เด็กดื้อ กับการรับมืออย่างถูกวิธี

พ่อแม่หลายคนเป็นกังวลและเหน็ดเหนื่อยที่ต้องคอยรับมือกับเด็กดื้อ ทั้งยังไม่แน่ใจว่าวิธีที่ใช้เลี้ยงลูกนั้นถูกต้องแล้วหรือไม่ เพราะวัยเด็กเป็นวัยที่เปราะบางและได้รับอิทธิพลจากการเลี้ยงดูได้ง่าย การตอบโต้กับความดื้อของเด็กแบบไม่เหมาะสมอาจนำไปสู่ปัญหาด้านบุคลิกภาพ ทำให้เด็กกลายเป็นคนขาดความมั่นใจหรือเก็บกดได้ ดังนั้น การดูแลเด็กดื้ออย่างถูกวิธีจึงเป็นสิ่งสำคัญที่พ่อแม่ไม่ควรละเลย

1498 เด็กดื้อ Resized

เด็กดื้อถือว่าปกติหรือไม่ ?

เด็กดื้อถือเป็นเรื่องปกติและเป็นขั้นหนึ่งของการเจริญเติบโต โดยความดื้อรั้นนั้นเป็นเสมือนการวัดแนวทางปฏิบัติตัวที่พ่อแม่คาดหวังจากเด็ก เนื่องจากการต่อต้านพ่อแม่ด้วยการแสดงพฤติกรรมที่ดื้อหรือขัดคำสั่งจะช่วยให้เด็กรับรู้ถึงขอบเขตกฏเกณฑ์ของพ่อแม่และรู้จักควบคุมอารมณ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการที่ช่วยให้เด็กได้เรียนรู้และค้นหาตัวตน กล้าแสดงบุคลิกและลักษณะนิสัยเฉพาะตน มีความมั่นใจ และรู้จักพึ่งพาตนเองเมื่อเติบโตขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบางอย่างอาจเป็นตัวกระตุ้นให้เด็กเกิดการต่อต้านได้เช่นกัน เช่น พ่อแม่คาดหวังให้เด็กทำสิ่งต่าง ๆ โดยไม่สมเหตุสมผล การใช้อารมณ์กับลูกมากกว่าเหตุผล เป็นต้น แต่ในบางกรณีความดื้ออาจเกิดจากอารมณ์ของเด็กเอง หรือสภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อเด็ก เช่น มีปัญหาที่โรงเรียน บรรยากาศภายในบ้านตึงเครียด พ่อแม่ทะเลาะกัน เป็นต้น ดังนั้น แทนที่จะหงุดหงิดหรืออารมณ์เสียเมื่อเด็กดื้อ พ่อแม่ควรหันมาเอาใจใส่และสังเกตถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับลูกอย่างใกล้ชิด

วิธีรับมือกับเด็กดื้อ

การรับมือกับเด็กดื้อไม่มีวิธีที่ตายตัว การตักเตือนหรือลงโทษอาจใช้ได้ผลในสถานการณ์หนึ่งแต่อาจไม่ได้ผลในอีกสถานการณ์ สิ่งสำคัญจึงเป็นการปรับใช้ทั้งไม้อ่อนและไม้แข็งอย่างเหมาะสม อีกทั้งต้องทำเป็นประจำเพื่อให้เด็กรู้ขอบเขตของสิ่งที่เป็นข้อห้าม

เคล็ดลับการรับมือกับเด็กดื้อที่พ่อแม่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับลูก มีดังนี้

ใช้ความเด็ดขาดทำให้เด็กหายหงุดหงิดหรือโวยวาย

เด็กเล็กมักร้องไห้โวยวายให้ซื้อสิ่งที่ตนเองต้องการโดยไม่ฟังเหตุผล คุณแม่ควรอุ้มหรือพาเด็กออกมาจากร้านทันทีโดยไม่ปล่อยให้เด็กเข้าใจว่าผู้ใหญ่มีทีท่าจะซื้อให้หลังงอแง เพราะเด็กมักใช้วิธีดังกล่าวเรียกร้องให้พ่อแม่ใจอ่อน จึงไม่ควรแสดงความลังเลใจออกไป เพื่อให้เด็กเข้าใจอย่างเด็ดขาดว่าไม่ได้ เช่นเดียวกับกรณีที่เด็กไม่หยุดทำพฤติกรรมที่ถูกห้ามอย่างการขว้างปาของเล่นกลาดเกลื่อน พ่อแม่อาจอุ้มเด็กออกจากบริเวณนั้นและพูดอย่างเด็ดขาดว่าหากไม่หยุดทำจะไม่ให้เล่นต่อ

กำหนดบทลงโทษ

สำหรับพฤติกรรมร้ายแรงอย่างการโกหก ตี หรือใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น พ่อแม่อาจสร้างข้อตกลงถึงบทลงโทษที่เด็กจะต้องได้รับ เช่น การตีก้นด้วยฝ่ามือ งดให้ดูทีวี 1 วัน งดเล่นเกม เป็นต้น หรือหากเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างเด็กไม่ยอมนอน อาจบอกเด็กว่ายิ่งนอนช้าเท่าไรก็จะยิ่งได้ฟังนิทานก่อนนอนน้อยลงเท่านั้น

