ข้อควรรู้ก่อนบริจาคสเต็มเซลล์ บริจาคเพื่อใคร มีผลข้างเคียงอันตรายหรือไม่

การบริจาคสเต็มเซลล์เป็นการเปิดโอกาสที่จะนำไปสู่การรักษาผู้ป่วยบางชนิด เช่น ผู้ป่วยที่มีภาวะโลหิตจางธาลัสซีเมีย ภาวะโลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง หรือโรคทางกระจกตา โดยการนำเซลล์ต้นกำเนิดของผู้บริจาคไปใช้กับผู้รับบริจาคที่สามารถเข้ากันได้

สเต็มเซลล์หรือเซลล์ต้นกำเนิดเป็นเซลล์ในร่างกายที่สามารถแบ่งตัวหรือเจริญเติบโตไปเป็นเซลล์ชนิดอื่น ๆ เช่น เซลล์เม็ดเลือด เซลล์สมอง เซลล์หัวใจ หรือเซลล์กระดูก ซึ่งการบริจาคสเต็มเซลล์จะเป็นวิธีที่ใช้เพื่อทดแทนสเต็มเซลล์ที่ถูกทำลายจากโรค ภาวะผิดปกติ หรือการรักษาบางชนิด อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยวิธีนี้ในปัจจุบันยังสามารถใช้ได้กับเพียงบางโรคเท่านั้น โดยในบทความนี้จะพูดถึงเฉพาะการบริจาคสเต็มเซลล์เพื่อการรักษาโรคเลือดหรือโรคมะเร็งบางชนิดเท่านั้น

ข้อควรรู้ก่อนบริจาคสเต็มเซลล์ บริจาคเพื่อใคร มีผลข้างเคียงอันตรายหรือไม่

คุณสมบัติของผู้ที่ต้องการบริจาคสเต็มเซลล์

ผู้ที่ต้องการบริจาคสเต็มเซลล์จะต้องเป็นผู้บริจาคด้วยความสมัครใจและอยู่ในช่วงอายุระหว่าง 20–50 ปี รวมถึงมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงหรือไม่มีปัญหาทางด้านสุขภาพบางอย่าง เช่น ไม่มีโรคประจำตัว โรคติดต่อรุนแรง หรือโรคทางเพศ

ขั้นตอนการบริจาคสเต็มเซลล์

ในขั้นตอนแรกของการบริจาคสเต็มเซลล์ แพทย์จะแจ้งให้ผู้บริจาคทราบถึงขั้นตอนและความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ จากนั้นแพทย์จะสอบถามประวัติต่าง ๆ เช่น โรคประจำตัว ประวัติการเกิดโรคของคนในครอบครัว รวมทั้งตรวจร่างกาย และเจาะเลือดตรวจดูโปรตีนชื่อ Human Leukocyte Antigen (HLA) เพื่อนำไปตรวจว่าสเต็มเซลล์ที่บริจาคสามารถเข้ากันได้กับผู้รับบริจาคหรือไม่

หากแพทย์เห็นว่าผู้รับบริจาคสามารถรับสเต็มเซลล์จากผู้บริจาคได้ แพทย์จะทำการเก็บสเต็มเซลล์จากผู้บริจาค โดยวิธีที่แพทย์อาจใช้ เช่น

การเก็บสเต็มเซลล์ผ่านทางหลอดเลือดดำ

ในกรณีที่แพทย์เลือกเก็บสเต็มเซลล์ของผู้บริจาคด้วยวิธีการเจาะเลือดผ่านทางหลอดเลือดดำ แพทย์จะฉีดยา G-CSF ให้ผู้บริจาคติดต่อกันเป็นเวลาประมาณ 4–5 วันเพื่อกระตุ้นให้สเต็มเซลล์ออกจากไขกระดูกก่อนวันบริจาค

เมื่อถึงวันบริจาค แพทย์จะเจาะหลอดเลือดดำเพื่อลำเลียงเลือดของผู้บริจาคผ่านสายยางไปยังอุปกรณ์สำหรับแยกสเต็มเซลล์ และนำเลือดที่แยกสเต็มเซลล์แล้วกลับเข้าสู่ร่างกาย โดยกระบวนการนี้จะใช้เวลาประมาณ 2–3 ชั่วโมง ผู้บริจาคไม่จำเป็นต้องนอนค้างที่โรงพยาบาล แต่แพทย์อาจนัดผู้บริจาคมาบริจาคเพิ่มในวันถัด ๆ ไป ขึ้นอยู่กับปริมาณสเต็มเซลล์ที่แพทย์ต้องการและน้ำหนักตัวของผู้บริจาค

