ตรวจสุขภาพเบื้องต้น จำเป็นแค่ไหนที่ต้องตรวจ

การตรวจสุขภาพตามโรงพยาบาลหรือหน่วยงานทางการแพทย์มักมาพร้อมบริการและโปรแกรมการตรวจสุขภาพเป็นแพ็กเกจให้เลือกซื้อ แต่การตรวจสุขภาพแบบไหนที่เหมาะสมกับเรา แล้วมีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหนที่ต้องตรวจ บทความนี้มีคำตอบมาฝากกัน

หลายคนอาจรู้สึกว่าการไปตรวจสุขภาพเป็นเรื่องยุ่งยากและเสียเงินโดยใช่เหตุ แต่ในปัจจุบัน การตรวจสุขภาพตามโรงพยาบาลมีความสะดวกสบายและมีราคาที่เอื้อมถึงได้มากขึ้น อีกทั้งยังมีสวัสดิการด้านสุขภาพจากรัฐบาลมาสนับสนุน จึงทำให้ผู้ที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขสามารถตรวจสุขภาพโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายหรือเสียน้อยลง 

ตรวจสุขภาพ

ทำไมต้องตรวจสุขภาพ

ปัญหาทางด้านสุขภาพอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา บางคนอาจไม่ได้เจ็บป่วยอะไรร้ายแรงก็ยังใช้ชีวิตในลักษณะเดิมโดยไม่ได้ตระหนักถึงอันตรายจากภัยของโรคที่ยังไม่เกิดขึ้น จนกระทั่งรู้ในภายหลังก็อาจช้าเกินไป เพราะบางโรคอาจไม่แสดงอาการผิดปกติในช่วงแรก หรืออยู่ในระยะที่โรคสงบ

การตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอจะเป็นการช่วยหาต้นตอของโรคหรือความผิดปกติได้ตั้งแต่ระยะแรก ขณะเดียวกันก็ทำให้รู้ถึงสภาพร่างกายขณะนั้นว่าเป็นปกติดีหรือไม่ และช่วยคัดกรองความเสี่ยงของโรคที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ดีต่อสุขภาพและไม่ไปเร่งการพัฒนาโรคให้เกิดขึ้น ในรายที่มีความเสี่ยงต่อโรคสูงเป็นทุนเดิมก็จะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาโรคให้หายขาดได้มากขึ้นหากตรวจพบความผิดปกติได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ  

การตรวจสุขภาพเบื้องต้น ต้องตรวจอะไรบ้าง 

แต่ละบุคคลมีปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพที่แตกต่างกัน เมื่อเข้ารับตรวจสุขภาพทุกครั้ง แพทย์จะมีการตรวจร่างกายทั่วไปก่อนเสมอ โดยดูน้ำหนัก ความสูง ประเมินภาวะอ้วนและผอม (BMI) ตรวจดูระบบต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ระบบหัวใจ ระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร ตลอดจนการสอบถามข้อมูลส่วนตัวของผู้เข้ารับการตรวจ ไม่ว่าจะเป็นอายุ ประวัติการป่วยของบุคคลในครอบครัว พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน การออกกำลังกาย อาหารการกิน ความวิตกกังวล หรือเรื่องอื่น ๆ เพื่อคัดกรองความผิดปกติและประเมินความเสี่ยงของโรคเบื้องต้น 

หากผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อโรคบางโรคสูงอาจมีการตรวจเน้นพิเศษในบางเรื่อง และอาจทำการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มด้วยเช่นกัน จึงทำให้โปรแกรมการตรวจสุขภาพมีความแตกต่างกันออกไป ซึ่งผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปี ขึ้นไป ควรมีการตรวจสุขภาพเบื้องต้นดังนี้  

1.ความดันโลหิต 

ผู้ใหญ่ที่มีค่าความดันโลหิตปกติ (120/80 มิลลิเมตรปรอท) ควรมีการตรวจความดันโลหิตทุก 3-5 ปี สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไต ควรตรวจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และผู้ที่วัดค่าความดันโลหิตค่าบน (Systolic) ได้ระหว่าง 120-139 มิลลิเมตรปรอท และความดันโลหิตค่าล่าง (Diastolic) ได้ระหว่าง 80-89 มิลลิเมตรปรอท ควรมีการตรวจวัดความดันปีละ 1 ครั้ง แต่หากวัดความดันโลหิตค่าบนได้มากว่า 140 มิลลิเมตรปรอทและความดันโลหิตค่าล่างได้มากกว่า 90 มิลลิเมตรปรอทควรตรวจให้บ่อยขึ้นตามคำแนะนำแพทย์ 

2.ระดับคอเลสเตอรอล 

ควรเริ่มมีการตรวจระดับคอเลสเตอรอลตั้งแต่อายุ 20 ปี ไปจนถึงอายุ 45 ปี และมีการตรวจซ้ำในคนที่มีระดับคอเลสเตอรอลปกติทุก 5 ปี แต่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ที่มีโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไต คนในครอบครัวมีประวัติระดับคอลเลสเตอรอลในเลือดสูงมาก่อน มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยเฉพาะการกินและเรื่องน้ำหนัก ควรเข้ารับการตรวจตั้งแต่อายุน้อย ๆ หรือตรวจเป็นระยะ