ทำให้เด็กเห็นผลลัพธ์ของการดื้อและการทำตามที่พ่อแม่บอก

เด็ก ๆ มักติดเล่นจนเลยเวลา เช่น เล่นในสนามเด็กเล่นและดื้อไม่ยอมกลับบ้านเมื่อถึงเวลา เถลไถลเล่นกับเพื่อนหรือเล่นของเล่นจนเลยเวลาที่ตกลงกันไว้ เป็นต้น พ่อแม่อาจจำกัดเวลาในการปล่อยให้ลูกเล่นครั้งต่อไปน้อยลง โดยให้เหตุผลว่าเกิดจากการดื้อและไม่รู้จักรักษาเวลา

เมื่อถึงครั้งถัดไปก็กระตุ้นให้เด็กปฏิบัติตามบทลงโทษที่ตกลงกันไว้ และบอกเด็กว่าหากทำได้ ครั้งหน้าจะให้กลับไปเล่นเต็มเวลาเหมือนเดิม วิธีนี้จะช่วยให้เด็กรู้ว่าไม่ควรดื้อ เพราะจะต้องถูกลดเวลาในการเล่นลง

แสดงความเห็นอกเห็นใจ

เด็กมักไม่พอใจและต่อต้านเมื่อถูกขัดใจหรือห้ามทำบางสิ่ง พ่อแม่อาจพูดให้เด็กรับรู้ถึงความเห็นอกเห็นใจและเข้าใจในสิ่งที่ลูกต้องการ พร้อมอธิบายเหตุผลที่ทำไม่ได้หรือเสนอทางเลือกใหม่ที่ดีกว่าแก่เด็ก

นับถอยหลัง

การนับถอยหลังเป็นเสมือนการส่งสัญญาณเตือนให้เด็กรีบทำตามภายในเวลาอันสั้น ไม่เช่นนั้นจะตามมาด้วยบทลงโทษหรือผลกระทบบางอย่างที่เด็กไม่ชอบ

เบี่ยงเบนความสนใจด้วยการชวนร้องเพลงหรือทำให้หัวเราะ

สำหรับเด็กเล็ก 23 ขวบที่งอแงง่าย พ่อแม่สามารถใช้วิธีร้องเพลงให้ลูกคล้อยตามหรือเล่นหยอกล้อให้เด็กหัวเราะออกมาแทน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ได้ผลดีเพราะเด็กในวัยนี้จะถูกเบี่ยงเบนความสนใจได้ง่าย

ไม่ต้องทำอะไร

การไม่ต้องทำอะไรเป็นการปล่อยให้เด็กรับมือกับความดื้อด้วยตนเอง อาจใช้ได้ผลกับเด็กทารกในช่วงปีแรกในสถานการณ์ที่พ่อแม่ทำอะไรได้ไม่มาก เช่น ในขณะขับรถ เด็กอาจไม่สบายตัวและร้องไห้ขึ้นมา เป็นต้น ซึ่งอาจต้องปล่อยให้เด็กร้องต่อไปจนกว่าจะถึงที่หมาย เมื่อเด็กได้กลับเข้าสู่สภาพแวดล้อมที่สะดวกสบายก็จะหยุดร้องไปในที่สุด

เปิดใจคุยกับลูกและแสดงความห่วงใย

หากเด็กเพิ่งเริ่มแสดงอาการต่อต้านได้ไม่นานและอยู่ในวัยเริ่มเข้าเรียนที่เริ่มสื่อสารรู้เรื่องแล้ว สิ่งแรกที่พ่อแม่ควรทำ คือ พูดคุยกับเด็กอย่างตรงไปตรงมา โดยบอกว่าตนสังเกตเห็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป จากนั้นลองสอบถามว่ามีปัญหาหรือสิ่งใดที่ทำให้เด็กไม่มีความสุขหรือไม่ พยายามใช้ความเข้าใจและโน้มน้าวให้เด็กบอกถึงสาเหตุของความหงุดหงิดหรือไม่พอใจ เพื่อให้แก้ไขปัญหาได้อย่างถูกจุดต่อไป

หลีกเลี่ยงการใช้อารมณ์

สิ่งที่พ่อแม่ไม่ควรทำในการรับมือกับเด็กดื้อ คือ การระเบิดอารมณ์หรือสูญเสียการควบคุมตนเอง เพราะจะส่งผลให้เด็กโต้ตอบด้วยความไม่เชื่อฟังและไม่เคารพ ในทางกลับกัน เด็กจะเชื่อฟังมากกว่าหากพ่อแม่พูดคุยอย่างใช้เหตุผลและมีความเข้าใจ ใช้น้ำเสียงปกติและใจเย็น