การเก็บสเต็มเซลล์ด้วยวิธีเจาะไขกระดูก

สำหรับการเก็บสเต็มเซลล์จากไขกระดูก แพทย์จะให้ผู้บริจาครับยาระงับความรู้สึก จากนั้นแพทย์จะนำเข็มเจาะเข้าสู่กระดูกบริเวณสะโพกด้านหลังเพื่อเก็บสเต็มเซลล์ของผู้บริจาค โดยกระบวนการนี้จะใช้เวลาประมาณ 1–2 ชั่วโมง ทั้งนี้ ก่อนการเก็บสเต็มเซลล์ด้วยวิธีนี้ แพทย์อาจแนะนำให้ผู้บริจาคถ่ายเลือดเก็บเอาไว้เพื่อนำมาใช้ในกรณีจำเป็นหลังจากที่แพทย์เจาะเก็บสเต็มเซลล์ไปแล้ว

หลังจากการเก็บสเต็มเซลล์ด้วยการเจาะไขกระดูก แพทย์จะให้ผู้บริจาคนอนพักฟื้นอยู่ที่โรงพยาบาลก่อน จนกว่ายาระงับความรู้สึกจะหมดฤทธิ์หรือจนกว่าผู้บริจาคจะรู้สึกดีขึ้น ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ 2–3 ชั่วโมง หรือบางกรณีอาจจำเป็นต้องค้างคืนที่โรงพยาบาล

นอกจากวิธีข้างต้น แพทย์อาจเก็บสเต็มเซลล์ด้วยวิธีอื่นได้อีก เช่น การเก็บสเต็มเซลล์ผ่านสายสะดือ โดยวิธีนี้แพทย์จะนำสายสะดือและเนื้อเยื่อรกที่ถูกตัดทิ้งหลังทำคลอดไปทำความสะอาด และนำเลือดที่อยู่ข้างในสายสะดือไปแช่เก็บเอาไว้เผื่อใช้ในอนาคต

ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการบริจาคสเต็มเซลล์

โดยปกติแล้ว ผู้บริจาคสเต็มเซลล์มักไม่พบภาวะแทรกซ้อนหรืออาการผิดปกติใดจากการบริจาค แต่กรณีที่พบภาวะแทรกซ้อนหรืออาการผิดปกติ จะมีความแตกต่างกันไปในผู้บริจาคแต่ละคน ขึ้นอยู่กับวิธีที่แพทย์ใช้เก็บสเต็มเซลล์ เช่น

การเก็บสเต็มเซลล์ผ่านทางหลอดเลือดดำ

ผู้บริจาคที่แพทย์เก็บสเต็มเซลล์ผ่านทางหลอดเลือดดำอาจพบผลข้างเคียงบางอย่างในระหว่างกระบวนการบริจาค เช่น

  • ผลข้างเคียงจากยา G-CSF หรือยาที่แพทย์ใช้กระตุ้นการผลิตสเต็มเซลล์ เช่น ปวดกระดูก ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน
  • อาการผิดปกติหรือภาวะแทรกซ้อนจากการถ่ายเลือด เช่น หน้ามืด หนาวสั่น รู้สึกชาหรือคล้ายมีเข็มทิ่ม ปวดมือ เกิดลิ่มเลือดอุดตัน เลือดออก ติดเชื้อบริเวณที่เจาะเลือด หรือเกิดภาวะปอดรั่วในกรณีที่เจาะหลอดเลือดดำบริเวณคอหรือหน้าอก

การเก็บสเต็มเซลล์ด้วยวิธีเจาะไขกระดูก

ผู้ที่แพทย์เลือกเก็บสเต็มเซลล์ด้วยวิธีเจาะไขกระดูกอาจพบอาการผิดปกติหรือภาวะแทรกซ้อนบางอย่างหลังการบริจาค เช่น

  • เกิดผลข้างเคียงบางอย่างจากการใช้ยาระงับความรู้สึก เช่น เจ็บคอ หรือคลื่นไส้ เป็นต้น
  • บริเวณที่เจาะไขกระดูกฟกช้ำหรือปวด
  • รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีแรง หรือเดินลำบาก

นอกจากนี้ ผู้ที่บริจาคสเต็มเซลล์ด้วยวิธีนี้อาจพบภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ร่วมด้วย แต่อาจพบได้น้อย เช่น การติดเชื้อ เส้นประสาทหรือกล้ามเนื้อเสียหาย เกิดแผลบริเวณที่เจาะไขกระดูก หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการรับบริจาคเลือดหากผู้บริจาคสเต็มเซลล์ต้องรับเลือดจากผู้อื่นหลังการผ่าตัด เป็นต้น

แม้การบริจาคสเต็มเซลล์มักไม่ส่งผลให้เกิดอาการหรือภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงต่อร่างกาย แต่ผู้ที่ต้องการบริจาคสเต็มเซลล์ควรปรึกษาแพทย์ถึงความปลอดภัยและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เพื่อนำข้อมูลต่าง ๆ มาใช้ประกอบการตัดสินใจ