วัยทอง 2 ขวบ รู้จักอาการ และ 6 แนวทางการรับมืออย่างเหมาะสม

วัยทอง 2 ขวบ (Terrible Twos) เป็นอาการที่พบได้ทั่วไประหว่างพัฒนาการของเด็ก เมื่ออายุย่างเข้าสู่ช่วง 18–30 เดือน ลูกน้อยอาจแสดงอารมณ์หรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เช่น หวีดร้อง ฉุนเฉียว ต่อต้าน และโยนสิ่งของเมื่อไม่ได้ดั่งใจ โดยอารมณ์หรือพฤติกรรมเหล่านี้มักดีขึ้นเมื่อลูกน้อยมีอายุประมาณ 4 ปีหรือสามารถเข้าใจและสื่อสารความต้องการของตนเองได้

เมื่อเด็กอายุประมาณ 2 ปี มักเกิดพัฒนาการในด้านต่าง ๆ เช่น เริ่มสื่อสารเป็นวลีสั้น ๆ เรียนรู้ความรู้สึกต่าง ๆ และเคลื่อนไหวได้คล่องมากขึ้น อย่างไรก็ตาม พัฒนาการด้านการพูดและอารมณ์อาจยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ทำให้ไม่สามารถสื่อสารหรือกระทำได้ตรงตามความต้องการของตนเองและอาจนำไปสู่อาการวัยทอง 2 ขวบได้

วัยทอง 2 ขวบ

อาการวัยทอง 2 ขวบ

การทำความเข้าใจอาการวัยทอง 2 ขวบ อาจช่วยให้คุณพ่อคุณแม่หาแนวทางการรับมือได้ดียิ่งขึ้น โดยอาการวัยทอง 2 ขวบอาจแตกต่างกันไปในเด็กแต่ละคน แต่มักมีรูปแบบที่คล้ายกัน เช่น

  • อารมณ์แปรปรวนและฉุนเฉียว
  • เอาแต่ใจหรือต่อต้านคำสั่งของพ่อแม่
  • ตี เตะ กัด หรือโยนสิ่งของเมื่อไม่พอใจ
  • หวีดร้องหรือขึ้นเสียง
  • ทะเลาะกับเพื่อนหรือพี่น้องมากกว่าปกติ

วิธีรับมือเมื่อลูกน้อยมีอาการวัยทอง 2 ขวบ

การรับมือกับอาการวัยทอง 2 ขวบอาจเริ่มจากการปรับเปลี่ยนความคาดหวังของพ่อแม่ต่อลูกน้อย เนื่องจากวัยทอง 2 ขวบเป็นอาการทั่วไปที่เกิดขึ้นได้ระหว่างการพัฒนาทักษะต่าง ๆ ของเด็ก ดังนั้น จึงไม่ควรตั้งความคาดหวังว่าลูกจะต้องไม่งอแงหรือเป็นเด็กดีตลอดเวลา แต่ควรทำความเข้าใจและเตรียมการรับมือ โดยพ่อแม่อาจนำวิธีรับมือเหล่านี้ไปปรับใช้ให้เหมาะสมเมื่อลูกอยู่ในช่วงวัยทอง 2 ขวบ เช่น

1. วางแผนตารางเวลา

วัยทอง 2 ขวบอาจรับมือได้โดยกำหนดตารางเวลากิจวัตรต่าง ๆ ให้ลูกน้อย เช่น การกำหนดเวลานอนหลับหรือเวลากินอาหาร และควรรักษาเวลาให้ตรงอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจาก ความเหนื่อยล้าหรือความหิวอาจไปกระตุ้นให้เกิดอาการวัยทอง 2 ขวบได้ 