3.โรคเบาหวาน 

ผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง ควรเข้ารับการตรวจโรคเบาหวานอย่างน้อยทุก 3 ปี แต่สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น มีภาวะความดันโลหิตสูง (135/80 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป) มีภาวะอ้วน (วัดค่าดัชนีมวลกายหรือ BMI ได้สูง) ผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป ควรมีการตรวจบ่อยขึ้นตามคำแนะนำของแพทย์

4.การตรวจทางด้านสายตา 

ควรมีการตรวจสายตาทุก 2 ปี หรือตรวจถี่มากขึ้นตามคำแนะนำของแพทย์เมื่อพบปัญหาในการมองเห็น เช่น อาการผิดปกติทางสายตา มีความเสี่ยงโรคต้อหิน แต่สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานควรมีการตรวจสายตาทุกปี

5.การฉีดวัคซีน 

สำหรับการฉีดวัคซีนจะมีรายละเอียดแยกตามช่วงอายุและปัญหาสุขภาพดังต่อไปนี้ 

  • ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดทุกปี 
  • ผู้ที่มีอายุ 19 ปีขึ้นไป ควรได้รับการฉีดวัคซีนรวมป้องกันโรคบาดทะยัก โรคคอตีบ โรคไอกรน (Tdap) และควรมีการฉีดกระตุ้นทุก 10 ปี
  • ผู้ที่เกิดหลังปี พ.ศ. 2523 และไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน ควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส (Varicella Vaccine) 2 เข็ม ซึ่งปกติจะได้รับการฉีดให้ตั้งแต่ในเด็ก
  • ผู้ที่เกิดหลังปี พ.ศ. 2499 ควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม (MMR) อย่างน้อย 1 เข็ม
  • ผู้ที่มีอายุระหว่าง 18-26 ปี ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (Human Papilloma Virus: HPV) หรือตามคำแนะนำของแพทย์
  • วัคซีนป้องกันโรคอื่น ๆ สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงของโรคนั้น ๆ สูง แพทย์จะเป็นผู้ประเมินก่อนที่จะมีการฉีดให้ เช่น โรคปอดบวม
  • ควรมีการฉีควัคซีนป้องกันโรคงูสวัด 1 ครั้ง หลังจากอายุ 60 ปี
  • ในกรณีที่มีความเสี่ยงโรคตับ ควรมีการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ

6.การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ 

ผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือความเสี่ยงอื่น ๆ เช่น เคยเป็นโรคลำไส้อักเสบ ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคก่อนอายุ 50 ปี ส่วนผู้ที่มีอายุระหว่าง 50-75 ปี ควรเข้ารับการตรวจโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ทุกปีด้วยการตรวจอุจจาระ การตรวจด้วยวิธีการส่องกล้องทุก 5 ปี และตรวจลำไส้ใหญ่ทั้งหมดทุก 10 ปี  นอกจากนี้ในรายที่มีความเสี่ยงของโรคสูงอาจต้องได้รับการตรวจบ่อยขึ้น 

7.การตรวจคัดกรองโรคกระดูกพรุน 

ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป ควรมีการตรวจสอบความหนาแน่นของกระดูกด้วยเทคนิค DEXA โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุน เช่น การสูบบุหรี่ การได้รับยาสเตียรอยด์เป็นระยะเวลานาน ดื่มแอลกอฮอล์หนัก มีการบาดเจ็บที่กระดูก หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคกระดูกพรุน

8.การตรวจคัดกรองโรคปอด 

ในประเทศไทยมีการตรวจคัดกรองโรคทางด้านปอดด้วยวิธีการเอกซเรย์ปอดเป็นหลัก เช่น วัณโรคปอด หลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง มะเร็งปอด แต่ในบางประเทศ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้แนะนำให้มีการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอดด้วยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปริมาณรังสีต่ำ (Low-Dose Computed Tomography: LDCT) สำหรับผู้ที่มีอายุระหว่าง 55-80 ปี มีประวัติการสูบบุหรี่มานานกว่า 30 ปี และยังคงสูบบุหรี่หรือเลิกสูบได้ไม่นาน ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอด 

9.การตรวจมะเร็งเต้านม 

ผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 20-40 ปี ควรมีการตรวจเต้านมด้วยตนเองเดือนละ 1 ครั้ง และผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งเต้านม ควรได้รับการตรวจเต้านมด้วยแมมโมแกรม (Mammogram) อย่างน้อยปีละ 1 ครั้งก่อนช่วงอายุที่บุคคลในครอบครัวตรวจพบโรคนี้ ส่วนผู้ที่มีความเสี่ยงของโรคมะเร็งในปัจจัยอื่น ๆ อาจเข้ารับการตรวจเต้านมด้วยวิธีอัลตร้าซาวด์ (Breast Ultrasound) หรือ เอ็มอาร์ไอ (MRI Scan) เพิ่มเติม ส่วนผู้หญิงทั่วไปควรตรวจอย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง ไปจนอายุ 70 ปี 

