรคไวรัสตับอักเสบบี หรือโรคเอดส์ 
  • อวัยวะที่บริจาคต้องทำงานได้อย่างสมบูรณ์
  • เมื่อแสดงความจำนงในการบริจาคอวัยวะแล้วควรแจ้งสมาชิกในครอบครัวหรือคนใกล้ชิด เพื่อความสะดวกในการติดต่อประสานงาน

ขั้นตอนในการบริจาคอวัยวะ

เมื่อผู้บริจาคตัดสินใจที่จะบริจาคอวัยวะ ให้เดินทางไปยังหน่วยงานที่รับบริจาคอวัยวะในทันทีเพื่อยื่นความจำนงในการบริจาค ขั้นตอนในการบริจาคอวัยวะมีดังนี้

  • กรอกแบบฟอร์มแจ้งความจำนง ในการกรอกแบบฟอร์มควรตอบให้ละเอียดและตรงความเป็นจริงมากที่สุด
  • ยื่นแบบฟอร์ม และรอรับบัตรประจำตัว เมื่อกรอกแบบฟอร์มแล้ว ผู้บริจาคจะต้องนำไปยื่นให้เจ้าหน้าที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะตรวจความเรียบร้อย จากนั้นทางหน่วยงานจะส่งบัตรประจำตัวผู้บริจาคให้ทางไปรษณีย์ตามที่อยู่ที่ระบุไว้
  • แจ้งหน่วยงานรับบริจาคเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูล ในกรณีที่เปลี่ยนแปลงที่อยู่ หรือทำบัตรประจำตัวผู้บริจาคสูญหาย ต้องแจ้งหน่วยงานเพื่อจัดทำบัตรใหม่และเปลี่ยนแปลงข้อมูลเพื่อความสะดวกหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด

การเตรียมตัวในการบริจาคอวัยวะ

ขั้นตอนการเตรียมตัวบริจาคอวัยวะไม่ยุ่งยาก เนื่องจากการบริจาคอวัยวะเป็นเพียงการแสดงความจำนงไว้ก่อนเท่านั้น อีกทั้งต้องรอจนกว่าผู้บริจาคจะเข้าสู่ภาวะสมองตายแล้วเท่านั้นจึงจะสามารถตรวจได้ว่าอวัยวะที่ประสงค์จะบริจาคสามารถใช้งานได้หรือไม่ ขั้นตอนในการบริจาคอวัยวะได้แก่

  • ตรวจสุขภาพ ผู้บริจาคอวัยวะจะต้องมีสุขภาพแข็งแรงและไม่ป่วยเป็นโรคร้ายแรงหรือโรคติดเชื้อ ดังนั้น จึงควรตรวจสุขภาพให้แน่ใจก่อนว่าตนเองสามารถบริจาคอวัยวะได้
  • แจ้งคนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิด แม้จะยื่นความจำนงแล้วแต่จำเป็นต้องมีสมาชิกในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดช่วยประสานงานในเรื่องบริจาคอวัยวะในกรณีที่ผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะสมองตาย
  • ติดต่อหน่วยงานรับบริจาคเพื่อสอบถามข้อมูล ในกรณีที่ผู้บริจาคมีข้อสงสัย สอบถามได้จากหน่วยงานรับบริจาค เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องก่อนเข้ารับการบริจาค

การดูแลตัวเองหลังจากการบริจาคอวัยวะ

การดูแลตัวเองหลังการบริจาคอวัยวะนั้น เมื่อผู้บริจาคแจ้งความจำนงในการบริจาคและได้รับบัตรประจำตัวแล้ว ต้องเก็บบัตรประจำตัวผู้บริจาคไว้กับตัว และควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง หากบัตรประจำตัวหาย ถูกขโมย หรือมีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ควรรีบแจ้งหน่วยงานรับบริจาคในทันทีเพื่อทำบัตรใหม่

หลักเกณฑ์ในการจัดสรรอวัยวะของผู้บริจาคสู่ผู้รับบริจาค

การจัดสรรอวัยวะแก่ผู้รับบริจาคเป็นขั้นตอนที่ยาก เนื่องจากอวัยวะที่ได้รับจากผู้บริจาคมีในปริมาณจำกัด จำเป็นต้องจัดสรรให้ได้ประโยชน์สูงสุดแก่ผู้รอรับบริจาค ต้องอยู่ภายใต้ความเท่าเทียมและพื้นฐานของมนุษยธรรม เพื่อป้องกันการซื้อขายอวัยวะผิดกฎหมาย 