เพราะเมื่อพ่อแม่ปฏิบัติอย่างเคารพและให้เกียรติ เด็กย่อมเรียนรู้ที่จะเคารพพ่อแม่และคนอื่น ๆ ในครอบครัวตามต้นแบบที่ได้เห็น แต่หากในระหว่างนั้นลูกยังคงอารมณ์ร้อนหรือไม่พอใจอยู่ พ่อแม่อาจให้เวลาเด็กสงบสติอารมณ์ก่อนแล้วค่อยคุยกันอีกครั้ง

ให้รางวัลเมื่อทำดี

การให้กำลังใจเมื่อลูกปฏิบัติตัวดีก็เป็นสิ่งที่สำคัญ พ่อแม่ควรกล่าวชมเมื่อลูกเชื่อฟังและให้ความเคารพ ให้รางวัลเมื่อมีความประพฤติที่ดีหรือให้ความร่วมมือในการทำตามข้อตกลง ซึ่งวิธีนี้ส่งผลดีต่อเด็กและช่วยรับมือกับความดื้อได้ดีกว่าการทำโทษ

ทำอย่างไรหากเด็กดื้อไม่หาย ?

หากเด็กแสดงพฤติกรรมต่อต้านหรือไม่เชื่อฟังเป็นเวลานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อยังคงดื้อแม้โตขึ้นและเข้าสู่ช่วงวัย 6-12 ปีแล้ว อาจมีสาเหตุมาจากปัญหาที่โรงเรียนหรือครอบครัวได้ พ่อแม่และคนในครอบครัวจึงควรหันกลับมาเอาใจใส่และพิจารณาความเป็นไปภายในบ้าน ซึ่งอาจมีข้อสังเกตดังนี้

  • บุคคลในครอบครัวมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ให้ความเคารพและให้ความเป็นส่วนตัวต่อกันและกันหรือไม่
  • เมื่อเกิดปัญหาขึ้นในบ้าน มีวิธีจัดการกับความขัดแย้งอย่างไร ใช้เหตุผลหรือใช้ความรุนแรง พูดจากันดี ๆ หรือมักขึ้นเสียง
  • พ่อแม่หรือคนในครอบครัวทะเลาะกัน หรือเผชิญสถานการณ์ตึงเครียดหรือไม่

หากไม่พบความผิดปกติที่เป็นปัญหาภายในบ้าน ให้ลองสังเกต พูดคุย และรับฟังเด็กว่ามีความสุขกับการเรียนและกับเพื่อน ๆ ที่โรงเรียนหรือไม่ ประเมินความสนิทสนมระหว่างตนกับลูก รวมถึงประเมินความเหมาะสมของบทลงโทษที่ใช้เมื่อเด็กทำผิดด้วย

ปัญหาเด็กดื้อที่ควรรับมือโดยปรึกษาแพทย์

ในบางกรณี การแสดงความดื้อหรือการต่อต้านของเด็กอาจไม่ใช่เรื่องปกติ เนื่องจากมีความรุนแรงกว่าเด็กดื้อทั่วไป ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตและการเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตได้ ผู้ปกครองหรือพ่อแม่จึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับมือกับเด็กเมื่อต้องเผชิญสถานการณ์ ดังต่อไปนี้

  • เด็กไม่เคารพพ่อแม่ ผู้ใหญ่คนอื่น ๆ รวมถึงครูที่โรงเรียน โดยเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นเวลานาน
  • ต่อต้านและปิดกั้นตัวเองอย่างต่อเนื่อง แม้พ่อแม่พยายามอย่างเต็มที่ที่จะพูดคุยเปิดใจและเปิดโอกาสให้เด็กบอกเล่าปัญหาแล้วก็ตาม
  • ดื้อ ไม่เชื่อฟัง ไม่เคารพพ่อแม่ พร้อมทั้งแสดงความก้าวร้าวและทำลายข้าวของ
  • ดูเศร้าซึมและไม่มีความสุข พูดว่าตนเองรู้สึกเศร้า ไม่เป็นที่ชื่นชอบของเพื่อน ไม่มีเพื่อน หรือบอกว่าไม่อยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไป
  • คนในครอบครัวมักใช้วิธีจัดการกับปัญหาหรือความไม่ลงรอยกันด้วยอารมณ์หรือการใช้ความรุนแรง
  • พ่อแม่หรือตัวเด็กเองมีพฤติกรรมดื่มสุราหรือใช้สารเสพติดเพื่อจัดการกับความเครียดหรือช่วยให้รู้สึกดีขึ้น

ทั้งนี้ หากคนในครอบครัวขาดการสื่อสารและไม่เข้าใจกันจนทำให้เด็กมีปัญหา แพทย์อาจแนะนำวิธีครอบครัวบำบัด ซึ่งเป็นการให้คำปรึกษาทางจิตวิทยาที่จะช่วยเชื่อมความสัมพันธ์ในครอบครัวและลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้น โดยควรปรึกษาแพทย์หรือเข้ารับการบำบัดแต่เนิ่น ๆ เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาที่อาจเพิ่มมากขึ้นเมื่อเด็กเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น