2. พกของว่างติดตัวไว้เสมอ

ควรพกของว่างติดตัวไว้เสมอ หากมีความจำเป็นต้องพาลูกน้อยออกไปทำธุระก่อนเวลากินอาหาร เนื่องจากเด็กอาจหิวและก่อให้เกิดอารมณ์หงุดหงิดได้ โดยของว่างควรเป็นผลไม้หรือขนมที่ดีต่อสุขภาพและมีปริมาณที่เหมาะสม เช่น สตรอว์เบอร์รี แอปเปิล แคร็กเกอร์โฮลวีท หรือนมไขมันต่ำ

3. เสนอตัวเลือก

การเสนอตัวเลือกระหว่าง 2 สิ่งให้แก่ลูกน้อย เช่น การให้ลูกเลือกระหว่างใส่เสื้อสีชมพูหรือสีฟ้า อาจช่วยให้ลูกรู้สึกว่ามีอิสระในการตัดสินใจเลือกด้วยตนเอง อย่างไรก็ตาม หากมีจำนวนตัวเลือกมากกว่านั้นอาจทำให้ลูกตัดสินใจได้ยากขึ้นหรือรู้สึกกดดันจากตัวเลือกจำนวนมาก และอาจนำไปสู่อาการวัยทอง 2 ขวบได้

4. ไม่ควรตามใจ

คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรตามใจลูกน้อยเมื่องอแง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ เช่น เมื่อเด็กงอแงเพราะอยากได้ของเล่น สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำคือการพาลูกออกจากสถานการณ์ตรงนั้นและรอให้ลูกใจเย็นลง หากคุณพ่อคุณแม่ยอมทำตามใจลูก อาจส่งผลให้พฤติกรรมวัยทอง 2 ขวบยิ่งรุนแรงขึ้นกว่าเดิม

5. เบี่ยงเบนความสนใจ

เมื่อเด็กแสดงอาการวัยทอง 2 ขวบ เช่น การโยนสิ่งของเมื่อหงุดหงิดหรือถูกขัดใจ คุณพ่อคุณแม่อาจใช้คำพูดหรือท่าทางเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของลูกน้อย และอธิบายให้เข้าใจว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเมื่อลูกใจเย็นมากขึ้น หากการเบี่ยงเบนความสนใจไม่ได้ผล อาจลองเลิกสนใจพฤติกรรมเหล่านั้น เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้ว่าการกระทำดังกล่าวไม่สามารถเรียกร้องความสนใจของพ่อแม่ได้

6. ใจเย็นกับลูกน้อย

พ่อแม่ควรฝึกตนเองให้ใจเย็นมากขึ้นเมื่อต้องรับมืออาการวัยทอง 2 ขวบ หากลูกงอแงหรือต่อต้าน พ่อแม่ไม่ควรใช้อารมณ์หรือใช้ความรุนแรง เช่น การตี ตะโกนหรือดุด่า เพราะอาจทำให้เด็กเกิดการเลียนแบบพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเหล่านี้ได้ แต่ควรอธิบายด้วยเหตุผลหรือลองใช้เทคนิคการหายใจเข้า–ออกอย่างช้า ๆ เพื่อให้ลูกสงบสติอารมณ์และรู้สึกใจเย็นมากขึ้น 

นอกจากนี้ อาการวัยทอง 2 ขวบอาจส่งผลให้คุณพ่อคุณแม่เกิดความเครียดได้ ควรหาวิธีคลายความเครียด หรือเว้นระยะเวลาสักพักเพื่อให้ใจเย็นมากขึ้นก่อนเตรียมรับมือวัยทอง 2 ขวบของลูกน้อย 

วัยทอง 2 ขวบเป็นเรื่องปกติและมักดีขึ้นเมื่ออายุของลูกเพิ่มมากขึ้น แต่หากพฤติกรรมของลูกน้อยยังคงอยู่หรือมีพฤติกรรมรุนแรงมากขึ้น หรือมีสัญญาณของโรคสมาธิสั้น (ADHD) เช่น วอกแวกได้ง่าย อยู่ไม่นิ่งและหุนหันพลันแล่น ควรปรึกษาแพทย์หรือจิตแพทย์เด็กเพื่อหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมต่อไป