เมื่อหน่วยงานได้รับอวัยวะที่บริจาคมาแล้ว อวัยวะแต่ละส่วนจะมีเวลาในการเก็บรักษาไม่นาน ระยะเวลาในการเก็บรักษาของอวัยวะแต่ละส่วนหลังนำออกจากร่างกายผู้บริจาคมีดังนี้

หัวใจ ปอด 

เก็บรักษาเพื่อรอการผ่าตัดปลูกถ่ายได้ไม่เกิน 5 ชั่วโมง ต้องเก็บไว้ในที่ที่มีความเย็นเพื่อรักษาสภาพเนื้อเยื่อ และถึงแม้ว่าปอดจะสามารถเก็บรักษาได้ 5 ชั่วโมง แต่ต้องนำออกซิเจนเข้าปอดภายใน 1 ชั่วโมงหลังจากนำออกจากร่างกายเพื่อรักษาสภาพของปอด

ลิ้นหัวใจ 

ลิ้นหัวใจมีลักษณะคล้ายเนื้อเยื่อ ซึ่งในปัจจุบันกระบวนการทางการแพทย์สามารถเก็บรักษาลิ้นหัวใจไว้ได้นานถึง 5 ปี หลังผู้บริจาคเสียชีวิตไปแล้ว

ตับ 

ในปัจจุบันสามารถเก็บรักษาตับไว้เพื่อรอการปลูกถ่ายในน้ำยาชนิดพิเศษได้ถึง 15 ชั่วโมง แต่จำเป็นจะต้องผ่าตัดให้เสร็จเรียบร้อยภายใน 12 ชั่วโมงเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย

ไต 

ไตเป็นอวัยวะที่สามารถบริจาคให้แก่กันได้ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ทั้งนี้เมื่อนำไตออกจากร่างกายผู้บริจาคแล้ว จะต้องถูกเก็บรักษาด้วยความเย็น ซึ่งสามารถเก็บรักษาได้นาน 48 ชั่วโมง

ดวงตา 

เมื่อผู้ป่วยเสียชีวิต ญาติของผู้เสียชีวิตจะต้องแจ้งหน่วยงานรับบริจาคดวงตาเพื่อให้มารับดวงตาที่บริจาคภายใน 6 ชั่วโมง จากนั้นดวงตาที่รับบริจาคจะถูกนำเข้ากระบวนการในการเก็บกระจกตา ซึ่งสามารถเก็บรักษาเพื่อรอผู้รับบริจาคได้ 14 วัน

หลักเกณฑ์การจัดสรรอวัยวะบริจาคในปัจจุบัน ใช้เป็นมาตรฐานเพื่อความเท่าเทียมและความสมบูรณ์มากที่สุดของอวัยวะเมื่อถูกปลูกถ่ายให้ผู้ป่วย

  • หลักการจัดสรรหัวใจ ปอด และตับ จัดสรรให้แก่ผู้ป่วยที่ต้องได้รับการปลูกถ่ายอย่างเร่งด่วน แล้วจึงจัดสรรให้ผู้ป่วยตามลำดับของการรอรับบริจาค
  • หลักการจัดสรรไต เนื่องจากไตมี 2 ข้าง ผู้ที่รับบริจาคจะได้ไตเพียงข้างเดียวเท่านั้น โดยจัดสรรตามลำดับของผู้รอรับบริจาคทั้งหมดที่ลงทะเบียนไว้ ส่วนไตอีก 1 ข้างจัดสรรให้ผู้ป่วยที่รอรับบริจาคในโรงพยาบาลก่อน แล้วจึงจัดสรรให้ผู้รอรับบริจาคตามลำดับ

นอกจากนี้ ในกรณีที่ผู้ป่วยโรคไตจำเป็นต้องได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะอื่น ๆ เช่น หัวใจ ตับ หน่วยงานรับบริจาคอวัยวะจะจัดสรรการปลูกถ่ายตามลำดับความสำคัญของอวัยวะเป็นหลัก โดยเรียงลำดับจากหัวใจ ปอด ตับ และไต เพื่อให้ผู้รับบริจาคได้อวัยวะมาปลูกถ่ายในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกันที่สุด 

ส่วนการจัดสรรกระจกตาจะจัดสรรตามลำดับผู้รอรับบริจาค และในกรณีที่หน่วยงานรับบริจาคไม่สามารถติดต่อผู้รอรับบริจาค ลำดับการบริจาคของผู้ป่วยจะถูกข้ามไปและอวัยวะที่ได้รับบริจาคมาจะถูกส่งต่อให้ผู้รอรับบริจาคในอันดับต่อไป