10.การตรวจภายในและการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีแปปสเมียร์ 

ผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 21 ปี ควรมีการตรวจเป็นประจำทุก 3 ปี เพื่อตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก หากผู้ที่มีอายุมากกว่า 30 ปี ผลการตรวจออกมาเป็นปกติ ควรตรวจทุก 5 ปี แต่ในรายที่เข้ารับการผ่าตัดมดลูกหรือปีกมดลูกออกก็อาจไม่มีความจำเป็นในการตรวจ นอกจากนี้ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ก่อนอายุ 25 ปี ควรเข้ารับการตรวจเพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคหนองในแท้และหนองในเทียม

11.มะเร็งต่อมลูกหมาก 

ผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไปควรเริ่มมีการคัดกรองโรคมะเร็งต่อมลูกหมากทุกปี โดยเฉพาะผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวเป็นโรคนี้ ด้วยวิธีการหาสารชี้บ่งมะเร็งต่อลูกหมาก (PSA) โดยเข้ารับการตรวจในช่วงอายุน้อย ๆ ก่อนช่วงอายุที่บุคคลในครอบครัวเป็นมะเร็ง

การตรวจเหล่านี้เป็นการตรวจสุขภาพทั่วไปที่ควรระวังตามวัยและสถานการณ์ของแต่ละบุคคล เพื่อให้สามารถรับมือกับโรคที่เกิดขึ้นได้ทัน โดยแพทย์จะแนะนำการปฏิบัติตัวเพื่อเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงโรคสำหรับคนที่มีผลการตรวจเป็นปกติ แต่ในรายที่มีความผิดปกติ แพทย์อาจมีการตรวจพิเศษแบบอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อค้นหาสาเหตุความผิดปกตินั้น ๆ และประเมินการรักษาได้อย่างถูกต้อง ซึ่งผู้ที่เข้ารับการตรวจกับแพทย์ควรมีการสอบถามถึงผลดี-ผลเสียของวิธีและการตรวจในขั้นตอนต่อไป เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นในการตัดสินของผู้ที่เข้ารับการตรวจเองด้วยเช่นกัน 

การตรวจสุขภาพจำเป็นไหม ส่งผลเสียหรือไม่ 

การตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอจะเป็นประโยชน์ต่อการค้นหาความผิดปกติของร่างกายได้ตั้งแต่ในระยะแรก และยังช่วยให้ทราบถึงสภาพร่างกายในขณะนั้นว่าเป็นปกติดีหรือไม่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีโอกาสเกิดโรคใด ๆ ในอนาคต แม้ว่าผลการตรวจจะออกมาเป็นปกติ เพราะการตรวจสุขภาพเป็นเพียงการคัดกรองโรคเบื้องต้นในช่วงเวลาที่ตรวจเท่านั้น แต่จะช่วยให้ผู้เข้ารับการตรวจสุขภาพมีการดูแลตนเองมากขึ้น ไม่ชะล่าใจปล่อยปะละเลยหรือเพิ่มความเสี่ยงอื่น ๆ ที่เอื้อต่อโรคให้ตนเอง 

แต่ในบางกรณีการตรวจสุขภาพอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้  ผลการศึกษาจากการตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยการเจาะเลือดหาสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก (PSA) ในผู้ชายที่มีสุขภาพดีพบว่า ผู้ที่มีค่าบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมากสูง ส่วนใหญ่จะมีการตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีการตัดชิ้นเนื้อเพื่อหามะเร็ง และ 1 ใน 5 คนของผู้ชายที่มีการตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ภาวะเลือดออก หรือปัญหาในการขับถ่ายลำบากเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงบางโปรแกรมของการตรวจสุขภาพอาจไม่มีความจำเป็นเสมอไปสำหรับผู้ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง เช่น การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอดในคนที่ไม่มีความเสี่ยงของมะเร็งปอดด้วยการทำซีที สแกน (CT Scan) ซึ่งอาจมีโอกาสเกิดผลบวกลวงขึ้นได้ (ผลตรวจบ่งชี้ว่าเป็นโรค แต่อันที่จริงไม่เป็น) ทำให้ต้องมีการตรวจวินิจฉัยในขั้นต่อไป 

การตรวจคัดกรองโรคอย่างมีประสิทธิภาพควรเป็นการตรวจเฉพาะโรคที่อาจมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสุขภาพในคนที่มีความเสี่ยงต่อโรคนั้นสูง มีการคำนึงถึงความน่าเชื่อถือของวิธีการวินิจฉัยและผลดี-ผลเสียของการรักษาแต่ละวิธี และสิ่งที่สำคัญที่สุดในการตรวจสุขภาพ คือ การพิจารณาตามความเหมาะสม ช่วงอายุ หรือสถานการณ์ความเสี่ยงในแต่ละบุคคลเป็นพื้นฐาน